ไพบูลย์ ธรรมเรืองฤทธิ์: ศิลปินอาสา ศิลปะเยียวยาใจ

เด็กๆ ไม่ว่าจะอยู่ในสภาพใด เมื่อเขาได้รับโอกาสทางศิลปะ พลังจินตนาการในตัวจะเปล่งประกายออกมาอย่างงดงามเสมอ


ด้วยใจที่ชื่นชอบและหลงใหลศิลปะมากว่า 20 ปี บวกกับการได้เดินทางไปเป็นวิทยากรด้านศิลปะทั่วประเทศไทย เห็นความเหลื่อมล้ำทางสังคมและการขาดโอกาสทางศิลปะของคนจำนวนมาก โดยเฉพาะเด็กๆ และเยาวชน ประกอบกับการได้รับการปลูกฝังอุดมการณ์อันแรงกล้าจาก ครูสังคม ทองมี ครูต้นแบบศิลปะ ที่ให้คมความคิดไว้ว่า "การให้ความรู้เด็กๆ เป็นสิ่งที่ดี เราไม่ต้องคาดหวังให้เขาเก่งหรือโตไปเป็นศิลปินหรือคนทำงานศิลปะ อย่างน้อยให้เขาได้รู้คุณค่าของงานศิลปะ"


นั่นคือ สิ่งที่เขาต้องการ เพราะเด็กๆ ไม่ว่าจะอยู่ในสภาพใด เมื่อเขาได้รับโอกาสทางศิลปะ พลังจินตนาการในตัวจะเปล่งประกายออกมาอย่างงดงามเสมอ ทำให้ 9 ปีที่แล้ว ครูเบิ้ม-ไพบูลย์ ธรรมเรืองฤทธิ์ ชายอารมณ์ดีและมีจิตใจที่ยิ่งใหญ่คนนี้ ตัดสินใจลาออกจากการเป็นลูกจ้าง ผันตัวเองมาเป็นครูจิตอาสาสอนศิลปะกับเด็กและเยาวชนทั่วไทย โดยไม่คิดเงิน ภายใต้โครงการ สัญจรสอนศิลป์


ครูเบิ้ม เล่าว่า สอนศิลปะมากว่า 20 ปี เพราะเชื่อว่า การที่เด็กได้รับโอกาสจะเป็นสิ่งดีสำหรับเขาไปตลอดชีวิต รู้สึกดีใจทุกครั้งที่เห็นเด็กๆ ได้รับโอกาส ในการเรียนศิลปะ การสอนที่ผ่านมาก็สอนว่าศิลปะเป็นเครื่องเยียวยาใจ โดยเฉพาะกลุ่มเด็กที่มีปัญหาครอบครัว ปัญหาสังคม การขาดโอกาสในเรื่องต่างๆ "ผมเดินทางไปสอนศิลปะหลายแห่ง เด็กบ้านเมตตา เด็กในสถานพินิจที่มีกิจกรรมศิลปะบำบัด ผมก็ช่วยสอน ผมใช้ศิลปะเยียวยา และเติมเต็มจิตใจพวกเขา แม้บางสถานที่เข้าถึงยาก ต้องทำเรื่องหลายขั้นตอน ผมก็พยายามทำเรื่องขออนุญาตจนได้เข้าไปสอน


ส่วนเรื่องที่คิดไว้นานแล้ว เป็นเรื่องรถสอนศิลปะ หลังจากมีโอกาสเป็นวิทยากรสอนเด็กๆ ไม่ว่าชุมชนในกรุงเทพฯหรือต่างจังหวัด ประกอบกับนึกถึงตัวเองสมัยเป็นเด็กอยู่ต่างจังหวัดขาดโอกาส ไม่มีคนมาสอนศิลปะให้ เมื่อถึงวันที่ผมพร้อม ก็ลุยเลยครับ ผมเริ่มจากการสอนตามชุมชนต่างๆ เด็กบางคนมีจินตนาการ มีความคิดของเขาอยู่แล้ว พอเราไปจุดประกายก็เกิดความคิดสร้างสรรค์"


โครงการสัญจรสอนศิลป์ที่ครูเบิ้มและทีมงานเป็นอาสาสมัคร เป็นโครงการเล็กๆ ที่ตระเวนสอนศิลปะอย่างต่อเนื่องตลอด 9 ปีด้วยความเชื่อว่าศิลปะเข้าได้กับทุกคน อยู่ที่เวลาและความเหมาะสม ศิลปะช่วยจุดประกายแรงบันดาลใจให้กับเด็กๆ โดยเฉพาะเด็กที่ขาดโอกาส เป็นสิ่งที่ครูเบิ้มและทีมอาสาตั้งใจสอนมาก


“การสอนศิลปะจะช่วยเด็กผ่อนคลาย เขาได้ระบายความรู้สึกในใจออกมาผ่านภาพและเส้น แม้ภาพไม่สวย แต่เป็นการแสดงออกที่ยิ่งใหญ่ สำหรับเด็กๆ แล้วศิลปะช่วยทดแทนสิ่งที่ขาดหาย อย่างเด็กกำพร้า มีครอบครัวไม่สมบูรณ์ พวกเขาได้วาดสิ่งที่ขาดหายไปในชีวิต บางคนวาดสิ่งตรงข้าม วาดสิ่งสวยงาม


ผมเคยเจอเด็กที่มีปัญหาจากจังหวัดชายแดนภาคใต้คนหนึ่งมีโอกาสมาร่วมกิจกรรม ที่กรุงเทพฯ พ่อเขาโดนระเบิด เจอเหตุการณ์ไม่ค่อยดี แต่ภาพที่วาดแสดงออกมาตรงกันข้าม คือในภาพมีแม่และลูกอยู่ในบ้านที่สวยงาม แต่ภาพนั้นขาดพ่อ โดยรวมอยากบอกถึงความสวยงาม สิ่งเหล่านี้มันสะท้อนจิตใจของเขาออกมา”


การจะดึงอารมณ์และความรู้สึกลึกๆ ภายในจิตใจของลูกศิษย์ออกมา ครูเบิ้มยอมรับว่า ยาก แต่วิธีที่ครูเบิ้มใช้น่าสนใจ


"ผมไม่ได้จบด้านครูวิชาชีพมาโดยตรง แต่ปี 2530 เคยเป็นครูผู้ช่วยสังคมฯ ประสบการณ์ที่สะสม สอนให้เรียนรู้พัฒนาการเด็กแต่ละวัย การเข้ากับเด็กบวกกับบุคลิกส่วนตัวที่เด็กชอบ นำจุดนี้มาเปิดใจเด็กก่อนถ่ายทอดศิลปะ ประกอบกับรูปแบบการสอน ผมไม่ได้สอนให้เด็กวาดเป็น แต่อยากให้รู้ว่าศิลปะสอนอะไรบ้าง เพราะการให้เด็กได้รับรู้ในเรื่องศิลปะ รวมทั้งการมีส่วนทำให้พวกเขาได้หัวเราะ มีช่วงเวลาที่สดใส แม้จะเป็นช่วงสั้นๆ แต่อย่างน้อยเขาจะจำได้ว่าศิลปะเป็นเรื่องที่ดี เป็นเรื่องสบายๆ ผ่อนคลาย ความงามของศิลปะจะช่วยสร้างความสุนทรีย์ให้กับจิตใจ" ครูเบิ้มเล่าให้ฟัง


ครูเบิ้มใช้ศิลปะเป็นสื่อสอนความละเอียดอ่อน ความอดทน ระเบียบวินัย สิ่งสวยงาม ฝึกนิสัยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมขีดเขียนกำแพงให้สกปรก ให้เด็กๆ ได้รู้คุณค่าของศิลปะมากกว่าสอนให้วาดเป็น เว้นแต่เด็กคนไหนต้องการต่อยอดก็ให้ฝึกฝนเพิ่มเติม


"วาดสวยไม่สวยไม่สำคัญ ขอเพียงเขาใช้จินตนาการร่างภาพออกมาได้ ก็พอแล้ว ซึ่งระยะหลังผมเข้าไปสอนเด็กด้อยโอกาส เด็กสถานพินิจมากขึ้น เพราะเด็กกลุ่มนี้ต้องการการเยียวยา"


แม้เขาจะเป็นครู แต่เขาทำมากกว่าการเป็นเรือจ้าง ครูเบิ้มสอนศิลปะด้วยความใส่ใจต่อเด็กๆ โดยไม่ได้เงินเดือนจากการสอน หากถามว่าเขามีรายได้จากส่วนไหน ครูเบิ้ม ตอบว่า เงินรางวัลจากการวาดภาพ และการเป็นวิทยากร


"เงินเล็กน้อยที่มาเติมเต็มโครงการเล็กๆ ให้สัญจรไปได้ไกลที่สุด ผมแปรสภาพรถกระบะคันเล็กมาเป็นรถสอนศิลปะออกตระเวนสอนให้เยาวชนตามสถานที่ ต่างๆ เป็นรถคันเล็กๆ แต่บรรทุกความตั้งใจอันยิ่งใหญ่ ส่วนความสำเร็จที่ลูกศิษย์ได้รับจะมากน้อยอยู่ที่พวกเขา"


งานเล็กๆ แต่ยิ่งใหญ่ในหัวใจ ทำให้มีเพื่อนๆ พี่ๆ ในแวดวงศิลปะสละเวลามาร่วมโครงการ และมีหลายหน่วยงานที่ติดต่อเข้ามาเพื่อให้การสนับสนุนเรื่องอุปกรณ์การเรียน การสอน แต่ก็ยังไม่เพียงพอ


"ผมใช้ความสามารถเป็นทรัพย์ การเป็นจิตอาสาสอนศิลปะ เส้นทางนี้ผมเลือกแล้ว ผมมีความสุขกับตรงนี้ จุดหมายปลายทางไม่สำคัญเท่ากับความตั้งใจที่แท้จริง เพราะการให้เด็กๆ ได้รับรู้เรื่องศิลปะ เป็นความสุขของผม"





โดย: ชวิศา เศรษฐบุตร
ที่มา: bangkokbiznews.com / 13 กรกฎาคม 2554

Views: 633

Reply to This

© 2009-2024   PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service