เจาะทะลุถึงใจ จิตต์สิงห์ 'ยิ่งโหล ยิ่งสูญพันธ์' อนาคตวงการดีไซเนอร์ไทย

ฉากหน้าบนรันเวย์ ที่ดูสนุกสนาน ฉะฉานในท่วงทำนองเพลงประกอบจังหวะการเดิน เพลินไปกับการได้เห็นเสื้อผ้าที่ออกแบบมาเพื่อแสดงถึงภาพลักษณ์ที่มีรสนิยม คือสิ่งที่เย้ายวนให้วัยรุ่นสมัยนี้ อยากที่เป็นดีไซเนอร์ กันมากขึ้น เพราะหมายถึงการมีรายได้เป็นกอบเป็นกำ และนำมาเพื่อสนองไลฟ์สไตล์ของตัวเองได้อย่างเหลือเฟือ

จิตต์สิงห์ สมบุญ คือ 1 ในดีไซเนอร์ชั้นนำของเมืองไทย ที่ใครๆ ก็ต้องคุ้นหน้าตาของเขาดีอยู่แล้ว จากผลงานการออกแบบเสื้อผ้าแนวสตรีทแวร์ แบรนด์Playhound เขาเป็นดีไซเนอร์ที่มีคาแรกเตอร์ฉีกไปจากคนอื่นๆ ทั้งเอกลักษณ์การแต่งตัว รวมไปถึงการทำงาน ที่เขาบอกว่าพยายามสร้างความท้าทายให้กับคอลเลกชั่นเสื้อผ้าของเขาอยู่เสมอ เขาจึงเป็นอีกหนึ่งแรงบันดาลใจ ของวัยรุ่นสมัยนี้ที่อยากก้าวมาสู่วงการดีไซเนอร์ ที่ประสบความสำเร็จได้เหมือนเขา

" ผมไม่รู้นะ ว่าตัวเองต้องอยู่ในระดับไหน แต่คงไม่ใช่เบอร์หนึ่งหรอก ยังมีดีไซเนอร์ที่เป็นเบอร์หนึ่งอีกหลายคนในเมืองไทย เอาเป็นว่าผมได้ทำงานที่ตัวเองชอบมากกว่า และผมมีทีมงานดีด้วย พอเราทำงานเป็นทีมร่วมกันได้ คุยกันรู้เรื่อง ผลงานมันก็เลยออกมาดี เป็นอย่างที่เราต้องการ แต่ก็รู้สึกยินดีนะ ที่มีคนชอบงานที่ผมทำ"




สิ่งที่หลายคนเข้าใจ และมองว่าการเป็นดีไซเนอร์ เป็นอาชีพที่เท่ รายได้ดี มีหน้าตาในสังคม แต่อีกมุมหนึ่งของชีวิตการเป็นดีไซเนอร์ นั้น พี่รองกลับบอกว่าอาจไม่ได้ง่าย และจะเกิดกันได้ทุกคน เพราะทุกวันนี้ ยิ่งคนอยากเป็นมาก การแข่งขันก็มากขึ้น ในขณะเดียวกัน การสนับสนุนที่ควรจะเป็น กลับดูไม่ค่อยเต็มเม็ดเต็มเหนี่ยว

" ตอนนี้วงการแฟชั่นไทย เราก็ช่วยกันผลักดันให้พัฒนามากขึ้น แต่ก็คงต้องดูด้วยว่าทางรัฐบาลจะเอาจริงแค่ไหน ถ้าจะเอาจริงผมว่าไม่ยากหรอก แต่ถ้าจะปล่อยให้เป็นไปเองตามสภาพการณ์ โดยที่ไม่มีใครสนับสนุน มันก็จะต้องใช้เวลาอีกนานครับ แต่ตอนนี้เขาก็คงทำได้แค่นี้ เพราะเขาก็คงมีเรื่องให้ต้องสนับสนุนอีกเยอะ ถ้าใช้วิธีกระจายเงินมันก็ได้นิดๆหน่อยๆ มันก็เหมือนตำน้ำพริกละลายแม่น้ำอ่ะครับ มันทำอะไรไม่ได้มากหรอก ก็เหมือนได้แค่ดีใจไปวันๆ แต่ถ้าได้เงินก้อนใหญ่มาสนับสนุน เอามาใช้แล้วตรงอื่นยอมอดเวียนกัน ผมว่ามันน่าจะเห็นผลที่ชัดเจนมากกว่า ผมเองก็พอได้เข้าไปอยู่ในส่วนที่ได้รับรู้เรื่องนี้บ้าง ไปเป็นที่ปรึกษาการจัดตั้งงบประมาณวงการออกแบบ คุณลองนึกดูว่าเขาแยกออกไปเยอะแยะแล้วมันซับซ้อนขนาดนี้ มันต้องใช้เงินเท่าไหร่ แล้วถ้าพัฒนาบุคลากร สื่อให้คนรับรู้ เงินก็ยิ่งกระจายนิดๆ หน่อยๆ ก็ไม่มีผลที่ชัดเจนหรอก และสมัยนี้ เด็กก็อยากเป็นอาชีพนี้ก็เยอะ ผมก็มีไปสอนตามมหาวิทยาลัยด้วย เด็กที่เรียนจบด้านแฟชั่น และการออกแบบมีเยอะมาก คุณคิดดูนะ แค่ที่ผมสอนตอนนี้ ประมาณ 40 กว่าคน ต่อหนึ่งมหาวิทยาลัย และผมสอนตั้ง 5 ที่ ก็ร่วม 200 กว่าคนแล้ว ปีนึงจบมาขนาดนี้ จะให้ไปอัดอยู่แพลทตินั่ม กับสยามอย่างเดียวเหรอ มันก็ไม่ใช่ไง เพราะก่อนหน้านี้ที่จบมาก็เยอะแล้ว"

เส้นทางของดีไซเนอร์อาจไม่ใช่อาชีพที่จะพูดได้เต็มปากว่า มั่นคงเสียทีเดียว เพราะการเปิดร้านเสื้อสร้างแบรนด์ตัวเองคงไม่ใช่เรื่องง่ายนักที่ใครจะยอมรับ ยิ่งถ้าการสนับสนุน ยังเป็นวิถีแบบเดิม พี่รองก็บอกด้วยความเป็นห่วงว่าอย่างเร็วไม่เกิน 2 ปี อาชีพนี้คงตกงานแน่ๆ




" ของมันแน่อยู่แล้วว่าถ้าอะไรที่มันเริ่มโหล เริ่มเกร่อ มันก็ต้องแย่งกัน เหมือนอาชีพอื่นๆ แหละครับ และยิ่งไม่มีที่รองรับ มันก็เคว้ง ตอนนี้เหมือนเป็นกระแสมากกว่าว่าอยากเป็นดีไซเนอร์ และผมว่าภายใน 2-3 ปี นี้ถ้ายังหาทางออก เพื่อกระจายบุคลากร และการสนับสนุนที่จริงจังไม่ได้ดีพอ ก็ตกงานแน่นอนครับ หลายคนอาจค้านผมก็ได้นะ เพราะเห็นมีการประกวดดีไซเนอร์นั่นนี่เต็มไปหมด แต่พอได้รางวัลแล้วเอาไปทำอะไรอ่ะครับ เปิดร้านเสื้อเหรอ เยอะแยะมากแล้ว จะซื้อกันเอง หรือส่งออกได้แค่ไหนก็ไม่รู้ เพราะมาตรการรองรับยังไม่พร้อม ไม่เพียงพอ แถมยังไม่ถูกจุดด้วย ถ้าเปรียบเทียบก็เหมือนตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ ดูแล้วยังไม่ชัดเจนเท่าไหร่ครับ ตอนนี้ลูกศิษย์ผมเองยังต้องมาถามหางานจากผมเลยนะ"

นอกจากปัญหาในเรื่องการผลักดันแล้ว สิ่งหนึ่งที่เป็นจุดอ่อนของการพัฒนาแฟชั่นไทย พี่รองนั้นบอกว่าคงเป็นเรื่องของรสนิยมคน เพราะต้องยอมรับว่า ทุกวันนี้คนไทยยังติดแบรนด์กันอยู่

" ถ้าต่อเมื่อเรายังนับถือตัวเอง น้อยกว่าคนต่างชาติ ยังไงมันก็เป็นแบบนี้แหละ มันก็เหมือนยี่ห้อรถแหละครับ แบรนด์เดียวกัน แต่ถ้าคุณรู้ว่าคันนี้ผลิตที่เจ้าของดั้งเดิม กับอีกคัน ผลิตในประเทศไทย คุณเชื่อถือคันไหนมากกว่าล่ะ มันก็เป็นเรื่องธรรมชาติอยู่แล้ว แต่อย่างอื่นของไทยที่ยอมรับก็มีนะ ไม่ใช่ว่าไม่มีเลย แต่คงต้องอาศัยเวลา และการทำชื่อเสียงในต่างประเทศก่อนด้วย ถ้าจะให้รวดเร็วทันใจ มันก็เหมือนเดิมครับ อยู่ที่รัฐบาลว่าจะเอาจริงแค่ไหน"


อนาคตของดีไซเนอร์ไทยในวันหน้า ดูแล้วอาจต้องแข่งขัน กันมากขึ้น ความคาดหวังที่อยากให้วงการแฟชั่นไทยพัฒนาขึ้นได้ พี่รองบอกว่า แค่ทำมีคนสนับสนุนอย่างจริงจังก็พอแล้ว

"ผมอยากให้มีการสนับสนุนอย่างจริงจังเสียทีนะ จะได้พัฒนามากขึ้น ไม่ใช่ทำแบบลวกๆ เพราะแฟชั่นมันเป็นเรื่องของการสร้างภาพลักษณ์ เป็นเรื่องเฟค แต่มันต้องมีคุณภาพ และมีภาพลักษณ์ที่ดีด้วย"

วันนี้อนาคตของดีไซเนอร์รุ่นใหม่ อาจจะยังมองไม่เห็นภาพที่สมบูรณ์เสียทีเดียว แต่สำหรับดีไซเนอร์หนุ่มมากประสบการณ์อย่างจิตต์สิงห์ เขายังคงทำในสิ่งที่เขารัก นั่นก็คือแฟชั่นนั่นเอง

"เรื่องแฟชั่น ลองมองย้อนไปจริงๆ ผมชอบตั้งแต่เด็กแล้วนะ สมัยก่อนแม่ชอบจับผมพี่ชาย และน้องชายแต่งตัวเหมือนกันเวลาออกไปเที่ยว แต่ผมไม่ชอบ ไม่อยากแต่งตัวเหมือนใครสมัยเรียนผมก็ไว้ผมยาวถึงกลางหลังเลย เพิ่งจะมาตัดเอง แต่ไม่ได้ประหลาดนะ แค่รู้สึกว่าชอบแต่งตัว ตอนนี้อาจมีคนคิดก็ได้ว่าแก่ป่านนี้แล้ว ยังแต่งตัวเป็นวัยรุ่น (หัวเราะ) และผมก็เชื่อว่าทุกคนชอบ เพราะแฟชั่นมาช่วยชะล้างกิเลสตัวเอง มันตอบสนองไลฟ์สไตล์ครับมันถึงเป็นเรื่องฟุ่มเฟือยไง แต่ตัวผมยังแคร์เรื่องความเป็นไทยนะ พยายามมองให้เป็นเรื่องท้าทาย น่าทดลอง เลยทำกางเกง Boxer shot ลายมวยไทย เพราะผมชอบต่อยมวยไทย ชอบใส่ด้วย เลยลองทำ ดู "

แฟชั่น การแต่งตัว คือสิ่งหนึ่งที่อยู่คู่กับจิตต์สิงห์ สมบุญ ในทุกๆ วันที่เขาทำงาน ในทุกๆ ขั้นตอนของการออกแบบเสื้อผ้าแต่ละคอลเลกชั่น ยังคงเกิดจากการทดลองสนุกๆ การได้ไปเห็นผู้คนเพื่อสร้างไอเดียใหม่ๆ ซึ่งSpring/Summer ในปีนี้ ที่เขาได้สร้างสรรค์ผลงานออกมา โดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากศิลปินที่เขาชื่นชอบ

"ทุกอาทิตย์ผมชอบไปที่จตุจักร หาไอเดียใหม่ๆ อยู่ตลอด แต่ก่อนก็มีที่ตลาดนัดกลางคืนที่รัชดาด้วย แต่ที่จตุจักรมันมีการเปลี่ยนแปลงลื่นไหลในเรื่องแฟชั่นที่ใหญ่ที่สุด ส่วนผลงานในช่วง Spring/Summer 2011 คงเป็นการเล่นสนุกเกี่ยวกับการเอาศิลปินคนนึงมาเป็นแรงบันดาลใจครับ เขาชื่อบาเกียร์ ผมจะดึงคาแรกเตอร์ของเขามาดัดแปลงบางส่วน ลงในเสื้อผ้า ศิลปินคนนี้เขาชอบเขียนตัวสัญลักษณ์เป็นหน้าตัวเอง ผมเลยเอาหน้าเขามาแต่ละส่วนมาทำเป็นลายเสื้อ"





การเป็นดีไซเนอร์ในแบบของจิตต์สิงห์ เวลาส่วนใหญ่จึงอยู่แต่กับการออกแบบ และใช้ความคิดสร้างสรรค์อยู่ตลอด เวลาว่างของเขา ส่วนใหญ่จึงเน้นไปที่เรื่องการดูแลสุขภาพ และพักผ่อนกับการดูหนัง

"อย่างที่บอกว่าทุกอาทิตย์ผมชอบไปจตุจักรก็เหมือนเป็นการพักผ่อนอยู่แล้ว แต่ถ้ามีเวลามากกว่านั้นก็จะไปดูหนังบ้าง ดูงานศิลปะที่หอศิลป์และไปต่อยมวยไทยที่ยิมบ้าง ซึ่งทั้งหมดมันเป็นสิ่งที่ผมชอบ เป็นไลฟ์สไตล์ส่วนตัว พอเวลาได้เห็น หรือเจอเทคนิคอะไรที่น่าสนใจ บางทีก็หยิบเอาไอเดียมาใส่ที่เสื้อผ้าด้วย

จากประสบการณ์ในฐานะของดีไซเนอร์ 20 กว่าปี วันนี้ของจิตต์สิงห์ ทุกคนอาจเห็นภาพที่ชัดเจนอยู่แล้ว ซึ่งเจ้าตัวนั้นบอกว่า อีก 10 ปีข้างหน้าอยากทำตามสิ่งที่ตัวเองฝันให้ได้อีกอย่าง ก็คือการแสดงงานศิลปะ ที่เขาชอบทำ และถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาก้าวมาสู่การเป็นดีไซเนอร์อันดับต้นๆของเมืองไทย

"อีก 10 ปีข้างหน้า ผมอายุ 58 ปีแล้วนะ ก็ยังไม่รู้ว่าจะเป็นดีไซเนอร์ต่อไหม แต่คิดไว้ว่าอยากทำงานศิลปะไปแสดงที่ต่างประเทศ เป็นความฝันของผมเลยนะ คนอื่นอาจมองว่าอายุป่านนี้แล้วยังมีความฝันเป็นเด็กๆ ดูเป็นเรื่องขำๆ แต่สำหรับตัวผมเอง ถ้ามีโอกาส ก็คงต้องเดินตามสิ่งที่อยากทำให้ได้".



โดย: ทีมข่าวไลฟ์สไตล์
ที่มา: ไทยรัฐ / 15 มกราคม 2554

Views: 771

Reply to This

© 2009-2024   PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service