มินท์-สุมีนา จงวัฒน์ผล: จากสถาปนิกสู่ "พร็อพ มาสเตอร์" กับกองหนังเมืองนอก...ความฝันที่ไม่ง่าย

วันที่นักศึกษาก้าวข้ามรั้วมหาวิทลัยสู่สนามชีวิตที่เรียกว่า "การทำงาน" หลายคนพกพาความฝันมากมาย แม้ไม่รู้ว่าอนาคตที่แท้แล้วเป็นเช่นไร มินท์-สุมีนา จงวัฒน์ผล เธอทำมาแล้วทั้งงานตรงสายที่จบมาจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขาสถาปัตยกรรมไทย มหาวิทยาลัยศิลปากร "อีเว้นท์ ดีไซเนอร์" (Event Designer) งานประจำครอบคลุมการดีไซน์ จนมาถึงงานปัจจุบันที่เธอหลงรัก "ดราฟแมน" (Draftman) และ "พร็อพ มาสเตอร์" (Prop Master) ในกองหนังจากเมืองนอก


"จบมาแรกๆ ก็ยังไม่ได้คิดว่าจะทำอะไร น่าจะเป็นสถาปนิก แต่ก็ตัดสินใจไปเรียนภาษาที่อินเดียซะก่อน เพราะคิดว่าถ้าเรียนภาษาแล้วคงทำอะไรได้อีกเยอะ พอกลับมาก็มีเพื่อนบอกต่อเรื่องกองหนังต่างประเทศจึงไปสมัครตำแหน่ง "ดราฟแมน" คนที่ทำในกองมาก่อนเป็นรุ่นพี่ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร เขาถามหารุ่นน้องที่สนใจอยากให้ลองมาสัมภาษณ์ดู คนที่จะมาทำต้องเรียนสถาปัตยกรรม เพราะเป็นการเขียนแบบโครงสร้างเพื่อให้คนนำไปก่อสร้างฉาก" มินท์เล่าถึงจุดเริ่มต้นการทำงานในกองหนัง


ในแต่ละปีจะมีกองภาพยนตร์ต่างชาติสนใจเข้ามาถ่ายทำในบ้านเรา ติดต่อผ่านทางบริษัทในเมืองไทยเพื่อจัดหาคนมาช่วยงานในตำแหน่งต่างๆ เรื่องแรกที่มินท์ได้ลองทำ กลับเป็นภาพยนตร์ชื่อดังจากฮอลลีวู้ด "เซี่ยงไฮ้" (Shanghai) ด้วยหน้าที่ของดราฟแมนมือใหม่ แอบพ่วงด้วยการแสดงบทเล็กๆ หลังจากใช้เวลาไม่กี่เดือนในการทำงาน มินท์หันเหชีวิตไปทำ "อีเว้นท์ ดีไซเนอร์" แต่แล้วเธอก็ก้าวเดินออกจากงานประจำสู่หนทางของการทำฟรีแลนซ์ มินท์เล่าว่า ด้วยนิสัยที่ไม่ชอบความจำเจ พอเราทำงานออฟฟิตมาสักพักจะเริ่มเชี่ยวชาญทางด้านนั้นและจะทำอย่างนั้น แต่เราชอบความรู้ใหม่ๆ การทำหนังทำให้เจอคนใหม่ๆ คนที่นอกเหนือจากวงจรเดิมๆ ออกไปสถานที่อื่นๆ ที่เราไม่เคยไป ทำให้รู้ว่า "โลกมันกว้าง"


"สุมีนา"ตัดสินใจกลับไปทำงานกองหนังอีกครั้งในตำแหน่งเดิม คือ ดราฟแมน ครั้งนี้เป็นการทำงานร่วมกับคนสเปนในชื่อเรื่อง The Impossible เรื่องจริงเกี่ยวกับคนสเปนที่มาเที่ยวเมืองไทยในช่วงที่เกิดสึนามิแล้วรอด ตายทั้งครอบครัว "เรื่องแรกที่ทำเป็นกองใหญ่ หน้าที่ก็จะไม่เยอะมากแค่ออกแบบ แต่เรื่องที่สองต้องไปคุมการก่อสร้างฉาก ดูแลการทำงานของช่างเพื่อความสวยงาม เช่น ถ้าบอกช่างว่าอยากให้ไม้พัง เขาก็จะเอาเลื่อยมาเลื่อย แต่ถ้าอยากให้หักเป็นฝอยหรือขีดก็ต้องไปยืนกำกับเอง"



จากนั้นเธอก็เปลี่ยนตำแหน่งมาเป็นพร็อพ มาสเตอร์ ในภาพยนตร์เรื่อง Turkish For Beginners "มีหน้าที่หาของทุกอย่างที่ไม่ใช่คน หน้าที่นี้ต้องทำการบ้านเยอะ ซึ่งสิ่งแรกที่ทำหลังจากได้รับหน้าที่ คือ "อ่านบท" เพื่อดูคาแรคเตอร์ของตัวละคร เช่น พระเอกหยิบกระเป๋าขึ้นมาหนึ่งใบ กระเป๋าต้องเป็นแบบไหน โดยเฉพาะบุคลิกของพระเอก เราต้องเลือกของให้เข้าบุคลิกของคนๆ นั้น"


เธอยังเล่าประสบการณ์การทำงานที่แตกต่างกันของทั้ง 3 ชาติว่า "คนแต่ละชาติทำงานไม่เหมือนกัน อย่างเรื่องเซี่ยงไฮ้ คนอังกฤษจะแฟร์มาก ง่ายๆ ไม่แบ่งชนชั้น เคารพสิทธิส่วนบุคคล ส่วนกองสเปน ระบบงานที่ได้ทำมาในกองนี้จะแก้ไขงานกันไปเรื่อยๆ เปลี่ยนแผนกันตลอด สำหรับเรื่องล่าสุดในกองเป็นคนเยอรมัน การทำงานแม้จะเรื่อยๆ แต่เป๊ะว่าจะถ่ายอะไรและทำงานเร็ว


ส่วนตำแหน่งการทำงานที่แตกต่างกันระหว่าง "ดราฟแมน" และ "พร็อพ มาสเตอร์" สุมีนา บอกว่า ถ้าเป็นดราฟแมนอย่างแรกก็ต้อง "เขียนแบบเป็น" ถ้าไม่จบสถาปัตย์มาก็ต้องจบเขียนแบบ เพราะมันยาก การออกแบบต้องละเอียด การสร้างอะไรสักอย่างมันไม่ง่าย โดยเฉพาะการทำให้งานออกมาสวย หน้าที่นี้ไม่ต้องยุ่งกับเรื่องงบประมาณ เขียนแบบให้เขาไปสร้าง ไม่ต้องหาเอง ไม่ต้องยุ่งกับใคร สงบ อย่างมากก็ยุ่งกับช่างและอาร์ต ไดเร็คเตอร์ แต่ "พร็อพ มาสเตอร์" ต้องใส่ใจและต้องเข้าใจ มีความสามารถในการจินตนาการ เช่น คนแบบนี้มีนิสัยอย่างนี้ต้องใช้ของแบบไหน ประสบการณ์และเซนส์เป็นเรื่องสำคัญ หน้าที่นี้ไม่ใช่สิ่งที่ยากมากแต่ต้องอาศัยความใส่ใจและฝึกฝน ตั้งใจที่จะเรียนรู้ และยังต้องใช้ความอดทนสูง เรื่องมนุษยสัมพันธ์ก็สำคัญต้องรู้จักพูด มีวาทศิลป์ที่ดี ถ้าเราอยากได้ของสิ่งหนึ่งไปประกอบฉากจะพูดอย่างไรให้ได้มา นอกจากนี้ ควรมีคอนเนคชั่นและรู้จักสถานที่ เช่น ถ้าของที่ต้องการไม่ผลิต เราต้องไปตามหาที่ไหนหรือทำขึ้นมาเอง และสิ่งนั้นต้องถูกใจผู้กำกับสอดคล้องกับงบประมาณในแต่ละฉากด้วย


สำหรับคนที่สนใจร่วมงานกับกองหนังเมืองนอก มินท์ บอกว่า รายได้จะได้รับเป็นรายอาทิตย์ ผลตอบแทนค่อนข้างดี "แต่อยากให้เข้ามาทำเพราะอยากทำมากกว่าจะคิดถึงตัวเงิน ไม่อยากให้กลายเป็นทำงานไปเพื่อเงิน"


การเข้ามาทำงานในกองหนังเมืองนอกส่วนใหญ่เป็นการบอกต่อ มิ้นท์ให้เหตุผลว่า "การที่จะเรียกใครสักคนให้ไปทำงานด้วย เราคิดว่าไม่ใช่แค่เรียกเพราะเขาเก่ง แต่เพราะหลายๆ อย่าง เช่น มนุษย์สัมพันธ์ เหมือนว่าเราจะทำงานด้วยกันในระยะสั้นๆ แต่เราอยู่ด้วยกันตลอดเวลา จริงๆ แล้วมันก็ไม่มั่นคง การทำงานกับกองนอกมันต้องว่าง ต้องพร้อม หลายคนก็เลือกทำงานในออฟฟิตมากกว่า ที่สำคัญคือเรื่องภาษา" พร้อมทั้งทิ้งท้ายไว้ให้คิดว่า "ถ้าเป็นงานที่ต้องทำกับคนส่วนใหญ่สิ่งที่ควรมีคือ มนุษยสัมพันธ์ และการทำงานให้คุ้มเงิน ขวนขวายหาความรู้และช่างสังเกต เวลาเข้ามาทำ ไม่มีคนมาสอน มาทำเลยก็ต้องเรียนรู้ไป ถ้าได้เริ่มเข้ามาในวงการและมีคอนเน็คชั่นก็จะสามารถไปทำหน้าที่อื่นในกอง ได้ การช่างสังเกตช่วยให้เราประเมินได้ว่าเราทำหน้าที่นั้นไหวหรือเปล่า"


ทุกวันนี้เธอยังไม่ทิ้งงานสถาปนิก ยังคงออกแบบบ้าน รับจ้างฟรีแลนซ์ รวมไปถึงเล่นดนตรีที่เธอรัก (อีกอย่าง) ในนาม "Sandwich Wasabi"




โดย: ตุลยา
ที่มา: matichon.co.th / 04 มิถุนายน 2554

Views: 1296

Reply to This

© 2009-2024   PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service