Wu Yulu : คนกล้ากับพลังแห่งความคิดสร้างสรรค์

 


Wu Yulu กำลังดังมากในเมืองจีน เรื่องความคิดสร้างสรรค์
-----------------------------

เริ่มคำถามที่สร้างสรรค์ที่สุดในยุคนี้เลยครับ “วันนี้ท่านใช้พลังแห่งความคิดสร้างสรรค์กันบ้างหรือยัง” วันนี้เราไปที่ไหนก็มักพบกับคำว่าความคิดสร้างสรรค์ ต้องใช้ Creative ในการทำงาน เศรษฐกิจก็ต้องปรับเปลี่ยนเป็น Creative Economy สินค้าจะขายได้ก็ต้องมาจากสุดยอดไอเดียที่สร้างสรรค์เป็นนวัตกรรม ใคร ๆ ในโลกใบนี้กำลังคลั่งไคล้กับคำนี้มาก จนผมคิดว่ามันเป็นแค่คำช่วยส่งเสริมการขายหรือการสร้างภาพลักษณ์ให้ดูดีไปแล้วหรือเปล่า

ผมเองได้นำตัวอย่างความคิดสร้างสรรค์จากอินเดียมานำเสนอในเรื่อง India Green Creative ต่อยอดความคิดเปลี่ยนโลกด้วยดินเหนียว และได้นำเรื่องราวนี้ไปบอกเล่าระหว่างการบรรยาย หรือการสนทนา หลายคนได้ฟังแล้วบอกว่าทำไมคนไทยเรามักลืมคิดอะไรจากเรื่องง่าย ๆ ที่เรามีอยู่ ทำไมเราถึงมักชอบคิดอะไรเกินตัวตนของเรา


 




ครั้งหนึ่งผมบรรยายให้พี่น้องชาวลาวฟัง พอผมบรรยายเรื่องนี้เสร็จก็มีเถ้าแก่โรงงานเครื่องปั้นดินเผาชาวลาวบอกว่า จะกลับไปออกแบบและทำให้ได้อย่างคนอินเดียบ้าง เพราะเขาเชื่อว่ามันทำได้เลย ผมเองก็เชื่อว่ามันคงไม่ยากเกินไป มันคือเทคโนโลยีที่มีกันอยู่แล้ว ขาดแค่การใช้ความคิดสร้างสรรค์ที่เหมาะสมกับวิถีชีวิตคนยุคปัจจุบันเท่านั้น นี่จึงเป็นตัวอย่างของพลังแห่งความคิดสร้างสรรค์ คือการต่อยอดองค์ความรู้เดิมที่มีอยู่ให้เกิดนวัตกรรม

ในฉบับนี้ผมจะขอพูดถึงประเด็นนี้อีกครั้งแต่เป็นเรื่องราวของชายจีนคนหนึ่ง เค้าว่ากันว่า โลกวันนี้เวลาจะพูดถึงความเปลี่ยนแปลงมักจะต้องมีจีนด้วยเสมอ ผมเองก็ว่าจริงครับ ช่วงนี้หลายท่านอาจได้ดูโฆษณาโทรศัพท์มือถือยี่ห้อดัง ที่มีเนื้อหาเปิดเรื่องด้วย หุ่นยนต์ตัวสีเงิน กำลังลากรถโดยมีคนบังคับนั่งอยู่ด้านหลัง พอผมได้ดูผมก็อยากเขียนบทความเกี่ยวกับเขาคนนี้เลยครับ ผมรู้จักเรื่องราวของเขามานานหลายปีแล้วแต่ไม่มีโอกาสเขียนถึงเลย คราวนี้จึงขอนำมาบอกกล่าวในบทความที่ชื่อ Wu Yulu คนกล้ากับพลังแห่งความคิดสร้างสรรค์

Wu Yulu เป็นคนที่กำลังดังมากในเมืองจีน โดยเฉพาะเรื่องราวเกี่ยวกับพลังความคิดสร้างสรรค์ ดังขนาดต้องไปโชว์ตัววันเปิดงาน และร่วมแสดงนิทรรศการหุ่นยนต์ที่เขาสร้างในงาน World Expo 2010 ที่เมืองเซี่ยงไฮ้ อันแสนยิ่งใหญ่ตระการตา เขาเป็นใครมาจากไหนดังอย่างไร


 


 
 
เมื่อประมาณสักห้าปีที่แล้วมีข่าวพาดหัวในหนังสือพิมพ์ China Daily สื่อใหญ่ของจีน เกี่ยวกับเรื่องราวของชายชาวนาจีนผู้สร้างหุ่นยนต์จนได้รับรางวัลจากการแข่งขันสิ่งประดิษฐ์ระดับชาติหรือ National Peasant Inventor Contest 2004 ซึ่งคือ Wu Yulu ปัจจุบันเขาอายุ 48 ปี เรียนหนังสือจบแค่ประถมห้า อาชีพหลักคือชาวนา เป็นคนหมู่บ้าน Mawu ทางตะวันออกของชานกรุงปักกิ่ง แต่เพราะความไม่ชอบอาชีพทำนาเขาจึงมักคิดถึงการทำอะไรใหม่ ๆ ที่มากกว่าการทำนา

ความฝันแต่วัยเด็กของเขาคือการสร้างหุ่นยนต์ที่ได้จากการดูหนังฝรั่งทางโทรทัศน์ เขาเคยเล่าเรื่องที่เขาจะทำนี้ให้พ่อเขาฟัง พ่อกลับบอกว่าให้เขาเป็นชาวนาที่ดีที่สุดก็พอ แต่เขาก็ยังคงมุ่งมั่นที่จะทำความฝันให้เป็นจริง การได้ทำงานในโรงงานผลิตเครื่องมือการเกษตรในช่วงสั้น ๆ ทำให้เขามีความรู้เบื้องต้นด้านกลไกเครื่องจักรกล บวกกับความคิดสร้างสรรค์ทำให้เขาเริ่มคิดสร้างหุ่นยนต์จริงจังมากขึ้น

เขาใช้ระยะเวลากว่าสี่ปีทุ่มเทกับการสร้างหุ่นยนต์ จากการไม่มีความรู้พื้นฐานทางวิทยาศาสตร์โดยเฉพาะด้านวิศวกรรมเครื่องกล หลายครั้งเขามักให้สัมภาษณ์ว่า ฟิสิกส์คืออะไรที่เขาไม่รู้จริง ๆ ในปี พศ.2529 เขาสามารถสร้างหุ่นยนต์ตัวแรกสำเร็จ เรียกมันว่า Wu No.1 เขาเล่าว่าหุ่นยนต์ทุกตัวเปรียบเหมือนลูก สิ่งที่เขาเคยเสียใจมากที่สุดครั้งหนึ่งคือเขาต้องขายหุ่นยนต์ตัวหนึ่งที่เขาสร้างเพื่อนำเงินมาใช้จ่าย เขาจึงสัญญากับตัวเองว่าจะไม่ทำเช่นนั้นอีก


 




วันนี้เขาสร้างหุ่นยนต์มาแล้วมากกว่าสามสิบตัว แตกต่างกันในเรื่องการใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นหุ่นยนต์ขาเดียวใช้เกี่ยวข้าวสาลี หุ่นยนต์กระโดด หุ่นยนต์ไต่ผนัง หุ่นยนต์ลากรถ หุ่นยนต์ช่วยทำอาหาร หุ่นยนต์หมอนวด หุ่นยนต์ช่างทาสี หุ่นยนต์ตัวแรกที่ทำให้โลกรู้จักเขาคือ Wu No.5 ซึ่งได้รับรางวัลที่หนึ่งในการประกวดผลงานนักประดิษฐ์ชาวนาจีนในปี พศ.2545 เขาได้รับเงินรางวัล 10,000 หยวนหรือห้าหมื่นบาท และถือเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญในการเป็นนักสร้างหุ่นยนต์ของเขา

"หลังจากทุ่มเทมานานกว่าสิบหกปี ส่วนหุ่นยนต์ตัวที่ทำให้เขาโด่งดังและได้รับรางวัลมากมายคือ Wu No.25 เป็นตัวเดียวกับที่โฆษณาโทรศัพท์มือถือและออกงาน World Expo 2010 หุ่นยนต์ตัวนี้เป็นหุ่นยนต์ลากรถ ใครเห็นก็ต้องรักมันครับ เป็นลูกสุดรักสุดหวงของ Wu ปัจจุบันพัฒนาถึงขั้นออกเสียงได้ในขณะลากรถด้วยประโยค “ฉันคือหุ่นยนต์ลากรถ พ่อของฉันชื่อ Wu Yulu ฉันจะพาพ่อไปทุกที่ ”


 




วันนี้เขาได้รับการยอมรับจากสังคมจีนมากมาย ในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านการประดิษฐ์หุ่นยนต์ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยชื่อดังระดับชาติหลายสถาบัน รวมทั้งบริษัทพัฒนาหุ่นยนต์ของจีนหลายแห่ง ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาภูมิใจมากจากการที่คนระดับศาสตราจารย์ต้องมาขอคำปรึกษาจากเขาในการสร้างหุ่นยนต์ ความสำเร็จนี้เขาเชื่อว่าเพราะการทำงานหนักและจริงจังในงาน แต่สิ่งสำคัญคือการเรียนรู้อย่างไม่สิ้นสุด

วันนี้เขาเริ่มสนใจเรียนรู้ด้านคอมพิวเตอร์ร่วมกับลูกชายที่กำลังเรียนด้านวิศวกรรมศาสตร์ เพราะเขาเชื่อว่าจะต่อยอดความคิดสร้างสรรค์ของเขาได้ หลายปีมานี้เขาต้องเดินทางไปทั่วประเทศจีนร่วมกับ Wu No.25 เพื่อแสดงพลังแห่งความคิดสร้างสรรค์ของเขา กระตุ้นให้นักประดิษฐ์ชาวจีนโดยเฉพาะคนชนบทกล้าที่จะทำเช่นเดียวกับเขาและวันนี้เขาได้รับการยกย่องว่าเป็น “ชาวนานักประดิษฐ์ที่ฉลาดที่สุดของประเทศจีน” ท่านผู้อ่านเห็นด้วยไหมครับ


 


Wu Yulu กับผลงานที่เขาทำ
---------------------------------


แต่กว่าจะมีวันนี้ได้ 25 ปีที่ผ่านมาเขาต้องเจอปัญหามากมาย โดยเฉพาะความบ้าในการสร้างหุ่นยนต์ซึ่งมีมาก จนภรรยาและลูกชายสองคนของเขารับไม่ได้ที่พ่อหลงไหลกับการสร้างหุ่นยนต์ มากกว่าการทำหน้าที่พ่อที่ดี หลายครั้งภรรยาเขาขอหย่า ทุกครั้งเขาเองก็มักให้สัญญากับภรรยาว่าจะเริ่มทำมาหากินจริงจัง จะไม่ไปสร้างหุ่นยนต์อีกแล้วแต่สุดท้ายก็ไม่เคยรักษาสัญญาได้เลย ความหลงไหลในการสร้างหุ่นยนต์ มันนำปัญหาการเงินและอุบัติเหตุมาให้เขาเสมอ เขาเคยเป็นหนี้มากกว่า 90,000 หยวน หรือเกือบห้าแสนบาท จากการกู้ยืมเงินเพื่อนบ้าน ญาติพี่น้อง เพื่อมาใช้สร้างหุ่นยนต์ และที่ผ่านมาเขาหมดเงินกับความฝันของเขาไปมากกว่าล้านบาทแล้วซึ่งมันเป็นเงินมหาศาลสำหรับชีวิตชาวนาจีนจน ๆ

ทุกวันนี้เขาไม่มีนิ้วกลางมือซ้าย มีบาดแผลทั่วตัวเพราะอุบัติเหตุแบตเตอรี่ระเบิด รวมทั้งครั้งหนึ่งเขาต้องเสียบ้านทั้งหลังจากไฟฟ้าลัดวงจรเพราะการทดลองของเขา ภายนอกคนมักคิดว่าเขาเป็นคนซีเรียสมาก ไม่สนใจการใช้ชีวิตเหมือนคนอื่น ไม่กินเหล้าสูบบุหรี่ ไม่เล่นการพนัน แต่เขามักบอกทุกคนว่าเขาเป็นคนที่มีความสุขซึ่งภรรยาเขาก็ยืนยันว่าเป็นความจริง โดยเฉพาะเมื่อเขาอยู่ท่ามกลางลูก ๆ หุ่นยนต์ที่เขาสร้างขึ้นมา เป็นไงบ้างครับกับเรื่องราวชีวิตของ Wu Yulu คนกล้ากับพลังแห่งความคิดสร้างสรรค์แห่งแผ่นดินจีน ครั้งแรกที่ผมได้รู้จักเขาผมถามตัวเองว่าอะไรทำให้เขากล้าคิดต่อยอดความฝันในวัยเด็ก

ในบทความนี้น่าจะช่วยให้ท่านผู้อ่านพบคำตอบบ้างนะครับ ทุกวันนี้ในประเทศจีนมีการศึกษาวิธีคิดของนาย Wu Yulu เพื่อเอาไปเผยแพร่เป็นแบบอย่างและเป็นเครื่องมือในการกระตุ้นประชาชนจีนทุกระดับให้กล้าคิดอะไรใหม่ ๆ ที่เราเรียกว่าความคิดสร้างสรรค์ เพื่อจะใช้พัฒนาประเทศตามนโยบายสี่ ทันสมัยตั้งแต่ยุค เติ้ง เสี่ยว ผิง คือการเน้นพัฒนาสี่ด้าน ได้แก่ เกษตร อุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และการทหาร


 




ที่ผ่านมาสื่ออย่างรอยเตอร์ก็นำประวัติเขาและงานออกเผยแพร่ไปทั้งโลก มีนักวิจัยหลายประเทศสนใจศึกษาวิธีคิดของเขานำเรื่องราวเขาไปเผยแพร่ต่อมากมาย โดยเฉพาะวงการด้านพัฒนาหุ่นยนต์ให้ความสนใจมากเป็นพิเศษ ขนาดเจ้าพ่อหุ่นยนต์ระดับโลกอย่างญี่ปุ่นก็บินมาศึกษาหุ่นยนต์ที่เขาออกแบบอย่างละเอียดเพื่อนำไปใช้พัฒนาเทคโนโลยีด้านนี้ สุดยอดจริง ๆ สิ่งที่น่าสนใจในหลักคิดการออกแบบหุ่นยนต์ของนาย Wu Yulu คือหุ่นยนต์ทุกตัวของเขาทำงานแตกต่างกันตามการออกแบบเพื่อการใช้สอยในชีวิตประจำวัน ด้วยหลักการคิดสร้างผลิตภัณฑ์แบบ Simple, Strong และ Work ในฉบับที่แล้วไงครับ ต้องการอะไรก็ทำแบบนั้น ง่าย ๆ แต่ใช้ได้จริง

ความสำเร็จจากการใช้พลังแห่งความคิดสร้างสรรค์ ของ Wu Yulu ทำให้นักประดิษฐ์ชาวจีนเกิดขึ้นตามมามากมาย ที่ดังมากอีกคนเป็นเรื่องราวเมื่อปีที่ผ่านมาของชายหนุ่มวัย 34 ปีนาม Tao Xiangli อาชีพคุมเครื่องเสียงร้านคาราโอเกะ ที่ทำเอาทั้งโลกต้องตะลึงเมื่อเขาประดิษฐ์เรือดำน้ำที่ทำงานได้จริงจากวัสดุง่าย ๆ เช่น ถังน้ำมันสองร้อยลิตร และอะไหล่มือสองจากเชียงกง หมดเงินไป 30,000 หยวน หรือแสนห้าหมื่นบาทกับระยะเวลาสร้างสรรค์นานกว่าสองปี เขาจบแค่ประถมห้า ไม่มีความรู้ด้านเครื่องจักรกลใด ๆ เลย เกิดความคิดอยากทำจึงศึกษาเองและมุ่งมั่นทำจนสำเร็จท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่เป็นไปไม่ได้เลย

ผมเชื่อว่าประเทศไทยเรามีคนกล้ากับพลังแห่งความคิดสร้างสรรค์แน่นอน แต่ยังหาไม่พบมากกว่า ช้างเผือกยังอยู่ในป่า ถ้าสร้างเวทีให้เขาเปล่งประกายพลังแห่งความคิดสร้างสรรค์เราก็จะเจอครับ ฉบับนี้ขอลาก่อน อย่าลืมช่วยกันหาคนไทยที่มีความคิดสร้างสรรค์ดี ๆ มายกย่องกันนะครับ อาจเป็นท่านผู้อ่านก็ได้

 

 

 

โดย: สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ 
ที่มา:  ASTVผู้จัดการออนไลน์   2 ตุลาคม 2553

Views: 181

Reply to This

Replies to This Discussion

ช้างเผือกน่าจะออกจากป่าแล้วเข้าเมืองมาแล้วก็ได้ค่ะ
เพียงแต่ว่า จะเปล่งประกายเมื่อไร เมืองไทยเรามีคนเก่งเช่ือค่ะ
กดไลค์เหมือนในเฟซบุ๊คได้มั๊ยครับ

RSS

© 2009-2024   PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service