หลุยส์ โจเซฟิน บูร์ชัวส์ หลับให้สบาย... สไปเดอร์วูแมน





คิดว่าคนที่ชอบท่องเที่ยวคงจะเคยผ่านตากับประติมากรรมรูปแมงมุมยักษ์ที่ทำจากโลหะบรอนซ์กันบ้างนะ...



แมงมุมยักษ์ที่ดัง ๆ ก็อย่างเช่น แมงมุมยักษ์ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะโมริ
ในย่านรปปงงิ กรุงโตเกียว, พิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ซัมซุง ที่กรุงโซล
เกาหลีใต้, หอศิลป์ เทต โมเดิร์น (Tate Modern) ที่กรุงลอนดอน อังกฤษ
หรือพิพิธภัณฑ์กุกเก็นไฮม์ ที่เมืองบิลเบาของสเปน



แถมในช่วงที่หอศิลป์ กรุงเทพฯ เปิดขึ้นมาใหม่ ๆ เมื่อ 2 ปีที่แล้ว
มีนิทรรศการใหญ่ที่น่าสนใจอย่าง "รอยยิ้มสยาม :
ศิลปะ+ศรัทธา+การเมือง+ความรัก"
ในงานนี้ก็มีการหยิบผลงานประติมากรรมแมงมุมยักษ์ตัวนี้เข้ามาร่วมนิทรรศการ
ด้วย



แมงมุมยักษ์รูปทรงนี้ มีชื่อว่า มาแมน (Maman)
ผลงานของศิลปินและประติมากรชาวฝรั่งเศส-อเมริกัน นามว่า "หลุยส์ โจเซฟิน
บูร์ชัวส์" ที่เพิ่งเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจไปเมื่อวันที่ 31
พฤษภาคมที่ผ่านมา



การจากไปของหญิงสาวที่ได้รับฉายาว่า "สไปเดอร์ วูแมน" ในวัย 98 ปี
ทำให้รู้สึกค่อนข้างใจหายพอสมควร
เพราะเธอคือศิลปินผู้สร้างศิลปะในแนวใหม่ที่เรียกว่า confessional art



แปลออกมาตรงตัวก็คงจะเป็นแนว "ศิลปะแห่งการสารภาพ" ตอนแรกผมก็งง ๆ
ว่าศิลปะแนวนี้มันคือศิลปะแนวอะไร แล้วมันเกี่ยวกับแมงมุม "มาแมน" อย่างไร



เรื่องของเรื่องก็คือ ศิลปะแนว confessional art
เป็นศิลปะที่อยากจะแยกออกจากตัวศิลปินผู้ผลิตงานศิลปะนั้น
เพราะว่าสัญลักษณ์หรือ symbolic ที่ปรากฏอยู่ในตัวงานนั้น
มาจากเรื่องราวชีวิตที่ผ่านมาของศิลปินเอง



เพราะฉะนั้น เราต้องรู้จักกับตัวศิลปินกันก่อนจึงจะสามารถตีความงานศิลปะของเธอได้



ตามประวัติที่ปรากฏตามสื่อ หลุยส์ โจเซฟิน บูร์ชัวส์ (Louise Josephine
Bourgeois) เกิดในช่วงวันคริสต์มาส 25 ธันวาคม ในปี 1911 ที่กรุงปารีส
แม้ว่าชื่อของ Bourgeois ในฝรั่งเศสจะถอดความออกมาเป็นภาษาไทยได้ว่า
"ชนชั้นกลาง"
แต่วิถีชีวิตของครอบครัวเธอในสมัยที่เธอยังเล็กอยู่ออกไปทางการทำงานช่าง
เป็นหลัก นั่นคือ ธุรกิจการซ่อมแซมสิ่งทอโบราณ



บูร์ชัวส์เล่าให้ฟังว่า เมื่อวัยเด็ก
เธอมีบาดแผลในใจอย่างหนึ่งที่ไม่สามารถสลัดออกจากใจเธอได้ นั่นคือ
การที่คุณพ่อของเธอแอบนอกใจคุณแม่แล้วไปมีชู้กับครูสอนภาษาอังกฤษ
เหตุการณ์นี้ทำให้เธอรู้สึกช็อกแล้วส่งผลกระทบต่องานศิลปะที่เธอสร้างขึ้นใน
ระยะเวลาต่อมาที่เธอหาเลี้ยงชีพด้วยการเป็นศิลปิน



ในปี 1938 บูร์ชัวส์แต่งงานกับโรเบิร์ต โกลด์วอเตอร์ (Robert Goldwater)
นักประวัติศาสตร์ชาวอเมริกัน แล้วในปีเดียวกันนั้นเอง 2
สามีภรรยาต่างพากันย้ายมาทำงานศิลปะอยู่ที่เมืองกระเช้าแอปเปิลลูก
ใหญ่-นิวยอร์กซิตีที่อเมริกา



งานของบูร์ชัวส์มีทั้งภาพวาดและประติมากรรม
แต่ผู้คนจะรู้จักงานประติมากรรมของเธอมากกว่า แกลเลอรี่ดัง ๆ
หลายแห่งล้วนแล้วแต่เคยจัดงานนิทรรศการของเธอ
อย่างเช่นที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิแทนที่นิวยอร์ก
หรือที่พิพิธภัณฑ์กุกเก็นไฮม์ ทั้งที่เมืองบิลเบาและนิวยอร์ก
แต่หากจะหยิบนิทรรศการสำคัญของเธอครั้งสำคัญที่สุดมาเล่าตรงนี้
คงเป็นนิทรรศการฉลอง 70 ปีของเธอในปี 1981
ที่รวบรวมผลงานศิลปะของเธอตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
มาจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ที่นิวยอร์ก



งานส่วนใหญ่ของเธอสื่อมาในเชิงสัญลักษณ์ที่พูดถึงเรื่องราวในชีวิตวัยเด็ก
ของเธอ ความเจ็บปวดจากการที่ถูกคุณพ่อหักหลัง ความอบอุ่นที่ได้จากคุณแม่
สิ่งเหล่านี้ถูกตีความผ่านในชิ้นงาน อย่างเช่น
งานส่วนหนึ่งจะเกี่ยวกับการถักทอซึ่งตีความจากอาชีพเดิมของครอบครัว
บางงานก็แสดงให้เห็นถึงความปวดร้าวของมนุษย์ โลกอบอุ่นที่เธออิงอาศัย






อย่างเช่น งานประติมากรรม "มาแมน" ถูกตีความว่า Maman คือ Mummy
คุณแม่ของเธอนั่นเอง บูร์ชัวส์ได้เล่าถึงความคิดที่มีต่อแมงมุมยักษ์ว่า



"แมงมุมเป็นเหมือนบทกวีที่สรรเสริญมารดาของฉัน เธอเป็นเพื่อนที่ดีของฉัน
คุณแม่เป็นผู้ถักทอสิ่งต่าง ๆ เหมือนกับแมงมุม
ครอบครัวของเราทำธุรกิจฟื้นฟูสิ่งทอ แม่ของฉันต้องดูแลโรงงาน
เธอฉลาดมากเหมือนกับแมงมุม แมงมุมจะคอยกินยุง
ซึ่งเป็นตัวแพร่เชื้อโรคและไม่เป็นที่ต้องการ ดังนั้น
แมงมุมจะคอยช่วยเหลือและปกป้องเรา เหมือนกับคุณแม่"



ถึงวันนี้เราหวังว่า ในที่ที่บูร์ชัวส์ต้องเดินทางต่อ จะมีแมงมุมจำนวนมากมาย คอยปกป้องเธอระหว่างการเดินทางนะครับ Very Happy







ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ 21 มิถุนายน 2553   

Views: 1080

Reply to This

Replies to This Discussion

อืมม อ่านแล้วรู้สึก อิ่มเอม ทุกตัวอักษร แม้กระทั่งประโยคสรุป *^_^*
อ่านแล้วคิดถึงแม่จัง
ใกล้วันแม่แล้ว ขอบคุณแม่..
และก็ขอบคุณสำหรับบทความดีๆค่ะ
ยอดเยี่ยม
อ่านที่มาของ Maman แล้วขนลุกเลยครับ
สื่อความหมายได้ดีจริงๆ

RSS

© 2009-2024   PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service