นักวิจัยเตรียมขุดกระดูก "โมนา ลิซา" ไขปริศนาหญิงสาวเบื้องหลังรอยยิ้มลึกลับ

นายซิลวาโน วินเซนติ นักวิจัยชาวอิตาเลียนวางแผนที่จะขุดกระดูกที่โบสถ์แห่งหนึ่งในเมืองฟลอเรนซ์ เพื่อพิสูจน์ว่ากระดูกดังกล่าวเป็นของหญิงสาวคนหนึ่งในยุคเรเนซองส์ ซึ่งเชื่อว่าเป็นแบบให้กับงานเขียนภาพ"โมนา ลิซา" 

โดยโครงการวิจัยดังกล่าว ซึ่งมีการประกาศเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ตั้งเป้าที่จะค้นหาที่ฝังร่างที่แท้จริงของลิซา เกอราดินี ภรรยาของพ่อค้าผ้าไหมผู้มั่งคั่ง ฟรานเชสโก เดล จิโอคอนโด หากว่าความพยายามดังกล่าวประสบความสำเร็จ การวิจัยอาจช่วยให้ทราบถึงตัวตนที่แท้จริงของหญิงสาวลึกลับที่ปรากฏในภาพวาดของลีโอนาโด ดาวินชี 

ตามทฤษฏีและคำบอกเล่าที่สืบทอดต่อกันมา ชื่อของนางเกอราดินี มักถูกเชื่อมโยงกับภาพเขียนเรื่อยมา ซึ่งรู้จักกันในภาษาอิตาเลียนว่า "La Gioconda" และในภาษาฝรั่งเศสว่า "La Joconde" โดยจิออร์จิโอ วาซารี ศิลปิน และผู้เขียนชีวประวัติของดาวินชี เคยกล่าวไว้ว่า ดาวินชีเคยวาดรูปภรรยาของนายเดล จิโอคอนโด 

ลิซา เกอราดินี เกิดในปี 1479 ขณะที่เมื่อ 2-3 ปี ก่อน นักประวัติศาสตร์สมัครเล่นชาวอิตาเลียนรายหนึ่ง กล่าวว่าเขาได้ค้นพบมรณบัตรซึ่งระบุว่า เธอเสียชีวิตเมื่อวันที่ 15 ก.ค. ปี 1542 โดยสถานที่ฝังศพของเธอคือโบสถ์เซนต์ เออร์ซูลา บริเวณใจกลางเมืองฟลอเรนซ์ 

นายซิลวาโน วินเซนติ นักประวัติศาสตร์และหัวหน้าโครงการครั้งนี้เปิดเผยว่า การขุดค้นครั้งนี้จะเริ่มขึ้นในช่วงปลายเดือนนี้ ทั้งนี้เขาระบุถึงเอกสารที่แสดงว่าครอบครัวจิโอคอนโด ได้บริจาคเงินจำนวนมากให้แก่โบสถ์ และพินัยกรรมที่มอบให้แก่นางเกอราดินียังคงถูกเก็บรักษาไว้ที่นี่เช่นกัน 

ก่อนหน้านี้ เขาได้ทำการศึกษาภาพวาดโมนา ลิซาเป็นเวลานานนับเดือน โดยอ้างว่าเขาได้ค้นพบสัญลักษณ์บางอย่างที่แฝงอยู่ในภาพวาด ซึ่งขณะนี้ถูกเก็บรักษาที่พิพิธภัณฑ์ลูฟร์ ที่กรุงปารีส และพบว่างานศิลปะชิ้นนี้มีส่วนประกอบของร่างกายที่ไม่ได้มาจากผู้เป็นแบบคนเดียวกัน แต่อาจเกิดมาจากหลายปัจจัย อาจเป็นไปได้ว่าเขาให้เกอราดินีมาเป็นแบบในช่วงแรกที่เขาวาดภาพนี้ และต่อมาจึงให้ลูกมือฝึกหัดซึ่งเป็นผู้ชาย ซึ่งเป็นเพื่อนคู่หูและอาจเป็นคู่รักของเขา มาเป็นแบบ และส่งอิทธิพลต่อภาพวาดในเวลาต่อมา 

หาว่าโครงการนี้สำเร็จ นั้นจะเป็นการเปิดเผยถึงลักษณะใบหน้าที่แท้จริงของเกอราดินี และสามารถนำมาเปรียบเทียบได้กับใบหน้าที่ปรากฏในภาพ เพื่อพิสูจน์ว่าหญิงสาวในภาพเป็นใคร โดยการหาอายุของวัตถุโบราณ โดยใช้วิธีการตรวจหาธาตุคาร์บอนที่เป็นองค์ประกอบของวัตถุ และการสกัดดีเอ็นเอออกจากกระดูก และเปรียบเทียบกับดีเอ็นเอในกระดูกของลูกหลานของเกอราดินีที่ถูกฝังบริเวณใกล้เคียงกัน 

ท้ายที่สุด หากว่าส่วนประกอบของกระโหลกศีรษะถูกค้นพบ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าอยู่ในสภาพดีเพียงใด การใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อวิเคราะห์โครงสร้างใบหน้าเพื่อพิสูจน์ตัวตนที่แท้จริงของผู้อยู่เบื้องหลังรอยยิ้มอันลึกลับก็เป็นไปได้เช่นกัน 


 
โดย: มติชน / 06 เมษายน 2554

Views: 233

Reply to This

© 2009-2024   PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service