“ศรัทธา กรรม ปัญญา”
“...หลังจากที่ได้อ่านและศึกษางานของท่านพุทธทาส วันหนึ่งก็เกิดข้อสังเกตกับตัวเองว่า เอ๊ะ!...ทำไมฉันจึงรู้สึกว่าเป็นคนแปลกหน้ากับศาสนาของตัวเอง คือ รู้สึกว่าสิ่งที่เรียนมากับสิ่งที่ท่านพุทธทาสสอนมันไม่ใช่! ตกลงใครผิด!? ใครผิดกันแน่? เรารู้มาแบบผิดๆ หรือว่าท่านพุทธทาสสอนนอกรีตกันแน่!?
เมื่อศึกษางานของท่านมากขึ้นๆ จึงได้ค้นพบความจริงอย่างหนึ่งว่า ท่านพุทธทาสถูกมากๆ ส่วนที่ผิดก็คือพวกเรานี่แหละ! เราถูกสอนเรื่องพระพุทธศาสนากันมาแบบจารีตนิยม ที่เอาพุทธเข้ามาเมืองไทยแล้วนำไปปนกับพราหมณ์ ปนไปกับผี ปนไปกับไสยเวทวิทยาต่างๆ แล้วเราก็พากันบอกว่านั่นคือ...พุทธศาสนา!? แต่ท่านพุทธทาสสอนพุทธศาสนาตัวแท้ที่มาจากพระโอษฐ์ของพระพุทธเจ้า แต่จะมีสักกี่คนที่จะเห็นคุณค่าที่แท้จริงของท่าน...
อย่างเช่นการสอนในเรื่องของกฎแห่งกรรม ในสังคมไทยเรานี้สอนเรื่องกฎแห่งกรรมแบบพราหมณ์ คือ คนไหนทำกรรม พอไปเกิดชาติหน้า คนนั้นก็รับกรรมแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ แล้วคนไทยก็เชื่อกันมากในเรื่องของการเวียน ว่าย ตาย เกิด ชนิดที่ว่าเป็นตัวเป็นตน อย่างเช่นคนคนนี้ทำ เดี๋ยวชาติหน้าคนคนนี้เกิด แล้วจึงค่อยรับกรรม สอนอย่างนี้มันก็ไปเข้าทฤษฎีอัตตาของพราหมณ์ ที่ว่าทุกสิ่งทุกอย่างมั่นคง เที่ยงแท้ แต่ในทางพุทธศาสนาสอนลึกไปกว่านี้อีก ถึงขั้นที่ว่าไม่มีตัวไม่มีตน แต่คำสอนอย่างนี้เราไม่ค่อยสอนกัน เราจะสอนเฉพาะ นาย ก. ทำกรรม นาย ก. ตายไป นาย ก. ก็ไปรับกรรม แต่ท่านพุทธทาสบอกว่า สอนอย่างนี้มันก็ถูก แต่มันต้องสอนให้ลึกไปกว่านั้น เช่น นาย ก. ทำกรรม นาย ก. รับกรรม และนาย ก. สามารถอยู่เหนือกรรมก็ได้ด้วย
ซึ่งแท้ที่จริงเรื่องกรรมที่สอนกันอยู่นี้ เป็นการสอนของพราหมณ์ทั้งนั้นเลย อยากจะพูดชัดๆอย่างนี้แหละ เอาไปบอกต่อด้วย เพราะเราไม่ได้สอนพุทธศาสนา แต่เรากำลังสอนพราหมณ์ในนามของพุทธ เพราะคำว่า ‘กรรม’ ของพระพุทธเจ้า ท่านหมายถึง ‘เจตนา’ หากคุณทำอะไรก็ตามมีเจตนาประกอบอยู่ด้วยสิ่งนั้นจึงเป็นกรรม และกรรมที่เราทำ ไม่ใช่ทำชาตินี้ แล้วจะไปได้ผลในชาติหน้า...ไม่ใช่หรอก อย่างเราหิวข้าว เรามีเจตนาใช่ไหม เราก็ไปซื้ออาหารมากิน มันก็เป็นกรรมแล้ว คือ ฉันกำลังทานข้าว ซึ่งมันจะไปอิ่มกันชาติหน้าไหม? มันก็ไม่ใช่ กินเดี๋ยวนี้ สักพักมันก็อิ่ม มันก็เห็นทันตาเลย มันก็ง่ายๆอย่างนี้แหละเรื่องกรรมของพระพุทธเจ้า...”
บทความข้างต้นนี้ ผมได้ยกเอาธรรมเทศนาของพระอาจารย์ ว. วชิรเมธี มาอ้างอิงไว้ครับ
และหลังจากที่ได้รับฟังธรรมเทศนาจากท่านแล้ว ผมก็ตระหนักถึงปัญหาหนึ่งที่สำคัญยิ่งว่า เพราะเหตุใดคนรุ่นใหม่อย่างรุ่นของผมเอง และเยาวชนคนรุ่นถัดไปจากนี้จึงไม่ค่อยสนใจในเรื่องพุทธศาสนา หรือไม่สนใจในศาสนาอื่นๆ หรือไม่ค่อยจะศรัทธาในเรื่องของคุณงามความดี ซึ่งเป็นหลักที่เอาไว้ใช้ยึดเหนี่ยวทางด้านจิตวิญญาณของตน แต่กลับหันไปสนใจและศรัทธาในวัตถุและกิเลสยั่วใจต่างๆ ซึ่งเป็นเรื่องทางโลกที่สุดโต่งจนเกินไป มันเกินพอดี
ผมพอที่จะวิเคราะห์ได้ว่า นั่นคงเป็นเพราะว่าพวกเขาถูกสอนและถูกล้างสมอง ด้วยการนำเอาเรื่องของการทรงเจ้าเข้าผี และเรื่องของเทพเทวามาปะปนเพื่อให้เกิดเป็นความรู้สึกศรัทธาในสิ่งที่มีอิทธิฤทธิ์เหนือธรรมชาติมานาน จนกระทั่งพวกเขามองไม่เห็นแก่นแท้ของหลักคำสอนที่งดงามของพระพุทธศาสนา ที่มุ่งเน้นในเรื่องของการศึกษาหาความรู้ ทำการทดลอง และนำไปปฏิบัติใช้ ซึ่งเป็นเรื่องทางวิทยาศาสตร์โดยแท้ สามารถอธิบายด้วยเหตุด้วยผลได้ และพุทธศาสนาก็มิใช่เรื่องลึกลับซับซ้อนที่ไม่สามารถเอื้อมไปถึงได้แต่อย่างใดเลย ทว่า...กลับมีพระสงฆ์ส่วนหนึ่งที่แต่งตั้งตนให้เป็นเกจิอาจารย์ทำการปลุกเสกเครื่องรางของขลังและวัตถุมงคลต่างๆนานา ซึ่งการกระทำเช่นนั้น นับเป็นการนำพาพุทธศาสนาเนื้อแท้ให้ถอยห่างออกไปจากสังคมและประชาชนคนไทยที่นับถือพุทธศาสนา
มีปัญญาชนและวัยรุ่นจำนวนมากมายที่เขาได้รับการศึกษามาเป็นอย่างดี เมื่อรับทราบข่าวสารและได้เห็นภาพของพระสงฆ์ส่วนหนึ่ง ซึ่งท่านควรที่จะเป็นสรณะเป็นที่พึ่งทางด้านจิตวิญญาณให้แก่พวกปัญญาชน แต่กลับมาทำพิธีบูชาผี บูชาเทพ ปลุกเสกวัตถุมงคล แต่งตั้งตนเองให้เป็นเกจิอาจารย์ เมื่อปัญญาชนที่มีความรู้เป็นผู้ที่มีปัญญาพบเห็นภาพแบบนั้นเข้า จึงเกิดเป็นความรู้สึกเสื่อมศรัทธาในพระสงฆ์ เพราะการกระทำของพระสงฆ์กลุ่มหนึ่งนั้น มันไม่สามารถอธิบายด้วยเหตุด้วยผลได้ สาวกของพระพุทธเจ้าดังที่พวกเขาเห็น ช่างไม่น่าเคารพนับถือเอาเสียเลย จึงเกิดเป็นเหตุให้เสื่อมในศรัทธาทั้งต่อพระสงฆ์และต่อพระพุทธศาสนาในที่สุด
เนื่องเพราะปัญญาชนเหล่านั้น นับเป็นผู้ที่มีการศึกษาที่ดีและใช้วิจารณญาณเป็น ก็จึงสมเหตุสมผลพอสมควรที่จะทำให้พวกเขาถอยห่างออกไปจากพุทธศาสนาที่เป็นเปลือก ซึ่งมีสังฆะกลุ่มหนึ่งได้นำเอาเปลือกที่ไร้แก่นสาระมาพอกปิดบังพระพุทธศาสนาเนื้อแท้ที่งดงามเอาไว้ ซึ่งผมเชื่อว่า นั่นก็เป็นปัจจัยหลักสำคัญที่พระพุทธศาสนาถูกเผยแผ่ไปในแนวทางที่ผิดรูปผิดรอยไปจากหลักคำสอนที่แท้จริง ซึ่งแก่นแท้ของพุทธศาสนามุ่งเน้นให้ใช้ “ปัญญา” มากกว่าที่จะใช้เพียงแค่ “ศรัทธา” แต่ปัจจุบันคนรุ่นผม และเยาวชนคนรุ่นหลังจากผม กลับถูกสอนเรื่องพุทธศาสนากันด้วยเรื่องให้ใช้ “ศรัทธา” นำ “ปัญญา” ไปเสียอย่างนั้น ผมจึงไม่รู้สึกแปลกใจแต่อย่างใดเลยที่ช่วงระยะเวลาหนึ่งในช่วงชีวิตของผม ผมได้เคยรู้สึกแปลกแยกและรู้สึกต่อต้านพุทธศาสนา รู้สึกว่าตนเองเป็นคนไม่มีศาสนา นั่นเป็นเพราะว่าผมไม่เข้าใจเนื้อหาสาระที่แท้จริงของพุทธศาสนาต่างหาก เพราะผมถูกปลูกฝังมาแบบผิดๆตั้งแต่เล็กจนโต ถูกบอกให้กราบในสิ่งที่ไม่สมควรกราบ ถูกบอกให้เชื่อและให้ศรัทธาในสิ่งที่ไม่ควรเชื่อและไม่ควรศรัทธา อย่างเช่นเรื่องการนับถือบูชาผี กราบวัตถุสิ่งที่เป็นสมมติเทพ และนับถือเทวาจนฝังหัวกลายเป็นคนงมงาย และถูกปลูกฝังเรื่องของกฎแห่งกรรมมาแบบสุดโต่ง ไม่ค่อยได้รับการสอนให้เข้าใจในหลักธรรมที่แท้จริง เป็นต้น
ฉะนั้นแล้วการที่คนรุ่นใหม่จะตีตัวออกห่างไปจากพุทธศาสนาจึงไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด หากสังคมไทยของเรายังคงสอนเรื่องพุทธศาสนาเช่นเดิมอย่างที่ทำๆกันมา และพระสงฆ์ยังคงกระทำในสิ่งที่ไม่ใช่กิจของสงฆ์สืบไปดังเช่นนี้ จะไปโทษเยาวชนคนรุ่นใหม่ก็ไม่ได้เช่นกัน ว่าเป็นคนที่ไม่มีศรัทธาในศาสนา หรือเป็นคนไม่มีศาสนา นั่นเป็นเพราะว่าสมณะบางส่วนมิได้สอนในสิ่งที่เป็นเนื้อแท้ของพุทธธรรมนั่นเอง
หากจะกล่าวถึงหลักธรรมที่เป็นเนื้อแท้ให้เข้าใจกันอย่างง่ายๆ ผมจึงขอยกเอาตัวอย่างลักษณะทั่วไปของพุทธธรรม ซึ่งพระพรหมคุณาภรณ์ท่านได้เขียนเอาไว้ 2 ลักษณะ คือ...
1 แสดงหลักความจริงสายกลางที่เรียกว่า “มัชเฌนธรรม” หรือที่เรียกเต็มว่า “มัชเฌนธรรมเทศนา” ว่าด้วยความจริงตามแนวของเหตุผลบริสุทธิ์ตามกระบวนการของธรรมชาติ นำมาแสดงเพื่อประโยชน์ในทางปฏิบัติในชีวิตจริงเท่านั้น ไม่ส่งเสริมความพยายามที่จะเข้าถึงสัจธรรมด้วยวิธีการถกเถียงสร้างทฤษฎีต่างๆขึ้นแล้วยึดมั่นปกป้องทฤษฎีนั้นๆ ด้วยการเก็งความจริงทางปรัชญา
2 แสดงข้อปฏิบัติสายกลาง ที่เรียกว่า “มัชฌิมาปฏิปทา” อันเป็นหลักการครองชีวิตของผู้ฝึกอบรมตน ผู้รู้เท่าทันชีวิต ไม่หลงงมงาย มุ่งผลสำเร็จ คือ ความสุข ความสะอาด สว่าง สงบ เป็นอิสระ ที่สามารถมองเห็นได้ในชีวิตนี้...
พระพุทธศาสนานั้นเป็นศาสนาแห่งการกระทำ (กรรมวาท และกิริยวาท) เป็นศาสนาแห่งความเพียรพยายาม (วิริยวาท) ไม่ใช่ศาสนาแห่งการอ้อนวอนปรารถนา หรือเป็นศาสนาแห่งความห่วงกังวล การสั่งสอนธรรมของพระพุทธเจ้ามุ่งผลในทางปฏิบัติ ให้ทุกคนจัดการกับชีวิตที่เป็นอยู่จริงๆในโลกนี้และเริ่มแต่บัดนี้ ความรู้ในหลักที่เรียกว่ามัชเฌนธรรมเทศนาก็ดี การประพฤติตามมรรคาที่เรียกว่ามัชฌิมาปฏิปทาก็ดี เป็นสิ่งที่ทุกคนไม่ว่าจะอยู่ในสภาพและระดับชีวิตอย่างใด สามารถเข้าใจและนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ได้ตามสมควรแก่สภาพและระดับชีวิตนั้นๆ... (อ้างอิงข้อความมาจากหนังสือพุทธธรรม : หน้า 6)
จากข้อเขียนของพระพรหมคุณาภรณ์ดังที่ผมยกมาประกอบบทความนี้ จะเห็นได้อย่างชัดเจนเลยว่า ถ้าหากผู้ที่นับถือพระพุทธศาสนาอย่างเข้าใจและเป็นไปในวิถีทางที่ถูกหลัก โดยการมุ่งผลในทางปฏิบัติในชีวิตจริงเป็นสำคัญ เริ่มต้นด้วยการมองให้เห็นถึงปัญหาต่างๆที่ปรากฏขึ้นมาในชีวิต ทำการเรียนรู้เกี่ยวกับปัญหานั้นๆ แล้วค้นหาสาเหตุเพื่อจะกำหนดจุดหมายและหาหนทางวางวิธีการแก้ไขปัญหาของชีวิต และนำไปสู่การแก้ไขปัญหานั้นๆ ซึ่งนี่เป็นแนวทางของการนับถือพระพุทธศาสนาที่ถูกต้อง และก็มิได้เป็นเรื่องลึกลับซับซ้อนแต่อย่างใดเลย ไม่มีเรื่องของอิทธิฤทธิ์หรือปาฏิหาริย์แม้แต่น้อย และก็มิได้เชื่อมโยงไปถึงเรื่องเครื่องรางของขลังแม้แต่นิด เพราะพระพุทธศาสนาสอนให้รู้จักความจริง ทำให้คนเกิดปัญญา ทำให้คนมองเห็นสัจธรรมว่า ควรจะประพฤติปฏิบัติต่อชีวิตของตนเอง ต่อโลก และต่อสิ่งแวดล้อมทั้งหลายอย่างไร มุ่งเน้นในทางปฏิบัติด้วยศักยภาพของตนทั้งสิ้น มิใช่การอ้อนวอนต่อสิ่งที่ตนเชื่อว่าศักดิ์สิทธิ์
สาเหตุที่ผมเขียนบทความนี้ขึ้นมานั้น ก็หวังเพียงเพื่ออยากที่จะกระตุ้นเตือนสติของท่านผู้อ่านที่นับถือพระพุทธศาสนาไปในทางที่ไม่ถูกไม่ควรนัก โดยที่ใช้ “ศรัทธา” ไปนำ “ปัญญา” ซึ่งผิดหลักยิ่งนักแล และในการเขียนบทความนี้ ผมก็มิได้มีเจตนาหลบหลู่หรือดูหมิ่นพระสงฆ์แต่อย่างใด แต่ที่เขียนขึ้นนี้ก็เพื่อต้องการที่จะชี้ให้เห็นถึงคุณประโยชน์และโทษที่อาจจะได้รับ จากการที่เคารพและศรัทธาพระพุทธศาสนาโดยที่มิได้ใช้ “ปัญญา” กำกับนั่นเอง เพราะถึงอย่างไรหนึ่งในรัตนตรัยซึ่งเป็นสรณะทางจิตวิญญาณเช่นพระสงฆ์นั้น ผมก็ยังคงให้ความเคารพและศรัทธาเสมอมา
และผมก็ได้นำเอาคำของพระพุทธองค์ดังที่ว่า “ประโยชน์ได้ล่วงเลยคนเขลาผู้มัวคอยแต่เชื่อฤกษ์ยาม ในขณะที่คนดีทำประโยชน์ได้มากมายเพราะไม่คอยฤกษ์” มายึดปฏิบัติ ก็หวังใจว่าบทความนี้จะมีประโยชน์ต่อท่านผู้อ่านได้บ้างไม่มากก็น้อย เพราะผมได้เสียเวลาไปกับการหาฤกษ์หายามอ้างเพื่อจะทำสิ่งที่ดีและมีประโยชน์ต่อสังคมมานานมากพอแล้ว ดังนั้นการที่ผมได้เขียนบทความนี้ขึ้นมา ก็คงพอที่จะได้ชื่อว่า เป็นคนรู้ในคุณค่าของเวลาและเป็นคนที่มีประโยชน์อยู่บ้าง ขอให้ท่านได้รับปัญญาจากการอ่านบทความนี้
สุดท้ายนี้ก็ขอฝากพุทธพจน์ไว้ให้ท่านทั้งหลายได้อ่านและขบคิดตามไป ดังนี้...
“ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นหัวหน้า มีใจเป็นเจ้าใหญ่ สำเร็จด้วยใจ ถ้าบุคคลมีจิตใจเสียหายแล้ว จะพูดก็ตาม จะทำก็ตาม ความทุกข์ย่อมติดตามเขาไป เหมือนล้อหมุนตามโคที่ลากเกวียน ถ้าบุคคลมีจิตใจผ่องใสแล้ว จะพูดก็ตาม จะทำก็ตาม ความสุขย่อมติดตามมา เหมือนดังเงาที่ติดตามตัว” (พุทธพจน์ จากหนังสือพุทธธรรม : หน้า 162)
“ภิกษุทั้งหลาย เจตนานั่นเองเราเรียกว่ากรรม บุคคลจงใจแล้วจึงกระทำกรรมด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ” (พุทธพจน์ จากหนังสือพุทธธรรม : หน้า 214)
“บุคคลประพฤติชอบเวลาใด เวลานั้นได้ชื่อว่าเป็นฤกษ์ดี มงคลดี เป็นเช้าดี อรุณดี เป็นขณะดี ยามดี และเป็นอันได้ทำบูชาดีแล้วในท่านผู้ประพฤติพรหมทั้งหลาย แม้กายของเขาก็เป็นสิทธิโชค วจีกรรมก็เป็นสิทธิโชค มโนกรรมก็เป็นสิทธิโชค ประณิธาณของเขาก็เป็นสิทธิโชค ครั้นกระทำกรรมทั้งหลายที่เป็นสิทธิโชคแล้ว เขาย่อมได้ประสบแต่ผลที่มุ่งหมายอันเป็นสิทธิโชค” (พุทธพจน์ จากหนังสือพุทธธรรม : หน้า 215)
“การเพียรพยายามเป็นหน้าที่ที่ท่านทั้งหลายต้องทำเอง ตถาคตเป็นแต่ผู้บอกทาง” (พุทธพจน์ จากหนังสือพุทธธรรม : หน้า 217)
“ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงมีตนเป็นที่พึ่งเถิด อย่ามีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งเลย จงมีธรรมเป็นที่พึ่งเถิด อย่ามีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งเลย” (พุทธพจน์ จากหนังสือพุทธธรรม : หน้า 218)
ขอให้ทุกท่านมีความสุข มีความเจริญ มีปัญญา
ขอให้บุญรักษา ขอให้พระคุ้มครอง
________________________________________________________
Tags:
© 2009-2024 PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE. Powered by