หนัง เล็ก ติด เรต ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์


ภาพนิ่งจากผลงานหนังสั้นเรื่อง I'm Fine สบายดีค่ะ
...................................

หลังพรบ.ภาพยนตร์ฯ ให้มีการกำหนดเรตได้ไม่นาน หนังไทยของเขา(หรือเธอ) ก็ได้ติดเรต"ห"(ห้ามฉาย)ทันที เธอบอกว่านี่คือประชาธิปไตยไทยๆอีกหน้าหนึ่ง

วงการหนังไทย ได้ดีใจในเสี้ยววินาที เมื่อมีการบังคับใช้ พระราชบัญญัติภาพยนตร์และสื่อวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 เริ่มเมื่อเดือนสิงหาคมปี 2552 เป็นต้นมา ซึ่งพรบ.ฯ ฉบับนี้ ได้แก้จุดบกพร่องของพรบ.ฯ ฉบับเก่าคร่ำครึจากปี พ.ศ.2473 ที่ระบุให้มีการกำหนด “เรต” สำหรับภาพยนตร์ทุกเรื่องที่จะเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ประเทศไทย ซึ่งแบ่งตาม “ความเหมาะสม” ต่อวุฒิภาวะการรับชม โดยใช้อายุผู้ชมเป็นเกณฑ์ แต่เพียงหนึ่งปีผ่านไป หนังไทยอย่าง "Insects in the Backyard" ของผู้กำกับอิสระ ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ ที่เป็นผลงานสร้างของบริษัทหนังอิสระ(อินดี้) อย่าง ป๊อป พิคเจอร์ส ก็โดนลงดาบ ติดเรต "ห" ห้ามฉายในราชอาณาจักรไทย

ด้วยเหตุผลที่ทางคณะกรรมการพิจารณาจัดเรตเห็นว่า เนื้อหาไม่เหมาะสม ล่อแหลมต่อศีลธรรมอันดีงามของไทย กับหนังที่เล่าถึง ชีวิตพี่น้องคู่หนึ่ง ที่มีพ่อเป็นชายแต่งหญิง ความรู้สึกสับสนเกลียดชังที่ลูกมีต่อพ่อ และการออกนอกบ้านไปเป็นโสเภณี โดยที่หนึ่งในคำอธิบายว่าหนังไม่เหมาะสมให้คนไทยได้ชม เพราะมีบางตอนที่สะท้อนความคิดที่ลูกอยากจะฆ่าพ่อ

แม้ทางผู้สร้างหนัง ซึ่งสร้างโดยไม่มีนายทุนค่ายหนังใหญ่ๆ ในเมืองไทยหนุนหลัง จะยื่นข้อเสนอขอฉาย โดยมีเงื่อนไขให้เฉพาะผู้ชมวัย 20 ปีขึ้นไป เข้าชมเท่านั้นก็ตาม

ธัญญ์วาริน หรือ กอล์ฟ ที่ค้นพบเครื่องมือสื่อสาร และหนทางในการแสดงออก ความคิดความเห็นความรู้สึก ผ่านศิลปะภาพยนตร์ และมีผลงานหนังสั้นมาแล้วหลายเรื่อง รวมถึง "I'm Fine. สบายดีค่ะ" ในปี 2551 ที่คว้ารางวัลรัตน์ เปสตันยี จากการประกวดภาพยนตร์สั้นไทยครั้งที่ 12 และในช่วงเวลาที่ต้องต่อสู้อุทธรณ์ และรอให้คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติได้พิจารณาหนัง Insects in the Backyard อีกครั้ง ว่าจะอนุญาตให้ฉายได้หรือไม่

ผู้กำกับวัย 37 ที่มีคำนำหน้าในบัตรประชาชนเป็น "นาย" แต่โฉมหน้าสวยงามในภาค "หญิง" เปิดปากเล่าความคิดความเห็นของเธอ ทั้งเรื่องการทำหนัง และ ชีวิตในสังคมที่เธอเชื่อว่า ยังไม่ยอมรับความหลากหลายอย่างแท้จริง


จากปัญหาที่กำลังต่อสู้กันอยู่ มีประเด็นเรื่องความรับผิดชอบของคนทำหนังต่อสังคม ตรงนี้คุณคิดว่าอย่างไร

เรารับผิดชอบอยู่แล้ว และหนัง Insects in the Backyard ก็ไม่ใช่หนังโป๊ ถ้าจะทำหนังโป๊ก็ทำขายทางเวบได้เงินเยอะ ตำรวจไม่จับด้วย ประเทศไทยมีให้เห็นกันเกลื่อน แต่หนังที่ทำเราทำด้วยคุณภาพและอยากให้มันฉายโรง การรับผิดชอบของเราคือ (1)เราเสนอประเด็น(ชีวิต)ทางสังคมที่มันจริงจัง และ (2) เรากำหนดเรตติ้งของเราอยู่แล้วว่าเป็น ฉ 20 เพราะหนังเราเหมาะกับคนที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไป หมายความว่าคนอายุวัยนี้ควร "มีสิทธิ" ที่จะได้ดู และเราก็รู้ว่าหนังเราฉายในวงแคบ จะฉายโรงเดียว วันละรอบ แค่นี้เรารับผิดชอบพอไหม เราขอฉายแค่นี้ ทำไมถึงเห็นหนังเราเป็น ผู้ก่อการร้ายเป็นอาชญากร เหมือนเราเป็นคนทำลายประเทศชาติบ้านเมือง ทั้งที่คนทำลายบ้านเมืองจริงๆ ก็ลอยหน้ากันอยู่เห็นๆ

ขนาดเราจะจัดฉายเสวนา (ในวันที่ 10 ธ.ค.) เพื่อเป็นการศึกษา เรายังถูกสั่งห้ามเลย เราคิดว่าผู้มีอำนาจคิดแต่จะใช้อำนาจที่มีโดยไม่มองเหตุผลอะไรเลย ตรงนี้ต่างหากที่คนไม่รับผิดชอบในหน้าที่ของเขา เราบอกว่าหนังเราวาง position ไว้แล้ว เขาไม่มีสิทธิจะคิดแทนประชาชนที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไป ลิดรอนสิทธิในการเข้าถึงสื่อ ไม่ได้ คนวัยนี้ไปเลือกตั้งได้แล้ว แค่จะเลือกชมหนัง 1 เรื่องแล้วตัดสินว่ามันดีไม่ดีด้วยตัวเองได้เลยหรือ ต้องให้กรรมการ 7 คนนี้มาคิดแทน

เพราะมีเรื่องเกย์ กะเทย และประเด็นว่ามีการเกลียดพ่อ ?

คนทุกคนในสังคมนี้รู้ว่ามีเกย์ มีกะเทย แต่พอในหนังเรื่องนี้ยอมรับไม่ได้ เราพยายามทำให้เห็นว่าเกย์ กะเทย ความหลากหลายทางเพศ มันมีอยู่เป็นชีวิตปกติ ซึ่งเขาไม่ยอมรับ (คนในคณะอนุกรรมการ) บอกเราเองเลยนะ ว่าทำไมไม่ทำให้มันเป็นหนังแบบ "สตรีเหล็ก" หนังแบบ positive impact ซึ่งเราก็ตอบว่าไม่ได้หรอก หนังเราอยากพูดถึงสังคม ปัญหาสังคม มันเป็น negative impact เพื่อจะได้ให้คนหันมาตั้งคำถามกับมันไง

ในหนังไทยหนังอย่าง "เสียดาย" ของท่านมุ้ย ก็เสนอปัญหาสังคมเหมือนกัน หนังเราพูดเรื่องปัญหาเพศสภาพชัดๆ เลยแหละ ตัวละครพ่อที่ไม่ใช่เพศสภาพที่สังคมกำหนดไว้เนี่ย ตัวลูกก็มีปัญหาและเผชิญกับมันยังไง และในหนังมีเรื่องเด็กไปขายตัว กรรมการก็บอกว่า ผิดศีลธรรมอันดี ทั้งที่ความจริงมันมีอยู่ เราก็ตั้งคำถามว่า แล้วหนังรุนแรงฆ่าคนตายน่ะ ผิดศีลธรรมไหม ทำไมยังฉายได้ เรต 18 อีกต่างหาก แต่หนังเราขอเรต 20 ปีขึ้นไปจึงจะดูได้ ทำไมไม่ให้ฉาย ทั้งๆที่วัด level ความผิดศีลธรรมแล้ว การขายตัวมันผิดน้อยกว่าฆ่าคนตายอีก เขาว่าเราอีกว่า หนังฆ่ากันน่ะ เป็นการเซ็ตฉากขึ้นมา อ้าว หนังเราก็เป็นหนังนะ เป็นเรื่องที่เราแต่งขึ้นมา และเป็นจินตนาการของผู้สร้างออกมา ที่สะท้อนความจริงของสังคม ณ เวลานั้นออกมานะ

คุณมีมุมมองทางสังคม ทำไมเลือกใช้สื่อ “หนัง” ในการแสดงออก

เมื่อก่อนทำหลายอย่าง ละครเวที ละครโทรทัศน์บ้าง แต่สิ่งที่ใช่ที่สุดสำหรับเรา ปรากฏว่าเป็น หนัง ศิลปะภาพยนตร์นี่แหละ สามารถรับใช้สิ่งที่เราจะพูดได้มากที่สุด เราเขียนหนังสือไม่เก่ง การที่คนเห็นภาพยนตร์เล่าด้วยภาพ เขาเข้าใจเราได้

เราสามารถถ่ายทอดสิ่งที่เราคิด และรู้สึกภายใน 3 นาทีได้เลย แบบหนังสั้นที่กอล์ฟทำ (เรื่อง I’m Fine สบายดีค่ะ) ภาพกอล์ฟ(แสดงเอง)ใส่ชุดไทยนั่งอยู่ในกรง ฉากหลังเป็นอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย แค่นี้มันก็บอกได้แล้วว่าเรากำลังพูดถึงอะไร และเทียบกับการไปนั่งพูดเราเป็นใครไม่รู้ ไม่มีใครอยากฟัง ไม่สามารถแสดงความคิดเห็นในสิ่งที่เราอยากพูดได้ จะโทรไปบอกกับนสพ.จะไปเคาะประตูทีวีให้มาสัมภาษณ์ก็ไม่ได้ จะไปยืนพูดกลางห้าง ก็เดี๋ยวมีคนบอกว่าบ้า แต่พอกอล์ฟทำหนังออกมา มันส่งออกไปไกลๆ ได้ และคนก็ได้เห็น ว่าเราคิดอะไร เลยไม่ต้องมาเจอตัว เขาแค่ดูหนังของเรา เขาก็รับรู้ได้ หนังก็เลยเป็นอวัยวะหนึ่งของเราในการ”แสดงออก” จากนั้นหนังมันทำหน้าที่ของมัน ไม่ใช่แค่บันเทิง แต่มันทำให้คนดูได้คิด

การดูหนังมันเหมือนการทำความรู้จักกับคนๆ หนึ่ง ตัวกอล์ฟเองก็ชอบมาก เวลาได้ไปดูหนังในเทศกาลต่างประเทศ เพราะมันได้เห็นได้รู้จักคนอื่นๆ โลกอื่นๆ ความคิดแบบอื่น ได้รู้ว่า โลกนี้ไม่ได้มีแค่เรา และมันก็อยู่ร่วมกับคนอื่น และคนอื่นก็คิดไม่เหมือนเราหรอก แต่มันก็ไม่ได้แปลว่าผิด

แรกเริ่มเลย อะไรที่จุดประกายให้หยิบกล้องขึ้นมาทำหนัง

สิ่งที่จุดประกายตอนนั้นเลย คือ ความสิ้นหวัง กอล์ฟเป็นคนชอบแสดงออก เล่นละครเวที เล่นละครโทรทัศน์บ้าง และตอนนั้นสอนภาษาอังกฤษที่วิทยาลัยเทคนิค โคราช แต่มันไม่ใช่สิ่งที่เรารัก เราอยากแสดงออก แต่เรายังไม่ค่อยกล้าแสดงออกในตอนนั้น และการที่เราได้สวมบทบาทสร้างตัวตนในการแสดง เราพบว่าเราชอบ ซึ่งนั่นคือเสน่ห์ของการแสดง ตอนช่วงเป็นอาจารย์ เราไม่ได้แสดงออกอยู่หลายปี กลายเป็นความเก็บกด พอเราไปเจองานประกวดหนังสั้นของมูลนิธิหนังไทย เราก็เลยลองทำหนังสั้นดู ซึ่งเราไม่รู้หรอกว่าหนังสั้นมันคืออะไรกันแน่ เพราะไม่ได้เรียนภาพยนตร์มา เราเรียนจบด้านภาษามาจากม.ขอนแก่น

แต่เราก็คิดว่า เอ๊ะ หนังมันอาจจะทำให้เราสื่อสารอะไร เพราะตอนนั้นเรามีเรื่องเยอะ มี source เยอะ จุกอกจนแทบระเบิด ก็เลยลองทำหนังสั้นดู รู้แต่ว่าต้องเอากล้องมาบันทึกภาพ และคิดว่าการเล่าเรื่องก็คงไม่ต่างจากละครเวทีที่เราได้ทำ ไม่ต่างจากบทที่เคยเขียน แค่เอากล้องมาจับภาพไว้เท่านั้น ส่วน(เทคนิค)อื่นๆ ก็ใช้ sense ว่าจะมุมภาพแคบ ภาพกว้าง จะสื่ออะไรยังไง ถ่ายอะไร

และสิ่งที่ทำให้เรารู้ว่า (หนัง)มันใช่สิ่ง fulfill เราได้แน่ๆ คือตอนที่เห็นมันฉายให้คนดู คิดว่าอืม ฉันมาถูกทางแล้ว

ชีวิตคนทำหนังอิสระ เป็นอินดี้ มันมีต้นทุน เราต้องดิ้นรนเอง แต่มันเป็นสิ่งที่เราพอใจ หรือเปล่า

หนังอินดี้มันมี cost เท่ากับหนังใหญ่นั่นแหละ แต่ชีวิตการงานของกอล์ฟตอนนี้ ไม่เหนื่อย เพราะจุดมุ่งหมายชีวิตเราตอนนี้คือ ได้ทำหนัง ได้ทำในสิ่งที่เราคิด เพราะฉะนั้นการกระทำใดๆ ที่ให้ได้มาในสิ่งนี้ เราก็ไม่เหนื่อย ถ้าเหนื่อยเราจะเลิก

อันนี้รวมถึงงานทุกอย่างที่กอล์ฟทำอยู่นะ ไม่ว่าจะเป็น ช่างแต่งหน้า แอ็คติ้งโค้ช ทำละครทีวี ทำหนังตลาด เราทำงานที่เราหาเงินได้และสนุกไปกับมัน แล้วก็เอาเงินที่มาจากงานเหล่านั้นมาทำหนังของเราเอง เราบาลานซ์ชีวิตแบบนี้ เราไม่ได้ทุกข์ และไม่ได้ติด(กรอบ)ว่าเราต้องเป็นผู้กำกับหนังอย่างเดียวด้วย

ในความเป็นจริงมันอยู่ได้จริงไหม

บางคนอาจติว่า คนทำหนังอินดี้ทำไมต้องไปทำหนังตลาด ขายวิญญาณ อะไรแบบนั้น แต่เราไม่คิดแบบนั้น เพราะกอล์ฟพูดเสมอว่า คนเราอย่าไปตีกรอบตัวเอง ถ้าเราตีกรอบเรานั่นแหละจะทุกข์ และลำบาก

เราไม่ได้ขายวิญญาณให้ใครอยู่แล้ว เราชัดเจนในตัวเองอยู่แล้ว ฉันทำหนังตลาดได้ ฉันทำหนังอินดี้ของฉันได้ ทำไมต้องตีกรอบ เป็นอินดี้แล้วไม่ต้องทำมาหากินเหรอ? ถ้าไม่ได้เงินซัพพอร์ตจากต่างประเทศแล้วจะทำไง ไม่ต้องทำหนังใช่ไหม ไม่ใช่ กอล์ฟทำมาหากิน และชอบด้วยสนุกด้วยกับการทำหนังตลาด

เราเข้าใจว่างานที่รับจ้างเขามา คนลงทุนเขาอยากได้อะไร เราก็ทำให้ตามนั้น ไม่ว่าจะเป็นละครทีวี เป็นหนังใหญ่ แค่ตอบโจทย์เขาสิ และเอาโจทย์นั้นมาท้าทายความคิดของเราเอง ว่าเราจะทำให้มันสนุก มันมีคุณภาพยังไงสิ อย่าไปตีกรอบ

แต่ถ้าเป็นเรื่องของเรา ที่เราอยากทำเอง เราก็ยอมที่จะหาเงินเอง เรารู้อยู่แล้วว่าหนังเรื่องนี้ไม่ฉายในวงกว้างหรอก แต่ขอได้ฉาย มันมีคนดูกลุ่มเล็กๆ มันต้องมีอยู่แล้ว

คุณกอล์ฟคิดว่า พื้นฐานสำคัญของ “คนทำหนัง” คืออะไร

ความกล้า เพราะไม่งั้นคุณก็ไม่ได้พัฒนาอะไรเลย มันเป็นสื่อผสมกับงานศิลปะ เวลาสองชั่วโมงที่คนมานั่งดูหนัง มันน่าจะได้อะไรมากกว่าความบันเทิง มันสนุกได้ แต่เนื้อใน คุณต้องกล้าที่แสดงออกถึงวิสัยทัศน์ที่ก้าวหน้า และพูดถึงสิ่งที่สังคมเป็น และมีข้อเสนอให้คนมองทางที่จะช่วยกันแก้ไขได้

หนังของคุณเอง ก็เสนอปัญหา มีขมวดปม และทางออก แต่โดนคณะกรรมการจัดเรตมองว่า มันไม่ใช่?

กรรมการดูรู้เรื่อง รู้ว่าหนังเล่าอะไร แต่เขาไม่เข้าใจ ว่าเราพูดถึงอะไร และมาบอกเราว่า ตอนจบหนังของเราไม่คลี่คลาย กอล์ฟก็บอกว่า ตอนจบมันเป็นเรื่องของคนดูว่าเขาจะลุกขึ้นมาทำอะไร กับปัญหาที่เห็น(ในหนัง) ซึ่งหนังกอล์ฟก็พูดชัดเจนว่า ปัญหามันก็มาจากความไม่เคารพในความแตกต่างนั่นแหละ มันง่ายมาก เราเคยฉายใน(เทศกาล)เวิลด์ฟิล์ม คนดูก็เข้าใจ มีแต่กรรมการนี่แหละไม่เข้าใจ

มีการพูดถึง ความรับผิดชอบของคนทำหนัง ต่อการสื่อภาพหรือเรื่องราวกับคนดู ?

เรารับผิดชอบอยู่แล้ว เราบอกไว้ตั้งแต่แรกว่า หนังเราเหมาะกับคนอายุ 20 ปีขึ้นไปนะ คนดูผู้ใหญ่แล้ว คนที่มีสิทธิไปเลือกตั้งผู้แทนของตัวเองได้แล้ว แต่ก็ยังโดนแบน(ห้ามฉาย)อยู่ดี เราก็ไม่เข้าใจในมาตรฐานศีลธรรมของเขา มันกลายเป็นว่า ใครมีอำนาจ คนนั้นก็เป็นคนตัดสิน

เห็นในสื่อระบุคำต่อท้ายคุณไว้ว่าเป็น “ผู้กำกับเพศที่สาม” คุณมองเรื่องนี้อย่างไร

ภาพของกะเทยในประเทศไทยคือ ไม่สมหวัง ตลกโปกฮา ไม่มีชีวิตจริง

คำว่าไม่มีชีวิตจริง หมายความว่าอย่างไร

หมายถึง ไม่เป็นมนุษย์ แต่เป็นแค่สีสัน ต้องตลก เป็นตัวประหลาด ไม่ได้มีชีวิตปกติ กอล์ฟไม่ได้เรียกร้องสิทธิเกย์ กะเทยอะไรนะ เพราะการเรียกร้องแปลว่าเราไม่เท่าเทียม ซึ่งกอล์ฟไม่ยอมรับตรงนั้น กอล์ฟรู้สึกว่าฉันก็เป็นคนเท่าๆ กับคนอื่น ไม่ได้ผิดหวัง หรือ สุข ทุกข์ มากกว่าคนอื่น คือทุกคน ผู้หญิง ผู้ชาย กะเทย ก็มีอกหัก มีปัญหาการงาน เหมือนกัน ปัญหาพ่อแม่ แม้แต่ในกลุ่มเกย์กะเทยกอล์ฟก็บอกว่าอย่าไปตีกรอบให้ตัวเอง

มีคนมาถามเยอะมาก อยากให้เรียกว่าอะไร แต่กอล์ฟไม่ได้สนใจว่าใครจะเรียกว่าอะไร เพราะกอล์ฟรู้ว่าตัวเองว่าเป็นอะไร คำเรียกมันขึ้นอยู่กับสังคมบัญญัติ กลุ่มนี้อาจจะเรียกเราว่าตุ๊ด กะเทย สาวประเภทสอง

กอล์ฟเป็นมนุษย์คนหนึ่ง และไม่อยากเอากรอบคำนำหน้า ชาย หญิง นาย นาง สาวประเภท มาแบ่งประเภทคน ทำอย่างนั้นทำไม แค่รู้ว่า คุณเป็นมนุษย์หรือเปล่า ก็พอแล้ว

ฝรั่งก็ถูกตีกรอบมาเหมือนกัน ถามว่าจะให้เรียกว่า he/she หรืออะไร กอล์ฟตอบว่า up to you. ถ้าจะเรียก I ว่า it ก็โอเค เพราะมันก็สะท้อนสิ่งที่ you คิด เราไม่สนเรื่องคำนำหน้าชื่ออยู่แล้ว

คิดว่า การเป็นเพศที่สาม มีส่วนต่อความคิดของคณะกรรมการพิจารณาจัดเรตด้วยหรือเปล่า

(พยักหน้า) คนที่ทำงานกระทรวงวัฒนธรรม ควรจะถามตัวเองว่าเข้าใจไหมว่าวัฒนธรรมคืออะไร ทุกวันนี้คนที่ทำวธ.ยังเข้าใจว่า วัฒนธรรมคือ วัฒนธรรมประเพณีไทย เขาไม่เข้าใจว่าวัฒนธรรมคือชีวิตความเป็นอยู่ของเรานี่แหละ เด็กแว้น ก็เป็นวัฒนธรรม ความหลากหลายทางเพศก็เป็นวัฒนธรรม วธ.เข้าใจอะไรผิดไปเยอะมาก ยังมาส่งเสริมวัฒนธรรมไทย เฉพาะแค่ “นายขนมต้ม” หรือว่า “สี่แผ่นดิน” แค่นั้น ถ้าจะมาทำงานกระทรวงฯนี้น่าจะเข้าใจวัฒนธรรมให้ได้ก่อน หรือ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (ผู้รับผิดชอบพิจารณาจัดเรต) น่าจะเปลี่ยนตัวเองให้กรมเข้าใจวัฒนธรรมก่อนไหม แล้วค่อยมาทำงานส่งเสริม

และควรเข้าใจด้วยว่า คำว่า “ส่งเสริม” กับ “ควบคุม” มันมีความหมายต่างกันนะ และรู้ไหมว่า การที่มีเซนเซอร์นี่ล่ะ มันคือการควบคุม ไม่ใช่ส่งเสริมเลย ไม่งั้นเปลี่ยนชื่อไปเลย เป็น “กรมควบคุมและดูแลวัฒนธรรม” ไหม

แม้พรบ.ฯฉบับปี 51 ที่บอกว่าจะแบ่งเรต ยกเลิกเซนเซอร์ ก็ยังมีควบคุม แบบห้ามฉายเด็ดขาดอยู่?

ใช่ กอล์ฟว่ามันถอยหลังล้าหลังกว่าฉบับเก่าที่มีเซนเซอร์อีก เพราะอันเก่ายังบอกชัดเจนว่าจะเซนเซอร์ ไม่ต้องมาสับขาหลอกแบบฉบับใหม่

กรรมการจัดเรตอาจจะคาดหวังให้หนังมีคำตอบทุกอย่าง คลี่คลาย?

เขาไม่ได้คาดหวังหรอก เขาแค่คาดหวังให้หนังเป็นบันเทิงล้างสมองคนไป เขาพูดเรื่องศีลธรรมมาเป็นกุศโลบาย เพื่อควบคุมคนในสังคมเท่านั้น ไม่อยากให้คนรู้จักคิดเอง เขาจะส่งเสริมหนังบันเทิงที่ทำให้คนลืมคิดถึงปัญหา เขาจะได้ปกครองได้ง่าย ไม่กระด้างกระเดื่อง อย่ามาคิดต่าง จริงๆ เราทำหนังเล็กแค่อยากฉาย เรายอมรับความคิดเห็นคนอื่นว่า ถ้าไม่ชอบหนังเราเลย หนังเราเหี้ยมาก ก็ว่าได้ ทีนี้พอมีปัญหาแบบนี้เราก็เหนื่อยนะ ไม่อยากมีเรื่อง แต่ก็คิดว่าจะได้เป็น case study

คิดว่าถ้าหนังได้รางวัลอย่าง ปาล์มทองจะช่วยให้ง่ายขึ้นไหม?

กอล์ฟคิดว่า ช่วยนะ ต่อให้กรรมการดูหนังรู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง แต่มีรางวัล(ใหญ่) การันตี ก็เอาไปเลย เรต น+15 การมีต่างประเทศยอมรับมาก่อนว่าหนังดี นั่นแหละไทยถึงจะยอมรับได้

คุณเองทำงานอบรมหนังสั้นกับเด็กเยาวชน มองพวกเขาว่ายังไง เพราะทุกครั้งที่มีถกเถียงเรื่องแบบนี้จะอ้างการปกป้องเด็ก

ผู้ใหญ่ไม่เข้าใจ การมีอะไร ควบคุม แล้วอ้างว่าทำเพื่อเด็ก ไม่ใช่ทางออกหรอก ยิ่งห้ามเด็กดูหนังโป๊เขายิ่งอยากดู ทำไมไม่หาวิธีที่ทำให้เขาดูมันอย่างเข้าใจ ปัญหาเด็กทุกวันนี้คือการปิดกั้น เด็กก็ไปทดลองแบบผิดๆ แอบทำ เกิดการเรียนรู้ที่ผิด ผู้ใหญ่สมัยนี้ควรจะเปิดโอกาสให้เด็กรู้และสอดแทรก(สิ่งที่ดี)เข้าไป อย่าลืมว่า ยิ่งปิดกั้นยิ่งท้าทาย เรื่องเทคโนโลยีน่ะ เด็กรู้มากกว่าผู้ใหญ่ เขาสามารถเข้าถึงข้อมูลทั่วโลกได้อย่างรวดเร็ว และเขาเองก็มีวิธีการที่จะอยู่กับโลกแบบนี้นะ ผู้ใหญ่เองต่างหากที่ยังปรับตัวเข้ากับโลกยุคนี้ไม่ได้

.................................................


เกี่ยวกับ หนังและธัญญ์วารินทร์

นอกจากงานหนังอิสระ ธัญญ์วารินทร์ ยังทำงานหลากหลายในวงการบันเทิง รวมถึงงานแสดงในละครทีวีเรื่อง “ชายไม่จริงหญิงแท้” “ยอดยาหยี” และงานล่าสุด กำกับละครเรื่อง "มนตร์รักแซ่บอีหลี" ทางช่อง 3 งานเขียนบทหนัง "ตายโหง" และ งานแอ็คติ้งโค้ชนักแสดงเรื่อง เขาชนไก่ และอสุจ๊าก เป็นต้น ส่วนความหวังที่จะได้ฉาย Insects in the Backyard ซึ่งเดิมกำหนดฉายเพียงโรงเดียว ณ โรงเอสเอฟ เวิลด์ ซีเนม่า ในโครงการ Independent Spirit Project#2 จัดโดยนิตยสารไบโอสโคป ยังต้องลุ้นกันต่อในสัปดาห์นี้

.......................................


โดย: ทศพร กลิ่นหอม
ที่มา: bangkokbiznews.com / 21 ธันวาคม 2553

Views: 469

Reply to This

Replies to This Discussion

อ่านแล้วเจ็บแทนเลยครับ

 

RSS

© 2009-2024   PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service