จาก http://www.artgazine.com/shoutouts/viewtopic.php?t=1912

Photojournalism
ศุภชัย เกศการุณกุล

Photojournalism (1)

โฟโต้เจอร์นัลรีสม์ (photojournalism) อย่างแรกที่สุดคือการรายงาน การเป็นพยาน ต่อความเป็นจริงที่เกิดขึ้น และการตั้งคำถามเกี่ยวกับเรื่องราวต่างๆ ด้วยภาพ หากจะใช้คำว่าภาพถ่ายเชิงข่าวสารคดีก็ดูจะไม่พอเหมาะพอดีนัก ผมยังหาคำไทยที่เหมาะสมไม่ได้จึงอยากจะใช้คำทับศัพท์สลับกับคำที่คิดได้ไป ก่อน

ในยุโรป ภาพถ่ายแนวนี้เริ่มพัฒนามาอย่างมากในช่วงปี 1930-1950 ในบรรยากาศที่การเมืองของโลกกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านโดยเฉพาะเมื่อเกิด สงคราม นิตยสารภาพข่าวที่ได้รับการกล่าวถึงบ่อยๆ และยกให้เป็นต้นแบบเห็นเป็น Life และ Paris Match ในช่วงเวลาเดียวกันเอเจนซีช่างภาพอย่าง magnum ก็เกิดขึ้นในหน้าประวัติศาสตร์ ในช่วงครึ่งศตวรรษที่แล้วดูเหมือนว่าช่างภาพเจอร์นัลรีสท์ได้เข้าไปมีส่วนใน การเปลี่ยนแปลงทาง ประวัติศาสตร์ของโลกไม่น้อย แต่เมื่อการเกิดขึ้นของสถานีข่าวโทรทัศน์ CNN ในช่วงสงครามอ่าวเปอร์เซียรอบแรก photojournalism ก็ถึงจุดตกต่ำและต้องส่งหน้าที่การเป็นสื่อกลาง ของการรายงานข่าวไปให้สื่อโทรทัศน์


ต่อมาในช่วงปี 90 เมื่ออินเตอร์เน็ตและกล้องดิจิตอลเข้ามามีส่วนในชีวิตสมัยใหม่ สื่ออินเตอร์เน็ตกลายเป็นสื่อที่ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงการรายงานข่าวที่ตัวเองพบเห็นก็ กลายเป็นสิ่งที่ง่ายขึ้น รวดเร็วขึ้น ตัวอย่างเช่นเมื่อเกิดวินาศกรรม 11 กันยายน หรือสึนามิในเอเชียปลายปี 2005 ภาพของช่างภาพสมัครเล่นที่บันทึกสิ่งที่เกิดขึ้นต่อหน้าต่อตาอย่างฉับพลัน ได้รับการตีพิมพ์มากขึ้น

ช่างภาพข่าวอาชีพเริ่มพบกับความยากลำบากมากขึ้นในอาชีพเนื่องจาก เหตุการณ์ที่เกิดข้ึนไม่สามารถคาดการณ์ได้ และสื่อหนังสือพิมพ์หรือนิตยสารข่าวเริ่มลดค่าใช้จ่ายในการผลิตงานลง การทำงานสารคดีหรือรายงานข่าวสักเรื่องมีราคาแพงและต้องใช้เวลาจึงถูกตัดงบ ไปด้วย อย่างไรก็ตาม ในประเทศฝรั่งเศส เอเจนซี่ช่างภาพใหม่ๆ ก็ยังเกิดขึ้นอยู่เสมอรวมทั้งช่างภาพอินดิเพนเดนท์ นักศึกษาหนุ่มสาวที่จบสถาบันด้านการถ่ายภาพชั้นสูง (grand Ecole) ร่วมกับผู้ร่วมอาชีพรุ่นพี่ช่วยกันหาทางออกเพื่อรักษาอาชีพนี้ไว้ รวมทั้งมีการให้ทุนสนับสนุกโปรเจ็คต์ใหม่ๆ ขององค์กรเอกชนอีกด้านหนึ่ง


ด้วยความช่วยเหลือของเทคโนโลยี อินเตอร์เน็ต และกล้องดิจิตอลที่ลดค่าใช้จ่ายและทำให้การทำงานรวดเร็วยิ่งขึ้น ทำให้ช่างภาพเจอร์นัลรีสท์เริ่มมีความหวังและทางออก ภาพถ่ายสารคดีข่าวจึงยังไม่หายไปไหน งานบางชิ้นได้รับการยอมรับและจัดแสดงในพิพิฒธภัณฑ์ ในเมืองไทยที่ช่างภาพเชิงข่าวยังไม่ได้รับความสนใจมากนัก เงื่อนไขการทำงานและค่าตอบแทนทำให้มีชีวิตอยู่ยากในสภาพความเป็นอยู่ ปัจจุบัน ในระหว่างรอให้อาชีพนี้เป็นที่ยอมรับแพร่หลายต่อผู้อ่านชาวไทย ช่างภาพชาวไทยที่ทำงานเกี่ยวกับงานสารคดีข่าวคงต้องต่อสู้อีกมากและก็ไม่รู้ ว่าการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งเงื่อนไขในการทำงานที่ดีต้องรออีกนานเท่าไร

ในระหว่างการต่อสู้ เราไปทำความรู้จักกับช่างภาพที่ได้รับการกล่าวถึงว่าเป็นตำนานของช่างภาพแนว นี้กันก่อนดีกว่า เพื่อหวังว่าจะสามารถพัฒนาการทำงาน และเปิดมุมมองไปพลางๆ อาจบางทีจะมีความหวังว่าจะมีบรรณาธิการหนังสือพิมพ์จะหันมาสนใจและสนับสนุน การผลิตงานภาพข่าวและสารคดีโดยมุมมองของคนไทยมากขี้น


ชื่อของช่างภาพที่ได้รับการยกย่องในผลงานและการทำงานไล่เรียงกันมากมาย Robert Capa, W. Eugene Smith, Alfred Eisenstaedt, Henri Cartier-Bresson, David Seymour, Walker Evans และช่างภาพปัจจุบันอย่าง Raymond Depardon, James Nachtwey, Sebastiao Salgado แม้ว่าผมจะได้เห็นรูปของพวกเขามากมายตามโอกาสต่างๆ ทั้งในหนังสือรวมเล่ม ในอินเตอร์เน็ต และในนิทรรศการ แต่ผมรู้จักพวกเขาน้อยมาก ผมตั้งใจว่าจะค่อยๆ ทำความรู้จักกับเขาทีละคนเพื่อจะได้รู้ว่าเขาคิดและมีวิธีการทำงานอย่างไร ผมอยากเริ่มที่ช่างภาพชาวฝรั่งเศสคนหนึ่งชื่อ Willy Ronis เพราะผมพี่งจะได้ไปดูนิทรรศการภาพถ่ายที่กรุงปารีสจัดแสดงขึ้นเพื่อแสดงความ คารวะต่อช่างภาพผู้นี้

Willy Ronis (1910- ) ผู้บันทึกความงดงามของชีวิตช่วงต่อของปี 2005-2006 คุณตาวิลี่ โรนิส ได้รับเกียรติจากกรุงปารีส ด้วยการจัดนิทรรศการภาพถ่ายให้ช่างภาพวัยเกือบหนึ่งศตวรรษผู้นี้ด้วยความ เคารพที่ศาลาว่าการกรุงปารีส ผมเคยเห็นภาพของ วิลี่ โรนิส ในวัยหนุ่มหลายภาพแต่ไม่เคยจดจำชื่อของเขา จนเมื่อผมได้ไปดูนิทรรศการครั้งนี้ จึงตระหนักว่่าช่างภาพผู้นี้เองที่ทำให้ผมรู้สึกอุ่นๆ ในหัวใจเมื่อได้เห็นภาพถ่ายขาวดำของเขาที่บันทึกภาพเมืองและชีวิตของชาวปารี เซียงในช่วงปี 1930-1980


ภาพถ่ายกว่าร้อยรูปที่จัดเป็นกลุ่มตามช่วงเวลาที่ช่างภาพผู้นี้ทำงาน ตลอดชีวิต ส่วนใหญ่แน่นอนเป็นภาพขาวดำ มีรูปสีสามสี่รูป ผมติดใจการจัดองค์ประกอบภาพ การกำหนดพื้นที่ว่่าง และจังหวะของน้ำหนักขาวและดำ แต่สิ่่งโดดเด่นอีกอย่างหนึ่งของวิลลี่ โรนิส ก็คืออารมณ์ของภาพ เราได้เห็นมุมมองที่คุณตาช่างภาพคนนี้มองโลกและชีวิต มันมีความอ่อนโยน ละมุนละไม มันมี “ชีวิต” อยู่ในนั้น

จริงอยู่ ช่างภาพที่เป็นที่รู้จักในรุ่นราวคราวเดียวกับ Willy Ronis เห็นจะเป็น Henri Cartier Bresson (HCB) เจ้าของ moment décisif หรือ moment decisive อันเลื่องลือ ในแง่หนึ่งเขาโดดเด่นในมุมมองด้านศิลปะและความเป็นผู้ถ่ายทอดเรื่องราว ในด้านเทคนิค จังหวะที่สายตากับสมองสั่งนิ้วให้กดชัตเตอร์ ประสานเป็นหนึ่งเดียวกันของเขา เป็นคอนเซปต์ในหน้าประวัติศาสตร์ที่สำคัญของการถ่ายภาพ HCB เป็นช่างภาพ journaliste ไม่กี่คนที่บันทึกการเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์สำคัญๆ ของโลกในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อทางการเมืองกลางศตวรรษที่ยี่สิบ ยังไม่นับว่าเขาเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้้งกลุ่มช่างภาพ magnum ที่ทำให้ภาพถ่ายแบบ journaliste โด่งดังและได้รับการยอมรับไปทั่วโลก


คุณตาวิลลี่ โรนิส ไม่ได้มีชีวิตช่างภาพที่โลดโผนอย่างเพื่อนร่วมชาติและร่วมอาชีพของเขาแต่ อย่างใด Willy Ronis ทำงานส่วนใหญ่อยู่ในประเทศฝรั่งเศส แคบเข้ามาหน่อย เขาทำงานส่วนใหญ่ในการบันทึกภาพชีวิตชาวปารีเซียง แต่ถ้าจะให้คำนิยามที่ดีที่สุดของคุณตาก็น่าจะบอกว่าเขาบันทึกภาพชีวิตคนปา รีเซียงชั้นกลางและชนชั้นทำงานในเขตคนหาเช้ากินค่ำทางตอนเหนือของกรุงปารีส (Belleville-Ménilmontant)

ในช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง คุณตา Ronis หนีไปใช้ชีวิตอยู่แถบเมืองทางใต้ Provence ที่นั่นเขาหยุดอาชีพช่างภาพ แต่เขายังถ่ายภาพส่วนตัว มันเป็นช่วงที่เขาพัฒนามุมมองและความรู้สึกในภาพ ภาพที่เป็นที่รู้จักมากมายเป็นภาพที่เขาถ่ายภรรยาและลูกชาย ภายใต้แสงแดดทางใต้ของฝรั่งเศส หากจะบอกว่าภาพของวิลลี่ โรนิส ไม่น่าสนใจ ใครคนนั้นอาจพลาดที่จะเห็นความมหัศจรรย์ของชีวิตประจำวันธรรมดาๆ ในสถานที่ธรรมดา แต่อ่อนละมุน อบอุ่น เป็นฉากของชีวิต ความสุข และความเศร้า เมื่อมองผ่านภาพถ่ายมนุษยนิยมของ Willy Ronis เราจะเห็นความงดงามและความโดดเดี่ยวของชีวิตที่ต้องต่อสู้ดิ้นรนของมนุษย์ใน ช่วงศตวรรษที่ผ่านมา


Willy Ronis เป็นลูกของพ่อแม่ชาวยิวที่อพยพมาจากยุโรปตะวันออกและรัสเซีย แม่เป็นลิธัวเนี่ยน (Lituanie) พ่ออพยพมาจากเมือ Odessa ประเทศรัสเซีย เมื่อมาถึงปารีส พ่อของเขาพูดภาษาฝรั่งเศสไม่ได้สักคำ อย่างไรก็ตาม ครอบครัวผู้อพยพต้องทำงานหนักเพื่อเอาตัวรอดโดยต้องทำงานหลายอย่าง พ่อของเขาเป็นช่างภาพและช่างตัดเย็บเสื้อผ้า ส่วนแม่ทำงานบ้าน สอนเปียโน คุณตา Ronis ผูกพันกับพ่อมากกว่าแม่ แต่นั่นแหละ เขาได้ส่วนดีจากการอบรมเอาใจใส่จากทั้งสอง เขาได้เรียนดนตรีจากแม่และเรียนถ่ายรูปจากพ่อ

คุณตา Ronis ตอนเป็นเด็กมีความสามารถด้านดนตรีมาก เขาเรียนเปียโนตั้งแต่อายุเจ็ดขวบ มีพ่อที่หลงไหลดนตรี แล้วยังมีแม่เป็นครูเปียโนอีก คุณตาจึงมีความสามารถถึงขนาดแยกแยะเสียงโน๊ตได้อย่างแม่นยำ เขาเล่าว่าสมัยเป็นเด็กเขาฟังแต่เพลงคลาสสิค และใฝ่ฝันอยากเป็นประพันธกร แต่แล้วชีวิตก็หักเหเมื่อพ่อของเขาป่วยหนัก และขอร้องให้เขามาช่วยงานในสตูดิโอถ่ายภาพ อย่างไรก็ตาม ใจของเขายังอยู่กับดนตรี การทำงานในสตูดิโอถ่ายภาพคนจึงเป็นงานที่ทำให้เขาไม่มีความสุขนัก แม้ว่าเขาพยายามจะปรับปรุงมุมมองและปรับเปลี่ยนการจัดแสงแบบใหม่ๆ แต่คนปารีเซียงมักนิยมรูปแบบที่เป็นแบบแผนดั้งเดิม ความพยายามของเขาจึงไร้ผล และเมื่อจะต้องถูกบังคับแต่งงานกับสาวที่เขาไม่รู้จัก ทำให้ความกดดันในชีวิตเพื่มขึ้น การออกจากบ้านเพื่อแสวงหาเสรีภาพในใจจึงเป็นทางออกเดียว และในช่วงเวลานี้เองที่คุณตา Ronis เริ่มบันทึกชีวิตผู้คนบนถนน ต่อมา การถ่ายภาพเชิงสารคดีจึงเป็นอาชีพเลี้ยงตัวเองและครอบครัว แม้ว่าเขาจะประสบความสำเร็จและมีความสุขกับการถ่ายภาพในระยะหลัง แต่ความรักในดนตรี ความอยากเป็นประพันธกร ยังอยู่ในใจของเขาเสมอ เขาบอกว่าสิ่งที่เขาให้ความสำคัญกับดนตรีที่สุดในบรรดาศิลปะทั้งมวล


ตั้งแต่ปี 1936 Willy Ronis เริ่มถ่ายภาพอย่างจริงจัง และมีงานลงตีพิมพ์ในนิตยสารฝ่ายซ้ายหลายฉบับ อย่างเช่น Regards และ Ce soir เนื่องจากคุณตามีความสัมพันธ์อันดีกับพรรคการเมืองสังคมนิยมและพรรค คอมมิวนิสต์แห่งฝรั่งเศส เขาจึงมีส่วนในการเข้าไปบันทึกภาพเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองและการ ประท้วงนโยบายรัฐ ภาพที่โด่งดังมากของคุณตาคือภาพที่ชื่อว่า Rose Zehner militant C.G.T. หญิงสาวสมาชิกสหภาพแรงงานลุกขึ้นยืนขึ้นบนโต๊ะและวิพากษ์วิจารณ์อย่างเผ็ด ร้อนในการรวมตัว ประท้วงโรงงานซิโตรเอน (Citroën) แต่น่าเสียดายที่ในงานนิทรรศการที่จัดขึ้นที่ปารีสครั้งนี้ได้ขยายภาพนี้ เพียงขนาดประมาณ 8×10 นิ้ว ผมจึงไม่ได้เห็นภาพนี้อย่างลงรายละเอียด

คุณตา Ronis บอกว่า ความจริงแล้วภาพนี้เขาไม่คิดว่าจะนำออกมาพิมพ์ เพราะในช่วงเวลานั้นเขาตรวจดูจากฟิล์ม negative แล้วฟิล์มไม่สมบูรณ์ คือมัน over explosure เฟรมนี้จึงถูกละเลยไป แต่ในช่วงปี 80 เขานำฟิล์มทุกม้วนกลับมาตรวจสอบอีกครั้งเพื่อพิมพ์รวมเล่ม ภาพภาพนี้จึงถูกค้นพบและได้รับการตีพิมพ์ซ้ำแล้วซ้ำอีกตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา แต่กระนั้นคุณตาก็ไม่ได้จำกัดตัวเองอยู่เพียงแต่ช่างภาพสารคดีเชิงข่าว แต่รวมไปถึงงานถ่ายภาพทิวทัศน์หรือถ่ายงานตามคอนเซ็ปต์ที่รับมาจากห้างสรรพ สินค้า โรงงานอุตสาหกรรม หรือหน่วยงานราชการ คุณตาบอกว่าเขาไม่ชอบการเป็นสเปเชียลรีส แต่ชอบทำงานอย่างหลากหลาย


ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง Willy Ronis ต้องหนีไปทางใต้ของประเทศฝรั่งเศสเพราะตัวเองมีเชื้อสายยิว การทำงานเป็นช่างภาพจึงต้องถูกเว้นวรรคนานถึงสี่ปี จนเสร็จสิ้นสงคราม (1941-1944) กระนั้นมันเป็นช่วงที่คุณตาได้เรียนรู้และสะสมประสบการณ์การมองโลกผ่านความ รัก เขาได้รู้จักกับภรรยาในอนาคตของเขา Marie-Anne ต่อมาเขาได้สร้างงานส่วนตัวซึ่งเขาได้ถ่ายภาพภรรยาและลูกไว้มากมาย หนึ่งในภาพที่โด่งดังคือภาพถ่ายชื่อ Le nu provençal (1949) เป็นภาพถ่ายนู้ดของ Marie-Anne คุณตาเล่าว่า บ่ายวันนั้นหลังจากตื่นจากนอนกลางวัน มารีแอนเดินไปที่อ่างล้างหน้าเพื่อล้างหน้าให้สดชื่น เผอิญคุณตาอยู่ในห้องนั้นด้วยจึงบอกให้เธออย่าขยับเพราะทำให้คุณตาอยาก บันทึกไว้ แล้วภาพที่เกิดต่อหน้าของ Willy Ronis บ่ายวันนั้นก็กลายเป็นภาพที่มีความลงตัวของแสง หญิงสาว จังหวะเวลา ความละเอียดอ่อน และความรัก ภาพ Le nu provençal ก็กลายเป็นภาพที่ถูกเผยแพร่มากที่สุดภาพหนึ่งของ Willy Ronis

ผมชอบภาพถ่ายนู้ดของ Willy Ronis ไม่มากไม่น้อยไปกว่าภาพชีวิตบนถนนที่เขาบันทึกไว้ เขากล่าวไว้ครั้งหนึ่งว่า : “จุดมุ่งหมายในการถ่ายภาพนู้ดไม่ได้อยู่ที่การถ่ายทอดความเป็นนามธรรมของรูป ทรง รวมทั้งไม่ใช่การค้นหาสัญลักษณ์ แต่เป็นการถ่ายทอดความเป็นธรรมชาติและสิ่งที่เป็นอยู่ นั่นเป็นเหตุผลว่าผมไม่เคยถ่ายนู้ดในสตูดิโอ เพราะมันเป็นการแต่งเติม ผมชื่นชมสรีระของสตรี และไม่เคยคิดที่จะหยอกล้อด้วยความไม่เคารพ สิ่งที่ผมพยายามค้นหาคือการแสดงออกของสรีระและสีหน้าของสตรี และการไม่ถ่ายใบหน้าไม่ใช่วิธีการของผม”


หลังสงคราม Willy Ronis เดินทางกลับปารีส ในขณะที่นิตยสารเชิงข่าวและภาพได้รับความนิยมทั้งในยุโรปและอเมริกา อาชีพช่างภาพเป็นที่ต้องการอย่างมาก ในฐานะช่างภาพอิสระมือดี Willy Ronis ได้ร่วมงานกับนิตยสารประเภทนี้หลายฉบับทันที Life เป็นนิตยสารซึ่งเป็นที่รวมช่างภาพสารคดีข่าว (photo-reporter) ฝีมือดีทั่วโลกก็เป็นหนึ่งในนั้น คุณตา Ronis ร่วมงานกับนิตยสารอเมริกันฉบับนี้ด้วยในช่วงปี 1948-1950 ซึ่งเขาบอกว่ามันเป็นช่วงที่เขามีความสุขมากในการทำงาน เพราะมีฟิล์มให้ใช้อย่างเหลือเฟือ ช่างภาพสามารถทำงานได้อย่างไม่ต้องกังวลว่าฟิล์มจะหมด แต่ทว่่าการร่วมงานกับ Life จบลงเพียงแค่สองปี เมื่อคุณตาตัดสินใจที่จะไม่ร่วมงานกับนิตยสารฉบับนี้อีกต่อไป เมื่อมีความขัดแย้งกันเรื่องลิขสิทธิ์และความเป็นตัวตนของช่างภาพต่อชิ้นงาน ของเขา

ต่อมา หลังจากสื่อโทรทัศน์เริ่มครอบงำการรายงานข่าวสาร และถ่ายทอดภาพได้พัฒนามากขึ้น สื่อนิตยสารจึงถูกลดความสำคัญลง การทำงานของช่างภาพสารคดีข่าวจึงต้องเปลี่ยนแนวทาง ภาพสารคดีข่าวในระยะต่อมาจึงต้องเป็นภาพที่กระทบความรู้สึกคนอ่านมากขึ้น แทนที่จะเป็นภาพที่สะท้อนให้เห็นความเป็นมนุษยนิยมหลังสงครามโลกที่พยายาม ให้กำลังใจต่อพลเมืองโลกให้ร่วมกันสร้างชีวิตขึ้นมาใหม่หลังหายนะ


เราจะเห็นความแตกต่างระหว่างภาพถ่ายก่อนและหลังปี 1960 เช่น Willy Ronis, Henri Cartier Bresson, Robert Capa และภาพถ่ายที่ค่อนข้างรุนแรงต่อความรู้สึกของ Robert Frank, William Klein ในช่วงเวลานี้เองที่คุณตา Ronis ได้ค้นพบย่าน Belleville-Ménilmontant ทางตอนเหนือของกรุงปารีส ในระหว่างปี 1946-1953 เขาบันทึกภาพของชาวปารีเซียงชนชั้นทำงานในย่านนี้ ภาพชุดนี้เองสร้างชื่อเสียงให้คุณตาอย่างมาก นักวิจารณ์ภาพถ่ายบางคนบอกว่างดงามราวบทกวี หรือบ้างก็ชื่นชมผลงานของคุณตาว่าเป็นงานที่มีสุนทรีย์ภาพราวกับดนตรี (คลาสสิค) ผลงานภาพถ่ายได้รวบรวมไว้ในหนังสือสองเล่ม ชื่อ Belleville-Ménilmontant (1954) และ Sur le fil de hasard (1980)

ในบทสัมภาษณ์หลายครั้งหลายหน ช่างภาพผู้นี้ให้ความสำคัญกับจังหวะฝีมือและการวางองค์ประกอบภาพอย่างมาก แต่เขาไม่ลืมที่จะเอ่ยถึงเทพีแห่งโชคและความบังเอิญ หลายภาพที่เขาบันทึกและถูกจดจำเพราะความบังเอิญของหลายๆ อย่าง หากเราดูภาพ เราจะพบว่า Willy Ronis พาตัวเองไปอยู่ในตำแหน่งหนึ่งๆ อย่างถูกที่ถูกเวลา เขาบอกว่าสำหรับเขา สไตล์การถ่ายภาพมีอยู่สองแบบคือ สไตล์เวสเทิร์นและแบบหย่อนสายเบ็ด แบบแรกคือช่างภาพเดินไปเรื่อยๆ สังเกตโดยใช้ความเร็ว ความแม่นยำ และทักษะในการเก็บภาพเมื่อเห็นเหตุการณ์หนึ่งๆ เกิดขึ้นต่อหน้าต่อตา คงเหมือนกับความเร็วและความแม่นยำของคาวบอยในการดวลปืน วิธีที่สองคือช่างภาพจะรอในสถานที่หนึ่งๆ มีการวางองค์ประกอบเอาไว้ในอากาศเรียบร้อย และจินตนาการถึงเรื่องราวที่จะเกิดขึ้นในภาพ เหมือนการเกี่ยวเหยื่อไว้กับเบ็ดและรอปลามากินเหยื่อ แต่ไม่ว่าช่างภาพคนหนึ่งจะใช้วิธีไหนในการถ่ายภาพ เขาไม่มีทางได้รู้ว่าในสไตล์เวสเทิร์นเขาจะเดินไปทางซ้ายหรือขวาเมื่อถึงทาง แยก จะหยุดรอหรือเดินต่อไป และในสไตล์หย่อนเบ็ดตกปลาเขาก็ไม่รู้อีกเช่นกันว่าบทภาพยนตร์ที่เขา จินตนาการขึ้นในใจจะมีโอกาสเกิดขึ้นจริงไหม การรอคอยของเขาจะจบลงแบบแฮปปี้เอนดิ้งหรือไม่ คงมีเพียงแต่เทพีแห่งโชคที่ช่างภาพแต่ละคนภาวนาให้เข้าข้างตนเท่านั้นที่จะ บอกได้

Willy Ronis ซึ่งถนัดกับสไตล์หย่อนเบ็ดตกปลาก็ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าการรอคอยของเขาไม่สูญเปล่า


Photojournalism (2)
Henri Cartier-Bresson

ผมรู้สึกดีทุกครั้งเมื่อเห็นคนแก่คล้องกล้องไว้ที่คอ แล้วเห็นแกหยิบกล้องขึ้นมาเล็งหามุมที่ชอบ ค่อยๆ ปรับโฟกัส วัดแสง รอจังหวะให้มือนิ่งอีกหน่อยแล้วกดชัตเตอร์ เมื่อบันทึกภาพเสร็จ แกเดินไปสองสามก้าวแล้วย้อนกลับมาใหม่เล็งที่ซับเจ็กต์อันเดิม แต่เปลี่ยนมุมนิดหน่อยเพราะพบว่ามุมนี้ก็สวยดีเหมือนกัน จะปล่อยเลยไปก็เสียดาย เมื่อเห็นคนชราใช้เวลาในการถ่ายภาพเพราะมันเป็นความรื่นรมย์แบบหนึ่ง ผมก็หวังว่าในเวลาที่แก่ตัวลงผมจะยังคงมีแรงบันดาลใจอยู่เสมอที่จะถ่ายภาพ แต่มีช่างภาพเจอร์นอลลิสต์ชาวฝรั่งเศสคนหนึ่งผู้เป็นต้นแบบและเป็นผู้จุด ประกายให้กับช่างภาพเจอร์นอลลิสต์ทั่วโลกให้เดินไปบนเส้นทางนี้ เขาเลิกถ่ายภาพในช่วงที่เขาก้าวขึ้นไปสู่จุดสูงสุดในฐานะช่างภาพ เขาวางกล้องและไม่แตะมันอีกเลยเมื่อเขาอายุได้ 62 ปี เพื่อหันไปจับดินสอถ่านอันเป็นความรักแรกตั้งแต่ตอนเป็นเด็กที่มีต่อการวาด รูป

อองรี กาติเยร์-เบรสซง (Henri Cartier-Bresson—HCB, 1908-2004) ช่างภาพชาวฝรั่งเศส เกิดในครอบครัวชนชั้นกลางที่มีอันจะกิน เขาได้รับการศึกษาอย่างดีในวัยเด็ก จึงมีชีวิตค่อนข้างสุขสบาย พ่อของเขาชอบสเกตซ์ภาพเมื่อมีเวลาว่างจากการทำงาน และลุงผู้ชอบการวาดภาพสีน้ำมันเป็นชีวิตจิตใจ HCB ในวัยเยาว์จึงซึมซับศิลปะแขนงนี้ไว้ในใจ ตอนเริ่มเป็นหนุ่ม เขาเข้าสู่แวดวงศิลปะโดยเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มคิวบิสม์และเซอร์ เรียลลิสต์ตามลำดับ แต่ในที่สุด เขาได้เลือกการถ่ายภาพเป็นเครื่องมือในการแสดงออกวิธีและมุมมองต่อการมองโลก ของเขา แต่การเข้าไปคลุกคลีอยู่กับศิลปินในช่วงเวลานี้เป็นเสมือนหนึ่งการวางรากฐาน ของศิลปะให้กับการถ่ายภาพที่ HCB เอาจริงเอาจังในเวลาต่อมา

Alicante, Espagne (1932)


ช่างภาพแต่ละคนมักเริ่มสนใจถ่ายภาพเมื่อได้รับแรงบันดาลใจจากช่างภาพ รุ่นก่อนหน้าเขา และติดกับดักของมันจนไม่อาจจะเดินจากไป HCB ก็เหมือนกัน หลังจากมีกล้อง brownie box และถ่ายภาพเป็นงานอดิเรกโดยไม่ได้เอาจริงเอาจังเท่าไหร่นัก แต่เมื่อเขาได้เห็นภาพถ่ายของช่างภาพชาวฮังกาเรียนชื่อ Martin Munkacsi เขาจึงเริ่มถ่ายภาพอย่างจริงจัง ตอนนั้นเขาอายุประมาณ 23 ปี

HCB เล่าถึงแรงบันดาลใจที่เขาได้รับจากภาพนั้นในทำนองที่ว่า เมื่อได้เห็นภาพนั้น เขาตระหนักได้ทันทีถึงความสามารถของการถ่ายภาพที่สามารถบันทึกความเป็นนิ รันดร์เอาไว้ได้ มันเป็นภาพถ่ายภาพเดียวที่มีอิทธิพลต่อเขาจวบจนทุกวันนี้ เพราะมันแสดงถึงอารมณ์ ความสนุกสนาน และความมหัศจรรย์ของชีวิต เขาบอกว่าเขาเหมือนโดนเตะที่ก้นและถูกเร่งเร้าให้ออกไปถ่ายภาพ—เขากำลังพูด ถึงภาพถ่ายที่ชื่อว่า Three Boys at Lake Tanganyika (ในบทสัมภาษณ์ครั้งหนึ่งราวๆ ปี 1994 ผู้สัมภาษณ์ได้บรรยายอพาร์ตเมนต์ของ HCB ที่ปารีสเอาไว้ว่า บนกำแพงสีขาวสะอาดไม่มีผลงานของ HCB แขวนอยู่เลยแม้แต่ภาพเดียว แต่มีรูปของ Munkacsi แขวนอยู่รวมกับภาพอื่นๆ อีกสามสี่ภาพ)

Aquilq degli Abruzzi, Italie (1952)


ผมไม่เคยเห็นภาพนี้เหมือนกัน แต่เขาบรรยายไว้ว่ามันเป็นภาพถ่ายซิลลูเอตต์ของเด็กชาวแอฟริกันสามคนที่ กำลังวิ่งเล่นกระโดดน้ำกันอย่างสนุกสนาน ผมอยากจะเห็นผลงานของ Munkacsi เหมือนกัน เพราะช่างภาพคนนี้เป็นช่างภาพโปรดคนหนึ่งของ Richard Avedon ด้วย ไม่ช้าไม่นานต่อมา เมื่อเขาได้กล้องไลก้าติดเลนส์ 50 มิลลิเมตรมาฝึกถ่ายภาพสตรีทโฟโต้ (Street Photography) ด้วยประสิทธิภาพของกล้องที่เบาและคล่องตัว ช่างภาพขี้อายจึงหลงใหลการบันทึกชั่วขณะของชีวิตอย่างถอนตัวไม่ขึ้น

วันหนึ่งในปี 1932 HCB ได้ถ่ายภาพที่โด่งดังมากภาพหนึ่งที่ปารีส ชื่อ Derrière la Gare Saint-Lazare (Behind the Gare Saint-Lazare) ซึ่งกลายมาเป็นภาพที่อ้างอิงถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของการตอบสนอง ต่อสิ่งที่เกิดขึ้นของความบังเอิญ จังหวะ สายตา เครื่องมือ หัวใจ และศิลปะ หรือใช้วลีที่ว่า the decisive moment

ภาพนี้ก็เช่นกันที่ HCB เร่งเร้าและเตะก้นช่างภาพรุ่นใหม่ๆ ให้ออกเดินถ่ายภาพและค้นหา “ทาง” ของตัวเอง

Athènes (1953)


หัวขโมยผู้ไร้ร่องรอย

เวลาดูภาพถ่ายที่สามารถบันทึกจังหวะที่เหมาะสม คอมโพสิชั่นที่สวยงาม และสื่อความหมาย ผมมักถามตัวเองเสมอว่า ช่างภาพมีระยะห่างแค่ไหนกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจึงสามารถได้มาซึ่งภาพเหล่า นั้น เขาคิดอะไรอยู่ ความบังเอิญรอเขาหรือเขารอความบังเอิญ เขาใช้เลนส์อะไร กล้องอยู่ในมือของเขาตลอดเวลาหรืออย่างไร เพราะระยะห่างที่พอดีนั่นหมายความว่าเขาเข้าไปบันทึกภาพในลักษณะที่ไม่ถูก สังเกตและถูกกลืนไปกับสถานการณ์แวดล้อม หมายความว่าเขากับกล้องเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน และเขาใช้มันเหมือนกับดวงตาของเขา วิธีการทำงานของเขาไม่ต่างจากพรานล่าสัตว์หรือเป็นนักฆ่าที่มีฝีมือเยี่ยม นั่นเอง (หากใครเคยดูหนังเรื่อง The Professional ของ Luc Besson การฆ่าด้วยการใช้ปืนติดกล้องบนดาดฟ้าตึกกับการฆ่าด้วยมีด มันใช้ทักษะและความสามารถต่างกัน) แต่ HCB บอกว่าการเป็นช่างภาพก็เหมือนเป็นหัวขโมย โดยหยิบฉวยวินาทีของชีวิตโดยไม่มีใครสังเกตเห็น โดยสัญชาตญาณ และไม่ทิ้งร่อยรอยใดๆ ไว้ เขาบอกว่าช่างภาพต้องฝีเท้าเบาแต่มีสายตาที่คมกริบ ต้องเข้าใกล้ซับเจ็กต์ด้วยฝีเท้าของหมาป่า แม้ว่าสิ่งนั้นจะเป็นเพียงวัตถุ เปรียบเหมือนกับว่าต้องไม่ทำให้น้ำกระเพื่อมก่อนตกปลาฉันใดก็ฉันนั้น

Rémond Dépardon ช่างภาพเจอร์นอลลิสต์ชาวฝรั่งเศสเล่าให้ฟังว่า ในช่วงปี 1970 ที่เขาเริ่มทำงานใหม่ๆ เขาต้องไปถ่ายรูปงานศพของนายพลชาร์ล เดอ โกลล์ ที่อาเวอนูชองป์ เซลิเซย์ ท่ามกลางฝูงชนและสื่อมวลชนมากมาย เขาจึงเลือกที่จะยืนอยู่ในระยะไกลและใช้เลนส์เทเลโฟโต้เพื่อหวังจะได้ภาพใน ระยะใกล้ ตอนนั้นเขาพบกับ HCB พอดี และช่างภาพรุ่นพี่คนนี้ก็แนะนำ Dépardon ว่า ถ้านายถ่ายภาพด้วยวิธีนี้ มันไม่มีประโยชน์อะไร และภาพของนายก็จะไม่ถูกจดจำ พูดจบ HCB ก็เดินหายไปในฝูงชนพร้อมกับกล้องไลก้าติดเลนส์ 50 มิลลิเมตร


Barrio Chino, Barcelone, Espagne (1933)


การได้พบเจอเครื่องมือคือกล้องและเลนส์ที่เหมาะสมกับการมองโลกของตัวเอง ถือได้ว่าเป็นการได้พรประการหนึ่ง บางคนชอบเลนส์ซูม เพราะสามารถจัดการกับสถานการณ์ได้ค่อนข้างครอบคลุมทั้งระยะใกล้-ไกล บางคนชอบเลนส์เดี่ยว เพราะถ้าเกิดความคุ้นชินก็สามารถกะระยะได้ด้วยตาเปล่า ก่อนจะหยิบกล้องขึ้นมาถ่ายได้อย่างรวดเร็ว เพื่อนช่างภาพบางคนของผมชอบเลนส์ 24 มิลลิเมตร เขาบอกว่ามันกว้างพอดีและไม่ทำให้เกิดการบิดเบือนของภาพมากเกินไป เหมาะจะบันทึกข้อมูลได้ครบถ้วน บางคนชอบเลนส์ 28 มิลลิเมตร ส่วนช่างภาพที่ผมชอบคนหนึ่งคือ วิลลี่ โรนิส ชอบเลนส์ 28 มิลลิเมตร เหมือนกัน ส่วน HCB ชอบเลนส์ 50 มิลลิเมตร เพราะเขาบอกว่ามันใกล้เคียงกับระยะการมองของคน และมันบิดเบือนสิ่งที่เขาเห็นน้อยที่สุด ในทางเทคนิคมันก็เป็นอย่างนั้น แต่บางคนชอบมองแบบเจาะจง บางคนชอบมองกว้างๆ ดังนั้นมันจึงขึ้นอยู่กับการมองโลกของแต่ละคน

เทคนิคการถ่ายภาพนอกจากนั้นแล้ว HCB ไม่ใช้แฟรช เพราะมันทำให้เหตุการณ์ที่กำลังดำเนินอยู่สะดุดกับแสงวาบ และมันเหมือนกับเป็นการคุกคามที่หยาบคายไร้มารยาท เมื่อจะต้องเลือกภาพเพื่อลงพิมพ์ เขาไม่ครอปภาพ และยิ่งไม่อนุญาตให้ใครหน้าไหนทำแบบนั้น เพราะในขณะกดชัตเตอร์ เขาคิดว่ามันเป็นความสมบูรณ์ของการทำงานในขณะนั้นโดยช่างภาพ ดังนั้นควรเคารพชิ้นงานของผู้สร้างงานนั้นๆ

Derrière la Gare Saint-Lazare (1932)


ผมคิดว่านักเขียนก็คงไม่พอใจเมื่อมีใครตัดบางประโยคออกไปจากงานเขียนของ เขาพอๆ กัน การทำงานและการมองโลกของ HCB นั้นได้รับการยกย่องว่าเป็นเลิศในด้านทักษะ จังหวะ สุนทรียศาสตร์ และการเป็นประจักษ์พยานต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ผู้คนที่รู้จัก HCB ต่างบอกว่า กล้องกลายเป็นอวัยวะหนึ่งของร่างกาย และมันคือดวงตาที่สามของเขา เพราะมันไม่เคยห่างจากมือของเขา และเขามักจะเอามันไปด้วยตลอดเวลาแม้แต่ตอนไปกินเหล้าในบาร์

ด้วยวิธีการใช้ชีวิตและทำงานแบบนี้เองที่ทำให้ HCB พร้อมอยู่ตลอดเวลาที่จะบันทึกความบังเอิญ โดยไม่ปล่อยให้วินาทีแห่งโชคคลาดสายตาและหลุดมือเขาไป หากวิลลี่ โรนิส ถ่ายภาพด้วยวิธีการเกี่ยวเหยื่อตกปลา วิธีการของอองรี กาติเยร์-เบรสซง ก็คงไม่ต่างจากการดวลปืนของคาวบอยตะวันตก Pierre Assouline นักข่าวที่เคยสัมภาษณ์ HCB หลายครั้งหลายหนและเขียนหนังสือชีวประวัติของช่างภาพผู้นี้เคยบอกไว้ว่า หากจะมีแกลอรีสักแห่งที่แสดงงานของ HCB มันคงไม่ใช่เป็นแกลอรีแสดงภาพถ่าย แต่เป็นแกลอรีที่แสดงผลงานของโชคและการนัดพบกับความบังเอิญ


Hyde Park, Londre (1938)


(1944) Zen, Archery, Photography

หากภาพถ่ายของ Munkacsi เป็นการปลุกความเป็นช่างภาพในตัวของ HCB ให้ตื่นขึ้น ปรัชญาเซนและวิธีการฝึกยิงธนูของชาวญี่ปุ่นก็เป็นเสมือนแสงสว่างที่ชี้นำให้ เขาค้นพบเส้นทางของตัวเอง ก่อนหน้าที่เขาจะได้อ่านหนังสือเกี่ยวกับปรัชญาเซนและการยิงธนู ซึ่งเขียนโดย Eugen Herrigel นักปรัชญาชาวเยอรมันที่ศึกษาปรัชญาตะวันออก เขามุ่งมั่นอยู่แต่ประเด็นเรื่องเทคนิคในการถ่ายภาพ ความเร็ว และความแม่นยำในการกดชัตเตอร์ที่ตอบสนองสายตาและประสาทสัมผัส แต่เขาพบว่าการมีสมาธิจดจ่ออยู่กับซับเจ็กต์ไม่เพียงพอต่อการได้ภาพที่ต้อง การ ภาพที่สมบูรณ์แบบ

เมื่ออ่านพบบทสนทนาระหว่างอาจารย์กับศิษย์ในหนังสือเล่มที่ว่านี้ ความสมบูรณ์แบบจะหามีไม่หากว่าเจ้าไม่ปลดปล่อยตัวเอง เจ้าไม่ได้มุ่งมั่นต่อความสำเร็จ แต่กลัวว่าจะล้มเหลว ศิลปะที่แท้จริงคือกระทำโดยปราศจากการคาดหวัง ปราศจากความตั้งใจ เจ้าต้องละวางตัวตนของเจ้าเพื่อที่จะบรรลุผลสำเร็จโดยปราศจากจุดมุ่งหมาย


Gymnastique dans un camp de réfugiés à Kurukshetra, Inde (1948)


ชีวิตและการทำงานของ HCB เปลี่ยนไปเมื่อได้เรียนรู้มุมมองของปรัชญาพุทธซึ่งเน้นให้ใช้ชีวิตอยู่กับ ปัจจุบัน ลืมอดีต และไม่คาดหวังกับอนาคต ลืมการดำรงอยู่ และการไม่มีตัวตน

ถึงตรงนี้แล้วผมนึกถึงชีวิตของมูซาชิที่หลอมรวมการฝึกดาบ ศิลปะการวาดรูป และการฝึกสมาธิของเขาเอาไว้ด้วยกัน และบรรลุถึงสุดยอดวิชาดาบและศิลปะ

ผมนึกถึงพจนา จันทรสันติ ที่เคยพูดไว้ครั้งหนึ่งทำนองที่ว่า การเดิน การถ่ายภาพ การวาดรูป หรืออะไรอื่นๆ ก็เป็นวิถีทางให้คนคนหนึ่งบรรลุธรรมได้ และเช่นเดียวกัน มันเป็นจุดเปลี่ยนของชีวิตและการถ่ายภาพของ HCB


Nouvelle-Angleterre, U.S.A. (1947)



The Decisive Moment

ปี 1952 หนังสือรวมผลงานภาพชื่อ Image à la Sauvette ของอองรี กาติเยร์-เบรสซง ได้รับการตีพิมพ์ ในบทนำของหนังสือภาพเล่มนี้เขาได้เขียนถึงวิธีการและสิ่งที่เขายึดถือในการ ทำงานเอาไว้อย่างละเอียด จนกล่าวได้ว่ามันเป็นบทเรียนสำคัญที่ถ่ายทอดไว้ให้ช่างภาพรุ่นหลัง

คำว่า Image à la Sauvette นั้นอาจแปลแบบเทียบเคียงได้ว่า Street Photography (ในภาษาฝรั่งเศส à la sauvette หมายถึงการแอบๆ ทำโดยไม่ขออนุญาต, อย่างรวดเร็วโดยไม่มีใครเห็น) ซึ่งอันที่จริงต้องให้เครดิตคนแปลเป็นภาษาอังกฤษ เพราะเขาเลือกใช้คำว่า the Decisive Moment ซึ่งเหมาะสมกับคอนเซ็ปต์ภาพถ่ายของ HCB ต่อมากลายเป็นวลีที่อธิบายงานของอองรี กาติเยร์-เบรสซง ได้ดีที่สุด


http://www.artgazine.com/shoutouts/images/Photojournalism/Dernier.jpg"/>

Dernier jours du Kuomintang, Pékin (1949)


ปรัชญาการทำงานที่ HCB เขียนอธิบายไว้ในหนังสือ ได้ยกคำพูดของคาร์ดินัล เดอ เรตซ์ (Cardinal de Retz) นักบวชชาวฝรั่งเศสที่เคยกล่าวไว้ว่า: There is nothing in this world that does not have a decisive moment.

HCB นำเอาประโยคนี้มาเชื่อมโยงกับการทำงานถ่ายภาพของเขา HCB อธิบายวิธีคิดของเขาไว้ 6 หัวข้อคือ report, subject, composition, colour, technique และ clients และพูดถึงทัศนะของเขาเกี่ยวกับการถ่ายภาพไว้บางประโยค เช่น Photography is the simultaneous recognition, in a fraction of a second, of the significance of an event as well as of a precise organization of forms that give that event its proper expression. และ To take photographs is putting one’s head, one’s eye and one’s heart on the same axis.


Rue Mouffetard, Paris (1954)


ภาพถ่ายของ HCB เป็นการทำงานที่ต้องอาศัยการทำงานที่ประสานสอดคล้องกันของจิตใจ สายตา ทักษะความชำนาญ การตอบสนองของสมองต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น สัญชาตญาณ สุนทรียศาสตร์ ความรู้เรื่องบริบทของสังคมการเมือง โชค ความบังเอิญ การรอคอย และเลือกที่จะบันทึกมุมมองหนึ่งๆ ของตนโดยการตัดสินใจในเศษเสี้ยวของวินาที

ถ้าเปรียบอองรี กาติเยร์-เบรสซง เป็นนักล่า เขาคงไม่ต่างจาก “เสือ” ที่หม่อมหลวงปริญญากร วรวรรณ เคยเขียนไว้ในหลายโอกาส

Séville, Espagne (1933)


HCB - Photojournalism

แม้ว่าโฟโต้เจอนอลลิสม์จะถือกำเนิดมานานแล้ว ในสมัยสงครามกลางเมืองอเมริกา พระราชินีวิกตอเรียได้ส่ง Roger Fenton และ Matthew Brandy สองช่างภาพไปถ่ายภาพในสงครามเพื่อรายงานข่าว และในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ช่างภาพสงครามก็เกิดขึ้นมากมาย แต่การทำงานยังยากลำบาก เพราะอุปกรณ์ที่ใช้ทั้งหนักและไม่คล่องตัว ช่างภาพต้องแบกกล้องขนาดใหญ่พร้อมขาตั้งกล้อง และใช้ฟิล์มแผ่นที่มีความไวแสงต่ำ หรือไม่ก็กล้องขนาดกลาง (Medium Format) ที่ใช้ฟิล์ม 6×6 ทำให้การทำงานเป็นไปด้วยความยากลำบาก ไม่คล่องตัวเท่าที่ควร และไม่ได้รับความนิยมมากนัก ต่อมาเมื่อบริษัทไลก้า (Leica) ผลิตกล้องขนาดเล็กที่มีคุณภาพสูง และใช้ฟิล์มที่มีความไวแสงบรรจุอยู่ในม้วนฟิล์ม ทำให้เกิดการปฏิวัติการถ่ายภาพ การถ่ายภาพซึ่งเป็นเหมือนงานอดิเรก กลายมาเป็นสื่อที่เปลี่ยนโฉมหน้าการรายงานสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงทาง ประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญ

สำหรับช่างภาพคนหนึ่ง เมื่อได้ค้นพบแนวทางของตนเองและได้รับคำแนะนำจาก Robert Capa เพื่อนสนิทและช่างภาพสงครามที่ดีที่สุดคนหนึ่งว่าควรจะทำงานในด้าน โฟโต้เจอร์นอลลิสม์ต่อไป โดยเก็บความปรารถนาในการทำงานด้านศิลปะไว้ในใจ อองรี กาติเยร์-เบรสซง จึงเข้าร่วมขบวนของช่วงเวลาอันรุ่งเรืองของโฟโต้เจอร์นอลลิสม์


Srinagar, Cachemire (1948)


เดือนพฤษภาคม 1947 เขาได้ร่วมก่อตั้งเอเจนซี่ช่างภาพ Magnum Photos Inc. กับเพื่อนช่างภาพอีก 3 คน คือ Robert Capa, David Seymour, George Rodger เอเจนซี่แห่งนี้มีส่วนปรับเปลี่ยนมาตรฐานใหม่ของการจ้างและลิขสิทธิ์ผลงาน ของช่างภาพ มันเป็นช่วงเวลาที่ HCB รายงานสถานการณ์ต่างๆ ในฐานะช่างภาพอาชีพให้กับนิตยสารข่าวรายเดือนหลายฉบับ โดยมี Life, Paris Match และ Ce Soir (นิตยสารฝรั่งเศส) เป็นหลัก

เขาเดินทางไปรอบโลก โดยเฉพาะในเอเชียที่เขาร่อนเร่ไปตามประเทศต่างๆ นานสามปี ตั้งแต่อินเดีย อินโดนีเซีย จีน โดยเข้าไปเป็นประจักษ์พยานต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการเมืองครั้ง ประวัติศาสตร์ในภูมิภาคนี้ ในอินเดีย เขาเป็นช่างภาพคนสุดท้ายที่ได้สนทนาและบันทึกภาพมหาตมะ คานธี หนึ่งชั่วโมงก่อนถูกลอบสังหาร ในจีน เขาเข้าไปมีส่วนร่วมกับการเปลี่ยนแปลงการปกครองและการกำเนิดขึ้นของ สาธารณรัฐประชาชนจีน ด้วยความเหมาะเจาะพอดีของเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ การปฏิวัติด้านเทคโนโลยีการถ่ายภาพโดยเฉพาะกล้องไลก้าที่มีคุณภาพดี ขนาดพอเหมาะพอดี ทำให้ง่ายต่อการทำงาน การเติบโตของสื่อนิตยสารภาพ การพัฒนาทางวิชาชีพ และช่างภาพที่มีความสามารถเป็นเลิศจำนวนหนึ่ง โฟโต้เจอนอลลิสม์จึงได้พบกับช่วงเวลาที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์การถ่ายภาพ


Trafalgar Square le jour du couronnement de George VI, Londres (1938)

Views: 7129

Replies to This Discussion

ขอบคุณมากครับ ข้อมูลเพียบ
ขอบคุณครับ
แนวนี้สำหรับผม มันใช่เลย

ดีใจครับที่มีห้องนี้
I agree with you...Glad to find this forum
ขอบคุณครับ ดีจริงๆ
ชอบเรื่องราวและแนวความคิดของช่างภาพระดับตำนานในข้อเขียนนี้แล้ว รู้สึกชื่นชมมากครับ ภาพแต่ละภาพก็ได้แค่ว่า "อื้อ หือ" ถึงว่าทำไมเขาถึงกลายเป็นระดับตำนานได้...

ขอบคุณสำหรับเรื่องราวที่นำมาฝากกันครับ
ขอบคุณสำหรับข้อมูลดีๆครับ
ขอบคุณสำหรับบทความครับ

อ่านแล้ว รู้สึกประทับใจมากๆ ครับ ในประเทศไทย Photojournalism ยังไม่ได้รับความนิยมมาก น่าจะได้รับการสนับสนุน อีกทั้งยังจุดประกายให้ผมอยากออกไปถ่ายภาพในแนวนี้มากขึ้นด้วยครับ ดีใจจัง มีพื้นที่เล็กๆ ให้แบ่งปันประสบการณ์และสิ่งๆ ดีด้วย

RSS

© 2009-2024   PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service