‘อูคูเลเล่’ เปลี่ยนชีวิต อัษฎา อาทรไผท



ใครจะคิดว่าเครื่องดนตรีสี่สายขนาดจิ๋วที่เกือบต้องปิดตำนานไปตั้งแต่ยุค 60’s เพราะถูกแทนที่ด้วยกีตาร์ จะม้วนตัวกลับมาสร้างกระแส ‘อูคูเลเล่ฟีเวอร์’ ที่แรงขึ้นเรื่อยๆ จนกลายมาเป็นงานเทศกาลอูคูเลเล่ครั้งแรกของเมืองไทย จนกลายมาเป็นงานเทศกาลอูคูเลเล่ครั้งแรกของเมืองไทย โดยมีอดีตไฟแนนซ์หนุ่มทายาทไฮโซ ด่อง-อัษฎา อาทรไผท เป็นโต้โผใหญ่ 12-13 มีนาคมนี้ ที่ศูนย์การค้าสยามพารากอน

 


อูคูเลเล่ (Ukulele) ไม่ใช่กีตาร์จิ๋ว แต่เป็นเครื่องดนตรีสี่สายที่มีบรรพบุรุษเป็นเครื่องสายขนานนามว่า “Machete” จากเกาะ Maderia ประเทศโปรตุเกส ก่อนจะแพร่หลายสู่ฮาวายตั้งแต่ปี ค.ศ. 1879 พร้อมกับชื่อที่ชาวพื้นเมืองตั้งว่า “อูคูเลเล่” ซึ่งมีความหมายว่า “หมัดกระโดด” เพราะลักษณะการเล่นที่ดีดนิ้วพลิ้วไปมาเหมือนหมัดที่กำลังกระโดดดึ๋งดั๋งอย่างสนุกสนาน แต่อีกกระแสก็บอกว่าความหมายของอูคูเลเล่หมายถึง “ของขวัญที่ได้มา (จากต่างแดน)”

ก่อนหน้าที่เจ้าเครื่องสายตัวน้อยสัญชาติฮาวายตัวนี้จะขายดิบขายดี จนกลายเป็นแอคเซสเซอรี่เล่นได้ของคนเทรนดี้ โดยมีร้าน Ribbee Boutique ทำหน้าที่เป็นเทรดเดอร์วัฒนธรรมทางดนตรีรายใหญ่อยู่ที่ดิจิทัลเกตเวย์ สยามสแควร์ คนเล่นอูคูเลเล่ในเมืองไทยยังจำกัดอยู่ในวงเล็กๆ จัดเป็นเครื่องดนตรีที่หายาก เพราะที่หาได้มักจะเป็นรุ่นเริ่มต้นหรือของเล่น เสียงไม่ค่อยดีเพี้ยนตลอด

“จริงๆ ผมชอบอะไรที่มันฮาวายๆอย่างนี้มาตั้งแต่เด็กๆ แล้ว แต่เล่นไปก็ต้องเบื่อเพราะเสียงไม่ดี ไปๆ มาๆ ความที่ชอบมาเป็น 10 ปีแล้ว แต่หาซื้อยาก ไม่มีใครทำตลาดจริงจังในเมืองไทย เลยเริ่มสั่งเข้ามาแบรนด์หนึ่งก่อน มาลองขายเองที่บ้าน”

ตอนนั้นอัษฎาเพิ่งจะผันชีวิตจากงานประจำบริษัทไฟแนนซ์ หันมาเปิดช็อป Ribbee Boutique เป็นตู้คอนเทนเนอร์ติดแอร์เย็นฉ่ำ ขายเครื่องดนตรีในสไตล์แหวกแนวที่สนามหน้าบ้าน ย่านสะพานสูง

ไปๆ มาๆ พอเริ่มมองเห็นโอกาสใหม่ ชายหนุ่มเลยนึกสนุกสั่งนำเข้าอูคูเลเล่มาขายเป็นล่ำเป็นสันที่หน้าบ้าน แรกๆ ใครๆ ก็แซวว่าเพี้ยน จำได้ว่าล็อตแรกสั่งมา 300 ตัวนั่งขายกันอยู่เป็นเดือน ลูกค้าส่วนใหญ่มาเห็นรูปทรงละม้ายคล้ายกีตาร์จิ๋ว นึกว่าเป็นของเล่นเลยซื้อไปตั้งเก๋ๆ เป็นเฟอร์นิเจอร์แต่งบ้านซะงั้น

ถึงแม้จะเปิดร้านอยู่หน้าบ้าน แต่เพราะมิตรภาพในโซเชียล เน็ตเวิร์ค และการบอกต่อกันปากต่อปาก บวกกับมนต์เสน่ห์ในเสียงหวานๆ ของอูคูเลเล่ที่เริ่มทำหน้าที่ของมัน ไม่ว่าจะเป็น YouTube ที่มีคลิปวีดิโอการเล่นการสอนอูคูเลเล่หลายหมื่นคลิป ทั้งจากมืออาชีพและมือสมัครเล่น โดยเฉพาะคลิปสุดฮิตของเด็กน้อยชาวญี่ปุ่นวัย 5 ขวบที่สร้างแรงบันดาลใจว่าขนาดเด็กยังเล่นได้ หลายคนเลยสนใจจะหามาหัดบ้าง

ขณะที่การหยิบเอาอูคูเลเล่มาเล่นโดยศิลปินดังๆ อย่าง Jack Johnson Mraz หรือ Zee Avi ก็มีส่วนไม่น้อยที่สร้างกระแสให้อูคูเลเล่กลายเป็นเครื่องดนตรีที่ได้รับความสนใจอีกครั้ง

ขณะที่ในเมืองไทยต้องบอกว่ากระแสความนิยมอูคูเลเล่เติบโตอย่างรวดเร็ว ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาแม้แต่เจ้าของร้าน Ribbee Boutique อย่างอัษฎาก็ยังรู้สึกเหนือความคาดหมาย แรงผลักดันหนึ่งน่าจะมาจากการจัดกิจกรรมเพื่อคนเล่นอูคูเลเล่อย่างต่อเนื่องทุกเดือน การรวมตัวกันเป็นกลุ่ม UkeClub สร้างชุมชนออนไลน์สำหรับคนเล่นอูคูเลเล่ เข้ามาพูดคุยแลกเปลี่ยนกันผ่านเว็บบอร์ดและเฟซบุ๊ค

จัดงานแต่ละทีทุกคนในกลุ่มก็จะมาช่วยๆ กันเหมือนลงแขกร่วมกัน บางคนมาช่วยเป็นวิทยากรให้ฟรี กลายเป็นมิตรภาพดีๆ ของคนรักดนตรีด้วยกัน

แต่ที่เริ่มกระแสแรงเป็นที่รู้จัก คือ การประกวด Ribbee Thailand Ukulee Contest ครั้งแรกในประเทศไทย ที่เป็นเวทีแจ้งเกิดของ“สิงโต นำโชค” เจ้าของแชมป์คนแรกที่กลายมาเป็นศิลปินหน้าใหม่กับสไตล์เพลงแบบ Surf music ที่ใช้อูคูเลเล่มาเป็นพระเอกในการเล่น ร่วมด้วยศิลปินหญิงอย่างลุลา ที่หยิบเอาอูคูเลเล่มาเล่นบนเวที ตามมาด้วยกลุ่มคนเล่นที่เป็นดารา นักแสดง คนดัง จนกลายเป็นเครื่องดนตรีของคนเทรนดี้ เป็นที่รู้จักแพร่หลายผ่านสื่อต่างๆ

เป็นเครื่องดนตรีที่กลับมาแรงและขายดิบขายดีแค่ไหน เอาเป็นว่าปัจจุบันเมืองไทยครองแชมป์ลูกค้านำเข้าอูคูเลเล่รายใหญ่อันดับ 2 ในเอเชียรองจากญี่ปุ่น อย่างไรก็ตาม อัษฎา ยอมรับว่า การเติบโตของอูคูเลเล่ในเมืองไทยส่วนหนึ่งมาจากการเล่นตามกระแสซึ่งอาจจะยาวนานไม่เกิน 2-3 ปี ที่สุดแล้วเขาเชื่อว่าวันข้างหน้าอูคูเลเล่จะเติบโตไปได้ด้วย “ดีมานด์แท้” ของกลุ่มคนที่เล่นอย่างจริงๆ จังๆ และเป็นเครื่องดนตรีที่เล่นได้ทุกเพศทุกวัย เล่นได้ทั้งครอบครัว

ไม่ว่าจะเป็นเด็กเล็กๆ ที่ยังจับกีตาร์ซึ่งมีขนาดใหญ่ไม่ได้ คนหนุ่มสาวที่อยากเอาดีกับดนตรีสไตล์นี้ คนวัยทำงานที่ต้องการผ่อนคลาย หรือแม้แต่คนสูงอายุที่ต้องการฝึกความจำ ป้องกันอัลไซเมอร์

“ผมว่าอูคูเลเล่มันเป็นเครื่องดนตรีในครอบครัว พ่อแม่ลูกเล่นด้วยกันได้ อย่างผมเล่นให้ลูกฟังตั้งแต่เขาอยู่ในท้อง ตอนนี้ลูกชายผม 4 ขวบแล้วก็กำลังเริ่มๆ หัดเล่นได้แล้ว ตอนนี้ภรรยาผมก็เล่นได้ คุณพ่อผม (พล.ต.ต.อังกูร อาทรไผท) ก็มาเล่นด้วย กำลังเรียนอยู่ และที่ร้านเราก็มีพ่อแม่ลูกที่มาเล่นด้วยกัน”

“บีคอน” ลูกชายคนแรกยังถือเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้อัษฎาตัดสินใจเปลี่ยนวิถีชีวิต ลาออกจากงานไฟแนนซ์ หันมาทำงานด้านดนตรีที่ชอบและได้ใช้เวลาอยู่กับลูกแบบเต็มตัว

“ถึงจุดหนึ่งๆ รู้สึกว่าทำงานอย่างนั้นมันอึดอัด พอมีลูกก็เลยคิดว่าอยากใช้ชีวิตแบบสบายๆ ไปอยู่บ้านขายเครื่องดนตรีกับเลี้ยงลูก ผมกับภรรยาเราช่วยกันเลี้ยงลูกเอง ซึ่งเขาก็ออกจากงานมาเหมือนกัน เงินส่วนตัวทั้งหมดที่หามาได้ก็เอามาทำกับธุรกิจนี้ ตอนนี้เลยกลายเป็นว่างานใหม่ยุ่งกว่าเดิม”

นอกจากเปิดร้านขายและคอร์สสอนเล่นอูคูเลเล่แล้ว ในอนาคตอัษฎายังเตรียมดีลกับปรมาจารย์อูคูเลเล่จากฮาวายมาถ่ายทอดหลักสูตรพร้อมประกาศนียบัตร ความตั้งใจอย่างหนึ่งของเขาคืออยากบุกเบิกวงการอูคูเลเล่ในเมืองไทยอย่างจริงจังในเมืองไทย ล่าสุด กับการจัดงานเทศกาลอูคูเลเล่ครั้งแรกของประเทศไทยและในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่จะรวบรวมศิลปินอูคูเลเล่ทั้งไทยและต่างประเทศมาโชว์ลีลาให้ฟังสดๆ บนเวที อาทิ สิงโต นำโชค , ลุลา กันยารัตน์ ติยะพรไชย, Shigeto Takahashi,Allen Loo,Julia Nunes,Iwao Yamagushi ฯลฯ การประกวดชิงแชมป์อูคูเลเล่,การสอนเล่นอูคูเลเล่ เป็นต้น โดยเปิดให้เข้าร่วมงานฟรีทุกรายการ ที่พาร์ค พารากอน ศูนย์การค้าสยามพารากอน 12-13 มีนาคม 2554 เวลา 15.00-22.00 น.

“เสน่ห์ของอูคูเลเล่อยู่ที่เสียงของมันที่เล็กๆ ฟังแล้วรีแลกซ์ และเป็นโทนเสียงที่ออกแนวให้อารมณ์ความสุข ได้ยินแล้วนึกถึงทะเล แล้วมันก็เป็นเครื่องดนตรีตัวเล็กๆ ที่เล่นง่าย ใครๆ ก็เล่นได้ ไม่ยาก ไม่เจ็บมือด้วย สายก็น้อย พกพาสะดวก ผมนิยามมันว่าเป็นเครื่องดนตรีที่น่ารักและเท่..

ถึงวันนี้ ผมถือว่าเหนือความคาดหมาย จากที่เริ่มต้นเพราะความชอบอยากจะเล่นเฉยๆ กลายเป็นว่ามีคนสนใจเยอะมาก แล้วก็เกิดอาชีพให้กับคนอีกหลายคน กลายเป็นอีกหนึ่งธุรกิจสร้างงานสร้างรายได้ขึ้นมา” อัษฎาเล่าพร้อมรอยยิ้ม




ลูกชาย..แรงบันดาลใจเปลี่ยนชีวิต
--------------------------



โดย: ดุลยปวีณ กรณฑ์แสง
ที่มา: bangkokbiznews.com / 7 มีนาคม 2554

Views: 1541

Reply to This

Replies to This Discussion

Thumbs up !!!

RSS

© 2009-2024   PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service