กว่าจะมีวันนี้ ของ "ฐากูร พานิชกุล" ดีไซเนอร์เลือดไทยชื่อก้องโลก

แจ้งเกิดสุดๆในฐานะดีไซเนอร์ดาวรุ่งของนิวยอร์ก เพราะเป็นขวัญใจท็อปเอดิเตอร์ และนักวิจารณ์แฟชั่น แต่ชื่อเสียงของดีไซเนอร์เลือดไทย ก็อต–ฐากูร พานิชกุล วัย 36 ปี โด่งดังเปรี้ยงปร้างไปทั่วโลกจริงๆ ก็ตอนที่สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งผิวสีคนแรกของอเมริกา “มิเชล โอบามา” เลือกสวมชุดเดรสสีดำปริ๊นต์ลายดอกไม้โทนม่วงแดงจากแบรนด์ THAKOON ขึ้นเวทีประชุมใหญ่พรรคเดโมแครต ในวันที่ “บารัค โอบามา” ตอบรับเป็นตัวแทนพรรคลงชิงชัยเลือกตั้งประธานาธิบดีอย่างเป็นทางการ และยังใส่ชุดลายปริ๊นต์ดอกไม้สีเหลืองน้ำตาล ในวันที่สามีดีเบตครั้งแรกกับคู่แข่งจากพรรครีพับลิกัน “จอห์น แมคเคน” ด้วย ถือเป็นก้าวกระโดดที่น่าภาคภูมิใจของดีไซเนอร์รุ่นใหม่

แม้จะประสบความสำเร็จแซงหน้าดีไซเนอร์รุ่นเดียวกันไปหลายก้าว แต่จากวันนั้นจนถึงวันนี้ “ฐากูร” ยังคงเดินหน้าสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆออกมาไม่หยุดยั้ง พร้อมๆกับลิสต์รายชื่อเซเลบริตี้ระดับโลกที่เป็นแฟนเหนียวแน่นเพิ่มขึ้น เรื่อยๆในช่วงที่ดีไซเนอร์มากพรสวรรค์เดินทางจากมหานครนิวยอร์ก กลับมาเยือนเมืองไทย ตามคำเชิญของสำนักส่งเสริมมูลค่าเพิ่มเพื่อการส่งออก กรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ เมื่อกลางเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา เพื่อถ่ายทอดกลยุทธ์เสริมจุดแข็งการสร้างแบรนด์แฟชั่นไทย ให้พร้อมโกอินเตอร์ไปแจ้งเกิดในตลาดแฟชั่นโลก ได้เปิดโอกาสให้ทีมข่าวสตรีไทยรัฐพูดคุยแบบเจาะลึกส่วนตั๊วส่วนตัวเป็นครั้ง แรก

ไปอยู่อเมริกาตั้งแต่ 11 ขวบ พูดภาษาไทยได้บ้างไหม

(พยักหน้า และสปีกเป็นภาษาไทยชัดถ้อยชัดคำ) พูดได้นิดหน่อยครับ สั่งขนมกินได้แค่นั้น แต่เขียนภาษาไทยไม่ได้ ถ้าอยู่เมืองไทยหลายเดือนหน่อย ผมว่าน่าจะเขียนได้

กลับมาเยี่ยมเมืองไทยบ่อยไหม

ผมกลับมาเที่ยวเมืองไทยปีละครั้ง เดินทางมากับคุณแม่ (ปรียากร ณ นครพนม) และพี่ชาย (กฤษฎา) คุณยายกับญาติๆของแม่มีบ้านอยู่ที่นครพนม ส่วนคุณพ่อมีครอบครัวใหม่อยู่ที่กรุงเทพฯ

เมนูอะไรเป็นอาหารไทยจานโปรดของ “ฐากูร”

ผมชอบทานก๋วยเตี๋ยวเรือ และชอบไส้กรอกอีสาน






เข้ามาทำงานในวงการแฟชั่นนานแค่ไหนแล้ว

ประมาณ 10 กว่าปี รวมถึงตอนเป็นนักวิจารณ์แฟชั่นที่ฮาร์เปอร์ส บาซาร์ และทำงานกับแบรนด์ J. Crew

ช่วยเล่าประวัติฉบับย่อที่ถูกต้องให้ฟังหน่อย

ผมเกิดที่จังหวัดนครพนม ไม่ใช่เชียงรายอย่างที่ระบุไว้ในวิกิพีเดีย และมาโตที่กรุงเทพฯ จากนั้นคุณแม่ก็พาผมกับพี่ชายไปอยู่อเมริกา ตอนนั้นผมอายุ 11 ขวบ ไปอยู่ในรัฐเนบราสกา แถบมิดเวสต์ของอเมริกา ผมเรียนจบปริญญาตรีด้านบริหารธุรกิจ จากมหาวิทยาลัยบอสตัน ต่อมาได้ย้ายไปอยู่ที่นิวยอร์ก เพราะอยากทำงานด้านแฟชั่น โดยผมเริ่มงานแรกที่ J. Crew อยู่ฝ่ายโปรดักชั่น และจัดซื้อ แล้วจึงผันตัวไปเป็นนักวิจารณ์ด้านแฟชั่นที่นิตยสารฮาร์เปอร์ส บาซาร์ ผมเป็นนักเขียนอยู่ 4 ปีเต็ม แล้วก็ค้นพบตัวเองว่า ที่จริงอยากทำงานดีไซน์มากกว่า จึงลาออกเพื่อไปเรียนต่อด้านการออกแบบ ที่พาร์สันส์ สกูล ออฟ ดีไซน์ และได้ทำเสื้อผ้าคอลเลกชั่นแรกของตัวเอง ภายใต้แบรนด์ THAKOON ในปี 2004 ซึ่งก็ได้รับการต้อนรับดีมาก คอลเลกชั่นแรกของผมไปวางขายใน 10 ประเทศทั่วโลก อาทิ อเมริกา, อังกฤษ, ฝรั่งเศส, อิตาลี, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, สิงคโปร์ และตุรกี หลังจากนั้น 2 ปี ผมเป็น 1 ใน 3 ดีไซเนอร์รุ่นใหม่ ที่ได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนแฟชั่น Vogue/CFDA ซึ่ง “แอนนา วินทัวร์” บก.นิตยสารโว้ค อเมริกา ก่อตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมดีไซเนอร์เลือดใหม่ และผมยังได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลดีไซเนอร์ดาวรุ่งจากเวที CFDA ด้วย

จริงไหมคะที่ว่า “ฐากูร” แจ้งเกิดเร็ว เพราะได้ “แอนนา วินทัวร์” เป็นเจ๊ดัน?!

ผมไม่อยากจะพูดอย่างนั้น เพราะผมทำงานหนักมาก กว่าจะมีวันนี้ และทุ่มเททุกอย่างที่มี...ทุ่มทั้งชีวิต!! แต่ก็ต้องยอมรับว่า “แอนนา วินทัวร์” มีเพาเวอร์มากในวงการแฟชั่นโลก และเธอให้การสนับสนุนผมมาก






บก.โว้คสุดเฮี้ยบค้นพบพรสวรรค์ของคุณได้อย่างไร

ตอนผมออกคอลเลกชั่นแรกในชีวิต ต้องทำพรีเซนเตชั่นนำเสนอผลงาน และ “แอนนา” ก็ส่งผู้ช่วยมาหาผม บอกให้นำผลงานไปพรีเซนต์ให้เธอดูเป็นการส่วนตัวที่ออฟฟิศ จากจุดนั้นเอง เธอได้เปิดโอกาสให้ผมมาตลอด นำผลงานของแบรนด์ THAKOON ลงตีพิมพ์ในนิตยสารโว้คอย่างต่อเนื่อง เธอเป็นคนชอบลายปริ๊นต์มาก อาจเป็นเพราะแบบนี้ เธอจึงชอบเสื้อผ้าของผม อีกเหตุผลหนึ่งก็คือ เธอต้องการช่วยดีไซเนอร์รุ่นใหม่ๆให้เติบโตในอุตสาหกรรมแฟชั่น

เสน่ห์ของแบรนด์ THAKOON อยู่ตรงไหน

งานของผมมีความเป็นเฟมมินินมากๆ และคลาสสิก แต่ก็มีการทวิสต์ไอเดีย เป็นแบรนด์ที่มากไปด้วยสีสัน และลายปริ๊นต์สวยๆสีจัดจ้าน งานของผมเป็นงานศิลปะที่สามารถสวมใส่ได้ มีกลิ่นอายความเป็นสปอร์ต ที่ทำให้ผู้หญิงดูอ่อนเยาว์ แต่ก็สง่างาม

ค้นหาแรงบันดาลใจใหม่ๆมาจากไหนตลอดเวลา

ผมได้แรงบันดาลใจจากทุกอย่างรอบๆตัว ผมหลงรักสีจัดๆแรงๆ เพราะได้อิทธิพลจากความเป็นคนไทย ขณะที่การเติบโตในอเมริกา ทำให้ผมซึมซับ ความเป็นสปอร์ตแวร์ในแบบอเมริกันชน และผมก็ผสมสองสิ่งที่รักลงในแฟชั่น






ได้ยินมาว่าคุณยายคือไอดอลแฟชั่นคนแรก

(ยิ้มกว้าง) ท่านเป็นช่างตัดเย็บเสื้อผ้า ผมจำได้ว่าตอนเด็กๆคลุกคลีอยู่กับคุณยายเยอะ ท่านสอนผมทำอะไรหลายอย่าง รวมถึงการถักโครเชต์ ทำให้ผมเริ่มชอบงานฝีมือและการประดิดประดอย

พอจะบอกได้ไหมคะว่า ใครคือลูกค้าคนโปรดของ “ฐากูร”

ผมไม่มีคนโปรดเป็นพิเศษ แต่จะประทับใจผู้หญิงที่มีความมั่นใจในตัวเอง กล้าแสดงออก มีความเป็นผู้หญิงสูง และรู้จักเลือกว่าอะไรเหมาะกับตัวเอง ซึ่งเฟิร์สต์เลดี้คนปัจจุบันของอเมริกา ก็มีคุณสมบัติเข้าเกณฑ์

“มิเชล โอบามา” เป็นแฟนพันธุ์แท้ของ THAKOON มานานหรือยัง

เธอเริ่มซื้อเสื้อผ้าของ THAKOON จากบูติกในชิคาโก ตั้งแต่เมื่อหลายปีก่อน และจากนั้นก็แวะเวียนมาเป็นลูกค้าประจำ เธอชอบพวกลายปริ๊นต์สีสดๆแรงๆ และเสื้อผ้าที่มีโครงร่างฟิตเข้ารูป เธอกล้าลองอะไรใหม่ๆ เป็นคนสนุกกับแฟชั่น และไม่ตามเทรนด์ ก่อนที่สามีของเธอจะชนะเลือกตั้งประธานาธิบดี เธอเหมาชุดแบรนด์เราไปหลายชุด ผมก็รอลุ้นอยู่ว่าเธอจะใส่ชุดไหนออกงานอะไร พอได้เห็นชุดเดรสปริ๊นต์ลายดอกไม้ของตัวเองถ่ายทอดออกทีวีทุกช่อง และขึ้นหน้าหนึ่งยูเอสเอ ทูเดย์ ผมก็แทบหยุดหายใจไปเลย รู้สึกตื่นเต้น และเป็นเกียรติมากที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในวันประวัติศาสตร์ขนาดนั้น ไม่ได้เป็นวันประวัติศาสตร์สำหรับเธอและครอบครัว รวมถึงอเมริกันชนเท่านั้น แต่ยังเป็นวันประวัติศาสตร์สำหรับผมด้วย ในฐานะดีไซเนอร์รุ่นใหม่






ถ้ามีโอกาสดีไซน์เสื้อผ้าให้นายกฯหญิงคนแรกของเมืองไทย คิดว่าสไตล์ไหนเหมาะสุด

ผมคงฟันธงตอนนี้ไม่ได้ ต้องขอเวลาศึกษาข้อมูล แต่ถ้าจะเอาคำตอบจริงๆ สไตล์ที่น่าจะเหมาะก็คือ สีสันสดๆ คัตติ้งเนี้ยบกริบ อาจจะผสมลายปริ๊นต์เข้าไปบ้าง

ความเป็นเอเชีย เป็นอุปสรรคต่อการสร้างชื่อเสียงในวงการแฟชั่นโลกไหม

ผมไม่คิดว่าตัวเองเป็นเอเชีย หรืออเมริกัน เพราะนิวยอร์กเปิดกว้างมาก ให้โอกาสดีไซเนอร์รุ่นใหม่โดยไม่เกี่ยวกับเชื้อชาติ แต่พิสูจน์กันที่ผลงานมากกว่า

แบรนด์ THAKOON ได้รับผลกระทบมากไหมจากความถดถอยทางเศรษฐกิจ

คนยังกล้าใช้จ่ายอยู่ เพียงแต่จะลงทุนกับอะไรที่คุ้มค่าเงินจริงๆ เช่น การซื้อจิวเวลรี่ชิ้นสวยๆ หรือเสื้อผ้าที่ดีไซน์ขึ้นเฉพาะ และมีความพิเศษจริงๆ มีความเป็นเพอร์ซันแนลจริงๆ






แนะนำดีไซเนอร์ไทยหน่อยสิคะ ถ้าอยากประสบความสำเร็จแบบ “ฐากูร” ต้องทำยังไง

ควรเริ่มจากการมีแพสชั่น ถ้าเรารักในสิ่งที่ทำจริงๆ ก็จะประสบความสำเร็จแน่นอน สำหรับผมแล้ว แฟชั่นไม่ใช่เรื่องของความโก้หรู แต่เป็นโลกของการทุ่มเททำงานหนัก และมีแต่คนรักแฟชั่นจริงๆเท่านั้นที่จะอยู่รอดได้ ผมอยากกระตุ้นให้ดีไซเนอร์รุ่นใหม่เอาจริงเอาจังกับการศึกษาหาความรู้ให้ มากๆในทุกด้าน

ถ้าจะขายความเป็นไทยในระดับอินเตอร์ ต้องนำเสนออย่างไร

สีสันสดๆแรงๆในแบบไทยๆมีเสน่ห์มากพอจะขายได้ในระดับโลก โดยเฉพาะลายปริ๊นต์ทั้งหลาย เพียงแต่เมืองไทยต้องพัฒนาตัวเอง และค้นหา นวัตกรรมใหม่ๆ ไม่ใช่หยุดนิ่งอยู่กับที่ แม้แต่ตัวผมเองถ้าหยุดนิ่งอยู่กับที่ และไม่พัฒนาตัวเอง ไม่คิดค้นสิ่งใหม่ๆ ก็คงประสบความสำเร็จไม่ได้

ลองจินตนาการสิคะ อีก 10 ปีข้างหน้า แบรนด์ THAKOON จะไปไกลขนาดไหน

ผมฝันอยากเห็นแบรนด์ THAKOON เป็นโกลบอลแบรนด์ คล้ายๆกับที่ “มิวซิอา ปราด้า” ได้สร้างอะไรใหม่ๆให้วงการแฟชั่นซีซั่นแล้วซีซั่นเล่า หรือแม้แต่ “โคโค่ ชาเนล” ที่ปฏิวัติวงการแฟชั่นได้อย่างไม่มีใครเหมือน






คิดจะสร้างอิมแพคแบบนั้นบ้างไหม ลุกขึ้นปฏิวัติวงการแฟชั่น

เวลาผมทำงาน ไม่เคยคิดถึงการปฏิวัติวงการแฟชั่นอะไรทั้งสิ้น ผมดีไซน์ด้วยความรู้สึกและแพสชั่น ไม่คิดว่าจะต้องขึ้นหิ้งเป็นตำนาน แต่อยากทุ่มเทให้เต็มที่เพื่อสิ่งที่รัก.

 

 

โดย: ทีมข่าวหน้าสตรี

ที่มา: ไทยรัฐ / 17 กรกฎาคม 255 

Views: 650

Reply to This

© 2009-2024   PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service