ศูนย์ศิลปกรรมแห่งชาติ: พื้นที่รวมคนเสพศิลป์


“ศูนย์ศิลปกรรมแห่งประเทศนี้จะเป็นแห่งแรกของประเทศไทยที่เปิดพื้นที่เพื่อเน้นงานด้านศิลปะที่ก้าวเข้าสู่ความเป็นสากล ที่จะมีงานนิทรรศการและการแสดงศักยภาพทางศิลปะแขนงต่าง ๆ ตลอดทั้งปี” ศ.ดร.วิรุณ ตั้งเจริญ อธิการบดี มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ผู้ริเริ่มจัดตั้งศูนย์กล่าว

ในอาคารนวัตกรรม: ศาตราจารย์ ดร.สาโรช บัวศรี มูลค่ากว่า 400 ล้านบาท งานศิลป์แต่ละประเภทถูกแบ่งไปยังแต่ละชั้น เพื่อให้สามารถแสดงศักยภาพและถ่ายทอดความรู้และความสวยงามออกไปอย่างเต็มที่ โดยชั้น 2 Museum / Art Collection เป็นพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงผลงานทัศนศิลป์ ส่วนชั้น 3 Art Gallery แกลอรี่แสดงผลงานศิลป์ ภาพวาด

บนชั้น 4 Music and Performing Art Hall: MPA Hall โดยแบ่งออกเป็นโรงละครขนาด 300 ที่นั่งและ 100 ที่นั่ง ชั้น 5 Fashion and Jewelry Design Center: F&J จัดแสดงผลงานด้านการออกแบบแฟชั่นและจิวเวอรี่ ชั้น 6 Animation and Multimedia center: A&M Center รวมพลคนแอนิเมชั่นและมัลติมีเดีย สุดท้ายชั้น 7 Music and Performing Art school: MPA School ศิลปะการดนตรี

โอเอซิสงานศิลป์

หากถามว่า ทำไม มศว จำเป็นต้องมีศูนย์ศิลปกรรมแห่งประเทศ ศ.ดร.วิรุณอธิบายว่า สำหรับมหาวิทยาลัยเอง นอกจากหน้าที่ในเชิงวิชาการ การจัดการเรียนการสอน ถ่ายทอดความรู้ เรายังควรส่งเสริมด้านศิลปวัฒนธรรม ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับชีวิตมนุษย์ด้วย

“พื้นที่สำหรับงานศิลปะในรูปแบบเช่นนี้ ประเทศไทยยังมีไม่มาก ทำให้บางครั้งเราขาดพื้นที่สำหรับคนที่ชื่นชอบศิลปะ เด็กที่สนใจด้านศิลปะแขนงต่าง ๆ และต้องการช่องทางในการเข้าถึงเพื่อเรียนรู้และซึมซับ”

ด้วยย่าน มศว. ถือเป็นศูนย์กลางด้านธุรกิจ เดินทางสะดวกทั้งรถไฟฟ้า รถใต้ดิน หรือแม้กระทั่งแอร์พอร์ตลิงก์ ทำให้ศูนย์ศิลปกรรมแห่งประเทศจะกลายเป็นโอเอซิสของคนเมืองที่นิยมศิลปะ ในขณะเดียวกัน มศว เองก็ทุ่มสุดตัว สร้างมาตรฐานความเป็นสากลด้วยเทคโนโลยีใหม่ ทั้งระบบแสง สี เสียง


ศ.ดร.วิรุณ ชี้ว่า ภายในศูนย์ฯ เราพยายามจัดแสดงนิทรรศกาลและการนำเสนองานศิลปะในรูปแบบต่าง ๆ ตลอดทั้งปี โดยเริ่มจากนาฎลีลาเรื่องพระมหาชนก ที่จะจัดแสดงถวายสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารีในระหว่างพิธิเปิด และในรอบประชาชน หลังจากนั้นก็จะจัดแสดงอีก 10 รอบ ในส่วนชั้น 2-3 ก็จะมีนิทรรศการแสดงภาพเขียนแนวอิมเพรสชั่นนิสม์ และนิทรรสการแฟชั่นในชั้น 5

“นอกจากผลงานของบุคลากรภายใน มศว. ไม่ว่าจะเป็นอาจารย์หรือนิสิต ศูนย์ฯ ยังพร้อมที่จะรับเป็นเวทีสำหรับบุคคลหรือหน่วยงานภายในที่จะมาจัดแสดงอีกด้วย” อธิการบดี มศว กล่าวก่อนย้ำว่า ทางศูนย์ฯ มีคณะกรรมการในการคัดเลือกผลงานหรือการแสดงที่จะมาจัดแสดงในศูนย์แห่งนี้ สำหรับนิสิตหรืออาจารย์จะต้องมีคุณภาพและโดดเด่นพอที่จะนำเสนอสู่สาธารณะ ในขณะที่บุคลากรภายนอก จะต้องนำเสนองานศิลป์ที่มีคุณค่า คุณธรรม

ศ.ดร.วิรุณเผยว่า ศูนย์ศิลปกรรมแห่งชาติได้รับการตอบรับจากหุ่นละครเล็กโจหลุยส์ ที่จะมาจัดแสดงตลอดทั้งปี นอกจากนี้ ยังจะมีหนังใหญ่จากนายหนังสุชาติ ทรัพย์สิน ศิลปินแห่งชาติ ปี พ.ศ.2550 รวมถึงวงออเครสตร้าจากประเทศจีนและสหรัฐ ก็แสดงความสนใจจะเข้ามาเปิดการแสดงอีกด้วย

จุดประกายสร้างไอเดีย

แน่นอนว่า ในภาคส่วนของสถาบันอุดมศึกษา การจัดพื้นที่ลักษณะนี้อาจถูกมองเป็นการหากำไร แต่ในมุมของผู้ริเริ่มและผลักดันแนวคิดด้านศิลปะและการออกแบบ ศ.ดร.วิรุณชี้ว่า เป็นการสร้างสมดุลของงานด้านวิชาการและบริการสาธารณะ

“เราไม่ได้หวังเรื่องผลกำไร หากแต่ประโยชน์ที่ได้ จะกลับมาสู่นิสิต และบุคลากรภายในมหาวิทยาลัย ในขณะเดียวกัน บุคคลภายนอก โดยเฉพาะผู้ที่สนใจและต้องการเสพย์งานศิลป์ก็จะมีพื้นที่และงานดี ๆ ให้ได้รับชม”

อธิการบดี มศว ชี้ว่า ปัจจุบัน คนให้ความสนใจงานศิลปะมากขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อความรื่นรมย์ในชีวิตที่ยุ่งเหยิง แต่ขาดช่องทางที่จะเติมเต็ม พอเราจัดพื้นที่ คนที่สนใจทางด้านงานศิลปะก็มีโอกาสที่จะได้พัฒนาตัวเอง ประชาชนทั่วไปก็มีโอกาสได้ชมงานศิลป์ สร้างแรงบันดาลใจ

ที่สำคัญ กลุ่มเป้าหมายของศูนย์ศิลปกรรมแห่งประเทศ ยังครอบคลุมทุกกลุ่มอายุและความชอบ ด้วยศิลปะมีครบทุกแขนงอยู่ในที่เดียว

อนาคตข้างหน้า ศ.ดร.วิรุณชี้ว่า มีแผนที่จะพัฒนาศูนย์ฯ ให้ก้าวหน้าต่อไป แต่จะพัฒนาด้านคุณภาพแบบค่อยเป็นค่อยไป ด้วยระบบบริหารจัดการที่เข้มแข็ง และตื่นตัวในการดึงคนเข้ามาร่วมใช้ศูนย์ฯ เพื่อสร้างการรับรู้ภายใน 3 เดือนหลังจากศูนย์ศิลปกรรมแห่งประเทศเปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันที่ 4 กุมภาพันธ์นี้ และคาดว่าจะอยู่ตัวภายใน 1 ปี

“เราเชื่อว่า พื้นที่แห่งนี้จะเป็นแหล่งการเรียนรู้ที่สำคัญสำหรับงานศิลปะ และการออกแบบ ซึ่งจะเป็นประโยชน์มากสำหรับทั้งผู้ที่สนใจ นิสิตนักศึกษาที่จะมาค้นคว้าหาความรู้ รวมถึงประชาชนทั่วไปที่จะมาซึมซับความงามของศิลปะจากความสามารถของคนไทย และงานที่มีศักยภาพระดับโลกที่จะมาจัดแสดงที่นี่ในอนาคตอีกด้วย” ศ.ดร.วิรุณกล่าวทิ้งท้าย



ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ / 7 กุมภาพันธ์ 2554

Views: 695

Reply to This

Replies to This Discussion

อยากให้มีสถานที่แบบนี้เยอะๆครับ

RSS

© 2009-2024   PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service