"ช่างภาพ งานแต่ง": ผู้บันทึกเบื้องหลังภาพความทรงจำ ความสวยงามของวันสำคัญ

เบื้องหลังภาพความทรงจำ ความสวยงามของวันสำคัญอย่าง "งานแต่งงาน" ที่สำหรับบางคน มีแค่ครั้งเดียวในชีวิต 

กิตติพงศ์ สมุทรานุวัฒน์ อดีตช่างภาพหนังสือพิมพ์ ที่ผันตัวไปทำอาชีพ “ช่างภาพอิสระ” และส่วนหนึ่งของการเลี้ยงชีพมาจากการถ่ายภาพงานแต่งงาน หรือ wedding photo ซึ่ง เจ้าตัวบอกว่า “เป็นงานถ่ายภาพที่ชอบน้อยที่สุด แต่เป็นส่วนที่สามารถเลี้ยงชีพได้ไม่น้อยเลยทีเดียว” 

ปี พ.ศ.2546 เป็นปีที่เริ่มงานช่างภาพอิสระ หลังจากลาออกจากงานหนังสือพิมพ์ 

การรับจ้าง ถ่ายภาพในงานส่วนตัวทั้ง ถ่ายภาพรับปริญญา ถ่ายภาพงานแต่งงาน ถ่ายภาพเบื้องหลังกองถ่ายภาพยนตร์ การรับบงานแบบไม่มีต้นสังกัดหรือ Freelance นั้น กิตติพงศ์บอกว่า อาศัยช่องทาง “การบอกต่อ” จากคนที่เคยว่าจ้าง ที่จะต่อสายสัมพันธ์ในเชิงธุรกิจไปเรื่อยๆ 

“เช่น น้องคนนี้รับปริญญา เขาจ้างเราไปถ่ายรูปให้ พอเพื่อนเขาแต่งงาน น้องเขารับปริญญา เขาก็อาจจะบอกต่อไปว่า จ้างเราอีกได้ บางคนเรารับถ่ายตั้งแต่เขารับปริญญาจนเขาแต่งงาน และก็ถ่ายญาติถ่ายเพื่อนเขาไปต่อๆ กัน” 

คติในการทำงานช่างภาพของกิตติพงศ์ คือ “ทำงานนี้ให้ดีที่สุด มันจะมีผลต่ออนาคตแน่นอน” ดังนั้นการทำงานดีย่อมมีผลต่อยอดให้ลูกค้ารายต่อไปวิ่งเข้าหาอย่างไม่ต้องสงสัย 

ส่วนหลักการทำงานของช่างภาพงานแต่งนั้น เขาบอกว่า 

“การถ่ายรูป ไม่ใช่ถ่ายให้รูปสวยแล้วจบนะ แต่ผมว่าช่างภาพต้องมีอัธยาศัยดี ยิ้มแย้มแจ่มใส ซึ่งมันจะมีผลต่อการทำงานได้ราบรื่นและผลออกมาดีมากทีเดียว” 

•ช่องทางหางาน 

“สมัยหนึ่งเราก็เคยรับงานจ้างจากทาง เวดดิ้ง สตูดิโอนะ แต่ช่างภาพจะถูกกดราคามาก เพราะมีการหักหัวคิว เฉลี่ยหนึ่งงานได้แค่ 2,000-2,500 บาทเอง และบางรายจ่ายเงินช้าด้วย ถ้าเรารับงานเองโดยตรงจะได้ราคา(ค่าจ้าง)ดีกว่า และได้รับเงินเร็ว บางรายลูกค้าใส่ซองหลังเสร็จงาน หรืออาจจะให้หลังงานไม่เกินหนึ่งสัปดาห์” 

และการรับงานอิสระนั้น หลังจากยุคที่อาศัยวิธีการ “แนะนำ” หรือ “บอกต่อกัน” จากกลุ่มเพื่อนฝูง ปัจจุบัน กิตติพงศ์บอกว่า การมีเครือข่ายสังคนออนไลน์ มีเวบบลอก กลายเป็นช่องทางในการโปรโมทตัวเองของช่างภาพ และมีงานเข้ามาง่ายขึ้นด้วย 

“บางคนถ่ายแล้วเอารูปผลงานไปโพสต์ไว้บนเฟซบุ๊ค หรือมีเวบไซต์ตัวเอง มีบล็อกทางมัลติพลาย คนเห็นก็จะติดต่อเข้ามาได้ง่าย” 

•อุปสรรคและความท้าทาย 

การเตรียมพร้อมที่จะรับมือกับสถานการณ์และสถานที่ในงานแต่ง โดยเฉพาะกล้องดิจิทัลที่จะต้องเตรียมเผื่อไว้สองตัว เนื่องจาก หากกล้องขัดข้องทางเทคนิค “เราจะทำอะไรไม่ได้เลยได้แต่นั่งมองมันอย่างเดียว” กิตติพงศ์บอก 

•สถานการณ์อาชีพ 

สิบปีก่อนนี้ ยังเป็นยุคของ “ฟิล์ม” และในยุคหลังปี 2000s เป็นยุคของ “กล้องดิจิทัล” ซึ่งมีผลต่ออาชีพช่างภาพทั้งในแง่ปริมาณงานและคุณภาพ 

เชิงปริมาณ งานจ้างถ่ายภาพรับปริญญาลดลงอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งกิตติพงศ์เล่าว่า มาจากปัจจัยสำคัญได้แก่ “งานรับปริญญาเป็นงานสนุกสนานไม่ซีเรียส เมื่อมีกล้องดิจิทัล คนไม่กลัว(เสี่ยง)ภาพเสีย ไม่เหมือนในยุคของกล้องฟิล์ม เพราะงั้น ก็เลยให้เพื่อนให้น้องมาเป็นช่างภาพถ่ายกันเอง หรือถ้าเป็นงานจ้างช่างภาพมืออาชีพก็จะปรับมาเป็นพวกถ่ายทำวิดีโอมากกว่า” 

ขณะที่ งานแต่งงาน ยังนิยมใช้บริการช่างภาพมืออาชีพอยู่ “งานแต่งงานเป็นงานครั้งเดียวในชีวิต บางคนอาจจะแต่งหลายครั้ง แต่การแต่งงานแต่ละครั้งจะเป็นภาพจดจำที่เขาจะกลับมาดู เขาก็อยากได้ภาพดีๆสวยๆ ไว้ชื่นชม” 

เชิงคุณภาพ เมื่องานแต่งต้องการคุณภาพของภาพที่ดี ช่างภาพ ได้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลในด้านที่สามารถ “ปรับแก้” จุดบกพร่องต่างๆได้ง่ายขึ้น 

ปัจจุบัน เมื่อเทคโนโลยีกล้องถ่ายภาพ “ง่าย” ต่อการใช้มากขึ้น จำนวนช่างภาพที่ไม่ต้องมีประทับตรา “มืออาชีพ” ก็มีมากขึ้น 

อย่างไรก็ตาม ข้อคิดจาก กิตติพงศ์ที่ยึดอาชีพนี้มานับสิบปียืนยันว่า คุณสมบัติของช่างภาพมืออาชีพยังต้องอาศัยองค์ความรู้เฉพาะทาง และความสามารถส่วนบุคคลเช่นเดียวกับงาน “ช่าง” อื่นๆ 

โดยเปรียบเทียบให้เห็นว่า “คนที่มีกล้องราคาแพง เทคโนโลยีเลิศ ไม่ใช่คนถ่ายภาพได้ดีที่สุด” ในทางกลับกัน “คนที่ถ่ายภาพได้ดี อาจจะไม่ได้มีกล้องที่ดีที่สุดก็ได้” 

สิ่งสำคัญคือการมุมมองมากกว่า เพราะไม่ใช่เจ้าบ่าวเจ้าสาวทุกคนจะหน้าตาขึ้นกล้อง เราก็ต้องหามุมให้ออกมาดี เช่น เจ้าสาวบางคนไม่สวย แต่เขามีโพสท่าที่น่ารักได้ หรือการคิดแผนงานล่วงหน้าสำหรับการถ่ายทำ โดยเฉพาะถ่าย pre-wedding หรือภาพถ่ายก่อนงานแต่ง ซึ่งลูกค้าเขาจะคิดสถานที่ไว้แล้ว หรือธีมไว้แล้วว่าอยากได้แบบไหน เราก็จะเตรียมพร็อพไปด้วยบางส่วน เผื่อจะช่วยกันครีเอทภาพออกมาด้วย” 

สำหรับความถี่ของงานอาชีพนี้ ขึ้นอยู่ “ฤกษ์” หรืออาจจะเป็น “ฤดูกาล” การแต่งงานก็ว่าได้ กิตติพงศ์บอกว่า ช่วงงานแต่งชุกส่วนใหญ่จะเป็นเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคม หรือบางปีฤกษ์ดีกลางปี อย่างวันที่ 13 พฤษภาคมปีนี้ ก็มีงานแต่งชุกชุมเช่นกัน 

แต่ปีที่ถือได้ว่า “พีค” สุดๆ จากประสบการณ์รับถ่ายภาพงานแต่งงานของกิตติพงศ์คือ ปีค.ศ.2000 ที่คนจีนถือเป็นปีมังกรทอง งานแต่งจึงเยอะมากเป็นพิเศษ 

แม้กิตติพงศ์จะบอกว่า การเป็นช่างภาพงานแต่งงาน ไม่ใช่ความใฝ่ฝัน แต่มันคือ “งาน” ที่เลี้ยงชีพได้ โดยเฉพาะสำหรับช่างภาพอิสระ 

“เราอาจจะมาสายสารคดี เราอยากถ่ายภาพสารคดี แต่เราก็เข้าใจว่า การทำมาหาเลี้ยงชีพ เราแยกแยะได้ พอได้เงินจากการถ่ายภาพงานแต่งงาน จำนวนหนึ่ง บริหารจัดการการเงินได้แล้ว เราก็สามารถรับงานหรือทำงานถ่ายภาพเชิงสารคดีที่เราชื่นชอบได้” กิตติพงศ์เผย 

(หมายเหตุ : ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต) 

จุดวัดความสำเร็จ : รายได้และชื่อเสียงคือปลายทางของความสำเร็จทุกการประกอบอาชีพ แต่สำหรับอาชีพช่างภาพงานแต่ง จุดสำเร็จในเชิงนามธรรมคือการบันทึกภาพในวันประทับใจ ครั้งหนึ่งในชีวิตของคู่บ่าวสาว ได้ “สุขสันต์” กันตลอดไป 

จุดสำเร็จในเชิงรูปธรรม นั่นคือ ได้รับความไว้วางใจจากลูกค้า มีงานเข้าสม่ำเสมอ และสามารถใช้ประสบการณ์แลกกับค่าตอบแทนที่อาจจะสูงถึงหลักหมื่นบาทต่อหนึ่งครั้ง 

องค์ความรู้ : ความรู้ในการถ่ายภาพ ทั้งในด้านเทคนิคของอุปกรณ์ในการถ่ายภาพ และการมี “มุมมอง” ในการจัดองค์ประกอบเพื่อให้ภาพที่ถ่ายออกมาดูดี มีเสน่ห์ นั่นหมายถึง ความรู้ในเชิงทฤษฎีสี แสง เงา ที่จะใช้ในการปรับให้เข้ากับสถานการณ์ในการถ่ายภาพได้ เช่น แสงในสถานที่มืด งานกลางแจ้งเป็นวันฝนตก หรือเจ้าสาวแต่งหน้าเข้ม และคู่บ่าวสาวสีผิว “คอนทราสต์” กันมากเป็นต้น 

คุณสมบัติ : นอกจากองค์ความรู้ที่จำเป็นต้องมีในด้านเทคนิคการถ่ายภาพเบื้องต้นแล้ว คุณสมบัติสำคัญของช่างภาพงานแต่งงานยังประกอบด้วย อัธยาศัยดี เป็นมิตร รู้จักกาลเทศะเช่น งานแต่งที่โรงแรม ช่างภาพควรแต่งตัวสุภาพ เพื่อเป็นเกียรติแก่อาชีพตัวเองและลูกค้าด้วย การตรงต่อเวลา และมีการเตรียมพร้อมทั้งอุปกรณ์กล้องและไฟ ที่จะรับสถานการณ์ตามสถานที่จัดงานแตกต่างกันไป 

รายได้ : เฉพาะรายได้จากการถ่ายภาพงานแต่ง สนนราคาต่ำสุดอยู่ที่งานละ 5,000 บาท ต่อราคาเหมาจ่ายหนึ่งวัน และอาจจะสูงถึง 20,000 บาทต่อครั้ง หรือมากกว่านั้นหากคุณเป็นช่างภาพเซเลบบริตี้ รายได้ไม่สม่ำเสมอเป็นรายเดือน แต่มีช่วงงานชุก ที่สามารถทำเงินได้เป็นกอบเป็นกำ สำหรับการเฉลี่ยเป็นรายได้ในเดือนอื่นๆ ที่อาจจะมีงานน้อยกว่าได้ 



โดย: ทศพร กลิ่นหอม  
ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ / 6 พฤษภาคม 2554

Views: 196

Reply to This

© 2009-2024   PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service