อนุพันธุ์ พฤกษ์พันธ์ขจี เมื่อ ศิลปะ "ยา" ใจ

ขณะที่มือของคุณหมอในเสื้อกาวน์ถือเครื่องมือช่วยฟังคอยตรวจเช็คความผิดปกติ ของร่างกายคนไข้ เขาคนนี้ ก็กำลังถือ "พู่กัน" และ "ถาดสี" คอยปัดป่ายระบาย "ยา" รักษา "ใจ" ให้กับผู้ป่วย(ทางใจ)ของเขาเช่นเดียวกัน

จากจุดเริ่มต้นที่แม้ไม่ได้เล่าเรียนทางด้านศิลปะมาโดยตรง แต่เมื่อใจรัก ก็ทำให้ครุศาสตร์บัณฑิต จากรั้วจามจุรี อย่าง อนุพันธุ์ พฤกษ์พันธ์ขจี ซึ่งภายหลังกลายเป็น "ครูมอส" ของใครหลายๆ คน มุ่งหน้าเข้าสู่เส้นทางสายศิลปะอย่างเป็นเรื่องเป็นราว

และศิลปะนั่นเอง ที่เป็นจุดเริ่มต้นให้ชีวิตของเขา ผันตัวเองมาสู่การเป็น "นักศิลปะบำบัด" แถวหน้าของเมืองไทยอย่างในปัจจุบัน

โดยหลังจากที่ชีวิตได้สัมผัสกับผืนผ้าใบและปลายพู่กันเป็นเวลานานพอควรจน ทำให้เขาอยากรู้จักศิลปะในแง่มุมที่ลึกไปกว่าที่เป็นอยู่ อนุพันธุ์จึงตัดสินใจแพ็คกระเป๋าเดินทางไปศึกษาต่อที่เยอรมนี อันเป็นต้นกำเนิดของแนวมนุษยปรัชญา อันเป็นแนวทางซึ่งเมืองไทยรู้จักกันในรูปของการศึกษาแบบ "วอลดอล์ฟ" (Waldorf)

เป้าหมายของการเดินทางครั้งนั้น เกิดขึ้นเพราะความสงสัย อยากรู้จักและเข้าใจว่า จิตใจนั้นมีความสัมพันธ์กับศิลปะอย่างไร จนเมื่อต่อมาเขาได้พบผู้ป่วยเด็กซึ่งผ่านการผ่าตัดสมองรายหนึ่ง ซึ่งจุดประกายให้เขาหันมามองแนวทางการบำบัดเด็กที่เป็นผู้ป่วยด้วยศิลปะ อย่างจริงจัง ก่อนจะเบนเข็มไปเรียนด้านศิลปะบำบัดแนวมนุษยปรัชญาที่ ไฮเบอร์เนีย สกูล เมืองสเตราด์ ประเทศอังกฤษ และต่อมาได้ทุน "ฮานส์-ไซเดล สติฟตุง" จากรัฐบาลเยอรมนี ไปเรียนที่ เธราพอยติคุ่ม (Therapeutikum) เมืองสตุตการ์ท ประเทศเยอรมนี ซึ่งเป็นสถาบันด้านศิลปะบำบัดโดยเฉพาะ

นั่นคือเส้นทางสู่การเป็นนักศิลปะบำบัดพอสังเขปของผู้ชายคนนี้ ซึ่งโลดแล่นอยู่ในวงการนี้มาได้ร่วมสิบปี นับตั้งแต่วันที่คนไทยแทบไม่เคยรู้จักหรือแม้กระทั่งได้ยินคำว่า "ศิลปะบำบัด" แล้วนับประสาอะไรกับการต้องจูงใจให้พ่อแม่หรือผู้ปกครองยินดีส่งบุตรหลาน เข้าสู่การบำบัดด้วยแนวทางศิลปะ แม้กระทั่งโดยคำแนะนำจากแพทย์ก็ตาม

"8 ปีที่แล้ว ผมได้มีโอกาสได้ทำงานร่วมกับ นพ.จอม ชุมช่วย ซึ่งขณะนั้นเป็นจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น ที่โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช ศรีนครินทร์ โดยในช่วงแรกๆ ถือว่าฝ่าฟันอยู่เหมือนกัน เพราะงานศิลปะบำบัดเป็นเรื่องที่ใหม่มากในสมัยนั้น โอกาสที่แพทย์จะชวนใครมาบำบัดกับคนทำงานศิลปะนั้นมีไม่มาก แถมนักบำบัดก็มีอยู่น้อย ทำให้ยังไม่แพร่หลายเท่าไรนัก" อนุพันธุ์เล่าย้อนหลังไปถึงช่วงบุกเบิกวงการศิลปะบำบัดของเขา

ในแง่ของเนื้องานที่นักศิลปะบำบัดต้องรับผิดชอบนั้น หลักๆ คือการทำงานร่วมกับจิตแพทย์ เพื่อวิเคราะห์หาจุดที่ผิดปรกติในจิตใจของผู้ป่วย ซึ่งการสังเกตวิธีการทำงานศิลปะของผู้ป่วย ก็เป็นหนทางหนึ่งในการวินิจฉัย



โดยอนุพันธุ์ ได้เอ่ยถึงคำกล่าวของ นิโคลา ชไนเดอร์ ที่บอกไว้ว่า 'Art is not therapy, Therapy is art.' แปลเป็นไทยก็คือว่า 'ศิลปะไม่ใช่การบำบัด, การบำบัด (ต่างหาก)ที่เป็นศิลปะ' นั่นก็เพราะว่า จริงๆ แล้วศิลปะมันมีความเป็นยาอยู่ด้วย สีทุกโทนมีความเชื่อมโยงกับความเจ็บป่วย อาทิ คนที่มีบุคลิกภาพรุนแรงก็อาจจะแสดงสีที่ร้อนแรงออกมาได้มากเป็นพิเศษ เส้นทุกเส้นต่างก็เป็นยา ไม่ว่าจะเส้นตรง เส้นตัดกัน เส้นโค้ง หรือเส้นที่มีความสมดุล นั้น ต่างก็สะท้อนสิ่งที่ซ่อนอยู่ภายในได้ทั้งสิ้น หรืออย่างรูปทรงที่คนป่วยถ่ายทอดออกมาก็ถือเป็นยาได้หมดเลย

ซึ่งหน้าที่ของศิลปะบำบัด ลำดับแรกก็คือ การศึกษาประวัติเด็กจากแพทย์อย่างละเอียด ศึกษาคำวินิจฉัยและข้อมูลอื่น ๆ จากแพทย์ ศึกษาข้อมูลจากคอบครัว, ครูประจำชั้น, แพทย์ประจำโรงเรียน จากนั้นจึงจะเริ่มใช้เวลา 3 ครั้งแรกให้เด็กได้ทำงานศิลปะ โดยนักศิลปะบำบัดจะทำหน้าที่เฝ้ามองถึงรูปแบบและวิธีการในการทำงานศิลปะของ ผู้ป่วย โดยพุ่งเป้าสังเกตว่าเขาทำ "อย่างไร" ไม่ใช่ทำ "อะไร"

"เราต้องคอยดูเขา ว่าเขาทำงานอย่างไร ทำเร็ว หรือ ทำช้า ใช้สีโทนร้อนหรือโทนเย็น รูปทรงที่เขาปั้นเล็กหรือใหญ่ เป็นรูปทรงปิดหรือเปิด เราไม่มานั่งดูว่าเขาวาดอะไร แต่เราต้องดูว่าเขาวาดมันอย่างไร" นั่นคือ สิ่งแรกที่นักบำบัดทำกับผู้ป่วยใหม่ที่เข้ามารับการรักษา

เมื่อสามารถค้นหาสิ่งที่ขาดหายไปซึ่งทำให้จิตใจของผู้ป่วยอยู่ในภาวะขาดความ สมดุลได้แล้วนั้น "ศิลปะ" ก็เปลี่ยนหน้าที่จากการเป็นภาพสะท้อนถึงปัญหา สู่หนทางการเยียวยาแก้ไข โดยนักบำบัดจะเริ่มออกแบบโดสของยา เช่นว่า ผู้ป่วยคนนี้ จะต้องใช้สีน้ำ สีเทียน สีชอล์ค หรือ ไม่ควรจะวาด แต่ให้หันไปปั้นแทน เป็นต้น

"เราไม่ได้ปล่อยให้เขาวาดรูปเฉยๆ แต่เรามีแบบฝึกหัดในเขาทำด้วย โดยเราต้องแสวงหาวิธีการ หรือ รูปทรง ที่เหมาะสมให้แก่เขา เช่น บางคนเข้ามาเอาแต่วาดเส้นหมุนอย่างเดียว นั่นก็สะท้อนแล้วว่าในจิตใจเขาขาดความมั่นคง เราก็ค่อยๆ ช่วยเสริมความมั่นคงเข้าไปผ่านการบอกให้เขาวาดรูปเรขาคณิต" อนุพันธุ์ อธิบาย

เพราะบทบาทของศิลปะในมิติของการบำบัดนั้น ไม่ใช่แค่หนทางในการ "แสดงออก" (Express) เท่านั้น หากแต่มันยังทำหน้าที่ในการ "เติมเต็ม" (Impress) หรือประทับสิ่งที่ขาดหายเข้าไป เพื่อให้เกิดดุลยภาพในจิตใจของผู้ทำงานนั้นๆ ได้ด้วย

"หลักการ คือ เราต้องทำให้สามส่วนของร่างกายมีความสมดุล ซึ่งสามส่วนที่ว่านั้น ได้แก่ หัว คือ สมอง (Head), ตัว คือ หัวใจ (Heart) ส่วนที่สามก็คือแขนขา (Hand) ซึ่งทั้งสามส่วนจะทำงานประสานกัน จึงจะสร้างความสมดุลได้ ถ้าวาดรูปโดยใช้ฟีลลิ่งอย่างเดียวโดยไม่ใช้สมองก็ไม่ได้ หรือจะใช้สมองอย่างเดียวก็จะเครียดเกินไป นักศิลปะบำบัดจะต้องจับจุดตรงนี้ให้ได้ และคิดหาวิธีคืนความสมดุลให้กับทั้งสามส่วนของผู้ป่วย"



8 ปีที่ผ่านมา หลังจากเคสแรกผ่านมือเขาไปได้ด้วยดี เคสใหม่ๆ ก็เริ่มเข้ามาต่อเนื่อง โดยยิ่งพบเคสใหม่ อนุพันธุ์ก็ยิ่งต้องเจอกับเรื่องซับซ้อนของจิตใจคนเรามากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงวันนี้ เขาบอกอย่างไม่ลังเลเลยว่า

"ไม่มีเคสที่ยากที่สุด หรือ ง่ายที่สุด มันมีแต่เรื่องใหม่ๆ เข้ามาให้เรียนรู้เสมอ ขนาดครูของผม ที่อยู่ในแวดวงนี้มา 30 ปี ก็ยังต้องเรียนอยู่ เพราะถึงแม้จะรู้เยอะแค่ไหน ก็ยังมีเรื่องที่เราอาจหลงลืม หรือ มองข้ามไปได้ ถ้าไม่หมั่นทบทวน" อนุพันธุ์เอ่ย

พร้อมสำทับอีกหนึ่งครั้งว่า "นักศิลปะบำบัด" นั้นจัดว่าเป็นอาชีพที่ "เรียนไม่รู้จบ" เพราะศิลปะไม่ใช่วิชา มันมีความเป็นธรรมชาติซึ่งคนเราต้องเรียนรู้ต่อไปไม่มีวันสิ้นสุด

---------------

องค์ความรู้ : มีความรู้พื้นฐานด้านศิลปะ และ ศึกษาต่อด้านศิลปะบำบัดโดยตรง (ปัจจุบันไม่มีสอนในประเทศไทย)

คุณสมบัติ : ไม่ด่วนตัดสินใคร มีความละเอียด รอบคอบ สามารถไตร่ตรอง พิจารณาได้ว่า ผู้ป่วยเป็นอย่างไร มีปัจจัยใดที่หล่อหลอมให้มีความรู้สึกนึกคิดหรือแสดงออกอย่างนั้น

จุดวัดความสำเร็จ : ไม่มี

รายได้ : โดยทั่วไปรับการบำบัดต่อเนื่อง 6 เดือน ความถี่อาทิตย์ละครั้ง ค่าตอบแทน session ละ 800 - 1,200 บาท




โดย: ปานใจ ปิ่นจินดา
ที่มา: bangkokbiznews.com / 20 พฤษภาคม 2554

Views: 16

Reply to This

© 2009-2024   PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service