สถาปัตยกรรม “วังหลวง" กับ “วังหน้า” ความเหมือนในความต่าง

นำเสนอภาพถ่ายเก่าค่อนข้างหาดูได้ยากและภาพงานสถาปัตยกรรม“วังหลวง”กับ“วังหน้า”ที่อาจารย์อาวุธ เงินชูกลิ่น นำภาพมาเปรียบเทียบให้เห็นความเหมือนและความต่าง พร้อมข้อมูลประวัติสร้างวังหน้าแบบกระชับพื้นที่ ได้รับความเอื้อเฟื้อจากท่านให้เผยแพร่ 

ฐานานุศักดิ์ ในงานสถาปัตยกรรมไทยเป็นการแสดงฐานะและตำแหน่งหน้าที่ของบุคคลให้ปรากฏในสังคมโดยอาศัยรูปแบบและลักษณะศิลปะทางสถาปัตยกรรมไทยเป็นเครื่องบ่งชี้ มีปรากฏหลักฐานอย่างชัดเจนในกฎมนเทียรบาลสมัยอยุธยา 

“ถ้าเราพูดถึงฐานานุศักดิ์งานสถาปัตยกรรมพระราชวังในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ พระบรมมหาราชวัง หรือ วังหลวง ที่ประทับของพระมหากษัตริย์ กับ พระราชวังบวรสถานมงคล หรือ วังหน้า ที่ประทับของพระมหาอุปราช สถาปัตยกรรมย่อมแสดงตามฐานานุศักดิ์ของบุคคล แล้วทว่าไป วังหน้ามีอำนาจมากในการจัดการทหาร รวมทั้งตั้งเสนาบดีเหมือนวังหลวง จะพูดว่าวังหลวงมีขุนพระขุนนาง วังหน้าก็มีอย่างนั้น” 

พลอากาศตรี อาวุธ เงินชูกลิ่น อดีตอธิบดีกรมศิลปากร ผู้เชี่ยวชาญสถาปัตยกรรมไทย กล่าวตอนหนึ่งของหัวข้อบรรยายเรื่อง “สถาปัตยกรรมสกุลช่างวังหน้า เปรียบเทียบกับวังหลวง” ในงาน “100 ปีกรมศิลปากร” เมื่อบ่ายวันอาทิตย์ที่ 1 พฤกษาคม ที่ผ่านมา ห้องดำรงราชานุภาพ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร 

นานทีมีโอกาสได้ฟังอาจารย์อาวุธ เงินชูกลิ่น นายช่างเอกสถาปัตยกรรมไทยยุคนี้บรรยายเรื่องงานสถาปัตยกรรมไทยโดยเฉพาะหัวข้อบรรยายข้างต้น ทำให้ได้ความรู้ในสิ่งที่ไม่เคยรู้มาก่อนได้รู้ และเชื่อว่า เช่นเดียวกันกับผู้เข้าร่วมฟังนับร้อยคน ที่ถึงขั้นต้องเสริมเก้าอี้อีกหลายแถวจนห้องบรรยายแทบไม่มีพื้นที่ทางเดิน 

ต้องบอกว่า หัวข้อบรรยายนี้ได้รับการตอบรับจากผู้เข้าฟังเป็นอย่างมาก ขณะที่บริเวณลานสนามหญ้าหน้าพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ บรรยากาศคึกครื้นดีของผู้สนใจงานหนังสือ งานสาธิตเชิงช่างสิบหมู่ ตั้งแต่สายจนเย็น พอตะวันคล้อยหลังหมู่พระวิมาน (ห้องแสดงนิทรรศการ มีการแสดงดนตรีวงดุริยางค์สากลและนาฏศิลป์ 

อย่างไรก็ดี สิ่งที่อาจารย์อาวุธบรรยายในวันนั้นขอละไว้ก่อน เพราะอยากนำเสนอภาพถ่ายเก่าค่อนข้างหาดูได้ยากและภาพงานสถาปัตยกรรม “วังหลวง” กับ “วังหน้า” ที่ท่านนำภาพมาเปรียบเทียบให้เห็นความเหมือนและความต่าง พร้อมข้อมูลประวัติสร้างวังหน้าแบบกระชับพื้นที่ ได้รับความเอื้อเฟื้อจากท่านให้เผยแพร่ 

ประวัติการสร้างวังหน้า หรือ พระราชวังบวรสถานมงคล สร้างพร้อมกรุงรัตนโกสินทร์ พ.ศ. 2325 สร้างโดยกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ตั้งอยู่บริเวณฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ระหว่างวัดสลัก กับคูเมืองธนบุรีเดิม 

กรมพระราชวังบวรสถานมงคลสมัยรัตนโกสินทร์ ผู้สถาปนาสถาปัตยกรรมสกุลช่างวังหน้า กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท พ.ศ.2325 – 2346 กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ พ.ศ.2352 – 2360 กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ พ.ศ.2367 – 2375 พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ.2394 – 2408 กรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ พ.ศ.2411 – 2428 

ประเภทสถาปัตยกรรมวังหน้า พระราชวัง วัด ลักษณะสถาปัตยกรรมสกุลช่างวังหน้า สืบเนื่องจากศิลปะอยุธยา พระราชวังไม่มีปราสาท หลังคาทรงจั่ว ไม่ทำมุขลดเกิน 2 ชั้น มุงกระเบื้องไม่เคลือบสี ไม่ใช้เครื่องลำยอง ใช้เครื่องรวยแทน ทวยมีลักษณะพิเศษเฉพาะ ซุ้มประตู-หน้าต่าง เป็นซุ้มบันแถลง แต่มีคูหา (ส่วนวังหลวง มีปราสาท หลังคามีมุขลด หลังคามุงด้วยกระเบื้องเคลือบสี หลังคาประดับเครื่องลำยอง (มีนาคสะดุ้ง)) 

สถาปัตยกรรมวังหน้า สมัยกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท พระราชวัง คือ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ หมู่พระวิมาน (ทั้ง 3 พระที่นั่ง ปัจจุบันคือพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร) วัด ได้แก่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ วัดชนะสงคราม 

สถาปัตยกรรมวังหน้า สมัยกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ (อิทธิพลศิลปะจีนในวังหน้า) พระราชวัง คือพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย (ท้องพระโรง) บานประตู-หน้าต่างหน้าบานเขียนลายรดน้ำ หลังบานเขียนลายกำมะลอ วัด ได้แก่ วัดบวรสถานสุทธาวาส (วัดพระแก้ววังหน้า) หลังคาพระอุโบสถทรงจตุรมุข ประดับเครื่องลำยอง หางหงส์แบบนาคเบือน ซุ้มประตู หน้าต่าง ปูนปั้นทรงอย่างเทศ 

สถาปัตยกรรมวังหน้า สมัยพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว (สกุลช่างวังหลวงในวังหน้า) พระราชวังคือพระที่นั่งคชกรรมประเวศ พระที่นั่งมังคลาภิเษก พระที่นั่งเอกอลงกต พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ มีอิทธิพลศิลปะจีนและศิลปะตะวันตก หลังคาประดับเครื่องลำยอง มุงกระเบื้องเคลือบสี และมีปราสาท 

หลังจากนั้นสิ้นสมัยพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่สองรอง “ภูมินทร์” รัชกาลที่ 4 เข้าสมัยรัชกาลที่ 5 วังหน้าก็ถูกยุบ อย่างไรก็ดี อาจารย์อาวุธ เงินชูกลิ่น กล่าวถึงพื้นที่ของวังหน้า 

“ก่อนสมัยรัชกาลที่ 5 เขตของวังหน้ากว้างใหญ่มาก หากมองภาพปัจจุบันก็ตั้งแต่ท่าพระจันทร์ตลอดแนวกำแพงใบเสมาที่ตั้งของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ซึ่งพื้นที่ภายในมหาวิทยาลัยแต่เดิมเป็นส่วนหนึ่งของพระราชฐานชั้นในของวังหน้า และจากตลอดแนวกำแพงใบเสมานี้พื้นที่ยาวไปถึงกลางท้องสนามหลวงด้านทิศเหนือไปจดถึงวัดพระแก้ววังหน้า ซึ่งเวลานั้นยังไม่มีสะพานปิ่นเกล้าคร่อมคลองคูเมืองเดิมที่เห็นในปัจจุบัน” 

มาชมภาพความเหมือนและความต่างระหว่างสถาปัตยกรรม “วังหลวง” กับ “วังหน้า” 


 
1. ภูมิทัศน์พื้นที่พระราชวังบวรสถาน (วังหน้า) ในสมัยนั้น (ไม่ทราบ พ.ศ.) 


 
2. อีกมุมหนึ่ง ภูมิทัศน์พื้นที่พระราชวังบวรสถาน (วังหน้า) ด้านทิศเหนือ บริเวณวัดบวรสถานสุทธาวาส (วัดพระแก้ว วังหน้า) แลเห็นว่าสมัยนั้นยังไม่มีสะพานพระปิ่นเกล้า 


 
3. หมู่พระที่นั่งในพื้นที่พระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) ประกอบด้วย พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน (ซ้าย) พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ (กลาง) หมู่พระวิมาน (ด้านหลัง) ปัจจุบันสถานที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร 


 
4. พระอุโบสถวัดพระแก้ว วังหน้า ดูสง่า ปราศจากสิ่งบดบัง ผิดกับปัจจุบันมีอาคารสถาบันตั้งล้อมรอบ ส่งผลให้พระอุโบสถพระแก้ว ไม่สง่าราศี 


 
5. หมู่พระมหามณเฑียร ฐานานุศักดิ์สถาปัตยกรรมวังหลวง 


 
6. หมู่พระวิมาน ฐานานุศักดิ์สถาปัตยกรรมวังหน้า 


 
7. หลังคาซ้อนกันมากกว่า 2 ชั้น ฐานานุศักดิ์สถาปัตยกรรมวังหลวง 


 
8. หลังคาซ้อนกันไม่เกิน 2 ชั้น ฐานานุศักดิ์สถาปัตยกรรมวังหน้า 


 
9.เครื่องลำยอง ฐานานุศักดิ์สถาปัตยกรรมวังหลวง 


 
10. เครื่องรวย ฐานานุศักดิ์สถาปัตยกรรมวังหน้า 


 
11. นาคสะดุ้ง ฐานานุศักดิ์สถาปัตยกรรมวังหลวง 


 
12. ไม่มีนาคสะดุ้ง ฐานานุศักดิ์สถาปัตยกรรมวังหน้า 


 
13.อาวุธ เงินชูกลิ่น ผู้เชี่ยวชาญสถาปัตยกรรมไทย





โดย: บูรพา โชติช่วง 
ที่มา: สยามรัฐ  / 11 พฤษภาคม 2554

Views: 1565

Reply to This

© 2009-2024   PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service