เมื่อกระดูกมนุษย์กลายเป็นงานศิลปะ

 

ทราบข่าวว่ายุโรปหนาวจัดมากปีนี้ อยากจะไปเล่นหิมะเสียหน่อยก็ไม่มีโอกาส หนาวที่สุดที่เคยเจอมาครั้งล่าสุดก็ที่เมือง Prague เมื่อหลายปีมาแล้ว ยังจำความหนาวและกระแสลมเย็นจัดที่พัดผ่านใบหน้าขณะเดินสำรวจงานศิลปะที่วางขายอยู่บนสะพาน Charles ที่ทอดข้ามแม่น้ำ Vltava ได้เป็นอย่างดี พอนึกถึง Prague ก็อดนึกถึงสถานที่แปลกประหลาดที่สุดในชีวิตเท่าที่เคยไปมาไม่ได้ สถานที่นั้นมีชื่อเรียกว่า The Sedlec Ossuary หรือในภาษาท้องถิ่นเรียกว่า Sedletz Ossarium แต่ถ้าจะต้องตั้งชื่อเป็นภาษาไทย คงหนีไม่พ้น "โบสถ์ที่ประดับด้วยกระดูกมนุษย์" 


โบสถ์ที่ประดับด้วยกระดูกมนุษย์ แห่งนี้เป็นโบสถ์ที่ไม่ปกติธรรมดาเพราะเป็นสิ่งที่ไม่สามารถพบเห็นได้ที่ไหนในโลก โบสถ์แห่งนี้เป็นโบสถ์ขนาดเล็ก ตั้งอยู่กลางสุสานในหมู่บ้านเล็กๆชื่อ Sedlec ชานเมือง Kutna Hora ที่อยู่ห่างไปทางทิศตะวันออกของกรุง Prague เมืองหลวงของสาธารณรัฐเช็คประมาณ 70 กิโลเมตร 


แม้ด้านนอกของโบสถ์จะดูธรรมดาไม่แตกต่างไปจากโบสถ์อื่นๆในยุโรป แต่เมื่อเข้าไปข้างในแล้วจึงจะทราบว่า ทำไมทุกคนที่มีโอกาสมาชมโบสถ์แห่งนี้ถึงพากันกล่าวว่า นี่คือ โบสถ์ที่แปลกประหลาดที่สุดในโลก ก็จะไม่ประหลาดได้อย่างไรใน เมื่อภายในของโบสถ์แห่งนี้ประดับประดาด้วยกระดูกของมนุษย์กว่า 40,000 คน 

 

 

 





กระดูกเหล่านี้มาจากไหน แล้วทำไมถึงมาอยู่ในโบสถ์เล็กๆกลางประเทศเล็กๆอย่างนี้ได้อย่างไร ? 


ย้อนหลังกลับไปในปี ค.ศ. 1278 กษัตริย์ Otakar ที่ 2 แห่ง Bohemia ได้ส่งพระผู้ใหญ่รูปหนึ่งของหมู่บ้าน Sedlec ชื่อ Heinrich ไปแสวงบุญยังดินแดนศักดิ์สิทธิ์คือกรุงเยรูซาเล็ม การเดินทางไปแสวงบุญในลักษณะนี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยากมากในสมัยนั้น 


เมื่อกลับมายังหมู่บ้านSedlec พระ Heinrich ได้นำเอาดินที่ถือกันว่าเป็นดินศักดิ์สิทธิ์จาก Golgotha อันเป็นสถานที่ที่พระเยซูถูกตรึงกางเขนกลับมาด้วยและก็ได้นำดินเหล่านั้นมาโปรยไว้ในสุสานของหมู่บ้าน Sedlec สถานะของสุสานจึงเปลี่ยนไป ผู้คนพากันเชื่อว่าสุสานนี้กลายเป็นสุสานศักดิ์สิทธิ์และต้องการให้ตัวเองหรือญาติพี่น้องมาอยู่ที่สุสานแห่งนี้เพราะจะทำให้ใกล้ชิดกับพระเจ้าและเป็นหนทางที่จะทำให้ได้ขึ้นสวรรค์ 


ในช่วงเวลานั้นเมือง Kutna Hora เป็นเมืองที่อุดมสมบูรณ์ด้วยแร่เงิน แร่เงินที่ได้จากเมืองนี้เป็นแร่เงินที่มีคุณภาพดีมาก หลายประเทศในยุโรปนำไปใช้ทำเงินตรา จึงทำให้มีผู้คนจำนวนมากเข้ามาอยู่ เข้ามาทำงานและเสียชีวิตที่นั่น มีข้อมูลว่าในปี ค.ศ. 1318 มีศพที่ฝังไว้ในสุสานแห่งนี้กว่า 30,000 ศพ ศพเหล่านี้มาจากทั่วทุกสารทิศในประเทศและมีบางศพที่มาจากประเทศข้างเคียงเช่น Poland, Belgium จึงมีการขยายสุสานออกไปอีกเพราะพื้นที่เดิมมีขนาดเล็ก นอกจากการขยายสุสาน ก็มีการล้างสุสานเพื่อให้พื้นที่กับผู้มาใหม่ด้วย 


ในปี ค.ศ. 1400 มีการสร้างโบสถ์ขึ้นที่กลางสุสาน มีการสร้างห้องใต้ดินไว้ใต้โบสถ์เพื่อใช้สำหรับเป็นที่เก็บกระดูก (ossuary) ที่มาจากการขุดสุสานตอนก่อสร้างโบสถ์และจากการล้างสุสาน ต่อมาเมื่อมีการล้างสุสาน กระดูกทั้งหมดที่ขุดขึ้นมาก็ถูกนำไปเก็บเอาไว้ในห้องใต้ดินของโบสถ์ กองทับถมกันอยู่หลายร้อยปี จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1870 ช่างแกะสลักไม้ชื่อ Frantisk Rint ได้รับมอบหมายจากขุนนางแห่งตระกูล Schwarzenberg ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินที่เป็นสุสาน ให้ตกแต่งห้องเก็บกระดูกใต้ดินและโบสถ์ Frantisk Rint ก็เลยถือโอกาสแสดงฝีมือและแสดงความเป็นศิลปินด้วยการนำเอากระดูกมนุษย์ที่มีอยู่ในห้องเก็บกระดูกมาใช้ตกแต่งภายในโบสถ์และห้องเก็บกระดูกใต้ดินอย่างวิจิตรพิสดาร 


ที่น่าตื่นตาตื่นใจที่สุดก็คือ โคมไฟระย้า (chandelier) ขนาดใหญ่ที่ห้อยอยู่กลางโบสถ์ โคมไฟประกอบด้วยกระดูกทุกชิ้นที่อยู่ในร่างกายมนุษย์ซึ่งในวันนี้ถือกันว่าเป็นงานศิลปะชิ้นเยี่ยมชิ้นหนึ่ง 

 


 

 

 





ไม่เว้นแม้แต่กับเจ้านายของตัวเองFrantisk Rint ฝากฝีมือไว้ด้วยการทำตราประจำตระกูล Schwarzenberg ของเจ้านาย ตราประจำตระกูลนี้ก็ทำมาจากกระดูกมนุษย์เช่นกัน 

นอกจากนี้แล้ว ภายในโบสถ์ไม่ว่าจะเป็นราวบันได ซุ้มประตู และบางส่วนของผนังก็ประดับประดาด้วยชิ้นส่วนต่างๆของมนุษย์ รวมถึงการจารึกชื่อของ Frantisk Rint ผู้ตกแต่งโบสถ์ไว้หน้าประตูทางเข้าก็ทำด้วยกระดูกมนุษย์เช่นกัน 

 


 

 

 





คงมีน้อยคนที่มองโบสถ์แห่งนี้ว่าสวยคนที่ดั้นด้นไปชมโบสถ์นี้ส่วนใหญ่ต้องการไปเห็นความแปลกและความน่าสะพรึงกลัวมากกว่า 

Frantisk Rint คงเป็นศิลปินคนแรกและคนเดียวของโลกที่สร้างผลงานศิลปะจากกระดูกของเพื่อนมนุษย์ ยังจำความรู้สึกหนาวเย็นเมื่อเข้าไปยืนอยู่กลางโบสถ์ ใต้โคมไฟระย้า แล้วแหงนหน้าขึ้นไปมองโคมไฟนั้นได้ไม่รู้ลืม 

 

 

 

 

 

 


 

 




โดย: อายตนะ 
ที่มา: มติชน / 16 มกราคม พ.ศ. 2554

Views: 23

Reply to This

© 2009-2024   PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service