ภาพสเกตช์ผิวดวงจันทร์ที่ Galileo วาดในหนังสือ The Starry Messenger 
----------------------------------------- 

เมื่อครั้งที่ยังเป็นหนุ่ม Galileo Galilei เคยใฝ่ฝันจะเป็นจิตรกร หลังจากที่ได้ร่ำเรียนเทคนิคการวาดภาพและระบายสี จาก Ostillio Ricci ผู้เป็นนักคณิตศาสตร์ประจำเมือง Florence ในอิตาลี Galileo ได้เข้าเรียนที่ Florentine Academy of Design และขณะเรียนที่สถาบันนี้ Galileo มีเพื่อนสนิทที่เป็นจิตรกรชื่อ Lodovico Cigoli การมีแนวคิดที่สร้างสรรค์ และทัศนคติเชิงศิลปะที่มากพอประมาณทำให้ Galileo ได้รับเชิญไปเป็นผู้วิพากษ์วิจารณ์ศิลปะของจิตรกรในแคว้น Tuscany เนืองๆ 

ในปี 1609 ที่ Galileo เริ่มสนใจดาราศาสตร์นั้น เขามีอายุ 45 ปี เมื่อได้ใช้กล้องโทรทัศน์ที่ประดิษฐ์ส่องดูดวงจันทร์ทำให้ Galileo ได้เห็นว่าดวงจันทร์มีผิวไม่ราบเรียบ เพราะเห็นเงาดำประปราย ซึ่งเงานี้เกิดจากแสงที่กระทบภูเขา และหุบเขา การมีพรสวรรค์ด้านศิลปะทำให้ Galileo สามารถสเกตช์ภาพที่เห็นออกมาเผยแพร่ให้โลกภายนอกรู้ 

ในความเป็นจริง Galileo มิใช่บุคคลแรกที่ใช้กล้องโทรทัศน์สำรวจดวงจันทร์ เพราะก่อนนั้น 3 เดือน Thomas Harriot นักคณิตศาสตร์อังกฤษได้ใช้กล้องโทรทรรศน์ศึกษาดวงจันทร์เช่นกัน แต่กล้องที่ Harriot ใช้มีคุณภาพไม่ดี จึงทำให้เห็นภาพผิวของดวงจันทร์ไม่ชัด ดังนั้นภาพพื้นผิวที่เขาสเกตช์จึงไม่คล้ายของจริง จะอย่างไรก็ตามการสเกตช์ภาพของ Galileo ในครั้งนั้น นอกจากจะเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญทางประวัติศาสตร์แล้ว ภาพยังแสดงให้เห็นอีกว่าจิตรกรรมเป็นอุปกรณ์รูปแบบหนึ่งที่นักวิทยาศาสตร์สามารถใช้ศึกษาธรรมชาติได้ 

นอกจากนี้การเห็นก็เป็นวิธีการหนึ่งที่ช่วยนักวิชาการให้วิเคราะห์ธรรมชาติได้ ผลตามมาคือบรรดาผู้คนที่เห็นภาพสเกตช์ของ Galileo ต่างก็รู้อย่างมั่นใจและเชื่อใจว่า Galileo วาดจากของจริง และดวงจันทร์มิได้กลมดิก ดังที่ Aristotle สอน 

ในปี 2005 เมื่อ Horst Bredekamp ผู้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ประวัติศิลปะแห่งมหาวิทยาลัย Humboldt ในเยอรมนีได้รับหนังสือชื่อ Sidereus Nuncius (The Starry Messenger ที่ Galileo ตีพิมพ์ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1610) จากนักสะสมเอกสารโบราณชาวอเมริกันคนหนึ่ง เขารู้สึกในตอนแรกว่ามันคงเป็นหนังสือปลอม จึงนำภาพที่มีในตอนแรกของหนังสือเล่มนั้น ไปเปรียบเทียบกับภาพที่ Galileo วาดจริงๆ ซึ่งขณะนี้อยู่ที่ National Central Library ในเมือง Florence 

 
ภาพสเกตช์จุดบนดวงอาทิตย์ที่ Galileo วาดเช่นกัน 
----------------------------------

การตรวจสอบที่ละเอียดถี่ถ้วนทุกแง่ทุกมุมทำให้ Bredekamp ได้ข้อสรุปว่า หนังสือเล่มนั้นเป็นหนังสือหนึ่งใน 550 เล่มที่ Galileo ตีพิมพ์จริง และเมื่อผู้เชี่ยวชาญเรื่องกระดาษโบราณ นักอนุรักษ์กระดาษและนักประวัติวิทยาศาสตร์ทั้งจากเยอรมนีและอเมริกาต่างก็ยืนยันว่า หนังสือเล่มนั้นถูกตีพิมพ์เมื่อวันที่ 1 มีนาคม ค.ศ. 1610 และหนังสือที่ตีพิมพ์รุ่นเดียวกันนี้ได้ถูกแจกจ่ายให้นักวิชาการอ่านในอีก 11 วัน ต่อมาสำหรับ Johannes Kepler นั้นได้รับ Sidereus Nuncius ที่ Prague เมื่อวันที่ 8 เมษายน 1610 

ส่วนตอนหลังของหนังสือ Sidereus Nuncius มีภาพวาดของจุดบนดวงอาทิตย์ด้วย Galileo จึงเป็นบุคคลแรกที่เห็นความไม่สมบูรณ์ของดวงอาทิตย์ และในปี 1612 ที่ Galileo เห็นจุดนั้น เขาได้วาดภาพจุดให้มีลักษณะเหมือนเมฆมืด ที่ปรากฏบนผิวดวงอาทิตย์ การเห็นนี้จึงยืนยันอีกว่าทั้งดวงอาทิตย์และดวงจันทร์มิได้กลมอย่างสมบูรณ์ดังที่ไบเบิลสอน 

ในความเป็นจริงนักดาราศาสตร์ชาวเยอรมันชื่อ Christoph Soheiner เป็นบุคคลแรกที่เห็นจุดบนดวงอาทิตย์ แต่เขาคิดว่ามันเป็นดาวที่โคจรตัดหน้าดวงอาทิตย์ 

การค้นพบต่างๆ ของ Galileo ที่ได้ล้มล้างความเชื่อผิดๆ ตั้งแต่สมัยโบราณ ทำให้เขาได้ ชื่อว่าเป็นบิดาคนหนึ่งของวิทยาศาสตร์ยุคใหม่ ถึง ณ วันนี้ ตำรา และบทความที่ Galileo หรือ Newton เขียน แทบไม่มีนักวิชาการคนใดสนใจอ่านแล้ว เพราะ Newton เขียนตำราเป็นภาษาละติน ที่นักวิทยาศาสตร์ปัจจุบันอ่านไม่ออก และ Galileo เขียนเป็นภาษาอิตาเลียน ที่คนอิตาเลียนเองก็ไม่อ่าน เพราะสัญลักษณ์และสูตรที่ใช้ในสมัยก่อนไม่เหมือนกับสูตรในสมัยนี้เลย 

แต่ถ้าเราได้อ่านตำราที่ Galileo เขียน เราก็จะรู้และเข้าใจ Galileo ว่าเป็นคนที่มุ่งมั่นทำงานวิทยาศาสตร์อย่างเต็มตัวด้วยใจที่เปิดกว้าง และเปิดรับเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ในการสังเกต อีกทั้งมีความรู้สึกกังวลเหมือนนักวิทยาศาสตร์ทุกวันนี้ คือ หวั่นกลัวว่านักวิทยาศาสตร์คนอื่นจะพบและอธิบายปรากฏการณ์ต่างๆ ได้ก่อน และถึง Galileo จะทำงานอยู่ท่ามกลางศัตรู แต่เขาก็รู้ว่าการสู้รบเชิงวิชาการกับสถาบันศาสนาของตน เป็นการพ่ายแพ้ชั่วคราว แต่ด้วยความเชื่อและความช่วยเหลือของบรรดาศิษย์จะทำให้ความคิดของ Galileo พิชิตสงครามได้ในที่สุด 

 
ซากนิ้วกลางมือขวาของ Galileo ในพิพิธภัณฑ์ 
----------------------------------

การอ่านตำราต้นฉบับของ Galileo ยังแสดงให้เห็นอีกว่าเขาได้ความคิดใหม่ๆ จากนักวิชาการร่วมรุ่นหลายเรื่อง เช่น เรื่องวัตถุตก Galileo ได้ทฤษฎีของปัญหานี้จาก Giovanni Battista Benedetti และเรื่องเรือที่กำลังแล่น จาก Giordano Bruno เป็นต้น 

แต่ความสามารถที่มากล้นของ Galileo นี้ได้ทำให้เขาสามารถสังเคราะห์สิ่งต่างๆ ที่เห็นเป็นภาพใหญ่และภาพรวมได้ รวมถึงการที่ Galileo มีความสามารถสร้างอุปกรณ์วิทยาศาสตร์ต่างๆ เช่น กล้องโทรทรรศน์และกล้องจุลทรรศน์ ด้วยตนเอง ความอยากรู้อยากเห็น การรู้จักตั้งคำถาม และการรู้จักวิธีค้นหาคำตอบด้วยการใช้เหตุผล และไม่เปลี่ยนใจถึงคำตอบที่ได้จะแตกต่างจากกระแสความเชื่อของคนอื่นๆ ได้มีบทบาททำให้ Galileo เป็นนักวิทยาศาสตร์ที่โลกยกย่อง มาจนถึงทุกวันนี้ 

คุณหาอ่านเรื่องนี้เพิ่มเติมจาก Galilei der Kunster (Galileo the Artist) โดย Horst Bredekamp จัดพิมพ์โดย Academic-Verlag ในปี 2007 หนา 525 หน้า (ถ้าคุณอ่านภาษาเยอรมันออก) 




โดย: สุทัศน์ ยกส้าน เมธีวิจัยอาวุโส สกว. 
ที่มา: ASTV ผู้จัดการออนไลน์  

Views: 150

Reply to This

Replies to This Discussion

ขอบคุณครับ
กาลิเลโอ สเก็ตได้ละเอียดมาก
คนสมัยก่อนช่างฉลาดมากๆ..

RSS

© 2009-2024   PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service