Thinking About Thinking วิธีฝึกการคิด

Thinking About Thinking
Edward de Bono's plenary session.
---------------------------------

Edward de Bono บอกว่า “การรับรู้” (perception) เป็นสิ่งสำคัญที่สุด มากกว่าความรู้ ข้อมูล หรือเหตุผล เพราะถ้ามีการรับรู้ผิด การกระทำของคนเราก็จะผิดไปด้วย

มีผู้หญิงคนหนึ่ง แนะเพื่อนว่า หากจะพิสูจน์ว่าสามีของตัวแอบไปมีกิ๊ก ก็ให้สังเกตดูเนกไทของสามีตอนก่อนออกจากบ้านกับหลังจากเลิกงานกลับมาบ้าน ถ้าปลายเนกไทสั้นกว่าตอนออกจากบ้านไป แสดงว่าสามีนอกใจแอบไปหาหญิงอื่น แต่สามีอธิบายว่าหลังเลิกงานเขาไปเล่นสควอชต่างหาก ก็ต้องถอดเนกไทออก ภรรยาจึงเข้าใจ

มีเด็กเล็กๆ คนหนึ่งชื่อ จอนนี่ พวกผู้ใหญ่ชอบเอาเหรียญใส่มือ 2 เหรียญ แล้วให้จอนนี่เลือก เหรียญ 1 ดอลลาร์อันใหญ่ ส่วน 2 ดอลลาร์อันเล็กกว่า จอนนี่ก็เลือกเหรียญใหญ่กว่าทุกครั้ง พวกผู้ใหญ่ก็พากันหัวเราะ และชอบเอาเหรียญสองเหรียญให้จอนนี่เลือก เขาคิดว่าจอนนี่โง่นึกว่าเหรียญใหญ่จะมีมูลค่ามากกว่า ผู้ใหญ่คนหนึ่งเกิดความสงสาร ก็เลยเรียกจอนนี่ไปกระซิบว่า รู้หรือเปล่าว่าเหรียญอันเล็กน่ะ มันมีค่ามากกว่า

จอนนี่ตอบว่า ทราบครับ แต่ถ้าผมหยิบเหรียญอันเล็กก็จะไม่มีใครเอาเหรียญมาให้ผมเลือกอีก

นี่แสดงว่า การรับรู้ของจอนนี่เป็นอีกอย่างหนึ่งคือ เขาเห็นว่าเอาน้อยๆ แต่บ่อยๆ จะดีกว่าเอาแยะๆ แต่ได้เพียงครั้งเดียว

ดังนั้น การรับรู้จึงเป็นสิ่งสำคัญ เราจึงต้องหาวิธีตรวจสอบให้แน่ใจว่า การรับรู้ของเรานั้นถูกต้อง พระพุทธเจ้าสอนวิธีการตรวจสอบไว้อย่างละเอียดตามหลักกาลามสูตร

การฝึกทักษะการคิด ก็เป็นหนทางหนึ่งที่ช่วยให้เราสามารถตรวจสอบการรับรู้ได้ คือให้มองหลายๆ มุม แทนที่จะมองเพียงมุมเดียว

De Bono แนะวิธีคิดไว้หลายอย่างเช่น

PMI ย่อมาจาก Plus, Minus, Interesting

Plus คือดูด้านบวก ต่อไปก็ดูด้านลบ ส่วนสิ่งที่น่าสนใจได้แก่สิ่งที่น่าตั้งเป็นข้อสังเกตเพื่อจะมาวิจารณ์ข้อดี-ข้อด้อยอีกครั้งหนึ่ง

CAF ย่อมาจาก Considering All Factors คือตรวจดูปัจจัยทั้งหลายทั้งปวง พยายามดูให้รอบด้าน และนำมาพิจารณารวมกัน

C&S ย่อมาจาก Consequences & Sequels คือดูผลที่จะเกิดขึ้นตามมา และดูการเกิดขึ้นก่อนหรือหลัง ดูว่าอะไรจะเกิดขึ้นในอนาคต อะไรจะเป็นผลทันที ทิ้งระยะสั้นและระยะกลาง

AGO ย่อมาจาก Aims, Gouls, Objectives เรามักจะมีความคิดกว้างๆ และไม่ชัดเจน ดังนั้นจึงต้องพิจารณาสิ่งที่มุ่งหวังและเป้าประสงค์ ว่าเราต้องการบรรลุถึงอะไร พยายามกระจายสิ่งเหล่านี้ออกมาให้ชัดเจน

FIP ย่อมาจาก First Important Priorities คือดูลำดับความสำคัญว่าเรื่องใดเป็นเรื่องสำคัญที่สุดเป็นลำดับแรกต้องทำก่อน เพราะบางทีเราเห็นว่าเรื่องโน้นก็สำคัญ เรื่องนี้ก็สำคัญ ดังนั้นจึงต้องทำเป็นบัญชีสำรวจดูว่าเรื่องใดสำคัญที่สุด

APC ย่อมาจาก Alternatives, Possibilities และ Choices คือดูทางเลือกต่างๆ ซึ่งอาจเป็นทางเลือกของการรับรู้ ทางเลือกของคำอธิบาย และทางเลือกของการกระทำ อะไรเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ และอะไรเป็นตัวเลือกบ้าง

OPV ย่อมาจาก Other People’s Views คือดูจากทัศนะของคนอื่นว่า เขาเห็นเป็นอย่างไร หากทำเช่นนี้ได้ก็จะเป็นการลดความขัดแย้งลงได้ คือการ “เอาใจเขามาใส่ใจเรา” นั่นเอง

เคยมีการลองใช้วิธีการเหล่านี้ และได้ผลดีมาแล้ว เช่น ในออสเตรเลีย เด็กนักเรียนอายุ 12 ปี ได้รับคำถามว่า ควรมีการจ่ายเงินให้เด็กที่ไปเรียนหนังสือหรือไม่ ปรากฏว่าเด็กทุกคนเห็นดีด้วย แต่พอใช้ PMI คือให้พิจารณาด้านลบดูบ้าง ก็มีการกลัวว่าหากได้เงิน พวกเด็กโตก็จะมารังแกข่มขู่เอาเงินไป ทางโรงเรียนก็อาจขึ้นค่าอาหารกลางวัน และพ่อแม่เห็นว่าเด็กได้เงินแล้วก็จะซื้อของขวัญให้น้อยลง เป็นต้น

วิธีการคิดอีกอย่างหนึ่งที่คนรู้จัก และใช้กันมากก็คือ Six Hats หรือหมวกหกใบ de Bono คิดเรื่องนี้ก็เพราะเขาเห็นว่า ในการประชุมแต่ละครั้งต้องเสียเวลาไปมาก เพราะผู้ร่วมประชุมเถียงกันมั่วไปกันคนละเรื่อง

Blue Hat คือวิธีการควบคุมเหมือนกับวาทยกรควบคุมวงดนตรี ใช้ตอนเริ่มต้นการประชุมปรึกษา คือมาตกลงกันว่าจะเน้นเรื่องอะไร จุดไหน แล้วจึงเริ่มพูดกัน

White Hat แทนเรื่องข้อมูล เรามีข้อมูลอะไรบ้าง ขาดเรื่องใดไป เราต้องการข้อมูลอะไรและจะหามาได้อย่างไร หากมีข้อมูลที่ขัดแย้งกัน ก็จะต้องตกลงกันให้ได้ว่าข้อมูลใดถูกต้อง และจะใช้ข้อมูลใดเป็นหลักในการพิจารณา

Red Hat เกี่ยวกับอารมณ์ ความรู้สึก ลางสังหรณ์ ผู้เข้าร่วมการประชุมทุกคนจะแสดงสิ่งเหล่านี้ออกมาโดยไม่ต้องอธิบายเหตุผล

Black Hat คือการคิดแบบวิเคราะห์ เพื่อดูว่าความคิดนี้ถูกหรือผิด มีจุดอ่อนอย่างไร ทำไมจึงมีความผิดพลาดล้มเหลว มีความเสี่ยงและภยันตรายอย่างไร สรุปว่า “หมวกดำ” เป็นเรื่องด้านลบ มีประโยชน์ในการทำให้เกิดความระมัดระวัง

Yellow Hat หมวกเหลือง คือด้านบวก ดูสิ่งที่เป็นประโยชน์คุณค่าทั้งหลาย

Green Hat หมวกเขียวเกี่ยวกับความคิดสร้างสรรค์ ความคิดใหม่ๆ สิ่งที่เป็นไปได้ การปรับปรุงเปลี่ยนแปลง

การใช้ “หมวกหกใบ” นี้เป็นกรอบของการแสดงความคิดที่เป็นระบบ เป็นไปในเชิงสร้างสรรค์ ไม่ใช่การเป็นปฏิปักษ์กัน

มีคนใช้วิธีการนี้มากมาย บางประเทศถึงกับคิดว่าในการประชุมสภา จะให้มีระยะเวลาที่ผู้แทนทุกคนมุ่งพูดไปในทางที่ตกลงกันไว้ว่าจะเป็นเวลาของการใช้หมวกสีใดในการอภิปราย

วิธีการคิดเหล่านี้ สามารถสอนกันได้ในโรงเรียน การมีความคิดสร้างสรรค์ไม่ใช่พรสวรรค์ แต่ฝึกกันได้



เรื่อง : ชัยอนันต์ สมุทวณิช
บทความ> ชัยอนันต์ สมุทวณิช, ชีวิตที่เลือกได้>
โดย ASTV ผู้จัดการรายวัน 24 มกราคม 2553

Views: 267

Reply to This

Replies to This Discussion

cool...
ขอบคุณครับ

RSS

© 2009-2024   PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service