แรงบันดาลใจแห่งดีไซน์อย่างสร้างสรรค์

 

 

เมื่อไม่นานมานี้ เพิ่งได้มีโอกาสไปร่วมดูงานทางด้านการดีไซน์เพื่อนำมาผสมผสานกับศาสตร์ทางการจัดการและธุรกิจ ถือว่าเป็นเทรนด์ใหม่ที่กำลังมาแรงในโลกแห่งการบริหาร แน่นอนว่าประเทศที่ไปเยี่ยมชมนั้น ก็ไม่พ้นประเทศที่เป็นเจ้าแห่งการดีไซน์นั่นคือ อิตาลี ที่ถือเป็นแหล่งกำเนิดแบรนด์ดัง ๆ ระดับโลกที่เปี่ยมด้วยสุนทรียะมากมาย

ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือดีไซเนอร์เก่ง ๆ ที่สร้างสรรค์ผลงานเป็นที่ยอมรับนั้นได้รับแรงบันดาลใจมาจากไหน หรือพูดง่าย ๆ คือคิดมาได้อย่างไร จากการสอบถามพูดคุยกันกับทางหน่วยงานของอิตาลีนั้น ก็ได้ข้อสรุปสำหรับแหล่งกำเนิดของดีไซน์ที่ทรงสัมฤทธิผลว่า ดีไซน์ที่ดีนั้นนับว่ามีจุดกำเนิดมาจากแรงบันดาลใจเป็นที่ตั้งครับ

โดยนอกเหนือจากดีเอ็นเอด้านความสวยความงามที่ถูกปลูกฝังกันมานานนมของคนอิตาเลียน จนก่อให้เกิด "จิตสำนึกของความสวยงาม" หรือ taste of beauty แล้ว การเป็นดีไซเนอร์มือฉมังนั้นควรเริ่มจากการสังเกตสิ่งรอบตัวที่รายล้อมอยู่ ทุก ๆ อย่างนั้นสามารถเป็นแรงบันดาลใจได้ทั้งสิ้นครับ ไม่ว่าจะเป็นข้าวของเครื่องใช้ วิถีชีวิต สิ่งแวดล้อมธรรมชาติ สถาปัตยกรรมที่มีมานาน รากฐานทางวัฒนธรรมประเพณี ฯลฯ เรียกว่าคน สัตว์ สิ่งของ พ่วงด้วยบรรยากาศรอบตัว เป็นแรงผลักดันให้เกิดการสร้างสรรค์ที่ดีสำหรับรูปลักษณ์ที่มีสุนทรียะงดงามทั้งสิ้น

อาทิ เครื่องดนตรีหลากหลายชิ้นที่มีสไตล์แปลกใหม่ของอิตาเลียน ก็ได้รับแรงบันดาลใจมาจากถ้วยโถโอชาม ภาชนะ ที่เราใช้กันอยู่ประจำวันนั่นเอง ซึ่งจากการสังเกตของนักดีไซน์ว่าทุกครั้งที่มีการกระทบกัน ต่างมุม ต่างความหนาของภาชนะ ต่างรูปทรง ก็ล้วนแล้วแต่ทำให้เสียงที่ออกมาต่างกัน จนนำมาร้อยเรียงเป็นเครื่องดนตรีชนิดใหม่ ๆ ได้มากมาย

หรือแม้แต่ตัวเอกในภาพยนตร์ที่รับรองว่า คนรุ่น ๆ เดียวกันกับผมต้องรู้จักกันทั้งโลก คือตัว อีที ก็ได้รับแรงบันดาลใจในการออกแบบมาจากหุ่นกระบอกอิตาเลียนสมัยก่อน ซึ่งปัจจุบันก็ยังแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์การออกแบบที่มิลาน เรียกว่าเอาวัฒนธรรมดั้งเดิมมาสร้างมูลค่าเพิ่มเชิงการค้าออกสู่สายตาของชาวโลกได้อย่างทรงประสิทธิภาพอย่างแท้จริง

สถาปัตยกรรมต่าง ๆ ที่สวยงามรอบเมืองของอิตาลี ก็เป็นแรงจูงใจในการสร้างสรรค์งานแฟชั่นชั้นนำของโลกออกมาไม่น้อย รูปทรงของตึก เสา หรือแม้แต่หน้าคนแกะสลักที่มีอยู่เกือบจะทุกหัวระแหงในตึกต่าง ๆ ที่อิตาลี ก็นำมาผันเป็นโลโก้แบรนด์เนมระดับหรูชื่อก้องโลกที่หลาย ๆ ท่านรู้จักกันดี และงานสถาปัตยกรรมเหล่านี้ก็ส่งผลต่องานออกแบบของดีไซเนอร์และสถาปนิกรุ่นใหม่ ๆ อีกมากมายเช่นเดียวกัน โดยนำมาประยุกต์กับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละช่วงเวลาได้อย่างกลมกลืนอีกด้วย

รูปภาพหรืองานศิลปะที่มีมากมายในอิตาลี ก็ได้รับการยืนยันว่าเป็นแรงบันดาลใจกับดีไซเนอร์ไม่น้อย ทั้งส่วนประกอบหลักและย่อยต่าง ๆ ในรูปภาพที่โดดเด่น ดังกรณีของลีโอนาร์โด ดาวินชี ก็นำมาพัฒนาต่อเนื่องกันไปอีกมาก และหากยังจำกันได้ คือภาพที่โด่งดังที่สุดภาพหนึ่งคือ The Last Supper ที่ได้นำมาร้อยเรียงเรื่องราวออกมาเป็นหนังสือที่ขายดีที่สุดทั่วโลกเล่มหนึ่ง คือ ดาวินชีโค้ด ก็ถือเป็นการดีไซน์ในอีกลักษณะหนึ่งเช่นกัน แต่เป็นการออกแบบธีมและแต่งเรื่องราวต่าง ๆ ตามจินตนาการที่นับว่าน่าพิศวงสำหรับคนทั่วโลก

จนเมื่อนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ก็โด่งดัง สร้างรายได้ติดบอกซ์ออฟฟิศทั่วโลกเช่นเดียวกัน และยิ่งเป็นการสร้างกระแสให้นักท่องเที่ยวทั่วโลกอยากไปเห็นภาพดังกล่าวของจริงที่อิตาลี จนดีมานด์ล้นทะลักทะลาย นับว่าเป็นการส่งเสริมธุรกิจการท่องเที่ยวอีกโสตหนึ่งด้วย เรียกว่างานนี้ดีไซน์นำมาสู่การ win-win-win กันทุกฝ่ายครับ

ในกรณีของทรัพยากรธรรมชาติต่าง ๆ ก็สร้างแรงบันดาลใจได้ไม่แพ้กันครับ อาทิ หินอ่อนอิตาลีที่ได้รับการขนานนามว่ามีความสวยงามและมีคุณสมบัติโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์มากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ก็นำมาซึ่งการสร้างสรรค์งานออกแบบก่อสร้างและตกแต่งทั้งภายนอกภายในต่าง ๆ

โดยเฉพาะหินอ่อนประเภทหนึ่งที่มีเนื้อผสมลักษณะคล้ายแก้ว ที่คนอิตาเลียนชื่นชมกันมาก ก็นำมาซึ่งการพัฒนาต่อยอดในธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และการตกแต่ง ทำให้กิจการจากอิตาลีถือเป็นแถวหน้าทางด้านธุรกิจการก่อสร้างที่มีมูลค่าเพิ่มสูง หาตัวจับยากแห่งหนึ่งของโลกทีเดียว

นอกจากนี้ยังมีอีกมากมายนับไม่หวาดไม่ไหวเลยทีเดียว สำหรับนักดีไซน์ที่ควรต้องอาศัยความช่างสังเกตและนำเอาทุกอย่างรอบตัวมาเป็นแรงบันดาลใจได้เป็นอย่างดี ซึ่งก็นำมาซึ่งความได้เปรียบทางการแข่งขันในโลกธุรกิจปัจจุบันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ครับ โดยเฉพาะในโลกยุคที่การแข่งขันด้านราคามีอยู่ดาษดื่น การสร้างความแตกต่างให้เห็นทางด้านสุนทรียะ ซึ่งสร้างอรรถประโยชน์ด้านอารมณ์ความรู้สึก ถือเป็นมูลค่าเพิ่มให้กับลูกค้าที่ประเมินค่ามิได้กันเลยทีเดียว

อย่างไรก็ตามมิใช่ว่าการดีไซน์จะมุ่งเน้นที่ความสวยงามเป็นหลักแต่เพียงอย่างเดียว เพราะหากสวยแต่รูปจูบไม่หอมอย่างที่เขาว่ากัน คือใช้ไม่ได้จริง ๆ จับต้องลำบาก ก็ยากจะประสบความสำเร็จในการเข้าสู่ตลาด

ดังนั้นจึงต้องคำนึงถึงการใช้งานจริงของลูกค้าควบคู่กันไปด้วยอยู่ตลอดเวลา จึงจะทำให้สินค้าบริการของเราเปี่ยมไปด้วยทั้งอรรถประโยชน์ด้านอารมณ์และการใช้งาน จึงจะถือเป็นการผนวกดีไซน์สร้างสรรค์เข้าไปในสินค้าบริการอย่างกลมกลืน สามารถยกระดับแบรนด์ของตน และนำไปสู่การจับตลาดพรีเมี่ยม ผลตอบแทนที่กิจการจะได้รับก็ย่อมพุ่งสูงขึ้นตามไปด้วย นับว่าเป็นการสร้างสมดุลระหว่างพาณิชย์และศิลปะ ที่นับว่ามีความจำเป็นอย่างมากในโลกแห่งการแข่งขันรุนแรงใบนี้

บ้านเราเองก็นับว่ามีความสวยงามเช่นที่ว่าไม่แพ้ใครเหมือนกัน ทั้งดีไซเนอร์และนักบริหารไทยก็อาจจะมองหาแรงบันดาลใจใกล้ตัว และนำมาพัฒนาต่อยอดให้กลายเป็นสุนทรียะที่เป็นเอกลักษณ์แตกต่างจากชาติอื่นอย่างชัดเจน สร้างสรรค์ความสามารถทางการแข่งขันอย่างยั่งยืนระยะยาวครับ

 

 

โดย: รศ.ดร.ธีรยุส วัฒนาศุภโชค

ที่มา: ประชาชาติ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2553

Views: 51

Reply to This

Replies to This Discussion

แหมมม อ่านแล้วสร้างแรงบันดาลใจได้อีกเยอะเลย ขอบคุณนะคะ *^_^*

RSS

© 2009-2024   PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service