เมื่อได้ยินข่าวว่า ประเทศเวียดนามเขาจะเฉลิมฉลองเมือง “ฮานอย” มีอายุครบหนึ่งพันปีในปีนี้ ผมก็เกิดโบราณาคดี !ขึ้นมาทันที
มิได้เกิดความสงสัยในข้อมูลความเป็นจริง หรือความน้อยหน้าประเทศเพื่อนบ้านเขา
เพียงแต่รู้สึกเสียดายที่คนไทยไม่ได้คิดให้ความสำคัญกับเรื่องราวในประวัติศาสตร์ของบ้านเมืองไทยกันเลย เมืองไทยมีเมืองที่สืบเนื่องกันมาเก่าแก่กว่าพันปีอยู่หลายเมือง แต่ก็มิได้นำมาเฉลิมฉลองกัน
โบราณคดีของผมเกิดจาก “ฉันทาคติ” อยากจะให้บ้านเมืองไทยได้มีหน้ามีตามีชื่อเสียงมากขึ้นเท่านั้นเอง
พลตรี ม.ร.ว คึกฤทธิ์ ปราโมช เคยเขียนบทความเรื่อง “โบราณคดี” ท่านบอกว่า ท่านคิดคำนี้ขึ้นมาเอง ท่านเขียนว่า “หัวเรื่องของเรื่องนี้บอกไว้แล้วว่า จะได้พูดกันถึงศาสตร์ใหม่ คือโบราณาคดี อันเป็นคำที่เกิดขึ้นจากการเอาคำว่า โบราณ บวกเข้ากับคำว่า อคติ ผู้บัญญัติศัพท์คำนี้คือตัวผมเองตั้งใจที่จะให้มีความหมายถึงการศึกษาค้นคว้า ตลอดจนการแสดงความคิดเห็นอันเกี่ยวกับเรื่องโบราณด้วยอคติ ไม่ว่าอคตินั้นจะเป็นฉันทาคติ คือคติอันเกิดจากความรัก หรือโทสาคติ คติอันเกิดจากความเกลียด โมหาคติ คติที่เกิดจากความหลงหรือภยาคติ คติอันเกิดจากความกลัวก็ตามที
โบราณาคดีที่ผมเห็นอยู่ทุกวันนี้มักจะเกิดขึ้นจากฉันทาคติเกือบทั้งสิ้น เพราะตามความจริงแล้วท่านนักโบราณคดีทุกท่านเป็นผู้รักชาติบ้านเมือง และมีเจตนาดีต่อบ้านเมืองไม่น้อยกว่าผู้ใด”
..........................................
เมื่อเห็นข่าว “ฮานอย 1000 ปี” ผมก็เลยเขียนบทความโบราณาคดีบทนี้ออกมาบ้าง เผื่อ กระทรวงวัฒนธรรมท่านจะตาหูสว่างขึ้น
พูดถึงเรื่อง “เมือง 1000 ปี” ที่มีความต่อเนื่อง คือยังคงเป็นเมืองสืบต่อกันมาไม่ขาดช่วง มีอายุได้หนึ่งพันปีแล้วนั้น เมืองไทยเราก็มีอย่างน้อยสองเมืองคือ “ลวปุระ” หรือกัมโพช หรือละโว้ หรือลพบุรี และ หริภุญไชย หรือหละปูน หรือลำพูน
จะพูดถึงเมืองลวปุระเมืองเดียวก่อน หลักฐานที่ยืนยันว่าลพบุรีมีอายุถึงหนึ่งพันห้าร้อยปีแล้ว มีดังนี้
1. ศิลาจารึก
พบจารึกที่ศาลสูง เมืองลพบุรี มีพระนาม “พระบาทกัมรเตงกำตวน อัญศรีสูรยวรมเทวะ” ระบุศักราชเป็นมหาศักราช 944 (พ.ศ. 1565) ตรงกับสมัยพระเจ้าสุริยวรมัน ที่ 1 ของกัมพูชา (นักวิชาการไทยเชื่อกันว่า พระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 เป็นกษัตริย์เสด็จจากละโว้ไปครองเขมร)
จารึกนี้ยังอายุไม่ครบหนึ่งพันปี อีก 12 ปี ก็จะมีอายุ 1 พันปี
แต่ก่อนจะมีจารึกนั้น บ้านเมืองนี้ก็ย่อมจะต้องเจริญมากมาก่อนนานพอสมควร
2. ปรางค์เทวสถาน
“น. ณ ปากน้ำ” เขียนไว้ในเรื่อง “ศิลปะละโว้...นครอมตะ” (หนังสือ “ศิลปะโบราณในสยาม”) ว่า “บริเวณปรางค์เทวสถานกลางเมือง ซึ่งชาวบ้านเรียกกันว่าปรางค์แขก มีร่องรอยการปฏิสังขรณ์ในสมัยพระนารายณ์ เช่นวิหารด้านทิศตะวันออกกับทิศใต้ และมีการสร้างต่อเติมปรางค์ชำรุดให้สู่สภาพเดิม ปรางค์องค์กลางยังเหลือบริบูรณ์ดีอยู่ เป็นปรางค์ก่ออิฐแนบสนิท ไม่สอปูน เก่ายิ่งกว่าวัดมหาธาตุและวัดนครโกษา เข้าใจว่าเป็นปรางค์สมัยทวาราวดี อาจจะเป็นสถาปัตยกรรมของละโว้ ในสมัยพระยากาฬวรรณดิศ ผู้สร้างเมืองละโว้เมื่อ พุทธศตวรรษที่ 11 ก็เป็นได้ ปรางค์องค์นี้เก่ากว่าปรางค์ก่ออิฐของขอมทุกองค์ในเอเชียอาคเนย์ ไม่มีทับหลัง ส่วนโค้งของบัวลูกแก้วที่ฐานปรางค์เป็นศิลปะแบบทวาราวดีเห็นได้ชัด”
สรุปว่า พระปรางค์กลางเมืองลพบุรีนั้น เก่าแก่สมัยทวาราวดี อยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 11 อายุเกินหนึ่งพันปี
“ลวปุระ” หรือกัมโพช หรือละโว้ พระปรางค์สามยอด ลพบุรี
สำหรับพระนารายณ์ในที่นี้ เป็นชื่อกษัตริย์ในพงศาวดารเหนือ พระนารายณ์เป็นโอรสพระเจ้าจันทโชติ พงศาวดารเหนือว่า พระองค์สร้างพระปรางค์เมื่อ พ.ศ. 1612 แล้วต่อมาย้ายเมืองหลวงไปอยู่เมืองอโยธยา ปากแม่น้ำเบี้ย เมืองละโว้กลายเป็นเมืองลูกหลวง เรื่องที่พระนารายณ์ทรงสร้างพระปรางค์ขึ้นนั้น เป็นการปฏิสังขรณ์พระสถูปเก่ายุคทวาราวดี ดังที่อาจารย์ “น. ณ ปากน้ำ” อธิบายไว้ข้างต้น
3. เหรียญเงินจารึกว่า “ลวปุระ” พบที่บริเวณเมืองโบราณที่อู่ทอง
เหรียญเงินจารึก “ลวปุระ” ด้านแรก-ด้านสอง
“น. ณ ปากน้ำ” (อ้างแล้ว) เขียนว่า
“มีการพบเหรียญเงิน มีคำจารึกว่าลวปุระ ที่บริเวณเมืองอู่ทอง ซึ่งเมืองอู่ทองนี้นักปราชญ์ส่วนใหญ่เชื่อกันว่าคือเมืองจินหลินหรือกิมหลิน มีปรากฏในจดหมายเหตุของจีนว่าอยู่ทางทิศตะวันตกของฟูนัน (ฟูนันนี้ร่วมสมัยกับสามก๊ก ซุนกวนเคยส่งทูตเดินทางมาฟูนัน...ทองแถม) เงินตรารุ่นนี้มักจารึกชื่อเมืองลงไปด้วย
ดังเช่นเงินเหรียญทวาราวดีพบที่พระประโทน จังหวัดนครปฐม จารึกชื่ออาณาจักรทวาราวดี มีข้อความว่า “ศรีทวาราวดี ศวรปุณยะ” อันแปลว่า บุญกุศลของพระราชาแห่งศรีทวาราวดี ใช้ภาษาสันสกฤตโบราณเหมือนกันกับเหรียญที่มีจารึกว่าลวปุระ ทั้งขนาดก็ใหญ่และยังทำด้วยโลหะเงินเหมือนกันอีกด้วย
แสดงว่าอยู่ในยุคสมัยเดียวกัน อันอาณาจักรทวาราวดีนั้นเป็นที่ยอมรับกันแล้วว่ามีอายุตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 11 เป็นต้นมา โดยถือจากอายุจดหมายเหตุของพระถังซำจั๋ง ซึ่งกล่าวถึงทวาราวดีเป็นครั้งแรหตั้งแต่ครั้งนั้น ที่จริงทวาราวดีจะมีอายุเก่าแก่มากกว่านั้นกี่ศตวรรษย่อมไม่มีใครหยั่งทราบได้”
เหรียญจารึกทวารวดี ศวรปุณยะ (ด้านแรก-ด้านสอง)พุทธศตวรรษที่ 12 พบแหล่งคูบัว จ.ราชบุรี
4. พระราชพงศาวดารเหนือ พระราชพงศาวดารเหนือ เล่าถึงกำเนิดเมืองละโว้ว่า “พระพุทธศักราช 1002 ปี จุลศักราช 10 ปีระกา สัมฤทธศก จึงพระยากาฬวรรณดิศ ราชบุตรพระยากากะพัตร ได้เสวยราชสมบัติเมืองตักกศิลามหานคร จึงให้พราหมณ์ทั้งหลายยกพลลงไปสร้างเมืองละโว้ได้ 19 ปี”
นักวิชาการไทยมักจะกล่าวหาว่าศักราชในพงศาวดารเหนือฟั่นเฝือ แต่ศักราชที่บันทึกเรื่องการสร้างเมืองละโว้นี้ ตรงกับหลักฐานโบราณคดีเกี่ยวกับทวาราวดีดังกล่าวในข้อ 3.
พระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะทวารวดีตอนกลาง ราวพุทธศตวรรษที่ 14 – 15
น. ณ ปากน้ำ ให้ทรรศนะว่า “บรรดานครเก่าแก่ของสยามประเทศซึ่งมีชื่อเสียงปี่กฎอยู่ในพงศาวดารและตำนาน รวมทั้งที่มีหลักฐานชิ้นศิลปวัตถุในแง่โบราณวิทยาอันยืนยันรับต้องกันหมด เห็นจะไม่มีที่ไหนเด่นไปกว่าละโว้ นครนี้อาจเรียกได้ว่านครอมตะที่ไม่มีวันแตกดับ....ตั้งแต่สมัยยุคเริ่มประวัติศาสตร์มาจนถึงปัจจุบัน นับหลายพันปีมาแล้ว....ละโว้ก็ยังเป็นเมืองละโว้ ที่อยู่อย่างโดดเด่น มีอายุยืนนานคงทนต่อกาลเวลามาจนถึงทุกวันนี้”
พระพุทธรูปยืนแสดงธรรมทั้งสองพระหัตถ์ พบที่เมืองลพบุรี
สรุปสั้น ๆ ก็คือ เมืองลพบุรีของไทย เก่าแก่และคงความเป็นเมืองต่อเนื่องกันมาไม่เคยร้าง ยาวนานเก่ากว่าเมืองฮานอยมากมายนัก
ไฉนจึงถูกมองข้าม ไม่ให้ความสำคัญกันบ้างเลย
หรือจะมีอคติว่า ชาวละโว้เป็น “มอญ” เป็น “ขอม” ไม่ใช่คนไทย !
คนไทยนั้นต้องมาเริ่มที่ “พ่อขุนศรีอินทราทิตย์” เท่านั้น จะมีอายุเก่ากว่าเมืองสุโขทัยไม่ได้
โดย: ทองแถม นาถจำนง
ที่มา: สยามรัฐ 02 กรกฏาคม 2553