เมื่อมังงะ ของ ทาคาชิ มูราคามิ บุกพระราชวังแวร์ซายส์

 




โก้อีกแล้ว ทาคาชิ มูราคามิ (Takashi Murakami) ศิลปินร่วมสมัยชาวญี่ปุ่น เพราะล่าสุดผลงานศิลปะของเขาถูกเทียบเชิญให้ไปจัดแสดงที่ พระราชวังแวร์ซายส์ (Château de Versailles)

นอกจากประติมากรรมที่มีสีสันสดใส Flower Matango จะเป็นหนึ่งในผลงานที่ถูกนำไปจัดแสดงท่ามกลางผลงานศิลปะที่มีจัดแสดงมานานก่อนหน้า ไม่ว่าจะเป็นประติมากรรมสลักจากหินอ่อน และภาพเขียนของศิลปินชื่อดังสมัยศตวรรษที่ 18

ยังมีประติมากรรมชิ้นอื่นๆ อีกหลายชิ้นของมูราคามิ ที่ต่างได้รับอิทธิพลมากจากการ์ตูนมังงะของญี่ปุ่นและมีอารมณ์ของศิลปะในยุคบาโรคผสมอยู่ อาทิ Simple Thing , Yume Lion ,Tongari - Kun ฯลฯ ถูกนำไปจัดแสดงเพื่อเพิ่มสีสันให้กับความหรูหราของพระราชวังแห่งนี้ ซึ่งเป็นพระราชวังหลวงของประเทศฝรั่งเศส ที่ยิ่งใหญ่และสวยงามแห่งหนึ่งของโลก และเป็นหนึ่งในเจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคปัจจุบัน

โดยผลงานได้กระจายไปจัดแสดงตามห้องต่างๆ อาทิ ห้อง Salon de Venus ที่พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 (กษัตริย์ที่ทรงครองราชย์นานถึง 72 ปี และนับเป็นกษัตริย์ที่ครองราชย์นานที่สุดในยุโรป) มีไว้สำหรับต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองและจัดงานเลี้ยงรับรองที่หรูหรา กระทั่งปัจจุบันได้กลายมาเป็นห้องแสดงผลงานศิลปะ และมีประติมากรรมสลักจากหินอ่อนเป็นรูปพระเจ้าหลุยส์องค์นี้ สร้างขึ้นเมื่อ ค.ศ.1672 ตั้งตระหง่านอยู่ด้วย

รวมถึงในห้องที่เคยเป็นห้องรับรองของ Queen Marie - Therese,ห้อง Salon d’ Apollon ที่เคยเป็นห้องพระบรรทมของกษัตริย์และห้องโถงสำหรับใช้เวลาออกราชบัลลังก์ ซึ่งปัจจุบันจะเปิดใช้อย่างเป็นทางการในโอกาสพิเศษเท่านั้น

และห้องกระจก(Galerie des Glaces หรือ The Hall of Mirrors)ห้องที่มีชื่อเสียงมากที่สุดและเคยใช้เป็นห้องลงนามในสัญญาสงบศึกระหว่างสัมพันธมิตรกับเยอรมัน ในสงครามโลกครั้งที่ 1 และเคยใช้เป็นที่ลงนาม เมื่อครั้งเยอรมันบุกตีชนะฝรั่งเศสในสงครามโลกครั้งที่ 2 ห้องนี้พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ทรงทำการก่อสร้างเอง ภายในห้องประกอบด้วยกระจกยักษ์ 17 บาน เปิดออกแล้วจะเห็นสวนแวร์ซายส์อันสวยงาม

 



 







ผลงานทุกชิ้นถูกติดตั้งและเปิดแสดงอย่างเป็นทางการไปเมื่อวันจันทร์ที่ 13 ก.ย.ที่ผ่านมา และจะจัดแสดงไปจนถึงวันที่ 12 ธ.ค.ปีนี้ ภายใต้ชื่อนิทรรศการ Murakami Versailles

แต่ก่อนหน้าที่ผลงานจะเปิดแสดง ศิลปินจากแดนปลาดิบผู้เคยทำงานออกแบบให้กับแบรนด์ดังอย่างหลุยส์ วิตตอง ก็หนีไม่พ้นที่จะโดนกระแสวิพากวิจารณ์จากเหล่านักวิจารณ์ศิลปะบางส่วนว่า ผลงานของเขาไม่มีความเหมาะสมที่จะถูกนำมาจัดแสดงด้วยประการทั้งปวง

อีกทั้งความเห็นจากผู้ชมงานศิลปะบางรายที่เห็นว่าผลงานศิลปะร่วมสมัยของมูราคามิไม่อาจเทียบชั้นงานศิลปะระดับคลาสสิก และจะดูหมองลงไปทันที เมื่อต้องถูกนำมาเปรียบเทียบกับความสวยที่ไร้กาลเวลาของผลงานศิลปะภายในพระราชวังแวร์ซายส์

มูราคามิไม่ได้รู้สึกหวั่นไหวกับคำวิพากวิจารณ์และมองว่ามันเป็นเรื่องของความขี้อิจฉาและเป็นเกมอย่างหนึ่งของนักวิจารณ์เหล่านั้น

“มักจะมีคนที่ไม่พอใจกับงานของผม และแสดงความรู้สึกอะไรแบบนั้นออกมาเสมอ พอผมได้ยินคำวิจารณ์เหล่านี้ ผมจะบอกกับตัวเองว่า คนพวกนี้ยิงประตูอีกแล้ว เพราะพวกเขาทำราวกับตัวเองกำลังเล่นกีฬา

ความหมายของการแสดงงานศิลปะชุดนี้ ผมตั้งใจให้มันเป็นการเผชิญหน้าระหว่างศิลปะในยุคบาโรคและศิลปะของญี่ปุ่นยุคหลังสงครามโลก และหวังว่างานชุดนี้มันจะให้อะไรแก่ผู้เข้าชมในแง่สุนทรียะ และรู้สึกตกตะลึงกับความงามที่ไม่เข้ากันเลย”

ด้าน Jean - Jacques Aillagon ประธาน Château de Versailles กล่าวว่า สำหรับเขามันเป็นหน้าที่ที่จะเปิดพระราชวังแห่งนี้เพื่อต้อนรับงานศิลปะของยุคสมัยนี้ เพราะงานศิลปะไม่สมควรถูกจำกัดให้อยู่ในขอบเขตที่แคบๆ

เมื่อสองปีที่แล้ว เขาก็เคยเชิญศิลปินร่วมสมัยชาวอเมริกันนาม Jeeff Koons มาจัดแสดงผลงานที่นี่และก็เคยถูกวิพากวิจารณ์ว่าผลงานไม่มีความเหมาะสมกับสถานที่เช่นกัน

Jean - Jacques เห็นว่าผลงานของมูราคามิกับแวร์ซายสามารถอยู่ร่วมกันได้ อย่างเป็นเอกภาพ และยังบอกอีกด้วยว่าในอดีต พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 และกษัตริย์องค์ต่อๆมา ก็ล้วนแต่เป็นผู้ที่หลงใหลในงานศิลปะในยุคสมัยของตน เปิดกว้างให้การสนับสนุนศิลปิน และมักจะรื้อวังเพื่อสร้างและตกแต่งใหม่อยู่เรื่อยๆ

ไม่ว่าใครจะมีความรู้สึกอย่างไรกับนิทรรศการครั้งนี้ของมูราคามิ แต่เห็นด้วยหรือไม่ว่า ผลงานศิลปะบางชิ้นของเขา ตัวอย่างเช่นประติกรรมทำจากไฟเบอร์กลาสชื่อ Tongari - Kun ที่มีลักษณะคล้ายกบกลายพันธุ์ เขาแหลมบนหัวของมันได้ช่วยดึงสายตาเราให้ขึ้นไปชื่นชมความงามของภาพเขียนบนเพดาน สมัยศตวรรษที่ 18 ผลงานของ ศิลปิน Francois Lemoyne

เพราะที่ผ่านมามีผู้ชมจำนวนไม่น้อยที่เข้าไปชมพระราชวังแวร์ซาย มักจะมัวตื่นตาตื่นใจอยู่กับความอลังการของสถานที่ซึ่งถูกตกแต่งด้วยงานศิลปะไปทุกซอกทุกมุม จนแทบไม่มีเวลาที่จะใส่ใจในรายละเอียดของงานศิลปะแต่ละชิ้นเลยด้วยซ้ำ


 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 
 
 
 
โดย: ฮักก้า
ที่มา:  ASTVผู้จัดการออนไลน์  14 กันยายน 2553

Views: 937

Reply to This

Replies to This Discussion

โอ้โห ทำได้ไงอะ ที่สงสัยคือทำไปแสดงได้ไง

RSS

© 2009-2024   PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service