George Seurat จิตรกรผู้บุกเบิกศิลปะสไตล์ Pointillism



George Seurat เกิดเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม ค.ศ. 1859 ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส บิดาเป็นนักกฎหมายที่ร่ำรวยจากการลงทุนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ การเป็นลูกคนสุดท้องของครอบครัว ทำให้ทุกคนเอาใจ และเอ็นดู Seurat โดยพาไปเดินเล่นในสวนสาธารณะบ่อย

ในช่วงที่เรียนหนังสือชั้นมัธยม Seurat มิได้สนใจศิลปะที่เป็นการวาดภาพประวัติศาสตร์และภาพเทพนิยายเลย เขาจึงแตกต่างจากศิลปินคนอื่นๆ แต่ต้องการสร้างศิลปะที่เป็นของตนเอง ดังนั้นจึงเข้าเรียนต่อที่ Ecole des Beaux-Arts ขณะเรียน Seurat สนใจเทคนิคการใช้สีของ Delacroix, Ingres, Poussin และ Raphael มาก ดังนั้นเมื่อได้ชมภาพ Impressionism จึงรู้สึกตกใจมากที่เทคนิคนี้แตกต่างจากการวาดรูปแบบคลาสสิกอย่างสิ้นเชิง

เมื่ออายุ 21 ปี หลังจากที่ได้ใช้ชีวิตเป็นทหารนานหนึ่งปีที่ Brest บนฝั่ง Brittany ความคลั่งไคล้ในงานศิลปะทำให้ Seurat ใช้เวลาอีก 1-2 ปีเพื่อพัฒนาเทคนิควาดและระบายภาพด้วยการใช้แต่สีขาวและดำ จนรู้ว่าต้องใช้ความเข้มต่างกันอย่างไร จึงจะเห็นความกลมกลืนของสีตามที่ต้องการ

จากนั้น Seurat ได้คิดวิธีแต้มจุดสีเล็ก ๆ ลงบนพื้นที่ว่างเปล่าของผืนผ้าใบ โดยให้จุดสีที่อยู่ใกล้กันปล่อยสีออกมาผสมกันในตา การผสมสีลักษณะนี้จึงไม่ได้เกิดในจานสี แต่เกิดในจอภาพ (retina) ของตา เช่น ถ้าต้องการจะเห็นสีเขียว Seurat ก็จะแต้มจุดน้ำเงินลงไป แล้วแต้มจุดสีเหลืองลงไปข้าง ๆ เพราะจุดมีมากเป็นแสน-ล้านจุด ดังนั้น ความกลมกลืนของสีจะเกิดอย่างต่อเนื่อง และถ้าต้องการดูว่าภาพที่ Seurat วาดเป็นภาพอะไร คนดูจะต้องยืนห่างจากภาพ 3 เมตรขึ้นไป จึงจะมองออก และนี่ก็คือสไตล์การวาดภาพแบบ Pointillism ที่มี Seurat เป็นผู้ให้กำเนิด


Bathers at Asnières. 1883-84. Oil on canvas. National Gallery, London
-----------------


ผลงานชิ้นแรกของ Seurat ที่ชื่อ Bathers at Asnieres ถูกปฏิเสธมิให้นำออกแสดงในงานแสดงศิลปกรรม แต่ในปี 1884 เมื่อ Seurat นำภาพ Sunday Afternoon on the Island of La Grande Jatte ออกแสดงที่ Salon des Independants คนชมภาพหลายคนหัวเราะเยาะ ถึงกระนั้นคนส่วนใหญ่ก็สนใจแต่ไม่ชอบ ดังนั้น Seurat จึงเก็บภาพไว้ในสตูดิโอ จนกระทั่ง Seurat เสียชีวิตในปี 1891 ทั้ง ๆ ที่มารดาของ Seurat มีความประสงค์ที่จะยกภาพที่ Seurat วาดให้แก่พิพิธภัณฑ์ แต่ไม่มีพิพิธภัณฑ์ใดประสงค์จะได้ จนกระทั่ง Seurat จากไปแล้วถึง 9 ปี ครอบครัวของ Seurat กับเพื่อน ๆ จึงนำผลงานของ Seurat ออกแสดงและขาย โดยระบุว่า ภาพที่ไม่มีกรอบ จะขายในราคา 10 ฟรังก์ ส่วนภาพที่ใส่กรอบ จะขายในราคา 100 ฟรังก์ ในที่สุดชายชาวปารีสคนหนึ่งได้ซื้อภาพ La Grande Jatte ไปในราคา 100 ฟรังก์

เมื่อถึงปี 1911 เจ้าของภาพ La Grande Jatte ได้ประกาศขายภาพ แต่คณะกรรมการของ Metropolitan Museum ที่ New York ไม่เห็นด้วยที่จะซื้อ ในที่สุดมหาเศรษฐี Frederic Clay Baulette ก็ได้ซื้อภาพไปในราคา 20,000 ดอลลาร์ และได้ให้ Art Institute of Chicago จัดนำจิตรกรรมสมัยใหม่ของยุโรปออกแสดง เมื่อถึงปี 1931 พิพิธภัณฑ์ Louvre แห่งฝรั่งเศสได้เสนอซื้อ La Grande Jatte ในราคา 400,000 ดอลลาร์ แต่ไม่เป็นผล ภาพจึงยังคงอยู่ที่ Chicago จนทุกวันนี้ ในด้านชีวิตส่วนตัว Seurat เป็นคนที่เคร่งประเพณี ซึ่งนิสัยนี้แตกต่างจากชีวิตทำงานที่คิดนอกกรอบ เพราะเขามีภรรยาที่บิดามารดาไม่เห็นชอบ ดังนั้นจึงให้ภรรยาพำนักในสตูดิโอ และมีลูก 1 คน


Sunday Afternoon on La Grande Jatte
Georges Seurat, 1884–1886
oil on canvas
207.6 × 308 cm, 81.7 × 121.25 inches
Art Institute of Chicago
--------------------------


ในบั้นปลายของชีวิต ทั้ง ๆ ที่เพื่อน Signac และ Pissarro ชื่นชมศิลปะแนวบุกเบิกนี้ (ส่วน Lautrec, Gauguin และ Van Gogh ต่างก็ได้รับอิทธิพลจาก Seurat ไม่มากก็น้อย) แต่ Seurat ก็ยังไม่มีความสุข เพราะเขารู้สึกว่าเพื่อนศิลปินได้ลอกเลียนความคิดของเขา เขาอยากให้โลกยอมรับว่าเขาคือผู้ให้กำเนิด Pointillism แต่เพียงผู้เดียว ความรู้สึกหวงวิชามากเช่นนี้ ทำให้ Pissarro ที่เคยศรัทธา Pointillism ได้หวนกลับไปวาดภาพในแนว Impressionism ต่อโดยไม่กลับมาหา Pointillism อีกเลย

Seurat ได้ล้มป่วยและเสียชีวิตเมื่อวันที่ 29 มีนาคม ค.ศ. 1891 ขณะอายุเพียง 32 ปี โดยทิ้ง La Grande Jatte ที่มีขนาด 207x308 เซนติเมตร ไว้เบื้องหลัง และเป็นภาพที่สำคัญที่สุดของเขา

ในภาพ เราจะเห็นบรรยากาศวันอาทิตย์ยามบ่ายที่เมือง Asnieres ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากกรุงปารีสมาก เมืองนี้มีโรงงานอุตสาหกรรมมากมายตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำ Seine บิดาของ Seurat มักเดินทางไปขุดทองที่นั่น ดังนั้นเมื่อมองไกลๆ จะเห็นมีปล่องไฟโรงงานที่มีควันเต็มท้องฟ้า ซึ่งแสดงให้เห็นว่าช่วงเวลานั้นเป็นยุคอุตสาหกรรม ที่กลางแม่น้ำคือเกาะ La Grande Jatte ซึ่งในขณะนั้นมีคนอาศัยอยู่ประมาณ 60% ของพื้นที่เกาะแล้ว

Seurat ได้วาดภาพของคนปารีส 60 คน กำลังเดินเล่น พักผ่อนใต้เงาต้นไม้ แต่ไม่มีใครอาบน้ำ ไม่มีใครใส่ชุดอาบน้ำ ไม่มีภัตตาคารหรือร้านกาแฟ ท่าเรือ และบ้านเรือนใด ๆ และถึงคนเหล่านี้จะมาพักผ่อน ภาพก็ไม่มีตะกร้าปิกนิกและไม่มีขวดน้ำดื่มให้เห็น

บุคคลเหล่านี้เดินทางมาที่นั่นอย่างมิได้ตั้งใจพบกัน ลักษณะการแต่งกายบ่งบอกว่ามีสถานภาพทางสังคมต่างๆ กัน คนที่สวมหมวกแก๊ป สูบซิการ์ และกำลังนอนเอนมีท่าทีเป็นกรรมกร เบื้องหลังมีทหาร 2 คน และมีนางพยาบาลที่สวมเสื้อคลุมขาว หมวกของเธอที่มีสายผูกสีแดงยาว เธอกำลังนั่งใกล้หญิงชราที่กางร่ม สตรีทุกคนในภาพสวมเสื้อรัดทรวดทรง กระโปรงที่สวมยาว และทุกคนสวมหมวก เพราะคนที่ไม่สวมหมวกแสดงความเป็นไพร่ ภาพนี้มีจำนวนผู้ชายน้อยกว่าผู้หญิง คงเหมือนสมัยที่แม่และน้าพา Seurat ไปเดินเล่นในสวนตอนเด็กๆ ข้อสังเกตอีกประการหนึ่งคือ คนทุกคนในภาพมีปฏิสัมพันธ์กันน้อยเพราะไม่มีใครจ้องใคร และไม่มีใครนั่งโอบหรือนั่งติดใคร ส่วนเด็กผู้หญิง 2 คนที่นั่งแทบเท้าของคนเป่าทรัมเป็ตนั้นก็ไม่แน่ใจว่าจะถูกทหารสองคนเดินเข้ามาหาหรือไม่

สำหรับสุนัขกับลิงนั้นก็เป็นสัตว์เลี้ยงของสาวไฮโซในสมัยนั้น ดังจะเห็นได้จากการที่สตรีคนนั้นยืนใกล้ชายหนุ่มที่ถือไม้เท้าและสวมหมวกทรงสูง การแต่งกายแสดงให้เห็นว่าคนเหล่านี้คือชนชั้นกลางที่มีฐานะดี และชอบเดินเล่นในสวนสาธารณะในวันอาทิตย์

ถึงภาพนี้จะดูกระด้างและไร้การเคลื่อนไหว แต่ความสำคัญของภาพคือ การที่จิตรกรท่านหนึ่งได้ใช้วิทยาศาสตร์ในการระบายสี เพราะเขารู้ว่า สีต่างๆ มีหลากหลายความยาวคลื่น และเมื่อคลื่นเหล่านี้เดินทางเข้าตา มันจะรวมกันที่จอภาพในตา ทำให้เราเห็นภาพที่สวยงามครับ

สุทัศน์ ยกส้าน เมธีวิจัยอาวุโส สกว.


Le Bec du Hoe, Grandcamp
---------------------


The Channel of Gravelines, Petit Fort Philippe. 1890. Oil on canvas. Indianapolis Museum of Art, Indianopolis, IN, USA.
---------------------------


Detail from Circus Sideshow (or Parade de Cirque) (1889) showing pointillism
------------------------

 
The Circus. Detail. 1890-91. Oil on canvas. Musée d'Orsay, Paris, France
 
 
 
ที่มา: ASTVผู้จัดการออนไลน์  13 สิงหาคม 2553

Views: 1453

Reply to This

Replies to This Discussion

อือ........นอกจากจิินตนาการทางความคิดแล้วทุกอย่างอธิบายได้ด้วยวิทยาศาสตร์จริงด้วย
รักเลย
:)

ศาสตร์ + ศิลป์

จริงๆครับงานนี้

RSS

© 2009-2024   PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service