'แป้ง' ไม่ใช่ศิลปิน เป็นแค่คนวาดภาพประกอบ: ภัทรีดา ประสานทอง

ได้ชื่อว่านักศิลปะชื่อดังอีกคนหนึ่งในวงการ Artist แป้ง - ภัทรีดา ประสานทอง แม้ว่าเจ้าตัวจะบอกว่าเธอไม่ใช่ศิลปินเป็นเพียงนักวาดภาพประกอบ แต่เชื่อเถอะ! ไม่ว่าเธอจะบอกว่าตัวเองอยู่ในฐานะไหน แต่ผลงานที่ออกมาก็บอกชัดอยู่แล้วว่าเธอทำอะไร เอกลักษณ์ลายเส้นบ่งบอกสไตล์การวาดภาพที่โดดเด่น ทำให้รู้ว่าศิลปะสามารถเพิ่มมูลค่าได้จริง 

ไม่ว่าจะเดินไปตามตรอกซอกซอยไหน บิลบอร์ดข้างทาง ในห้างสรรพสินค้าหรูเลิศ บนแก้วน้ำ ปฏิทิน เสื้อผ้า แม้ใน Application บนมือถือ หรือเปิดตามหน้าหนังสือก็มีให้เห็นผลงานที่หลายคนคุ้นตากับการวาดแบบลายเส้นที่ไม่ซ้ำใคร ด้วยลักษณะการจัดวางคู่สีในแบบฉบับเฉพาะตัว การเลือกใช้โทนสีอ่อน ทำให้ดูละมุนละไม อ่อนโยน จึงเหมาะกับเด็กวัยเยาว์ตามสไตล์ในแบบของตัวเอง ไม่ต่างจากเสื้อยืดที่เธอใส่ช่างดูเรียบง่าย สีขาวสบายตา กางเกงออกแนวติสท์เล็กๆ เหมือนอย่างที่เธอบอกจริงๆ “ศิลปะอยู่รอบตัวเรา” 


 
ผลงานวาดภาพประกอบโปรดักต์ ปฏิทิน และชุดชั้นใน


ความชอบต้องมาก่อน 

จุดเริ่มต้นในความสนใจทางด้านศิลปะนั้น แต่ละคนก็มีความคิดต่างที่มา “แป้งคิดว่าในตัวของคนทุกคนมีความสนใจทางด้านศิลปะอยู่แล้ว มนุษย์ทุกคน ต่อให้คนที่บอกว่าไม่ได้ชอบศิลปะอะไรเลย ศิลปะมันคือสิ่งที่คนชอบ ทำให้สิ่งของบางอย่างสวยงามกว่าเดิม อย่างศิลปะในการจัดดอกไม้ ศิลปะในการออกแบบสิ่งของต่างๆ ศิลปะจึงอยู่รอบตัวเรา” 

ถ้าจะบอกว่าความชอบ = ศิลปะ ในความหมายของแป้ง ก็คงไม่ผิด ฉะนั้นคนที่บอกว่าไม่ชอบศิลปะก็คือคนที่ไม่มีความชอบในอะไรเลย มันคงเป็นเรื่องที่แปลกมาก ถ้าคนหนึ่งเกิดมาแล้ว ไม่มีความชอบอะไรบนโลกใบนี้เลย 

และถ้าความชอบ (สิ่งสวยงาม) = ศิลปะ การที่คนหนึ่งจะมองว่าสิ่งไหนสวยงามหรือไม่สวยงามนั้น คงขึ้นอยู่ในแต่ละบุคคล เข้าคอนเซ็ปของคุณแป้งเหมือนเดิม “ศิลปะคือสิ่งที่เราเห็นแล้วเราชอบ เสื้อผ้าตัวไหนที่เราชอบมันก็คือศิลปะของเสื้อผ้าที่คิดว่าเหมาะกับเรา” 

“แป้งจะวาดภาพสไตล์แบบลายเส้นประจำตัว เป็นรูปภาพที่ friendly กับคนดู และเข้าใจง่าย แป้งไม่ใช่ศิลปิน เป็นแค่คนวาดภาพประกอบ ฉะนั้นหน้าที่มันก็บอกอยู่แล้วว่าเราวาดภาพเพื่อไปประกอบกับอะไร ส่วนที่จะสื่อออกมาก็อย่างเช่น ถ้าวาดภาพประกอบเรื่อง ภาพของเราก็จะสื่อว่าเรื่องนี้เกี่ยวกับอะไร หรือว่าวาดภาพประกอบถ้วยกาแฟ เราก็จะสื่อว่าคนที่เลือกถ้วยกาแฟนี้ไปใช้จะเป็นคนสไตล์ไหน มันจึงแล้วแต่โจทย์มากกว่า 

ผลงานของแป้งมาจากความชอบของเราเป็นส่วนใหญ่ เราต้องทำในสิ่งที่เราชอบนะ แรกเริ่มที่ชอบศิลปะนั้น คือตอนเด็กๆจะชอบอ่านหนังสือ เพราะว่าคุณย่าจะพาไปร้านหนังสือและก็บอกว่าให้ซื้อเท่าไหร่ก็ได้ แต่ว่าต้องซื้อภายในร้านหนังสือ พออ่านหนังสือสนุก เด็กจะจำภาพได้มากกว่า บางทีเนื้อเรื่องเราลืมไปแล้วแต่เราจำภาพประกอบในหนังสือได้ จึงน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ชอบศิลปะจากการเห็นภาพประกอบในหนังสือมากกว่า หนังสือแต่ละเล่มที่เราอยากอ่านมันก็เป็นสไตล์เราแล้ว รูปภาพมันก็เข้ากับเรา เราเลือกเอง ก็เห็นภาพมันสวยไปหมด” 

 
เริ่มอาชีพวาดภาพประกอบจาก นิทานเด็ก สำนักพิมพ์วาดดาว


เริ่มจากวาดภาพประกอบหนังสือเด็ก 

จากจุดเริ่มต้นเล็กๆ แป้งแบกความฝันมาพร้อมกับผลงาน Thesis เกี่ยวกับหนังสือเด็ก จากประเทศอังกฤษ เมื่อเรียนจบก็บินลัดฟ้ากลับไทยเพื่อสานฝันกับงานศิลปะที่คิดไว้ 

หลังจากที่เรียนจบปริญญาตรี สาขาการโฆษณา คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แป้งตามฝันโดยการเรียนต่อปริญญาโททางด้านการวาดภาพประกอบ ใน Brighton University ประเทศอังกฤษ และหลังจากนั้นปี ค.ศ.1999 เริ่มต้นงานในอาชีพภาพประกอบจาก นิทานเด็กที่ทำเป็นวิทยานิพนธ์ โดยเรื่องที่ได้รับการตีพิมพ์ที่สำนักพิมพ์ วาดดาว คือเรื่อง "ฉันแก่กว่าใคร" กับเรื่อง "เศรษฐีชาวนาและจอมพลัง" 

“เริ่มแรกแป้งทำหนังสือเด็กก่อน เผอิญได้เจอเพื่อนที่นิเทศ จุฬาฯ เขาขายกระเป๋าอยู่ที่เวิลด์เทรด และก็มีพี่คนหนึ่งเขาชวนเพื่อนไปทำหนังสือเด็กกับเขา แต่เพื่อนแป้งก็บอกว่าไม่เอา เขาอยากขายกระเป๋ามากกว่า จึงแนะนำแป้ง ซึ่งตอนนั้นเพิ่งจบมาจากประเทศอังกฤษ และก็ทำ thesis หนังสือเด็กมา เราจึงได้ทำหนังสือเด็กกับสำนักพิมพ์วาดดาว เสร็จแล้วช่วงนั้นมันมีงานหนังสือทำมือที่ถนนพระอาทิตย์ ก็ทำหนังสือทำมือกับเพื่อนไปขาย เจอ พี่โหน่ง - วงศ์ทนง (A day) มาสั่งซื้อเพิ่ม 20 เล่ม ให้ไปส่งที่ออฟฟิศ พอไปส่งที่ออฟฟิศ A day เจอ พี่คุ่น - ปราบดา หยุ่น อยู่ที่ A day พอดี เขาก็ถามเราว่าใช่คนที่ทำหนังสือเด็กที่ตีพิมพ์ออกมากับวาดดาวรึเปล่า เราก็บอกใช่ค่ะ หลังจากนั้นพี่คุ่นเลยแนะนำงานให้ทำจนมาถึงตอนนี้ 

และได้มานำเสนองานที่แปลน พับลิชชิ่ง ตอนนั้นเขาทำสำนักพิมพ์เกี่ยวกับนิทานเด็ก ก็เอา thesis ที่เรียนปริญญาโทมาทำกับที่นี่ และก็ได้ทำหนังสือซึ่งมี อ.ชีวัน วิสาสะ อ.ปรีดา ปัญญาจันทร์ และ อ.พรอนงค์ นิยมค้า ที่เป็นเหมือนครูใหญ่แห่งการทำหนังสือเลย ตอนนั้นก็ได้เรียนรู้เยอะมาก และก็ได้มาวาดรูปที่แพรว ประกอบคอลัมน์ของพี่อุ้ม สิริยากร นอกจากนี้ก็ได้วาดรูปประกอบนิตยสาร พลอยแกมเพชร, IMAGE, MARS, นิตยสารครัว และก็วาดภาพประกอบโปรดักต์อีกจำนวนมาก เช่น เสื้อ แก้วน้ำ ปฏิทิน ฯลฯ” 

 
โหลด E-card ภาพน่ารักๆ ได้ที่ มามะโม่แป้ง 
--------------------------------- 

 แป้งร่วมออกแบบของพรีเมี่ยม dtac 
-----------------------------



ผลงานที่ผ่านมา 

ผลงานของแป้ง ถือว่าเป็นอีกคนหนึ่งที่ถ่ายทอดผลงานให้ทุกคนได้เห็นในมุมมองที่หลากหลาย กับภาพประกอบลายต่างๆบนผลิตภัณฑ์ที่ไม่ซ้ำกัน แบบภาพวาดคงไม่ต้องบอกว่าเยอะมากขนาดไหน จะให้สาธยายภายในหน้าเดียวก็คงไม่จบ 

“ล่าสุดได้วาดรูปลงผลิตภัณฑ์ชุดชั้นในของวาโก้ อาชีพวาดภาพประกอบเขาจะให้โจทย์เรามาว่า สินค้าแต่ละอย่างธรรมชาติมันจะไม่เหมือนกัน อย่างชุดชั้นในเขาก็จะให้โจทย์มาว่า ทำชุดชั้นในนะ แต่เขาไม่ได้บอกเรามาว่าต้องวาดรูปนั้น รูปนี้นะ ให้เราเปิดกว้างในความคิด แต่ว่าข้อจำกัดของเสื้อในที่เด็กใส่ คือต้องมีลายไม่เยอะ เพราะเสื้อนักเรียนบางก็จะเห็นด้านในเป็นสีเยอะ ครูก็จะว่าได้ ดังนั้นเราต้องศึกษาธรรมชาติของแต่ละสิ่ง อย่างปฏิทินทำอย่างไรให้ไม่ซ้ำกัน เพราะมันเป็นของที่อยู่บนโต๊ะทำงานเราทั้งปีเลยนะ ถ้าปฏิทินมีแต่ตัวเลข ชีวิตมันคงซังกะตาย แต่ถ้ามีรูปมันก็น่าดู และรูปมันก็มีหลายแบบด้วยนะ ถ้าใครไม่ชอบรูปที่แป้งวาด มันก็มีแบบที่คนอื่นเขาวาดไว้ก็เยอะ 

การวาดรูปไม่ได้มีสไตล์อะไรตายตัว อย่างปฏิทินเมื่อทำเสร็จออกมาแล้ว เราเห็นแล้วต้องรู้สึกอยากได้ หรือเห็นเสื้อในเด็กแล้วอยากซื้อให้หลานเราใส่ ดังนั้นสไตล์การวาดเรามุ่งไปกับงานที่ทำและงานที่ออกมามากกว่า 

ผลงานที่ชอบเป็นพิเศษจะเป็นบิลบอร์ดโค้ก ได้ไปทำที่หน้ามาบุญครอง เมื่อหลายปีที่แล้ว มันใหญ่ดี และก็เคยทำ Service กับดีแทคเป็นมามะโม่แป้ง ทุกวันจันทร์ พุธ ศุกร์ แล้วส่งให้ลูกค้าที่สมัครเป็นสมาชิก จะทำเป็นแอนิเมชั่น วาดสดๆ มีข่าวอะไรในขณะนั้นก็วาด มีการเลือกตั้งตอนนั้นก็วาดเลย มันเป็นงานที่หนักมาก และเราก็ทุ่มเทที่สุดเลยอ่ะค่ะ 

งานหลักๆที่ทำก็จะเป็น Subscription ให้คนสมัครสมาชิก และก็เป็น A la carteให้คนเลือกดาวน์โหลดได้ นอกจากนี้ก็มี Handmade Digital คือเหมือนกับเกมที่มีให้เลือกแบบของรูปหน้า ตา ผม ที่เราทำไว้หลากหลายแบบ เลือกมาผสมกันออกมาเป็นหน้าเรา แต่รูปที่วาดเป็นลายเส้น ทั้งหมดนี้ไม่ว่าจะเป็น Wallpaper, Theme, Screen saver, Animation ประกอบดนตรี ซึ่งทำไว้เป็น 1,000 แบบเลยทีเดียว 

ที่ผ่านมาได้มีโอกาสเขียนภาพประกอบหนังสือ “สบตากับบางใคร สบใจกับบางคน” และ “สถานีนี้มีปัญหาสถานีหน้ามีคำตอบ” ของ ศุ บุญเลี้ยง (ศุราณี) เราก็อ่านตามที่พี่จุ้ยเขียนแล้วก็วาด พี่เขาก็เปิดกว้างเต็มที่ว่าอยากวาดอะไรก็ทำได้เลย นอกจากนี้ยังมีพ็อกเกตบุ๊กอีกเล่มหนึ่งที่ได้ทำ ชื่อหนังสืออานาปานสติ เกี่ยวกับเรื่องธรรมะ ของพระอาจารย์ มิตซูโอะ คเวสโก” 

และถ้าใครอยากชมผลงานของแป้งมากกว่านี้ คลิก! ง่ายๆได้ที่http://www.mamamopang.com/ แล้วหลายคนจะรู้จักเธอคนนี้มากขึ้นกับผลงานจำนวนมากสไตล์แป้ง ในมามะโม่แป้ง มีรูปน่ารักๆ...จัดไป 

 
งานวาดภาพประกอบหนังสือของ ศุราณี 




เส้นแบ่งของแรงบันดาลใจกับงานก๊อบปี้ 

ตอนนี้เดินไปที่ไหนก็เห็นงานของแป้งทั้งนั้น ซึ่งเจ้าของผลงานบอกว่า “บางครั้งก็ไม่ใช่นะ” งานเลียนแบบมันอยู่คู่กับสังคมไทยอยู่แล้ว จึงเป็นกรณีที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงถามแป้งว่ารู้สึกอย่างไรกับงานก๊อบปี้แบบเรา “ก็เซ็งๆ แต่ก็ไม่เป็นไร เราก็ทำงานของเราไป อย่าเอาเวลาไปยุ่งกับเขาเลยดีกว่า เราไม่ได้ทำงานฝ่ายกฎหมายที่ต้องไล่ล่า งานเราคือการวาดรูป เราเอาเวลามาทำงานของเราจะดีกว่า” 

“การก็อบมันยากกว่าการทำในแบบของเราเองสำหรับแป้งนะคะ การก็อบของคนอื่นนั้น อย่างแรกเราต้องมาศึกษาว่าก๊อบอย่างไรให้ดี 1.ถ้าคิดจะก๊อบแล้วเราต้องทำให้ดีกว่าคนที่เราไปก็อบเขาอีกนะ เพราะเขาก็ทำไปแล้ว เราทำตามหลังเขาแล้วแย่กว่าเขาอีก คนก็ไปชอบอันที่เป็นต้นแบบไม่ดีกว่าหรือ 2.เราจะนอนหลับลงเหรอ ด้วยความคิดที่ว่าเราไปก๊อบงานเขามานะ 3.เวลาเราไปเดินห้าง เราจะกลัวไหมถ้าคนมาแตะบ่า แล้วบอกว่า เฮ้ย...งานนั้นไปก๊อบเขามาเหรอ? มันยากสำหรับแป้ง ก็ทำเองดีกว่า 

เดี๋ยวนี้คนได้รับสื่อเยอะมาก การได้รับแรงบันดาลใจต่องานชิ้นนี้กับการก๊อบงานชิ้นนี้ เส้นแบ่งมันอยู่ตรงไหน เมื่อได้รับคำถามนี้ แป้งก็จะตอบว่าเส้นแบ่งมันอยู่ที่ว่าถ้าเกิดเราทำงานชิ้นหนึ่งออกมา แล้วจะถามว่าเราได้แรงบันดาลใจหรือก๊อบงานชิ้นนั้น ให้นึกว่า ถ้าเราเจอผู้สร้างงานชิ้นนั้นตัวเป็นๆ เราจะกล้าวิ่งเอางานชิ้นนั้นไปให้เขาดูรึเปล่า ถ้ากล้าก็แสดงว่าได้แรงบันดาลใจแต่ถ้าไม่กล้าก็เป็นอีกทางหนึ่งแล้วล่ะ 

ตอนนี้เราได้ทำในสิ่งที่เราชอบ ถือว่าเราเดินมาถูกทาง เราสามารถทำงานหากินได้ อยู่ได้ด้วยอาชีพนี้ มันเป็นอะไรที่ดีที่สุดแล้ว ถ้าต่อให้ห้ามทำก็ต้องแอบทำ สำหรับเด็กที่ชอบในการวาดรูปก็ดีแล้วที่ชอบ การวาดรูปไม่จำเป็นต้องวาดเหมือน มีโจทย์เดียวคือวาดรูปให้สนุก ไม่ว่าเส้นที่วาดจะตรงหรือเบี้ยว อะไรก็ตามแต่ แล้วเรารู้สึกสนุกกับการวาดนั้น แต่ห้ามหลอกตัวเองว่าสนุกนะ เอาแบบสนุกจริงๆ โจทย์ไม่เอาให้วาดรูปเหมือนแต่วาดรูปให้สนุก ซึ่งอาจจะวาดเหมือนหรือไม่เหมือนแต่เราสนุกกับมันก็พอ” 

ขอบคุณ RMA Institute เอื้อเฟื้อสถานที่ให้สัมภาษณ์ 






โดย: ผู้จัดการรายวัน / 6 พฤษภาคม 2554
ภาพ: อดิศร ฉาบสูงเนิน

Views: 2986

Reply to This

Replies to This Discussion

ชอบ ๆ
ชอบค่ะ มีเก็บผลงานน้องบางเล่มด้วย

ชอบผลงานพี่เค้ามากกเลยค่ะ

 

RSS

© 2009-2024   PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service