กว่าจะเป็นเครื่องเงิน ที่ชมพูภูคา


เครื่องเงินชมพูภูคา จังหวัดน่าน 
------------------------- 
กรรมวิถีและการออกแบบลวดลายที่มีความเฉพาะตัวของเครื่องเงินเกิดจากการตกผลึกทางความคิดที่ตกทอดกันมาของบรรพบุรุษชาวเขาเผ่าเย้าและม้ง 

จังหวัดน่าน เป็นแหล่งเครื่องเงินดีที่สุดในประเทศไทยและอาจข้ามขั้นไกลไปถึงระดับโลก ที่กล่าวเช่นนี้ได้ก็เนื่องจากศูนย์เครื่องเงินชมพูภูคาและหัตถกรรมเมืองน่าน ได้รับการตรวจวัดคุณภาพจากบริษัท แอสเสย์ จำกัด พบว่า รูปพรรณเงินของศูนย์แห่งนี้มีธาตุเงินผสมอยู่ในแต่ละแบบสูงถึง 94 - 98 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งมากกว่าที่สากลกำหนดไว้คือ 92.5 เปอร์เซ็นต์ ที่นี้จึงได้ขึ้นชื่อว่าเป็นแหล่งผลิตเครื่องเงินที่มีคุณภาพมากกว่ามาตรฐานในระดับโลก 


 


กรรมวิถีและการออกแบบลวดลายที่มีความเฉพาะตัวของเครื่องเงินเกิดจากการตกผลึกทางความคิดที่ตกทอดกันมาของบรรพบุรุษชาวเขาเผ่าเย้าและม้ง ที่อาศัยในพื้นที่สูงของจังหวัดน่าน จากอดีตที่เคยประกอบอาชีพทำไร่เลื่อนลอยและทำสวน ต่อมาประสบกับปัญหาภัยแล้งขาดแคลนที่ดินทำกิน พร้อมทั้งความคิดที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิตในการประกอบอาชีพใหม่ จึงนำเอาศิลปะวัฒนธรรมดั่งเดิมที่เกี่ยวข้องกับหัตถกรรมอย่าง 'เครื่องประดับเงิน' และงานเย็บปักและสิ่งทอต่างๆ มาจัดจำหน่ายให้กับคนบนพื้นที่ราบ ด้วยเอกลักษณ์ความสวยงามที่แปลกใหม่จึงทำให้เครื่องเงินที่มาจากภูมิปัญญาของชาวเขาเป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลายในสมัยนั้น 


ธีรพล วรรณวิภูษิต ประธานกลุ่มเครื่องเงินชมพูภูคา ได้กล่าวถึงประวัติและที่มาของเครื่องเงินในจังหวัดน่านว่า เครื่องเงินของที่นี่แบ่งออกได้เป็นสามกลุ่ม กลุ่มแรกคือผู้ผลิตเครื่องเงินแบบดั้งเดิมของเมืองน่าน เกิดขึ้นในสมัยสุโขทัยกษัตริย์ได้ยกทัพไปตีเมืองหลวงพระบาง ในระหว่างนั้นได้ผ่านเมืองน่านจึงให้เจ้าเมืองน่านไปช่วยร่วมรบด้วย เมื่อรบชนะเจ้าเมืองน่านก็ทูลขอให้ช่างเครื่องเงินและเครื่องทองที่เป็นชาวหลวงพระบางมาทำงานในพระราชวัง ซึ่งในปัจจุบันมีช่างเหลืออยู่สิบกว่าคน ส่วนใหญ่จะทำเครื่องเงินที่เป็นของใช้อย่างเช่น ขันเงิน และเชี่ยนหมาก 


กลุ่มต่อมาเป็นกลุ่มช่างชาวเขา เริ่มจากในช่วงปีพ.ศ.2508 เกิดสงครามต่อต้านคอมมิวนิสต์บนที่สูงจึงหนีลงมาที่ศูนย์อพยพบนพื้นราบ ในขณะนั้นรัฐบาลมีความช่วยเหลือด้านอาหารแต่ก็ไม่เพียงพอ จึงนำเครื่องเงินมาแลกเปลี่ยนเป็นสินค้าบ้าง อาหารบ้าง เมื่อเห็นว่าการทำเครื่องเงินสามารถเป็นธุรกิจได้ ก็นำความรู้ที่มีมาทำขาย เป็นเครื่องเงินในรูปแบบชาวเขา 


และกลุ่มสุดท้ายคือกลุ่มโรงงานมีทั้งชาวต่างชาติและคนไทยเข้ามาตั้งเป็นโรงงานอุตสาหกรรมในจังหวัดน่าน เนื่องจากเล็งเห็นว่าที่นี้มีฐานในการผลิตเครื่องเงินที่ดีและมีค่าแรงที่ไม่แพงนัก จึงเกิดกลุ่มนี้ขึ้นมา ส่วนศูนย์เครื่องเงินชมพูภูคาเป็นการผลิตโดยการผสมผสานระหว่างแบบสมัยใหม่และแบบชาวเขา 


ตามมาตรฐานสากลทั่วโลกตั้งมาตรฐานของรูปพรรณเงินให้มีธาตุเป็นองค์ประกอบอยู่ 92.5 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลืออีก 7.5 เปอร์เซ็นต์ เป็นธาตุโลหะอื่น เช่น ทองแดง ทองเหลือง เพื่อให้มีความแข็งแรง หากใช้ธาตุเงินทำรูปพรรณทั้ง 100 เปอร์เซ็นต์ จะทำให้หักและงอง่าย ภาษาที่ใช้เรียกกันทั่วไปสำหรับเงิน 92.5 คือ 'Sterling Silver' (สเตอร์ลิง ซิลเวอร์) ส่วนกรรมวิธีในการผลิตเครื่องเงินนั้นก็มีหลายขั้นตอน เริ่มตั้งแต่การหลอม ไปจนถึงขั้นตอนสุดท้ายคือการคัดเลือก ซึ่งกว่าจะได้เครื่องเงินอย่างสร้อยคอมาสักหนึ่งชิ้นนั้น ต้องใช้ระยะเวลาในการทำเป็นเดือนจากช่างที่ชำนาญ 


แคะ แซ่โฟ้ง ช่างทำเครื่องเงินชาวเขาจากศูนย์เครื่องเงินชมพูภูคา ได้สาธิตวิธีการทำเครื่องประดับจากเงิน โดยเริ่มตั้งแต่การหลอมให้เม็ดเงินละลายด้วยไฟความร้อนสูง ซึ่งเม็ดเงินบริสุทธิ์เหล่านี้จะนำเข้ามาจากประเทศจีนและออสเตรีย เหตุที่ต้องนำเข้าก็เนื่องจากประเทศไทยยังไม่มีแร่เงินมากเพียงพอในการผลิตเป็นอุตสาหกรรม และการหลอมเงินเองจะมีราคาถูกกว่า สามารถควบคุมคุณภาพของเงินได้ว่าบริสุทธิ์และไม่มีการเจือปน 

 
---------------------- 
 
ขั้นตอนการทำเครื่องเงินชมพูภูคา 
----------------------------

การเผาเม็ดเงินนั้นจะใช้ระยะเวลาประมาณ 40 นาที จนละลายกลายเป็นของเหลวจึงนำไปเทใส่บล็อกที่มีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้ามีอุณหภูมิใกล้เคียงกันเพื่อให้เงินแข็งตัวพร้อมกันทุกส่วน เมื่อเม็ดเงินละลายหมดช่างแคะก็ไม่รอช้าเทใส่บล็อกที่เตรียมไว้ พริบตาเดียวธาตุเงินที่มีสถานะของเหลวก็กลายเป็นแท่งเงินแข็งทันที ถึงช่วงนี้ช่างจะทิ้งไว้ให้ความร้อนคลายสักพัก แล้วใช้ฆ้อนทุบเพื่อไปสู่กระบวนการนำเข้าสู่เครื่องรีดให้แบนออกมาเป็นแผ่น โดยนำแท่งเงินที่มีความหนาประมาณ 2 เซนติเมตร เข้าเครื่องรีดหลายๆ ครั้งจนเป็นแผ่นเงินบางพอที่จะไปสู่กระบวนต่อไป 

หากต้องการทำให้เป็นกำไรข้อมือก็นำแผ่นเงินไปดัดแล้วเจาะลายตกแต่งได้เลย แต่ถ้าหากต้องการให้เป็นสร้อยคอก็ต้องนำแผ่นเงินที่ตัดแล้วไปเข้าเครื่องรีดเส้น ให้ออกมามีเป็นลักษณะเส้นเล็กๆ ตามที่ต้องการบนเครื่องจักร กรรมวิธีนี้ใช้การออกแรงมากที่สุด ทำหลายๆ ครั้งจนได้ขนาดเส้นตามที่ต้องการแล้วก็ไปสู่กระบวนการแต่งเครื่องเงิน ตั้งแต่ตุ้มหู แหวน สร้อยคอ ไปยังเครื่องประดับอื่นๆ ในขั้นต้องนี้ต้องใช้ความละเอียดในการตกแต่ง เมื่อเสร็จแล้วก็จะนำไปสู่ขั้นตอนของการเผาเครื่องเงินให้มีความมันเงาและมีสีออกดำๆ 

ช่างแคะยังเล่าต่อว่าจากประสบการณ์ที่ทำเครื่องเงินมากว่า 20 ปี ทำให้ได้ทราบว่า ปัจจุบันนี้ช่างทำเครื่องเงินลดน้อยลงเนื่องจากตลาดของเครื่องเงินในประเทศไทยเกิดมานานแต่ยังไปไม่ค่อยไกล ช่างบางส่วนจึงหันไปประกอบอาชีพอื่นที่มีรายได้ดีกว่าในขณะที่ช่างแคะก็ยังยืนยันที่จะเป็นช่างเครื่องเงินต่อไป 

"ถ้าคนที่ทำมานานจะรู้สึกเบื่อๆ แต่ผมทำด้านนี้มานานก็เลยยังชอบอยู่" ช่างแคะกล่าวปิดท้าย 


โดย: นภสร ไชยคำภา 
ที่มา: bangkokbiznews.com / 17 กุมภาพันธ์ 2554

Views: 590

Reply to This

© 2009-2024   PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service