ช้างน้อย กุญชร ณ อยุธยา สมองขั้นเทพ!...ของอะเดย์

หากนึกถึงภาพบริษัท เดย์ โพเอทส์ จำกัด เจ้าของนิตยสารแนวๆ อย่างอะเดย์ หลายคนคงจะมีภาพของวงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์ หรือ โหน่ง-อะเดย์ ผุดขึ้นมาในหัวไปพร้อมกัน เหตุว่าศาสดาเด็กแนวคนนี้ได้สร้างตำนาน "อะเดย์" ขึ้นมาเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว ด้วยการให้ผู้อ่านที่อยากร่วมลงทุนกับหนังสือของเขาส่งเงินมาร่วมหุ้น จนทุกวันนี้บริษัทนี้กลายเป็นบริษัทสื่อที่มีแบรนด์น่าสนใจอย่าง นิตยสารอะเดย์, แฮมเบอร์เกอร์, อะเดย์ บุลเล็ตติน, สำนักพิมพ์อะบุ๊ค, รายการโทรทัศน์ดิ ไอดอล และรายการทีวีแชมเปี้ยน !

การเดินทางของ "อะเดย์" ที่กว่าจะมาถึงวันนี้ได้ นอกจากจะมาจากแคแร็กเตอร์เฉพาะตัวของโหน่ง-อะเดย์แล้ว ความสำเร็จนี้ส่วนหนึ่งต้องยกให้กับคนอีกหลายคนที่เป็นมันสมองภายในบริษัท นี้ เหมือนกับเล่าปี่ในวรรณกรรมสามก๊กที่คิดอยากรวมประเทศจีน จำต้องมีกุนซือคู่ใจอย่างขงเบ้ง และเพื่อนร่วมเป็นร่วมตายอย่างกวนอู และเตียวหุย...

เหมือนกับศูนย์บัญชาการ "อะเดย์" สุดฮิปที่ถนนสุขุมวิท 63 ที่มีมันสมองร่วมกันคิดให้อะเดย์ก้าวไปข้างหน้าเรื่อย ๆ

หนึ่งในนั้นคือ คนรุ่นใหม่ที่มีชื่อว่า ช้างน้อย กุญชร ณ อยุธยา...ในตอนนี้เขาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายโฆษณาของบริษัท เดย์ โพเอทส์ จำกัด

"ผมเป็นผู้อำนวยการฝ่ายโฆษณา งานของผมคือทำอย่างไรก็ได้ให้หนังสือของเราขายโฆษณาได้เยอะ ๆ คือพูดง่าย ๆ ว่า ถ้าวงจรนี้มีคนอยู่ 3 กลุ่ม คือ บริษัทเรา คนอ่าน และสปอนเซอร์ที่สนับสนุนเราอยู่ ฝั่งกอง บ.ก.เขามีหน้าที่ทำอะไรก็ได้ให้มีคนอ่านเยอะ ๆ ทำหนังสือดี ๆ ส่วนฝั่งเราทำอย่างไรก็ได้ให้หนังสือเราเป็นหนังสือที่มีโฆษณาเยอะ ๆ เป็นเหมือนสามเหลี่ยมที่จะต้องเกื้อหนุนจุนเจือกัน...

...ปกติสูตรการทำโฆษณา ถ้าตามใจโฆษณาเยอะ ๆ จะทำให้คนอ่านเสียศรัทธาไป หรือถ้าหนังสือที่ตามใจคนอ่าน ฮาร์ดคอร์ ก็จะแนวเกินไป หนังสืออะเดย์ต้องประสานสองสิ่งนี้เข้าด้วยกัน ต้องเป็นหนังสือที่ดีด้วย วัยรุ่นอ่านแล้วโอเค และโฆษณาก็ต้องมี สามารถเลี้ยงตัวเองได้ด้วย ต้องมีสองอย่างผสมกลมกลืนเข้าด้วยกัน ยกตัวอย่าง อะเดย์ที่วันนี้พูดถึง แบรนดิ้ง พื้นฐานแบรนด์ดีมาแต่แรก สิ่งที่เกิดเป็นอะเดย์ในทุกวันนี้ เพราะความดิบ เรื่องที่พี่โหน่ง-วงศ์ทนง (เจ้าของอะเดย์) ระดมเงินจากคนอ่าน ส่งมาคนละพันสองพันจนเป็นสองล้าน แล้วเกิดเป็นอะเดย์ขึ้นมา เรื่องนี้เล่าได้ตลอดเวลา...

...แบรนด์ของอะเดย์จะหวงเนื้อหวงตัวระดับหนึ่ง ยกตัวอยางเช่น จะเห็นว่านิตยสารอะเดย์ไม่เคยให้ผลิตภัณฑ์อะไรขึ้นปกเลย ทำให้เกิดความรู้สึกว่า อะเดย์เป็นแบรนด์ที่น่าเชื่อถือ เพราะแน่นอน บ.ก.ต้องดูแลผลประโยชน์ของคนอ่าน การที่มีโฆษณามาก ๆ โดยไม่มีเนื้อจะทำให้หนังสือของเราด้อยคุณค่าลงไป บ.ก.กับฝ่ายโฆษณาต้องคานอำนาจ ฝั่งหนึ่งบอกว่า หนังสือต้องดี ไม่มีอะไรมาแปดเปื้อนเยอะ ส่วนอีกฝั่งบอกว่า พี่...ถ้าไม่มีเงิน แล้วองค์กรจะอยู่ได้อย่างไร เราต้องมาคุยแล้วหาจุดร่วมตรงกลาง ต้องใช้ศิลปะการต่อรองเพื่อหาทางออกร่วมกัน"

อะเดย์จัดการกับโฆษณาอย่างไร ?

"คนนอกอาจมองว่า ′อะเดย์′ มีคนอ่านเยอะแล้ว โฆษณาวิ่งเข้าหา จะบอกว่าไม่จริง เพราะคนซื้อโฆษณาเขายึดคัมภีร์ที่สำคัญคัมภีร์หนึ่งนั่นคือ ระบบเรตติ้ง ซึ่งเขาวัดความนิยมจากคนทั่วประเทศ วันนี้เราอยู่กรุงเทพฯอาจจะบอกว่าอะเดย์ดัง ไปเดินตลาดโคราชและถามคนโคราชว่า ใครดัง ? แล้วคนที่เป็นเอเยนซี่ก็ซื้อตามเรตติ้ง ซึ่งเรตติ้งเนี่ยก็ไม่ได้มีแต่อะเดย์เสมอไป เพราะฉะนั้นเขาจะเลือกเบอร์หนึ่งซึ่งก็ไม่ง่ายหรอกที่เราจะขายโฆษณา เราเป็นกลุ่มเป้าหมายที่ค่อนข้างเป็นทางเลือก จนวันนี้ทางเลือกก็อาจจะกลายเป็นทางหลักแล้ว ซึ่งก็ต้องไฟต์ เราไม่ได้เป็นหนังสือที่แมสมีทุกอย่างครบ ถ้ามองในเชิงทั้งประเทศแล้วไม่ใหญ่ เราจึงต้องทำหนังสือของเราให้ดูแปลกและเด่นเสมอ"

นอกจากแปลกและเด่นแล้ว ความเป็น "อะเดย์" ในยุคนี้ ช้างน้อยบอกว่า ความ "แรง" มาจากโซเชียลเน็ตเวิร์ก

"สิ่งหนึ่งที่ทำให้เครือเรามีพลัง สิ่งนี้เรียกว่า โซเชียลมีเดียอย่างเฟซบุ๊ก หรือทวิตเตอร์ เมื่อก่อน ที่เราสื่อสารกับคนอ่าน เรามีโอกาสแค่เดือนละครั้ง สัปดาห์ละครั้ง คนไม่เปิดอ่านก็จบเลย พลาดการเสพสื่อ แต่พอมีเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ทำให้ทุกอย่างเร็วมาก รู้ว่าแฟนหนังสือเราที่แน่นอนมีกี่คน เราจะขยับทำอะไรก็เชื่อว่ามีพลัง ตอนนี้มีแฟนเพจเฟซบุ๊กของอะเดย์อยู่ประมาณแสนห้า...

...บ.ก.ของแต่ละเล่ม อย่างเช่น พี่ก้อง (ทรงกลด บางยี่ขัน บ.ก.นิตยสารอะเดย์ หรืออย่างพี่โหน่งเอง มีความสามารถพิเศษในการปั้นแบรนด์ของตัวเอง ทวิตแต่ละครั้งมีคนติดตามอยู่ตลอดเวลา คนเหล่านี้พอจับผูกเข้าด้วยกันเป็นโครงข่ายที่แข็งแรงมาก อย่างปีที่แล้วงาน ′อะเดย์ เลเจนด์′ เราเปิดให้คนมาสำรองที่นั่ง 500 ที่นั่งจากเฟซบุ๊กก่อน แค่ 10 นาทีก็เต็มแล้ว ซึ่งถ้าเป็นเมื่อก่อนต้องรอให้ลงหนังสือ ดีไม่ดีได้บัตรแล้วก็ไม่มาอีก (หัวเราะ) พอมีโซเชียลเน็ตเวิร์กทำงานร่วมกับหนังสือได้ดีมาก แถมการเชื่อมโยงกับคนเขียนหนังสือก็ใกล้ชิดกัน ใครอยากคุยกับพี่ก้อง ทรงกลด ก็ทวีตไปสิ กลายเป็นจุดเด่นของเราไปเลย อย่างเฟซบุ๊กของเรามีแฟนประมาณแสนหก ลองไปเช็กดูวิทยุบางคลื่น คนตามอยู่เป็นหลักหมื่นเอง ซึ่งที่จริงวิทยุน่าจะพูดดังกว่าหนังสือ"

แม้อินเทอร์เน็ตซึ่งเป็นสื่อใหม่กำลังกระทบธุรกิจหนังสือ แต่ช้างน้อยบอกว่า อินเทอร์เน็ตแบบเดิม ๆ กำลังจะตาย !

"ในความคิดของผม ผมว่าอินเทอร์เน็ตกำลังจะตาย กำลังจะตายในความหมายที่ว่า ถ้าเป็นเว็บไซต์อะเดย์ เปิดไปมีข้อมูลให้อ่าน กำลังจะตาย ส่วนที่มาแรงที่สุดในตอนนี้คือ ทวิตเตอร์กับเฟซบุ๊ก แต่สเต็ปต่อไปคงไม่ใช่อินเทอร์เน็ตที่เป็นธรรมดา คงจะมาในรูปของแอปพลิเคชั่น อย่างของเราก็กำลังพัฒนาอะเดย์แอปพลิเคชั่นกันอยู่ อินเทอร์เน็ตทำให้คอนเทนต์ที่เป็นหนังสือขายไม่ออกเลย แต่ถ้าเป็นแอปพลิเคชั่นเก็บเงินได้ ขายโฆษณาได้ แล้วคนสมัยนี้เวลาเสพสื่อ เขาไม่เน้นความยาวของคอนเทนต์ ซึ่งเฟซบุ๊กกับทวิตเตอร์อาจจะเป็นคำตอบ ทวิตสัก 5 เรื่อง สนใจสักเรื่องอาจจะไปซื้อหนังสือหรือโหลดแอปฯอะเดย์ในไอแพดก็ว่ากันไป"

ส่วนธุรกิจอีเวนตก็ดูน่าสนใจมากทีเดียว...

"ต้องบอกว่าเม็ดเงินในตลาดโฆษณา อะเดย์เป็นหนังสือหน้าโฆษณาขายให้เต็มยังไงก็มีอยู่เท่านี้ เราจะทำอย่างไรเอาแบรนด์อะเดย์ไปแตะกับอะไรสักอย่างแล้วเพิ่มมูลค่า คำตอบคือการทำอีเวนต์ เราขายโฆษณาหน้าละ 4-5 หมื่นบาท เราทำอีเวนต์งานหนึ่งเป็นหลักล้าน เป็น การเพิ่มมูลค่าของเรา ลูกค้าก็ได้ฐานแฟนหนังสือของเราด้วย ตัวอย่างเช่น การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เขาโปรโมต เส้นทางตามรอยไดโนเสาร์ จะมีคนไปไหม ? ร้อนก็ร้อน แต่พอได้กระบอกเสียงจากอะเดย์ แฟนหนังสือของเราเปิดใจ เปิดสมัครแป๊บเดียวก็เต็มหมดแล้ว"

และนี่คือหนึ่งในมันสมองขั้นเทพ ! จากกองบัญชาการของออฟฟิศที่ "แนว" ที่สุดแห่งหนึ่งของฟ้าเมืองไทย !



ที่มา: prachachat.net / 05 พฤษภาคม 2554

Views: 90

Reply to This

© 2009-2024   PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service