"โขน ฅน สิ่งสมมุติ" ชีวิตหลังเลนส์ของ เสริมคุณ คุณาวงศ์

เสริมคุณ คุณาวงศ์" ชื่อนี้ในบทบาทหนึ่งในฐานะ นักธุรกิจคือ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซี.เอ็ม.ออร์กาไนเซอร์ จำกัด (มหาชน)

อีกบทบาทหนึ่งคือ ผู้ทำงานด้านศิลปะ ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์ประติมากรรมกรุงเทพ และโครงการส่งเสริมศิลปะไทย, กรรมการ ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป์, กรรมการสนับสนุนมหาวิทยาลัยศิลปากร

แต่บทบาทที่กำลังกลายเป็นอีกสรณะหนึ่งในชีวิตก็คือ การเป็นช่างภาพร่วมสมัย ที่กำลังจะมีผลงานแสดงในช่วงปลายเดือนมิถุนายนถึงต้นกรกฎาคม

ผลงานของเขาในครั้งนี้มีชื่อว่า "โขน ฅน สิ่งสมมุติ" โดยจะนำเสนอ ผลงานการถ่ายภาพจำนวน 39 ภาพ

"การมีบทบาทเป็นช่างภาพร่วมสมัย เป็นอีกช่วงชีวิตหนึ่งของเรา เพราะต่อไปเราจะทำสิ่งนี้เป็นสรณะหนึ่งในชีวิต เรื่องถ่ายภาพ ผมทำมาตั้งแต่เรียนหนังสือ มีผลงานของเราเก็บไว้ตลอด แต่ว่าเราเพิ่งมาทำเป็นนิทรรศการแสดงเดี่ยวเมื่อ ปี 2008 หรือ 3 ปีที่แล้ว ส่วนโขน ฅน สิ่งสมมุติ จะเป็นครั้งที่สอง และเป็นอีกสเต็ปที่ทำให้เราตัดสินใจที่จะเดินหน้าตลอดชีวิต เพื่อการมีชีวิตที่สาม"

ชีวิตที่สาม หรือการเป็นช่างภาพที่ทำงานร่วมสมัย ซึ่งเสริมคุณเปรียบเทียบชีวิตทั้งสามของเขาให้ฟังว่า

...ชีวิตที่หนึ่งของผมคือ การตั้งบริษัททำงานมาจนถึงทุกวันนี้เป็นสัมมาอาชีพที่เรารัก ชีวิตที่สองคือ การทำเรื่องเกี่ยวกับอาร์ตคอลเล็กชั่นและศูนย์ประติมากรรมกรุงเทพ ส่วนชีวิตที่สาม คือ เราอยากเป็นช่างถ่ายภาพที่ทำงานร่วมสมัย

และผลงานในการแสดงนิทรรศการของเขาถือได้ว่าร่วมสมัยมาก ๆ แม้ภาพจะมีหัวโขนในวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์ แต่ทว่าสิ่งที่เสริมคุณสะท้อนออกมาในแต่ละชอตการถ่าย ลึกซึ้งและเข้าสถานการณ์ยิ่งนัก !

"ผมชอบอะไรไทย ๆ แล้วพอดีเรามีมุมมองเกี่ยวกับเรื่องของคนเราในบทบาทต่าง ๆ กัน ทำให้นึกถึงคำสอนไทย ๆ อย่างสวมหัวโขน คนโบราณจะบอกว่า ต้องรู้จักถอดหัวโขนนะ ผมก็รู้สึกว่าจริง ซึ่งผมไม่ได้มองว่าคนเราควรถอดหัวโขนตอนเกษียณอายุ จริง ๆ ควรจะถอดหัวโขนทุกวัน เพราะทุกวันคุณอาจมีบทบาทที่ต่างกันไป เช่น บทบาทสามี ภรรยา แม่ของลูก พ่อของลูก เจ้านาย ลูกน้อง ทำให้แต่ละคนก็ต้องมีหน้ากากหรือหัวโขนที่ต่างกันไป"

เขาเลือกหยิบหัวโขนมาสื่อในครั้งนี้ คือ พระราม หนุมาน ทศกัณฐ์ สหัสเดชะ และนางกษัตริย์ เจ้าหญิง ที่นำชฎา รัดเกล้า มาใช้ร่วมกับหน้ากากที่มีลักษณะเหมือนหน้าหุ่นในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น

"แต่ละหัวโขนเป็นตัวแทนของสิ่ง ต่าง ๆ เช่น การจุติของเทพ มาร มารที่มีพละกำลังมาก ส่วนหนุมานก็มีเรื่องความไว ภาพที่ผมนำเสนอภาพแรกคือ ก่อนกาล เป็นภาพมนุษย์ผู้ชายผู้หญิง และหัวโขน วางอยู่เฉย ๆ สะท้อนให้เห็นถึงการที่มนุษย์ยังไม่ดูดำดูดีกับสถานภาพใด ๆ แล้วก็มาสู่ภาพชุดการที่หัวโขนแสดงพลังอำนาจ การแย่งชิง ตัวละครในภาพจะนุ่งโจงแบบสั้นและยาว โจงยาวจะเป็นโจงที่มีสถานภาพแล้ว แต่โจงสั้นทุกคนจะใส่สีแดงเหมือนกันหมด สะท้อนความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน"

เสริมคุณใช้เวลาคิดคอนเซ็ปต์ สเกตช์ภาพร่วมปี ก่อนวางแผนในการถ่ายทำอย่างเป็นขั้นเป็นตอน

...ทุกอย่างเป็นคิวหมด ต้องวางไว้ให้ลงตัวที่สุด วันถ่ายทำในสตูดิโอ ผมไปตั้งแต่ 07.30 น. ออกจากสตูดิโอตอน ตี 3 ต้องทำ 40 บล็อกกิ้งเตรียมคิวถ่ายและต้องคิวดี ๆ เพราะต้องทำให้ได้ตามคอนเซ็ปต์ที่เราสเกตช์ไว้ เหนื่อยเลยล่ะ

"อย่างภาพการเฉลิมฉลอง เป็นการบูชาหัวโขน แม้ในภาพจะเห็นว่ายังไม่ใส่หัวโขน แต่คนก็บูชาแล้ว คนบูชาว่าท่านเป็นรัฐมนตรี หรือเป็นอะไรตามหัวโขน โดยที่ยังไม่ทันใส่เลย แต่ก็บูชาตำแหน่งกันนักหนา"

...ไม่ได้ตั้งใจให้เป็นเรื่องการเสียดสีการเมืองนะ แต่เป็นช่วงจังหวะพอดี เพราะนี่ก็คือ หัวโขนที่นักการเมือง ผู้ลงสมัครทุกท่านกำลังสู้กัน !

ดังภาพ "การแย่งชิง" ที่เน้นภาพเคลื่อนไหว เป็นไดนามิก เพื่อช่วงชิงให้ได้มา ซึ่งเสริมคุณอธิบายให้เห็นรายละเอียดในภาพที่สะท้อนสัจธรรมในสังคม ที่จะเห็นว่ามีทั้งคนที่ไม่แย่งชิงกับใคร และคนที่แย่งชิง ซึ่งเขาต้องการแสดงให้เห็นว่า ไม่ใช่ทุกคนที่จะแย่งกัน

ภาพ "นางกษัตริย์" ที่แม้จะหันหลังให้หัวโขน ไม่ได้ใส่ แต่ก็มีหัวโขนเป็นแบ็กอัพ ขณะที่ผู้คนที่เหลือในภาพจะมีคนยินยอม จำยอม ไม่ยอม ซึ่งทุกคนต้องอยู่ภายใต้อำนาจ ซึ่งก็คือ อำนาจของหัวโขน ทั้งที่คนนั้น ๆ ยังไม่ได้ใส่, ภาพ "เจ้าหญิง" ที่ไม่มีใครยอมรับ ปิดหู ปิดตา ปิดปาก, ภาพ "ระบำมาร" เป็นคอนเซ็ปต์เกี่ยวกับการใช้อำนาจ คือมีทั้งคนบูชา คนยอมรับ และคนเดินจากไป โดยจะมีการปิดท้ายด้วยภาพ "พิธีศพ", "ไว้อาลัย" และ "จุดจบ"

"ผมต้องการสื่อเรื่องพุทธศาสนาโดยตรง ผมจะบอกเลยว่า...สถานภาพของเราเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน ไม่คงอยู่ ต้องดับไป เพราะฉะนั้นต้องรู้จักการกลับบ้านไป ควรถอดออกเถอะ อย่าไปแบกเอาไว้ เวลาเปลี่ยนบทบาทหน้าที่ควรเปลี่ยน สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ของแน่นอน ไม่ใช่ของคุณ คุณแค่เอามาใส่แล้วก็ถอดออกไป เหมือนกับรัฐบาลเลย เป็นการเมืองก็ได้เหมือนกัน (หัวเราะ)"

จุดเด่นของผลงานในครั้งนี้นอกจากความหมายที่ผู้ถ่ายตั้งใจสะท้อนอย่างลึก ซึ้งแล้ว ยังมีความโดดเด่นในแง่ของการถ่ายภาพ เทคนิคภาพเคลื่อนไหว ที่ทำให้เกิดมุมมองในแบบต่าง ๆ กัน

"ภาพยากที่สุดในครั้งนี้คือ ภาพที่มีคนเยอะ ๆ ต้องคอมโพสคน และต้องถ่ายแบบครั้งเดียว (one shot) หากเทียบการทำงานตรงนี้กับอีกสองชีวิตของผมแล้ว ผมมีความสุขคนละแบบแตกต่างกันไปนะ ชีวิตที่สามของผมก็มีความสุข เพราะคืองานส่วนตัว เป็นของเราโดยตรง (ยิ้ม)"

...ผมเองมีความตั้งใจ อยากทำงานแบบนี้ต่อไป และคงต้องทำอย่างสม่ำเสมอ ทุกสองปีอาจจะมีนิทรรศการหนึ่งครั้ง ซึ่งตอนนี้นิทรรศการครั้งต่อไปของผมก็มีแล้ว เริ่มคิดแล้วนะครับ

ชีวิตที่สามของเขาจึงนับได้ว่า เพิ่งแตกหนุ่ม กำลังอยู่ในช่วงพร้อมเดินหน้าท้าทายการทำงานใหม่ ๆ ตลอดเวลา

เสริมคุณบอกว่า ในครั้งที่เขามีโอกาสไปช่วยงานสมาคมถ่ายภาพ ในตำแหน่งอุปนายก ซึ่งคุณสุรัตน์ โอสถานุเคราะห์เรียนเชิญไปช่วยงานหลัง เห็นว่าเขาเป็นช่างภาพอาชีพตั้งแต่ปี 2524 มีทั้งทักษะและมุมมองในการบริหารงาน ครั้งนั้นคุณสุรัตน์ทิ้งคำพูดสำคัญไว้ให้เขา

คำพูดที่ว่าคือ

"...คุณเสริมคุณ อย่าหยุดถ่ายภาพนะ...คำพูดของคุณอาสุรัตน์ในครั้งนั้น ทำให้ผมรู้หันมาสำรวจว่าตัวเราต้องการอะไรบ้างในชีวิต และผมก็พบว่า...ผมมีความสุขทุกครั้งที่เราทำโปรเจ็กต์เรื่องถ่ายรูป"




ที่มา: prachachat.net / 29 พฤษภาคม 2554

Views: 116

Reply to This

© 2009-2024   PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service