มอง 'ไม้' เห็นชีวิต "ไสยาสน์ เสมาเงิน"


"ไม้ก็เหมือนลูก" วาทะคุ้นหู บ่งบอกความรักใน 'งานช่างไม้' ของ ไสยาสน์ เสมาเงิน ศิลปินศิลปาธรกิตติคุณ สาขาออกแบบเชิงสร้างสรรค์ ประจำปี 2551 เจ้าของฉายา 'กูรูไม้' หนึ่งเดียวในเมืองไทย

จากจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ดั้นด้นเข้ากรุงเทพฯ มาร่ำเรียนในสาขา 'ช่างไม้ก่อสร้าง' ก่อนเดินทางศึกษาและแลกเปลี่ยนงานช่างไม้ในไทย รวมไปถึงงานไม้ในลาว กัมพูชา พม่า และมาเลเซีย จนถึงการออกเดินทางไกลสู่ตะวันออกกลาง กลั่นกรองประสบการณ์ที่สั่งสม สร้างสรรค์เป็นผลงานไม้สาย 'เฟอร์นิเจอร์' ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวในนาม 'Saiyart's Collection' จนกระทั่งผลึกความคิดตกตะกอนก่อนก้าวสู่การสร้างสรรค์ผลงานไม้ในฐานะ 'งานศิลปะร่วมสมัย'

•ทราบว่าอาจารย์เป็นคนอยุธยาแล้วเข้ามาเรียนที่อุเทนถวาย ตอนที่เรียนสนใจงานไม้หรือยัง

ที่อุเทนถวายเรียนงานช่างไม้ก่อสร้าง เรียนเขียนแบบก่อสร้าง มันเป็นวิชาสายอาชีพ วิชาศิลปะยังไม่เคยเรียน แต่เราก็ค้นคว้าหาความรู้

มีฝรั่งมาถามว่ายูจบมหาวิทยาลัยไหน ในประเทศหรือนอกประเทศ เมเจอร์อะไร อาจารย์อะไร ผมก็บอกว่าผมจบอุเทนถวาย ผมไม่อายใคร ผมถามว่าไมเคิลแอนเจลโลจบมหาวิทยาลัยไหน แวนโก๊ะจบมหาวิทยาลัยไหน มันเกิดขึ้นมาเองโดยธรรมชาติ อยู่ที่เราเสาะแสวงหา จบอะไรไม่สำคัญ อยู่ที่ว่าเราสร้างสรรค์อะไรขึ้นมา

ทุกคนที่ทำงานศิลปะเป็นครูผมหมด เพราะผมเอาความรู้สึกนึกคิดเท่าที่เห็นในผลงานของเขามาคิดว่า...สักวันหนึ่งผมจะทำให้ได้ แล้วก็ลงมือทำงาน

ผมเคยนั่งคุยกับอาจารย์ถวัลย์ ดัชนี ซึ่งโอโห้..ใหญ่คับฟ้าเลยนะ อาจารย์ถวัลย์เคยพูดกับผมว่าเขาไม่เคยเชื่อถือใครเลย แต่เขาเชื่อถือผม เพราะว่าผมเป็นคนเอเชียที่ทำงานบ่งบอกถึงความเป็นเอเชีย

•ช่วงปี 1971-1980 อาจารย์เดินทางศึกษางานไม้ในประเทศเพื่อนบ้าน คิดอย่างไรถึงออกเดินทางไป

พูดตรงๆ ไม่ดัดจริตเลยคือตอนนั้นตกงาน ตกงานแล้วเอาเงินจากไหนมา ก็มีเงินพอเก็บบ้างแล้วเราก็ไม่ได้มีห่วงอะไร เราก็เดินทางเล่นไปเรื่อย อย่างที่เขมรผมเคยไปสอนเขาทำเก้าอี้ พูดกันก็ไม่รู้เรื่อง เขาก็เอาไม้มากองไว้ให้เต็มเลย แล้วก็ตัดไม้กัน ตอกตะปูกันปังๆ

•เลยไปจนถึงตะวันออกกลาง

อย่างที่บอก...ตกงาน เคยมีคนมาสัมภาษณ์ว่ามาทำงานไม้ได้ยังไง แรงบันดาลใจคืออะไร ผมก็บอกว่าไม่มีจะกินไงก็เลยทำ

ผมดิ้นรนมากนะ ผมไปซาอุฯ ไปอยู่การ์ต้า ไปอยู่บาเรนห์ ไปเป็นเหมือนขี้ข้าเขา แดดก็ร้อนอยู่ทะเลทราย ตื่นขึ้นมาต้องเอาเท้ายันประตูไว้เพราะพายุทะเลทรายเข้า

ผมเคยไปอยู่บริษัทก่อสร้างที่ต่างประเทศเป็นรุ่นบุกเบิก แล้วก็อีกพวกไปทีหลัง คือเขาก็ทำงานตำแหน่งสูงหน่อย เขาก็ยกเฟอร์นิเจอร์ที่ผมใช้ทั้งหมดในบ้านไปให้คนที่มาใหม่ ผมก็ไม่พูดสักคำ ผมไปซื้อไม้ขีดมาจากตลาด เอามาเป็นถุงๆ เลยนะ ผมก็เอาก้านไม้ขีดทิ้งแล้วเอากลักไม้ขีดมาทำเป็นโซฟา ทำเก้าอี้เดี่ยว ทำโต๊ะกลาง แล้วผมก็ตั้งกลางห้อง เพื่อนเข้ามาถึงก็ เฮ้ย...อะไรเนี่ย คือผมมีความรู้สึกว่ามันไม่ถูกต้อง ผมรู้สึกว่าผมไม่ใช่คนหรือ

ถามว่าไปเมืองนอกหวังจะร่ำรวยไหมอะไรไหม มันไม่ได้สนเรื่องร่ำรวยเท่าไหร่ แต่ประสบการณ์ได้มากกว่าเยอะ ทุกคนจะคิดว่าไปส่งของเมืองนอกได้เงินเท่าไหร่ รวยไหม แต่เราไม่ได้ทำเพื่อเงิน ทำเพื่อประสบการณ์

•จากงานก่อสร้าง ทำไมถึงคิดเรื่องการมาทำงานเฟอร์นิเจอร์

คือเราเห็นอะไรเยอะไง คือเราเห็นตึกรามบ้านช่อง แล้วเฟอร์นิเจอร์เป็นสิ่งสำคัญ ที่เราต้องนั่งต้องนอน เรามีบ้านเฉยๆ ไม่มีเตียงนอน ไม่มีตู้เสื้อผ้ามันก็อยู่ไม่ได้ มีช่วงหนึ่งไปอยู่ที่อิตาลีพักนึงไม่นานหรอก ก็ไปทำงานเกี่ยวกับเฟอร์นิเจอร์ ไปศึกษาว่าเขาทำยังไง

เก้าอี้ผมทำไมคุณนั่งแล้วสบาย เพราะมันมีมาตรฐานว่าความสูงเท่านี้นะเท้าแขนแล้วจะไม่เมื่อย เอนหลังแล้วไม่เมื่อย โต๊ะต้องขนาดนี้ เก้าอี้ต้องขนาดนี้ โต๊ะทำงานเป็นอย่างงี้ เราต้องศึกษาพวกนี้ไว้ให้แม่น

ผมมีคติอยู่อย่าง...อย่าไปคิดอะไรที่เหมือนคนอื่น อย่าไปทำอะไรที่เหมือนคนอื่น

•อย่างการเอาล้อเกวียนมาทำโต๊ะนี่ก็เป็นการริเริ่มของอาจารย์

กลับมาเมืองไทย ก่อนจะมาเป็นเฟอร์นิเจอร์ผมทำงาน 'โฟล์ค อาร์ต' (Folk Art) มาก่อน คือเราเห็นตั้งแต่ทีแรกว่าพวกล้อเกวียน พวกหำยนต์ (ไม้กระดานรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ด้านล่างฉลุเว้าเป็นรูปเสี้ยววงกลมสองวง ตรงกลางแหลม มักพบติดเหนือประตูในบ้านแบบล้านนา - ชาธิป) อะไรพวกนี้ คนอื่นเขาเอาไปทิ้งกัน ตามภาคเหนือหน้าหนาวก็เอาไปก่อไฟผิง ก่อไฟต้มน้ำ ผมก็เอามาทำ เรารีไซเคิลทั้งวัสดุของโบราณและรีไซเคิลทั้งแนวความคิดของคนโบราณด้วย อันนี้เป็นนามธรรม

ผมเป็นคนแรกของประเทศไทยที่เอาล้อเกวียนมาทำโต๊ะ แล้วก็ก๊อปปี้กันแหลกหมด เป็นเรื่องที่เจ็บปวดมาก

•กระแสตอบรับเป็นยังไงที่ทำออกมาตอนแรก

ตอนแรกผมทำโต๊ะออกมาตัวหนึ่ง ใช้ล้อเกวียนทำ ผมขาย 1,800 เพื่อนถาม 1,500 ได้ไหม ผมบอกว่าเหนื่อยนะเนี่ย แค่ค่าไม้ก็เกินราคาแล้วนะ สรุปว่าเพื่อนก็ซื้อไป เสร็จแล้วก็ไปกินข้าวกลางวันกัน ตอนเย็นๆ เขาโทรหาผมบอกเฮ้ย...เมียกูไม่เอาแล้ว...เขาบอกมันเกะกะ ผมก็เลยบอกจะเอาเงินที่ไหนไปคืนให้ เอาเงินไปกินเหล้าแล้ว แต่ก็จะหาเงินมาให้ พอได้งานคืนมาแล้วตอนหลังก็มีคนมาขอซื้อ 2,500 คือคุณค่ามันจะมากขึ้นเรื่อยๆ แต่มันเจ็บปวดมากนะเรื่องเพื่อนซื้อไปแล้วเมียบอกเกะกะ ผมเป็นคนผูกใจเจ็บว่าสักวันหนึ่งเขาต้องเห็นความสำคัญของเรา

ไปโรงพยาบาลครั้งล่าสุด เขาบอกผมความดันเลือดต่ำ แต่ความดันทุรังสูง

•แล้วมาเริ่มทำเฟอร์นิเจอร์เป็นแบรนด์ของตัวเองตอนไหน

ก็ทำมาเป็นสิบปีนะ ก่อนจะมาเป็น 'ไสยาสน์ คอลเลคชั่น' ความจริงเป็นเรื่องที่เสี่ยงนะ ยี่ห้อหรือตรานี้มันเป็นดาบสองคม ถ้าดีก็เป็นเครื่องการันตี ถ้าไม่ดีนั่นก็ชื่อเรา

ปัญหาอย่างหนึ่งคือคนไทยชอบนึกถึงของถูก ผมบอกลูกค้าเสมอว่า คนอื่นอาจจะขายสิบบาทแต่ผมอาจจะขายสองร้อย ก็แล้วแต่ว่าคุณจะซื้อตะกั่วหรือซื้อทอง เพราะของผมเป็นทอง คุณจะเลือกเอาตะกั่วก็ตามใจ

•งานของอาจารย์ไม่ใช่เฟอร์นิเจอร์อย่างเดียวแต่มีความเป็น 'ประติมากรรม' อยู่ในนั้น

ใช่ เป็นงานประติมากรรมด้วย ตั้งใจแต่แรกให้เป็นทั้งเฟอร์นิเจอร์และประติมากรรม โดยที่เสี่ยงมาก ไมมีใครยอมรับ เพราะรูปทรงมันจะแปลกกว่าชาวบ้าน อันนี้เรื่องสำคัญ เขาไม่ยอมรับน่ะ คนทั่วไปยังไงเก้าอี้ต้องมีสี่ขา โต๊ะต้องมีสีขา เก้าอี้ผมตัดสองขาหรือสามขา หรือบางทีเราก็เอาของ เอาวัสดุอย่างอื่นมาทำ

ก็อย่างที่บอกถ้าเราทำอะไรเหมือนคนอื่นเขามันไม่มีประโยชน์

•แล้วทำอย่างไรให้คนยอมรับงานเฟอร์นิเจอร์ของอาจารย์

คือจะให้คนยอมรับเราต้องมานั่งคิดแล้วเราดีไซน์เนี่ย กลุ่มเป้าหมายเป็นใคร เหมือนกับนักขาย กลุ่มนี้เป็นใครเค้ายอมรับได้ไหม ผมพูดกับทุกคนว่างานเฟอร์นิเจอร์ต้องมีสี่อย่าง 'ฟังค์ชั่น' ประโยชน์ใช้สอย, 'อนาโตมี่' สรีระของคน เอนแล้วเป็นยังไง นอนแล้วเป็นยังไง นั่งแล้วเป็นยังไง, 'ฮาร์โมนี่' ความกลมกลืน ไม่เว่อร์, แล้วก็ 'บิวตี้พูล' มันสวยดี จึงได้เอามารวมกันแล้วก็ดีไซน์มันออกมา

นี้คือหัวใจของมัน มีหลักอยู่แค่นี้ หากจะปรับให้มันผิดแปลกไปก็อย่าทิ้งสิ่งนี้ ต้องรู้จักเปลี่ยนแปลงปรับปรุงแก้ไข รู้ว่าโต๊ะทำงานใช้ยังไง โต๊ะสนามใช้ยังไงต้องศึกษา มันเป็นสิ่งสำคัญ แต่ผมไม่มีก๊อปปี้ มีแต่ต่อยอดแล้วก็เปลี่ยนแปลง

•ไม้เป็นวัสดุที่อยู่กับคนไทยมานานแล้ว แต่ทำไมเราถึงไม่ค่อยได้ยินว่ามีใครมีชื่อเสียงจากการเป็นช่างไม้

คนไทยนี่แปลกประหลาดนะ อะไรที่มีคุณค่ามองไม่เห็นต้องให้คนอื่นเขาชี้นำ ผมเป็นศิลปินเป็นดีไซน์เนอร์แทบตายคนไม่เห็นคุณค่าเรา ต้องให้ฝรั่งยกย่องเสียก่อนนะ เป็นอย่างนั้นจริงๆ ปวดหัวมาก ก็ไม่รู้จะทำยังไง

•ปัญหาของงานช่างไม้ในเมืองไทยคืออะไร

ผมบอกได้เลยว่าตอนนี้เละเทะหมดแล้วนะเมืองไทย คุณเขียนได้เลย ผมไปที่ไหนผมก็พูดแบบนี้ เดี๋ยวนี้คุณจะหาช่างไม้คุณต้องหาช่างกะเหรี่ยงนะ ช่างพม่านะ ช่างไทยไม่มี ไม่มีใครทำ เขามองว่าเป็นงานต่ำต้อย งานกรรมกรเลย

ทุกคนอยากเป็นสถาปนิกหมด อยากเป็นมัณฑนากรหมด แล้วพอสถาปนิกจะทำบ้านก็เอาของฝรั่งมาดู เจ้าของบ้านบอกออกแบบบ้านให้หน่อยก็นั่งคุยคอนเซ็ปต์กัน เสร็จแล้วก็ไปเปิดแคตาลอกของฝรั่ง ไม่มีหรอกที่จะคิดเอง

ผมบอกว่ามันไม่ใช่แล้ว การศึกษาเราผิดพลาดทุกอย่าง สิ่งเหล่านี้มันหวนกลับมาไม่ได้แล้ว

•ศิลปะสำหรับอาจารย์คืออะไร

จริงๆ แล้วทุกคนมีศิลปะในตัวเองหมด ผมว่าคุณก็มีความเป็นศิลปินแต่อาจจะไม่รู้ว่าจะแสดงออกยังไง ถึงเวลาหรือยัง

ผมไปทำงานก่อสร้างอยู่ซาอุดิฯ ผมเดินทะเลทราย เห็นต้นไม้ ผมก็เก็บต้นไม้มา ต้นไม้มันปลูกในทะเลทรายได้ แต่มาปลูกที่บ้านไม่ได้ ผมก็เอาใส่กะบะ เอาดินจากทะเลทรายมาใส่กะบะ พรรคพวกก็เห็นก็ว่าบ้ารึเปล่าต้นไม้มันไม่มีทางปลูกได้หรอก แล้วมันก็ตายจริงๆ เพราะมันไม่ถูกที่ถูกเวลา เราก็มานั่งคิดว่าอะไรบางทีบางอย่างที่มันไม่ถูกที่ถูกเวลาเนี่ยมันอยู่ไม่ได้ เราก็เก็บสะสมความคิดพวกนี้มา

•จากงานเฟอร์นิเจอร์ไม้มาสู่งานศิลปะร่วมสมัยได้อย่างไร

คือเฟอร์นิเจอร์ใครๆ ก็ทำได้ ถ้าเราเรียนก็ทำได้ เพราะมันตายตัว แต่งานที่เป็นร่วมสมัยพวกนี้มันเป็นงานคอนเซ็ปต์ งานเชิงความคิด คุณก๊อปปี้แนวความคิดไม่ได้นะ อย่างสไตล์คุณเป็นแบบนี้ผมก็จะไปทำตามคุณก็ไม่ได้ คนจบมหาวิทยาลัยเดียวกัน อาจารย์เดียวกันยังทำงานไม่เหมือนกันเลย ที่ผมเปลี่ยนมาทำอันนี้เพราะผมชอบเรื่องของคอนเซ็ปต์ มันป็นเรื่องที่สำคัญมาก

ถึงจุดนี้ผมบอกว่าใช้ชีวิตมาพอสมควร เห็นอะไรมามาก ต้องกลับมาสร้างอะไรบ้างแล้วตอนนี้ จากสิ่งที่เราสะสมเป็นวัตถุดิบ เป็นประสบการณ์ บางคนก็บอกว่าผม 'ตกตะกอน' แล้ว

ผมคิดมานานแล้ว คิดมาหลายปี เราน่าจะทำงานประติมากรรมชิ้นเล็กๆ ไม่ใหญ่มาก เพราะชิ้นใหญ่เราเอาไปตั้งข้างนอกแล้วมีปัญหา ทำชิ้นเล็กๆ ดีกว่า ปัจจัยในการทำก็มีเยอะหนึ่งต้องมีเวลา สองต้องมีใจรัก คอนเซ็ปก็หาลำบากและต้องใช้เงิน

สรุปก็คือผมอยากทำงานศิลปะให้เด็ก ให้เพื่อนฝูงทุกคนดูแล้วมีความสุข ถ้ามีคนซื้อ ขายได้ ก็ยิ่งดี แต่แค่คนมาดู เขายิ้ม เขาหัวเราะก็พอแล้ว ผมก็พอใจในส่วนหนึ่ง มีความสุขในส่วนหนึ่ง

นี่เป็นหน้าที่สำคัญ ก่อนเราจะตายเราจะสร้างอะไรให้เป็นสมบัติของโลก เป็นมรดกที่คนซื้อไปได้มีความทรงจำที่ดี มีแนวความคิดที่ดี เท่านี้ก็พอแล้ว

•การแสดงผลงานศิลปะร่วมสมัยของอาจารย์ในนิทรรศการล่าสุด 'เทสะ-กาละ' (Happenstance) ทำออกมารวดเดียวเจ็ดสิบกว่าชิ้น แสดงว่ามีความคิดที่สะสมมาเยอะมาก

ทำงานทุกวัน ก็ถึงบอกไงมันตกตะกอน ผมจับอะไรมาผมก็มอง เราคนดูงานอาร์ตนี่ไม่ได้ดูละครที่มันตบกัน เราก็ดูงานอาร์ตงานอะไร บางอย่างเราก็มานั่งคิดมันทำได้นี่หว่า ก็ใฝ่หาหมด ถ้าพูดแล้วประหลาด ผมเข้าห้องน้ำผมต้องมีหนังสืออ่าน ผมมองคราบน้ำที่พื้นก็เป็นอาร์ต

สมัยก่อนเค้าบอกว่าถังขยะก็เป็นอาร์ต ผมเคยคิดว่าบ้า แต่พอมาถึงจุดนี้ พอมาเป็นศิลปินผมรู้แล้วว่าเกิดอะไรขึ้น เพราะในขยะมีส่วนประกอบเยอะ ขวดเหล้า กระป๋อง อะไรพวกนี้ มันไม่มีการจัดวางมันเป็นธรรมชาติจริงๆ ศิลปะคือสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น แต่คนเอาธรรมชาติมาสร้างเป็นศิลปะได้ แต่มันเป็นคนละส่วน

สรุปแล้วคุณไปเขียนได้เลยว่าศิลปะคือสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น แล้วศิลปินคืออะไรรู้ไหม ศิลปินไม่ใช่คนใหญ่โตอะไร ศิลปินคือผู้รับใช้สังคม รับใช้ประเทศชาติ รับใช้คนที่เสพงาน อย่าไปคิดว่าวิเศษกว่าคนอื่น คนอื่นเขาก็มีแต่เค้าไม่ได้แสดงออก ผมก็คือคนธรรมดาคนนึง

•แบ่งเวลาทำงานศิลปะอย่างไร ขณะที่งานเฟอร์นิเจอร์ที่เป็นอาชีพหลักก็ต้องทำ

งานชุดนี้ใช้เวลาปีหนึ่ง ปีกว่าๆ คือทำแล้วก็หยุด ทำแล้วก็หยุด ทำแล้วก็ไม่ใช้ว่าทำติดต่อกัน คือถ้าได้ดูงานจริงๆ จะรู้ว่า โห...มันส์มากในความรู้สึกของผม แล้วผมภูมิใจอะไรรู้ไหม คนที่มาเห็นแล้วยิ้ม หัวเราะ เขาเกิดความรู้สึกตามเรา เกิดความคิดใหม่ของเขาเองแต่จินตนาการไปข้างหน้า แล้วทุกอย่างมันจะบวกกันหมด

•อาจารย์เคยบอกว่างานประติมากรรมที่ทำไม่ได้มีแค่สามมิติแต่มี 'มิติที่สี่' เข้ามาด้วย

งานชุดนี้ผมใช้ไม้เก่า วัสดุ อุปกรณ์ เครื่องมือช่างต่างๆ ที่สะสมไว้มาสร้างเป็นงานประติมากรรม เพราะฉะนั้นมันก็จะไม่ใช่สามมิติกว้าง-ยาว-สูงอย่างที่เราเห็นทั่วไป เป็นสี่มิติ มิติที่สี่ที่เพิ่มมาก็คือ 'กาลเวลา' คือเรื่องราวต่างๆ ที่มันสะสมอยู่ในวัสดุ อุปกรณ์ เครื่องมือที่เราสะสมมา บางชิ้นสะสมไว้เป็นสิบๆ ปี มันก็มีเรื่องราวอยู่ในตัว แล้วเราก็เอามาสร้างเป็นงานประติมากรรมตามความคิดของเรา

งานชุดนี้เรามีความสุขมาก เราทำแล้วสบายใจ อยากให้คนที่เห็นสบายใจ ใครจะมาดูแล้วไม่ซื้อก็ไม่เป็นไร ก็ได้ความสุขไป ถ้าเราขายได้ก็เป็นเรื่องของโลก ถ้ามีคนซื้อเราก็มีความสุข เราก็อยู่ได้ แต่ถึงเราไม่มีเงินเราก็สู้ อะไรที่สร้างสรรค์ให้กับสังคมเราก็ทำต่อ

•อาจารย์พูดว่าการเป็นช่างไม้ต้องซื่อสัตย์ คำว่า 'ซื่อสัตย์' ในฐานะช่างไม้คืออะไร

มันมีปัจจัยเยอะ สมมติคุณรับงานมา คุณรับมาร้อยหนึ่ง คุณไม่ได้ทำเอง คุณให้อีกคนนึงทำเจ็ดสิบบาท คุณก็ได้แล้วสามสิบ นี่ถือว่าไม่ซื่อสัตย์แล้ว พอเริ่มจะขาดทุนคุณก็ไม่ทำแล้ว ผมไม่เคยจ้างคนอื่นทำ

มาตรฐานเราเป็นอย่างนี้ ความซื่อตรงความซื่อสัตย์กินได้อีกยาวไกล คนให้ความเชื่อถือ ผมไม่ได้โปรโมททำโฆษณาอะไรนักหนา แต่ก็มีหนังสือมาสัมภาษณ์มาลง แล้วมีเซอร์วิสหลังการขาย ถ้าไม้มันปริมันแตกก็ไปซ่อมให้เขา พูดง่ายๆ คือคนที่ซื้องานเราเขาเสียเงินน่ะ เราก็ต้องยุติธรรมกับเขา

ผมอายุขนาดนี้ หกสิบกว่าแล้ว ผมได้รับอะไรจากโลกเยอะทั้งสิ่งที่ดีแล้วก็สิ่งไม่ดีเราก็เก็บไว้ ไม่ช้าเราก็ตายแล้วแต่ที่สำคัญคือเราจะทำอะไรให้โลกก่อนที่จะตาย ก็คือสร้างงานขึ้นมาตอบแทนบุญคุณกับคนที่เห็น

(หมายเหตุ : นิทรรศการ 'เทสะ-กาละ' โดยอาจารย์ไสยาสน์ เสมาเงิน จัดแสดง ณ Anna Art Gallery ซอยพิพัฒน์ (สาธร ซอย 6) จนถึง 19 ธันวาคม 2553 สอบถามเพิ่มเติมโทร.0-2237-2788 ถึง 9 / ดูเพิ่มเติมเกี่ยวกับประวัติและผลงานของอาจารย์ไสยาสน์ เสมาเงิน ได้ที่ www.saiyart.com)

 

 

โดย: นภสร ไชยคำภา, ชาธิป สุวรรณทอง 
ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ / 7 ธันวาคม 2553

Views: 1947

Reply to This

© 2009-2024   PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service