ศิลปะสนทนากับพ่อค้าต้มเลือดหมู 'อังกฤษ อัจฉริยโสภณ'

คุยเรื่องศิลปะแบบจับต้องได้กับพ่อค้าต้มเลือดหมู ศิลปินหนุ่มคนนี้น่าสนใจ ด้วยความคิดที่ว่าทำงานศิลปะเพื่อมีชีวิตไม่ใช่มีชีวิตเพื่อทำงานศิลปะ

ภาพชายหนุ่มรูปร่างสูงโปรง ท่าทางทะมัดทแมงกำลังเดินไปเดินมาเพื่อตรวจดูความเรียบร้อยของสถานที่จัดแสดงงาน ในฐานะ "ภัณฑารักษ์" ประจำนิทรรศการ "เชียงใหม่นาว!" อาจทำให้หลายคนลืมความเป็น "พ่อค้าต้มเลือดหมู" ของ อังกฤษ อัจฉริยโสภณ ไปชั่วขณะ


ร่างหนึ่งของชายหนุ่มวัย 34 ปีคนนี้ คือเจ้าของร้านต้มเลือดหมู เจ๊สหรส ที่ตั้งอยู่ริมทางไปแม่สาย จ.เชียงราย
ส่วนอีกร่าง เขาเป็นเจ้าของแกลเลอรี่เล็กๆ ที่ชื่อว่า อังกฤษแกลเลอรี่ ในอาณาบริเวณเดียวกัน

ด้วยความเป็นคนทำงานศิลปะ และมีเพื่อนฝูงศิลปินมากหน้า เขาจึงถูกเชื้อเชิญจาก หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ให้มารับหน้าที่ "ภัณฑารักษ์เฉพาะกิจ" รวบรวมชิ้นงานศิลปินจากภาคเหนือมาถ่ายทอดให้คนภาคกลาง และภาคอื่นๆ ได้รับรู้จนกลายเป็นที่มาของนิทรรศการครั้งนี้


"เราไม่เคยมีความรู้สึกว่าเป็นภัณฑารักษ์เลย" คำตอบเคล้าเสียงหัวเราะทำนองนี้ดังขึ้นทุกครั้งเมื่อถูกถามถึงความรู้สึก
เขาประสานงานในฐานะ "ศิลปินคุยกับศิลปิน" มากกว่าหน้าที่แรก และด้วยทัศนคติแบบ "เปิดพื้นที่ให้ศิลปะได้วิวัฒน์ไปด้วยตัวเอง" ทำให้ชิ้นงานที่นำมาจัดแสดง "แตกหน่อ" ไปมากกว่ารายชื่อ 12 ศิลปินที่พิมพ์ไว้บนกระดาษประชาสัมพันธ์งาน และจุดชนวนความคิดเฉพาะทางที่ว่า "ศิลปะเป็นตัวสื่อสารระหว่างสังคม" กลายเป็นหัวเรื่องสนทนาที่น่าสนใจขึ้นมา

เรื่องคุยอย่างออกรสที่ว่า มาจาก "หม้อต้มกระดูกหมู" และ "เฟรมผ้าใบ" ที่พ่อค้าศิลปินคนนี้ยกให้เป็น "ศิลปะสื่อสาร" ของเขา



ตอนนี้งานหลักของคุณคืออะไร

จริงๆ งานหลักก็คือ ขายต้มเลือดหมู (หัวเราะ) ส่วนทำแกลเลอรี่ก็เพราะมีเพื่อนๆ หลายคนที่อยากแสดงงาน แล้วเรามีพื้นที่ ส่วนภัณฑารักษ์นี่ถือเป็นงานเฉพาะกิจมากๆ เพราะเราก็ไม่เคยเป็นภัณฑารักษ์มาก่อน ก็เรียนรู้ไปกับการทำงาน ติดต่อศิลปิน ประสานงาน ทั้งหมดเป็นเรื่องติดต่อประสานงาน แต่ก็เป็นเรื่องที่ชอบนะ เราชอบศิลปะอยู่แล้ว แล้วเราก็รู้จักศิลปินหลายคน ได้พูดเรื่องศิลปะกัน ก็คิดว่าเราพยายามพัฒนาผลงานร่วมกันกับศิลปินนั่นแหละ แล้วนำมาแสดงในนิทรรศการคราวนี้




วิธีการทำงานที่กรุงเทพฯ กับเชียงรายต่างกันไหม

แกลเลอรี่ที่โน่น เป็นที่ที่เราทำคนเดียวกับศิลปินคนเดียว เป็นเจ้าของพื้นที่เอง แต่ที่นี่ ศิลปินมีเยอะ แล้วก็ยังมีหอศิลป์กรุงเทพฯ ที่เป็นเจ้าของพื้นที่ด้วย ก็บอกหอศิลป์ว่า เราไม่ได้เลือกงานแบบที่ภัณฑารักษ์เลือก เพราะตัวเองไม่ได้มีความรู้แบบภัณฑารักษ์ แต่จะเลือกงานแบบศิลปินคนหนึ่งเลือกงาน แล้วก็คิดแบบศิลปิน เพราะไม่รู้ว่าภัณฑารักษ์มีวิธีการทำงาน มีวิธีคิดกับงานๆ หนึ่งอย่างไร ต้องรู้จักประวัติศาสตร์ศิลปะไหม ต้องมีองค์ความรู้อะไรหลายอย่างหรือเปล่า

แต่เรารู้สึกว่าศิลปินคนนี้น่าสนใจ มีแง่มุมในการนำเสนอ และน่าจะเป็นประโยชน์ถ้าคนได้มาเห็น ได้มารับรู้ผลงานของเขา ไม่ว่าเขาเหล่านั้นจะอยู่ในสายศิลปะหรืออยู่ในสายอะไรก็ตาม เราเชื่อว่า มันเหมือนอยากนำเสนอความคิดสร้างสรรค์มากกว่า ก็พยายามประสานให้บรรลุเป้าหมายร่วมกัน ประสานให้ศิลปินได้แสดงงานของเขา ภายใต้พื้นที่ที่หอศิลป์มอบให้





เหมือนเป็นผลงานที่ศิลปินถ่ายทอดออกมาแล้วก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสาธารณะ ?

ใช่ เพราะจริงๆ ศิลปินที่เราเลือกเนี่ย เขาทำงานกันมานานแล้ว เราเพียงแค่เป็นหนึ่งครั้งที่ชวนเขามาแสดงผลงานที่ทำอยู่แล้ว ไม่ว่าจะมีนิทรรศการนี้หรือไม่มี เขาก็เดินหน้าทำเรื่องนี้อยู่แล้ว อย่างคุณโจน จันได คุณหมอหม่อง (นพ.รังสฤษดิ์ กาญจนวนิชย์) คุณโน้ส (อุดม แต้พานิช) คุณน้อยเนื้อ (ปพนศักดิ์ ละออ) คนเหล่านี้ล้วนแต่ทำงาน และมีชื่อเสียงทั้งนั้น นิทรรศการก็เป็นอีกส่วนที่นำเสนอตัวตนของเขาผ่านสิ่งที่เขาทำ เหมือนกับการเปิดโอกาสในการประชาสัมพันธ์ให้แก่ผู้คนได้รับรู้ในอีกลักษณะหนึ่ง นอกจากบทสัมภาษณ์ในสิ่งพิมพ์ วิทยุ หรือโทรทัศน์




ดูจากลักษณะงาน และคนที่คุณเลือกมา ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนที่ทำงานกับสังคมมาโดยตลอด ในแง่หนึ่งถือว่าเป็นภาพสะท้อนบริบทอีกด้านของศิลปินที่ต้องเชื่อมโยงชิ้นงานเข้ากับสังคมด้วยหรือเปล่า

จำเป็นมากเลย ลองจินตนาการ ศิลปะที่ไม่เชื่อมโยงกับใครเลยสิ มันเป็นยังไง อาจจะมีนะ แต่เราก็จินตนาการไม่ออก เพราะเราไม่เชื่อว่าจะมีอะไรที่เกิดขึ้นเดี่ยวๆ ได้ ไม่มีอะไรหรอกที่จู่ๆ มันก็ผุดขึ้นมากลางอากาศ ทุกอย่างต้องมีที่มาที่ไป มีเหตุมีผล ศิลปะเองก็เช่นเดียวกัน ศิลปะเกิดจากแรงบันดาลใจ และแรงบันดาลใจก็เกิดขึ้นจากตัวเขา ถ้าเขาไม่ได้เกิดแรงบันดาลใจได้จากตัวเอง มันก็ต้องเกิดจากสิ่งอื่นๆ ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ทุกอย่างเชื่อมโยง และสัมพันธ์กันเป็นธรรมชาติอยู่แล้ว ปฏิเสธไม่ได้ว่า งานของฉันไม่เกี่ยวข้องกับสังคม มันเกี่ยว ในแง่ใดแง่หนึ่งเสมอ นี่เป็นความเชื่อส่วนตัวของเรา





แต่บ่อยครั้งที่เรามักได้ยินว่า "ศิลปินผลิตงานออกมาเพื่อรับใช้ตนเอง" อยู่เหมือนกัน ?

รับใช้ตัวเองเพื่ออะไร... เพราะตนเองต้องอยู่ในสังคมถูกไหม ถ้ารับใช้ตัวเอง แล้วตัวเองบ้าไป คืออยู่ในสังคมไม่ได้ สมมตินะ รับใช้ตัวเองเพื่ออะไร เพื่อดำรงตนให้อยู่ไปได้ถูกไหม ดำรงจิตใจให้อยู่ไปได้ เพื่ออะไรล่ะ ก็ไม่ใช่เพื่อพ่อแม่เขาเหรอ ไม่ใช่เพื่อคนรอบๆ ข้าง คนที่รักเขา คือมันมีใครอยู่คนเดียวบ้างล่ะในโลกจริงๆ แล้วถ้างานศิลปะไม่ให้ใครดูเลยจะเรียกว่างานศิลปะไหม มันก็มีคำถามเยอะ

แต่สำหรับเรา เราไม่คิดแบบนั้น ศิลปะเป็นเรื่องสากล คือ มันเป็นเรื่องของทุกคน แต่มากน้อยก็ขึ้นอยู่กับศิลปินด้วย ชั้นทำงานนี้ให้ชั้น และคนรัก 2 คนดู หรือชั้นทำงานให้ผู้หญิงที่ชั้นรักคนเดียวเท่านั้น แต่มันก็เพื่อคนอีกคนอยู่ดี แต่งานบางงานอาจจะเพื่อประเทศชาติ เพื่อโลกใบนี้ แต่เราคิดว่ามันจะไม่เป็นศิลปะถ้ามันผุดขึ้นมากลางอากาศ แล้วรับรู้อยู่คนเดียว ศิลปะก็คือการสื่อสารชนิดหนึ่งน่ะ มีคนส่ง มีสื่อ แต่ไม่มีผู้รับสาร มันก็ไม่ครบวงใช่ไหม เมื่อศิลปินก็คือผู้สร้าง ศิลปะคือสาร มันก็ต้องมีผู้รับสิ ดังนั้นมันต้องเกี่ยวพันกับสังคมแน่นอน เกี่ยวพันกับคนรับคนใดคนหนึ่งแน่นอน





ในมุมมองของศิลปินรุ่นใหม่คนหนึ่ง มองศิลปินรุ่นเดียวกันว่าเปลี่ยนแปลง หรือมีพัฒนาการจากศิลปินรุ่นก่อนอย่างไรบ้าง


ความมีเสน่ห์ของศิลปะก็คือ จะมีลักษณะเฉพาะของใครของมัน แต่ละรุ่น แต่ละยุคก็มีเอกลัษณ์เฉพาะอยู่แล้ว จริงๆ ศิลปะยุค 10 ปีที่แล้ว ก็สะท้อนเรื่องราวยุค 10 ปีที่แล้ว ศิลปะยุคนี้ก็สะท้อนเรื่องราวของชีวิต ที่เป็นร่วมสมัยในวันนี้ มันไม่ได้ไปแค่ศิลปะนะ การเมือง สังคม เศรษฐกิจ มันไปพร้อมกันหมด เศรษฐกิจตกต่ำ ศิลปะก็ตกต่ำ การเมืองแย่ ศิลปะอาจจะแข็งแรง คือมันไม่ได้ไปเฉพาะศิลปะแต่มันวิวัฒน์ไปทั้งสังคม ศิลปะไม่ได้แยกออกจากสิ่งอื่นๆ หรือองคาพยพอื่นๆ ในสังคมหรอก วรรณกรรม ดนตรี หรือนักการตลาด ทุกคนก็วิวัฒน์ไปด้วยกัน สมมติมีเหตุการณ์ทางการเมืองศิลปะกับนักเล่นหุ้นก็โดนผลกระทบในทางใดทางหนึ่ง มันไปพร้อมๆ กัน





ที่เราเห็นสังคมวันนี้เริ่มมีดีไซน์มากขึ้น เริ่มเอาศิลปะเข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวันมากขึ้น ผู้คนเข้าถึงศิลปะมากขึ้น ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของการวิวัฒน์นั้นด้วยหรือเปล่า

วิวัฒนาการของเทคโนโลยีด้วยนะ เฟซบุ๊ก โซเชียลมีเดีย โทรศัพท์มือถือ หรือกล้องถ่ายรูปที่ทุกคนถืออยู่ในมือ แน่นอน การสื่อสารก็ไปเร็วขึ้นกว้างขึ้น แต่ถามว่าลึกไหม ไม่รู้ แต่กว้างไหม กว้าง ไกลไหม ไกล เร็วด้วย เราจะเห็นว่า เทคโนโลยีนั่นแหละที่ทำให้แพร่ขยายตัวตนออกไปได้ ดูในเฟซบุ๊กสิ ทุกคนก็มีเรื่องที่จะพูด คนบางคนที่เราไม่เคยได้ยินเขาพูดเลย เราก็ได้ยิน


ส่วนหนึ่ง ศิลปะมันก็คือการสื่อสารของมนุษย์นั่นแหละ สมมติเรารักใครสักคน เราก็จะเดินไปบอกว่า ฉักรักเธอ แต่ถ้าเราเอาดอกกุหลาบสีแดงไปให้แล้วไม่พูด นั่นก็คือการเริ่มใช้ศิลปะแล้ว ดอกกุหลาบสีแดงจะใช้สื่อถึงความรัก ซึ่งเขาก็อาจจะรับรู้ได้ และเขาก็อาจจะเอาช็อกโกแลตมาคืนให้ อาจจะหมายถึงยอมรับ นั่นก็คือ ศิลปะใช่ไหม

เหมือนสมัยโบราณที่เขาแกะรูปปั้นเทพเจ้าเพื่อทำความเคารพ เพราะเทพเจ้าเขาไม่เห็นรูปร่าง นั่นก็คือจุดเริ่มต้น ศิลปะคือสื่อ ดอกกุหลาบสีแดงก็คือ สื่อ รูปปั้น ภาพเขียนฝาผนังถ้ำก็คือสื่อ ก็จินตนาการถึงอีกสิ่งหนึ่ง ความหมายหนึ่ง และเมื่อวิวัฒนาการมาเยอะๆ ศิลปะก็เริ่มมีความซับซ้อนมากขึ้น มีการสร้างรหัสเข้าไปในงาน แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะเข้าใจ เช่น บางประเทศดอกกุหลาบสีแดงอาจจะหมายถึงความตายก็ได้ มันก็ต้องมีรหัสแต่ละวัฒนธรรม ซึ่งต้องรู้เรื่องเหล่านี้ด้วย ศิลปะของเราก็คือการสื่อสาร เทคนิค กระบวนการสื่อสารชนิดหนึ่ง





อยู่ในบริบทของการสื่อสาร เป็นตัวกลางของการสื่อสารระหว่างคนในสังคม ?

ใช่ นักการเมืองก็ใช้ศิลปะนะ ศิลปะในการพูดโน้มน้าวจิตใจ แต่จะพูดให้ใครฟังล่ะ เราอาจจะบอกว่านักการเมืองน่าเบื่อ แต่ก็มีอีกหลายคนที่เขาเชียร์ แล้วก็ชอบตาม ไปพูดที่ไหนจะตามไปฟัง เราอาจจะไม่ใช่คนที่ดูลิเก แต่ก็มีแม่ยกที่ไปดูลิเก คือ สังคมไม่ได้มีแค่เราอยู่ มีคนอื่นอยู่ด้วย แล้วก็มีรสนิยมที่แตกต่างกัน ฉะนั้นจะไปตัดสินว่า อันนี้ศิลปะ อันโน้นไม่ใช่ แล้วถ้าเขาที่ไม่ชอบอย่างโน้น แสดงว่าเขาไม่มีรสนิยมเหรอ ไม่ใช่นะ เพราะระดับความชอบ การเข้าถึง หรือการรู้คุณค่าของคนเราแตกต่างกัน บางอย่างเขารู้คุณค่าได้ลึกซึ้งกว่าเราอีก แต่บางเรื่องเราก็ลึกซึ้งกว่า คือ ทุกคนก็มีคุณค่าในความเป็นมนุษย์เท่าเทียม กัน ศิลปะก็เป็นเพียงเครื่องมือหนึ่ง ดนตรี นักร้องก็ทำงานศิลปะเหมือนกัน





แล้วถ้ายกชิ้นงานขึ้นมาสักชิ้นล่ะ มันสื่อสารอะไรได้บ้าง

การทำงานศิลปะก็ทำให้เรารู้จักตัวเราเองในแง่มุมต่างๆ เวลามีหัวข้อบางอย่างที่เราคิดถึงมัน ก็เป็นการทบทวนว่าเราคิดอย่างนั้นจริงไหม บางทีก็เป็นเครื่องมืองที่ทำให้เรารู้จักตัวเราเองก่อนอันดับแรก มันสะท้อนว่าเราคิดอย่างไร เรามีทัศนคติอย่างไรในประเด็นต่างๆ


จริงๆ วิธีคิดกับศิลปะมันไม่ได้แยกออกจากกันกับวิธีคิดที่เรามีกับคนอื่น เวลาเราเข้าสังคม เวลาเราเจอเพื่อน เจอผู้ใหญ่ หรือเจอใครที่เด็กกว่าเรา วิธีคิดเกี่ยวกับศิลปะในงานเราก็แลกเปลี่ยนกับคนอื่นด้วยเหมือนกัน อาจจะไม่ต้องมาจัดแสดงในห้องแสดงงาน แต่ตัวเราก็ได้นำพาความคิด หรือสิ่งที่เราคิดเกี่ยวกับศิลปะของเรา

ทุกครั้งที่เราเจอผู้คน เราก็ได้แลกเปลี่ยนสิ่งนี้เหมือนกัน เวลาคุยกันอาจจะไม่ต้องไปปั้นอะไรขึ้นมาเป็นศิลปะ แต่เราก็คุยกันอยู่ตอนนี้ มันก็คือการสื่อสารของศิลปะ สื่อสารความคิดของเรา ต่อไปเราก็รู้จักว่า อ่อ คนนี้คิดแบบนี้ ไม่ได้แยกว่าต้องมีวัตถุ หรือมีอะไรที่จะต้องเป็นศิลปะขึ้นมา มันก็อยู่ในชีวิตเรา ชีวิตร่วมสมัยกับศิลปะร่วมสมัยเป็นเรื่องเดียวกัน





อะไรทำให้คุณมองแบบนั้น


เพราะเทคโนโลยีมันเจริญใช่ไหม เราก็มีช่องทางการสื่อสารเยอะมาก ชีวิตร่วมสมัยคือ ชีวิตที่ยอมรับความหลากหลายของคนอื่น มองเห็น ความเป็นไปของโลก เรียกว่ากระแสโลกาภิวัตน์ก็ได้นะ เมื่อก่อนคนเผ่าก็อยู่ในเผ่าของตัวเอง ไม่รู้ว่าโลกเป็นยังไง ในยุคของเรา แผ่นดินไหวญี่ปุ่นก็สะเทือนไปทั่วโลก ทุกคนรับรู้ข่าวสาร ชีวิตสมัยใหม่วันนี้เต็มไปด้วยการสื่อสาร แลกเปลี่ยนความคิดเห็น มีข้อความอะไรบางอย่างตะโกนอยู่เต็มไปหมด หลายช่องทาง มีความซับซ้อน


ศิลปะก็คล้ายๆ กัน มันไม่ได้อยู่เดี่ยวๆ แต่สื่อสารกับคนหลายช่องทาง เป็นอะไรที่เปิด อาจจะเป็น กิจกรรม วิถีชีวิต เป็นส่วนหนึ่งของความคิด คำถามก็เป็นศิลปะร่วมสมัย มันก็รวมกันเป็นเนื้อเดียว บางคนเคยพูดว่า มีชีวิตเพื่อทำงานศิลปะ แต่เรากลับมองว่า ทำงานศิลปะเพื่อมีชีวิต คือ ทำงานศิลปะเพื่อมีชีวิตที่ดี เวลาทำงานศิลปะเราก็ฟังเพลงด้วย เพื่อให้ชีวิตรื่นรมย์ในวันนั้น หรืออ่านหนังสือ มันก็มีค่าเท่ากัน ให้เราพัฒนาชีวิตเรา




ด้วยวิธีคิดแบบนี้หรือเปล่าที่ทำให้ตัวงานในครั้งนี้ต่อยอดออกมาเป็นอะไรต่างๆ มากมาย


คือพื้นที่ใดที่เปิด ศิลปวัฒนธรรมย่อมเจริญเติบโตได้ด้วยตัวของมันเอง นิทรรศการนี้ค่อนข้างเปิด ตอนที่ไปคุยกับศิลปิน เราไม่ได้ไปเพื่อเลือกชิ้นนั้นมา ชิ้นนี้มา แต่ไปคิดกับศิลปินว่าจะใช้พื้นที่ที่นี่เพื่อนำเสนอความคิดยังไง ไอเดียก็มีเข้ามา มันก็เริ่มงอก เหมือนกับเมืองนั่นแหละ เมืองไหนที่เปิด ศิลปวัฒนธรรมย่อมเจริญเติบโต ดูอย่าง นิวยอร์ก ปารีส เมืองที่เปิดรับผู้คนอย่างหลากหลาย หรืออย่างออสเตรเลียก็มีผู้คนหลากหลาย


สิ่งนี้สำหรับเราสำคัญมาก พื้นที่เปิด ศิลปวัฒนธรรมย่อมโตได้ด้วยตัวเอง เราไม่ต้องไปเร่งเลย แค่เปิดใจ เปิดพื้นที่ รับฟัง เพราะสิ่งเหล่านี้จะมีพลังงานในการเติบโต เป็นธรรมชาติ เหมือนกับป่า ดินที่อุดมสมบูรณ์ ต้นไม้ใหญ่น้อยย่อมเติบโต แต่ทะเลทรายก็จะโตได้แค่ตะบองเพชร ขั้วโลกเหนือก็โตได้แค่ไลเคนส์ หรือเชื้อราบางชนิด ซึ่งน้อยมาก แต่ดินอุดมสมบูรณ์ ฝนตก อากาศดี พันธุ์พืชแย่งกันออกดอก สดใส ความหลากหลายของสัตว์ก็เยอะ มันเป็นธรรมชาติน่ะ มนุษย์ก็เหมือนกัน เมืองไหนที่เปิด ศิลปะเจริญ เมื่อศิลปะเจริญ คนก็ดึงดูดคน ศิลปะเป็นเรื่องดีงามนะ มันก็ดึงดูดคน เมืองมันก็เจริญไม่ยาก ทำไมเราอยากไปเชียงใหม่ล่ะ ทำไมอยากไปภูเก็ตล่ะ





แสดงว่าดินของเมืองไทยอุดมสมบูรณ์ ?

สุดๆ เลยนะ ดินที่นี่อุดมสมบูรณ์สุดๆ แต่คนไม่ค่อยเปิด เราบอกได้เลยว่า รัฐบาล หรือองค์กรรัฐ ไม่เปิด เรามีทรัพยากรบุคคลที่เก่ง มีวัตถุดิบ ทุกอย่างที่พร้อมสำหรับการเจริญเติบโตทางศิลปวัฒนธรรม แต่ภาครัฐยังไม่มีการจัดการที่ดีพอที่จะรองรับความเจริญเติบโตตรงนี้ เขาก็พยายามนะ แต่มันก็ยังไม่พอ โดยเฉพาะเรื่องวัฒนธรรมที่มีความเป็นพลวัต เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ตัวอย่างที่เราได้ข่าวกันมาก็เรื่องการเซ็นเซอร์ภาพยนตร์ มันชัดเจนมาก





หากเป็นแบบนี้ ศิลปินรุ่นใหม่ที่ทำงานออกมาก็จะเจอปัญหาเหล่านี้ด้วย เป็นอุปสรรค์ในการเติบโตไปด้วย ?

ทรัพยากรสมบูรณ์น่ะครึ่งหนึ่ง ถ้าดินไม่ดี แต่เมล็ดพันธุ์มันดีจริง อย่าไปกลัว มันโต มันต้องปรับตัวไง แดดร้อนก็ต้องปรับตัว อาจจะปลิดใบทิ้งออกหนามแทน เก็บน้ำ ธรรมชาติมันก็ปรับตัวให้เราเห็นอยู่ จะบอกว่าทรัพยากรเรามีมาก ศิลปินรุ่นใหม่เก่งมาก แต่ไม่มีโอกาสเอื้อให้เขาโต จะรอโอกาสเหรอ คุณก็ต้องหาโอกาสของคุณเองสิ สร้างมันขึ้นมา เราขายต้มเลือดหมูเรายังทำแกลเลอรี่เลย หาพื้นที่ทำจนได้ มามัวแต่บ่นว่า รัฐไม่เอื้อ ไม่มีอะไรช่วยเลย ก็เลยไม่ทำ อันนี้ก็ไม่ดี คุณก็ทำสิให้เขาดู ถ้าเขาตามคุณไม่ทันน่ะ คุณต่างหากใช่ไหมเป็นผู้นำ


ศิลปินต้องเป็นผู้นำทางความคิด ต้องเป็นคนทำ แล้วบอกเขา พวกคุณจะทำยังไง จะช่วยอะไรคุณได้บ้าง ถามว่า ให้เขาคิดให้ เขาก็เป็นศิลปินสิ (ยิ้ม) หน่วยงานรัฐเขามีหน้าที่ส่งเสริม สนับสนุน ถูกไหม เขาไม่ได้มีหน้าที่คิดงานศิลปะ หน้าที่ทำศิลปะคือศิลปิน ถ้าคุณไม่ทำ รัฐจะสนับสนุนยังไงล่ะ คุณก็ต้องปรับตัว บอกไม่พร้อมไม่มีเงิน ก็ทำงานถูกๆ สิ ขยะอะไรที่อยู่ในมือน่ะ แกลเลอรี่ไม่มีที่แสดงก็แสดงริมถนน มีอีกตั้งหลายโมเดลที่จะแก้ไขปัญหาตัวเองได้ ถ้าคุณเจ๋ง ก็จะมีคนสนับสนุน มีคนเห็นอยู่แล้ว มันไม่ยากหรอก ถ้าเริ่มลงมือทำ

เราเชื่อว่า การทำงานศิลปะ เป้าหมายไม่ใช่ความสำเร็จ เป้าคือทำสิ่งที่คุณรัก ทำเต็มศักยภาพ เต็มความสามารถของคุณ คุณวาดรูปตอนอายุ 16 อาจจะไม่เก่ง แต่ถ้าฝึกทุกวัน 10 ปี ไม่เก่งไม่ได้หรอก 10 ปีผ่านไปวาดมา 5 รูป มันต้องวาดวันละ 5 รูปสิ มันเป็นกฎธรรมชาติ ฝึกทุกวันมันย่อมได้




ถ้าอย่างนั้น การตลาดจำเป็นแค่ไหนกับศิลปิน

แล้วแต่งานนะ บางคนก็ไม่ต้องการให้ใครเห็น บางคนต้องการมีส่วนร่วมจากคนหมู่มาก จริงๆ คนเราก็มีการตลาดในตัวเองกันทั้งนั้น วิธีการปรากฏตัว การแต่งกายก็พยายามบอกอะไรบางอย่างอยู่เสมอ ต่างคนต่างพกพาการสื่อสารไปตลอด มันคือการสื่อสารหรือเปล่าล่ะ ผู้หญิงใส่สายเดี่ยว กางเกงสั้น ต้องการสื่ออะไร ผู้ชายตัดผมแบบนี้ สื่อสารอะไรบางอย่าง เสื้อยืด กางเกงยีนส์ ก็สื่อสารอะไรบางอย่าง แต่มันอาจจะไม่ใช่เพื่องเงิน แต่มันก็มีวาระของใครของมัน





หลังจบนิทรรศการนี้ มีแผนทำอะไรต่อไป

ก็กลับไปขายต้มเลือดหมู (หัวเราะ) แล้วก็ทำงานศิลปะของตัวเองต่อไป กลับไปเป็นวิถีเดิมนั่นแหละ (ยิ้ม)



โดย: ชัยณรงค์ กิตินารถอินทราณี
ภาพ: เอกรัตน์ ศักดิ์เพชร
ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ / 19 เมษายน 2554

Views: 1615

Reply to This

Replies to This Discussion

ขอบคุณฮะ

RSS

© 2009-2024   PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service