"คำแนะนำสำหรับนักออกแบบมือใหม่" แปลจาก Advice for a new designer เขียนโดย CHUCK GREEN

คำแนะนำสำหรับนักออกแบบมือใหม่

แปลจาก Advice for a new designer เขียนโดย CHUCK GREEN

Credit:  http://www.ideabook.com/tutorials/1_view/advice_for_a_new_designer....

แปลและเรียบเรียงโดย พัทธพล บัวล้อมใบ (iggyswork@gmail.com)

 

      *หมายเหตุ อาจจะไม่ได้แปลตรงกับต้นฉบับมากนัก เพราะต้องการให้กระชับและอ่านง่ายขึ้นมาหน่อยนึงนะครับ และในที่นี้ คำว่า “ผม” มีความหมายถึงตัวผู้เขียน หรือ CHUCK GREEN ไม่ใช่ผู้แปลนะครับ

 

      “คำแนะนำแบบไหนที่คุณจะแนะให้คนอื่นที่อยากเดินตามแบบอย่างของคุณ โดยที่ไม่ต้องขอคำปรึกษาจากจิตแพทย์??” ผมเคยมีคำถามนี้ในใจ และนี่... ก็คือคำตอบของผมเอง

 

      สิ่งที่คุณต้องทำก็คือ...

 

      1. ต้องหาสถานที่เพื่อการเรียนรู้ที่ดี

      แม้ว่างานฟรีแลนซ์จะทำให้เราสามารถโชว์เดี่ยวได้เต็มที่นั้นจะดูน่าสนใจก็เถอะ แต่การตัดสินใจที่จะเป็นฟรีแลนซ์ตั้งแต่ต้นเลยนั้น ผมว่ามันเป็นความคิดที่ผิด คุณควรจะต้องมีประสบการณ์การทำงานแบบจริงๆจังๆอย่างน้อยสัก 5-10 ปี ก่อนที่คุณจะออกมาเดินด้วยตัวเอง และวิธีที่ผมแนะนำในการเก็บประสบการณ์ก็คือ ให้คุณไปหาคนที่คุณคิดว่า “เจ๋งที่สุด” ไม่ว่าจะเป็นนักออกแบบที่เจ๋งที่สุด นักเขียนคำโฆษณาที่เจ๋งที่สุด หรือสำนักงานออกแบบที่เจ๋งที่สุด และขอเข้าทำงานกับที่นั่นซะ... นี่ไม่ได้ล้อเล่นนะเนี่ย!!... แม้บางทีจะต้องทำงานแบบไม่ได้เงินก็เถอะ แต่การที่คุณได้ทำงานกับคนเหล่านั้น คุณจะได้เรียนรู้และซึมซับสิ่งเจ๋งๆที่พวกเขามี รวมถึงกระบวนการคิดงานที่จะสามารถดึงไอเดียของคุณให้ออกมาเป็นงานสุดเจ๋งได้อีกด้วย

 

      2. เรียนรู้การทำธุรกิจในสายงานที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์

      สาเหตุที่คุณต้องรู้ก็เพราะการทำงานให้ได้เงินเป็นกอบเป็นกำมันไม่ใช่เรื่องง่ายนัก เราต้องใช้ความรู้ที่มีทุกอย่าง มาจัดจ้างคน จัดการเรื่องค่าใช้จ่าย เรียนรู้เรื่องการนำเสนอผลงาน และรู้จักความเสี่ยงทางด้านการเงิน

      สำหรับผมแล้ว ถ้าคุณอยากจะคุ้นเคยกับการเป็น Creative Director มากขึ้น คุณจะต้องรู้จัก Account Manager (ผู้ที่ทำหน้าที่บริหารลูกค้า) เก่งๆ และผู้ซื้อสื่อ (ลูกค้า) รวมถึงสิ่งที่พวกเขาทำด้วย

      และถ้าคุณอยากจะเป็นต่อในธุรกิจของงานสายนี้ คุณต้องอ่าน “The Business Side of Creativity” เขียนโดย Cameron Foote เป็นหนังสือคู่มือสำหรับการดำเนินธุรกิจด้านกราฟฟิกดีไซน์และการสื่อสาร และถ้าคุณยังต้องการอะไรที่ช่วยให้คุณพุ่งไปยังด้านนี้ได้อย่างจริงจังมากขึ้นล่ะก็ หนังสือ “The E Myth Revisited” ของ Michael E. Gerber สามารถช่วยให้คุณตัดสินใจได้ว่า “คุณควรที่จะทำ หรือไม่ควรที่จะทำอะไรบ้าง”

 

      3. พัฒนาความสามารถในการนำเสนอของตัวคุณเองให้ถึงขีดสุด

      ถ้าคุณรู้ตัวว่าความสามารถในการนำเสนอผลงานของคุณมันอ่อนด้อยนัก คุณก็ยิ่งต้องพัฒนามัน... ไม่ใช่ควรนะ “ต้องพัฒนามัน!!” เพราะ ณ เวลานี้... ก็ระหว่างที่คุณกำลังอ่านบทความนี้อยู่นี่แหละ... นักคิดหลายๆคนมีความคิดเจ๋งๆผุดออกมาอยู่ตลอดเวลา แต่พวกเขาไม่สามารถทำให้มันเป็นจริงได้ เหตุเป็นเพราะ... พวกเขาไม่สามารถนำความคิดของตัวเองออกมาขายได้ เพราะกลัวที่จะพูดต่อหน้าผู้คน หรือขาดทักษะในการสื่อสารความคิดของตัวเองออกมาได้อย่างชัดเจน ครบถ้วน และน่าสนใจ

 

      4. อย่าให้งานมาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตส่วนตัวของคุณ

      การทำงานเป็นผู้กำกับศิลป์ นักออกแบบ นักเขียนคำโฆษณา หรือนักการตลาด มันเป็นเรื่องที่สนุกและน่าพึงพอใจเป็นอย่างมาก แต่มันจะทำให้คุณสับสนว่า “อะไรคือสิ่งสำคัญ”

      ที่ผมมาบอกคุณแบบนี้เพราะ ในชีวิตจริง สิ่งที่จำเป็นคือคุณต้องรู้ว่างานของคุณได้ช่วยเสริมสร้างหรือทำลายสิ่งที่สำคัญในชีวิตคุณ ไม่ว่าจะเป็นครอบครัวของคุณ ผู้คนรอบๆตัวคุณ รวมถึงพระเจ้าของคุณ เพราะสิ่งที่ผมกำลังแนะนำคุณอยู่ตอนนี้... ก็เป็นปัญหาหลักที่กำลังเกาะกินตัวผมอยู่เช่นกัน

 

      (ด้านล่างนี้ของผู้แปลเองครับ)

      สำหรับข้อสุดท้ายที่ CHUCK GREEN ได้แนะนำไว้ผมก็เห็นด้วยนะครับ หลักในการอยู่อย่างมีความสุขก็คือ “ทำงานให้น้อยลง อยู่กับคนที่เรารักให้มากขึ้น และอย่าเอางานเข้ามาในชีวิตส่วนตัว” เพราะถ้าคุณเป็นอะไรไปเนื่องด้วยการทำงานมากเกินเหตุ มันไม่ได้เป็นเรื่องเท่นะครับ และที่สำคัญที่สุด คนที่เสียใจ มันไม่ใช่ตัวคุณเอง...

 

                                                                                                                                พัทธพล บัวล้อมใบ, 10/07/2553

Views: 101

Replies to This Discussion

เรียนรู้การทำธุรกิจในสายงานที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ ข้อนี้ได้ยินบ่อยๆ แต่ก็ยังรู้สึกว่ายากทุกที

ขอบคุณสำหรับคำแปลค่ะ เป็นหัวข้อที่น่าอ่าน และมีประโยชน์จริงๆ ^_______^
ขอบคุณครับ ว่างๆจะหาบทความน่าสนใจมาแปลอีกครับ

RSS

© 2009-2024   PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service