เล่าสู่กันฟัง-“นักสร้างภาพ” กับ “นักสร้างภาพลักษณ์”ความต่างในความเหมือน


 

 

            “นักสร้างภาพ” กับ “นักสร้างภาพลักษณ์” เขียนคล้ายกันมาก ต่างกันแต่คำว่าลักษณ์ที่ต่อท้าย แต่เมื่อแปลออกมาแล้วจะพบว่าความหมายของสองคำนี้ต่างกันอย่างสิ้นเชิง แม้จะมีบางส่วนที่ทับเส้นกันอยู่บ้างก็ตาม

 

            แน่นอนความหมายของ นักสร้างภาพ ย่อมไปในทิศทางเป็นลบ เพราะหมายถึงคนหรือองค์กรที่ทำอะไรสักอย่างโดยหวังผลให้ตนเอง หรือหน่วยงาน ดูดี เป็นคนดี ดูเป็นผู้มีจิตใจงดงาม มีคุณธรรม หรือเป็นอะไรก็แล้วแต่ที่ฟังดูดีในสายตาของผู้อื่น ของคนที่เป็นเป้าหมายหรือสังคมประเทศชาติ ทั้งๆ ที่ความเป็นจริงแล้วหาได้เป็นเช่นนั้นไม่ จะเรียกว่าเป็นพวก “จอมปลอม” ก็คงจะไม่ผิด

 

           ในขณะที่ นักสร้างภาพลักษณ์ คือผู้ที่นำเอาความดีงามที่คนหรือองค์กรประพฤติปฏิบัติเป็นนิจมาเผยแพร่ให้กลุ่มเป้าหมาย หรือผู้คนในสังคมโดยรวมได้รับรู้ เข้าใจ และยอมรับในคุณงามความดีนั้น หรือจะเรียกว่าเป็นผู้นำความดีที่มีอยู่จริง มีอยู่แล้วมาเปิดเผยให้โลกได้รับรู้ก็คงได้

 

           การกระทำคุณงามความดีอย่างสม่ำเสมอ เป็นสิ่งที่นักสร้างภาพลักษณ์กระทำ เพราะคนหรือองค์กรพวกนี้มีจิตสำนึก มีความเชื่อในความดี เชื่อว่าคนเราหรือองค์กรของเราควรทำดี และเมื่อทำไปแล้วก็อยากจะให้คนอื่น องค์กรอื่นได้รับรู้ด้วย เพื่อจะได้ช่วยโน้มน้าวจิตใจให้หันมาร่วมกันทำความดีกันมากๆ จึงต้องบอกให้ผู้คนในสังคมได้รับรู้ ในขณะที่นักสร้างภาพจะทำความดีกับเขาบ้างก็ต่อเมื่อมีโอกาสให้ฉกฉวย ทำแล้วเห็นว่าจะได้ผลประโยชน์ในระยะอันใกล้แน่นอน ทำต่อเมื่อมีประเด็น มีกระแส หรือว่าถูกบีบให้ต้องทำ พวกนี้เห็นได้จากเวลาที่มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น แล้วสังคมให้ความนิยมยกย่อง หรือมีใครได้ดี หรือใครกำลังดัง ก็จะรีบกระโจนเข้าไปขอมีส่วนร่วมในคุณงามความดีหรือความดังนั้นด้วย ที่หนักกว่าคือนอกจากจะขอเข้าไปมีส่วนร่วมแล้ว บางรายยังไปต่อยอดให้ตัวเองอีก

 

           นักสร้างภาพลักษณ์จะทำความดีอย่างจริงจัง จริงใจ และต่อเนื่อง ไม่ใช่คราวเดียวเลิก และหวังผลพอแต่สมน้ำสมเนื้อแก่ความดีที่ได้กระทำลงไป ในขณะที่นักสร้างภาพจะทำแต่น้อย หวังผลมาก ทำบุญสิบบาท แต่หวังไปนิพพาน ดังนั้น ถ้าอยากจะดูว่าใครหรือองค์กรไหนเป็นนักสร้างภาพหรือนักสร้างภาพลักษณ์ก็ไม่ยากเลย ให้ดูได้จากเงินที่เขาใช้ในการโฆษณาประชาสัมพันธ์เทียบกับเงินที่ใช้ในการทำกิจกรรมเพื่อสังคม บางแห่งมีงบทำความดีร้อยบาทแต่มีงบประมาณเพื่อการเผยแพร่สามสิบบาท หรือน้อยกว่านั้น  ขณะที่บางคนบางองค์กรทำในทางตรงกันข้าม มีเงินไปมอบให้เด็กยากจนสองแสนบาท แต่ลงโฆษณาทีวีหมดไปหลายสิบล้านบาท ซึ่งแนวทางแบบหลังนี้มีอยู่ไม่น้อย หรือบางแห่งบางคนพอเรื่องที่ทำอยู่หมดกระแสความนิยมก็เลิกไปเสียเฉยๆ

 

          นักสร้างภาพลักษณ์มักเป็นคนที่ตรงไปตรงมา พูดตามความเป็นจริง ประพฤติอย่างไรก็พูดอย่างนั้น ต่อให้ใครมาถามกี่ครั้งๆ คำตอบก็เหมือนเดิม ต่างจากนักสร้างภาพ ซึ่งไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของความจริง คนหรือองค์กรพวกนี้มักจะพูดหรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนอย่างระมัดระวัง เพราะกลัวว่าจะพูดไม่เหมือนเมื่อคราวที่แล้ว เนื่องจากพูดแต่ละครั้งมักจะคำนึงถึงผลประโยชน์ที่จะได้รับ ซึ่งต้องปรับเปลี่ยนไปเรื่อย

 

            นักสร้างภาพจะเน้นที่ผลตอบแทนที่เป็นรูปธรรม หวังผลเร็ว และมักคิดถึงความคุ้มทุนที่ได้ลงเงินลงแรงไป แต่นักสร้างภาพลักษณ์จะให้ความสำคัญกับการเผยแพร่ ความกว้างขวางของกลุ่มคนที่รับรู้ ยิ่งมากยิ่งดี เพราะไม่เสียหายอะไร และหวังผลในระยะยาว เพราะเรื่องของคุณงามความดีนั้น คล้ายกับบุญบารมี คือต้องหมั่นทำไปเรื่อยๆ ทำด้วยความจริงใจ ทำอย่างต่อเนื่อง แม้มองไม่เห็นด้วยตาเปล่าดุจอากาศธาตุรอบๆ ตัวเรา แต่พร้อมจะปกป้องดุจเกราะกำบังให้ผู้นั้นหรือองค์กรนั้นๆ อยู่รอดและอยู่ดีได้อย่างยั่งยืน อย่างน่าอัศจรรย์

 

 

โดย: บัญญัติ คำนูณวัฒน์

ที่มา: คมชัดลึก  25 สิงหาคม 2553

Views: 276

Reply to This

Replies to This Discussion

งดงามมาก ดีมาก จริงจริงค่ะ .... *^_^*
รักคนแบ่งปัน จุ๊บ จุ๊บ อิอิ
โห ผมชอบมากเลยครับ อ่านแล้วโดนมาก เห็นภาพเลยครับ
:)

RSS

© 2009-2024   PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service