หัวใจไทย-ตลกโขนมหรสพไทยคลายเครียด

ตบมือเปาะเปาะเยาะพระราม ท่านมาทำสงครามกับนายเรา ...นอย...ดูด...หง่อง...หง่อง...ปะติงเท่ง...ทิง...แอ๊ะ...! ฆ่านายเราไม่ตายทำไมจะได้สีดา จงยกทัพกลับพาราเถิดพระราม ...นอย...ดูด...หง่อง...หง่อง...ปะติงเท่งทิง...แอ๊ะ...

บทตัวอย่างของการแสดงตลกโขน ที่ผู้แสดงจะต้องมีหลักในการเล่น ไม่เล่น "ลอยดอก" เหมือนการเล่นตลกทั่วไป

ตลกโขนมีรูปแบบการใช้ภาษาและคำที่เปิดกว้างให้แก่ตัวเอง เรื่องและสถานการณ์ในการแสดงตลอดเวลา ที่สำคัญคือ ต้องรู้จักภาษาเดิมจากบทประพันธ์ในตอนที่แสดงจนขึ้นใจและแตกฉาน รวมทั้งการใช้คำที่ผสมกันระหว่างภาษาการแสดงกับภาษาชาวบ้านที่ฟังแล้วคุ้นเคยกับการใช้ชีวิตปกติ ภาษาในตลก หรือวิธีการแสดงของตัวตลก จึงเป็นที่ชื่นชอบของคนเป็นจำนวนมาก สาเหตุเพราะเข้าใจง่าย คุ้นเคยกับชีวิตประจำวัน มีการสื่อสารตรงไปตรงมากับผู้ชม มีการเล่นคำที่ชวนหัว ทำให้จดจำเรื่องที่แสดงได้ง่าย

ในการแสดงโขน บทของตัวตลกจะมีการเขียนหรือบันทึกไว้น้อยมาก ส่วนใหญ่แล้วผู้แสดงจะใช้ประสบการณ์ และไหวพริบในการคิดคำและภาษามาเล่นตามท้องเรื่อง หรือจะยกเอาสถานการณ์ และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงกับสังคมปัจจุบันในช่วงเวลานั้น มาผนวกเล่นด้วยก็ได้ เป็นต้น การเล่นตลกประกอบโขนนั้น มีมาแต่โบราณมิใช่เป็นการคิดค้นขึ้นใหม่ แต่ในอดีตที่ผ่านมาการเล่นตลกประกอบโขนจะเล่นกันนิดๆ หน่อยๆ ไม่มากนัก เพื่อเพิ่มอรรถรสให้โขนมีความสนุกสนานมากยิ่งขึ้น แต่การเล่นตลกเป็นแค่ส่วนประกอบเท่านั้น สิ่งสำคัญคือต้องไม่ทำให้เนื้อเรื่อง หรือความโดดเด่นสง่างามของโขนต้องเสียไป

การแสดงตลกประกอบโขนแม้จะเป็นงานเรียกเสียงหัวเราะ แต่ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะตลกโขนต่างจากการแสดงตลกโดยทั่วไปอย่างสิ้นเชิง จะเล่นสนุกเถิดเทิงเกินขอบเขตก็จะกลายเป็นรุ่มร่ามเกินงาม เพราะต้องแสดงควบคู่กับศิลปะของชาติ บทขบขันในการแสดงตลกโขนมีหลายรูปแบบซึ่งสะท้อนผ่านบทขับร้องและตัวแสดงทั้งยักษ์ ลิง ฤษี วันศุกร์ที่ 20 พฤษภาคม 2554 ตั้งแต่เวลา 14.00 น. เป็นต้นไป เวทีการแสดงทางวัฒนธรรมของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร(องค์การมหาชน) ขอเชิญผู้สนใจในศิลปวัฒนธรรม สัมผัสการแสดง ตลกโขน มหรสพไทยคลายเครียด โดย กัญจนปกรณ์ แสดงหาญ และคณะ โดยช่วงแรกเป็นการแสดงตลกโขนในการแสดงโขนเรื่องรามเกียรติ์ ตอนทศกัณฐ์รบกับพระราม เริ่มเรื่องเมื่อพระรามแผลงศรไปตัดกาย กร เศียร บาท ขาดหมด แต่ทศกัณฐ์นั้นถอดดวงใจฝากไว้ที่พระฤษีโคบุตรแล้ว จึงไม่เป็นอันตราย แล้วก็ร่ายมนต์กลับให้ร่างกายต่อติดเหมือนเดิมทุกประการ ซึ่งในช่วงการแสดงตอนนี้ โบราณท่านได้เพิ่มอรรถรสของการแสดง ด้วยการเล่นตลกเยาะเย้ยพระราม และพลวานรทั้งหลายในกองทัพพระราม ผู้ชมจะได้สัมผัสถึงความสัมพันธ์ระหว่างเนื้อเรื่อง ผู้แสดง การเล่นตลก และดนตรี ที่จะสัมพันธ์กันไปตลอด อันเป็นองค์ความรู้ของโบราณจารย์ที่ท่านได้คิดประดิษฐ์ขึ้นและถ่ายทอดมาจนถึงในปัจจุบันนี้

ในช่วงท้ายจะเป็นการแสดงในชุดฤษีถวายลิง เนื้อเรื่องเป็นตอนต่อจากชุดที่แล้ว เมื่อพระรามแผลงศรแต่ไม่สามารถจะฆ่าทศกัณฐ์ได้ จึงถามพิเภก พิเภกทูลว่าบัดนี้ทศกัณฐ์อายุได้ถึงกำหนดแล้ว แต่ที่ไม่ตาย เพราะได้ถอดดวงใจของตนฝากไว้ที่พระฤษีโคบุตรพระอาจารย์ พระรามจึงสั่งให้หนุมานกับองคตไปจัดการในเรื่องนี้ บทขบขันในตอนนี้จะทำให้ผู้ชมได้เห็นถึงวิธีแสดงตลกโขนหลวงว่ามีลักษณะเป็นอย่างไร

เข้าชมการแสดงโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย สอบถามและสำรองที่นั่งโทร.0-2880-9429 หรือที่ www.sac.or.th


โดย: ศิวัช นนทะวงษ์ / ศูนย์มนุษยวิทยาสิรินธร
ที่มา: คมชัดลึก / 19 พฤษภาคม 2554

Views: 238

Reply to This

© 2009-2024   PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service