เสาะถิ่นสามแพร่ง แหล่งนัดพบอดีต-ปัจจุบัน

ต่อไปนี้คำว่า ”สามแพร่ง” จะไม่ใช่คำที่คนรุ่นใหม่ไม่รู้จัก ไม่ใช่ชื่อที่คล้องจองกับภาพยนตร์สยองขวัญ และไม่ใช่แค่เพียงทางแยกธรรมดาที่หลายคนเข้าใจ เพราะความจริงนั้นสามแพร่งเป็นชุมชนเก่าแก่ ที่มีความเจริญสูงสุดในกรุงเทพมหานครในอดีต ด้วย "แพร่ง" ที่ว่านี้ใช้เรียกถนนเล็กๆ ที่เชื่อมต่อกัน 3 เส้นในบริเวณแยกคอกวัว ประกอบด้วย แพร่งนรา แพร่งภูธร และ แพร่งสรรพศาสตร์


ปัจจุบันอาคารก่อสร้างรูปทรงร่วมสมัยที่ถูกสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ผสมผสานสไตล์ระหว่างยุโรปและจีน หรือเรียกว่าสถาปัตยกรรมแบบชิโนโปรตุกรีสในย่านสามแพร่งยังคงมีให้เห็นแบบคงสภาพดั่งเดิม จนเป็นเอกลักษณ์ชวนหลงไหลสะท้อนให้เห็นถึงอดีต ที่ย่านสามแพร่งเคยเป็นชุมชนตลาดน้ำริมคลองหลอด ต่อมากลายเป็นย่านการค้าสำคัญ และเปลี่ยนเป็นศูนย์รวมสินค้าหรูหราราคาแพงจากต่างประเทศแห่งแรกของกรุงเทพฯ รวมไปถึงสถานีอนามัย และโรงละครร้องสำคัญซึ่งยังมีให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน แต่เมื่อกาลเวลาเปลี่ยนแปลง การค้าในย่านนี้จึงกลายเป็นชุมชนเล็กๆ ที่คึกคักไปด้วยร้านเสริมสวย ร้านชุบเงินชุบทอง ร้านเครื่องหนัง ร้านขายของเดินป่า และร้านอาหารสูตรต้นตำหรับที่สืบทอดกันมานาน

จากความสำคัญที่กล่าวมานี้ ทำให้สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว ได้จัดงาน "สามแพร่ง สีสันแห่งวันวาน" เพื่อฟื้นฟูคุณค่าและความสำคัญของย่านสามแพร่งให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง อีกทั้งเป็นการส่งเสริมให้คนในชุมชนทุกรุ่น ทุกวัน ได้ภูมิใจในด้านศิลปวัฒนธรรม วิถีชีวิต และสังคมในชุมชนสามแพร่งอีกด้วย

โดยที่ สมศักดิ์ จันทวัฒนา ผู้อำนวยการสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการจัดงานครั้งนี้ว่า เป็นปีที่ 2 ที่ได้จัดงานในสามแพร่งนี้ โดยคาดหวังให้เป็นการอนุรักษ์และพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นแหล่งประวัติศาสตร์ อุดมด้วยภูมิปัญญา ให้เป็นจุดแข็งในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในไทยต่อไป

บรรยากาศของงานคับคั่งไปด้วยชาวสามแพร่งและนักท่องเที่ยวที่สนใจในความคลาสสิกของวัฒนธรรมเก่าแก่ มาร่วมชมการแสดง อาทิ การรำกลองยาว การแสดงเชิดสิงโตชุดเสาดอกเหมยและสิงโตลอยฟ้า ชมความมหัศจรรย์ของหุ่นละครเล็ก โจหลุยส์ อย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ยังมีการจับจ่ายซื้อของที่ระลึกและชิมอาหารรสชาติดั่งเดิมอยูเต็มถนนทุกแพร่ง

เริ่มตั้งแต่ แพร่งภูธร ที่ได้ขึ้นชื่อตามพระนามของ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นภูธเรศธำรงค์ศักดิ์ เป็นแหล่งรวมร้านอาหารล้ำเลิศ อาทิ ก๋วยเตี๋ยวเนื้อกิมทอง บะหมี่กวางตุ้งแพร่งภูธร เกาเหลาสมองหมู ร้านขนมแม่เอย เป็นต้น ถัดมาคือ แพร่งนรา ตั้งอยู่ตรงกลางระหว่าสามแพร่ง ตั้งชื่อตามนาม พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ "บิดาแห่งการละครร้องของไทย" จึงไม่แปลกใจที่บรรยากาศของแพร่งนี้จะเต็มไปด้วยการร่ายรำ และความสุนทรีย์โดยมีชุมชนคาราโอเกะเป็นเครื่องชี้วัดความสุขของชาวแพร่งนราได้เป็นอย่างดี

ปิดท้ายด้วย แพร่งสรรพศาสตร์ แหล่งรวมช่างทองหลวง ได้ชื่อตามพระนามของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพศาสตร์ศุภกิจ ซึ่งทรงมีความสามารถในการเป็นช่างทองจนได้รับการขนานนามว่า "พระองค์เจ้าช่างทอง" โดยปัจจุบันยังมีตรอกช่างทองสืบทอดลวดลายอันประณีตกันอยู่

แม้งานในปีนี้จะผ่านลุล่วงไปแล้ว แต่ชุมชนสามแพร่งก็ยังเปิดใจต้อนรับผู้สนใจเรียนรู้ความเปลี่ยนแปลงของวัฒนธรรมอยู่เสมอ ให้สมกับความตั้งใจที่จะให้สถานที่แห่งนี้เป็นชุมชนตัวอย่างที่มาจากความรักในการอนุรักษ์ของคนในพื้นที่เอง และไม่ว่าจะอีกกี่ปีผ่าน สีสันคลาสสิกของสามแพร่งก็ยังเป็นจุดพักความวุ่นวาย จากชุมชนบนตึกสูงได้ตลอดไป

 

 

 

ที่มา: คมชัดลึก / 12 พฤษภาคม 2554

Views: 345

Reply to This

© 2009-2024   PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service