พระพิฆเนศ ตำนานเทพ"ฮ็อต"

 
พระพิฆเนศหล่อด้วยซีเมนต์ 
ที่วิทยาลัยนาฏศิลป์ กรมศิลปากร 
ออกแบบโดย ศ.ศิลป์ พีระศรี 
ปั้นโดยนายชิ้น ชื่นประสิทธิ์ 



ในยุคที่คนไทยไขว่คว้าหาที่พึ่งทางใจ พระพิฆเนศ เป็นเทพยอดนิยมที่นิยมสักการบูชาอย่างกว้างขวาง 

พระพิฆเนศ หรือ พระพิฆเนศวร หรือ พระคเนศ หรือ พระวิฆเณศวร หรือ วิฆเนศ เป็นเทพในศาสนาฮินดูหรือพราหมณ์ นับถือว่าเป็นเทพเจ้าแห่งความรอบรู้ เป็นผู้มีปัญญาเป็นเลิศ ปราดเปรื่องในศิลปวิทยาทุกแขนง เป็นเทพแห่งการขจัดอุปสรรคความขัดข้อง 

คนไทยถือว่าพระพิฆเนศเป็นเทพองค์สำคัญในการประกอบพิธีกรรมต่างๆ คาดว่า รับมาจากศาสนาพราหมณ์ที่ถือพระพิฆเนศเป็นเทพองค์แรกที่ต้องบูชาก่อนเริ่มพิธีใดๆ 

ส่วนความนิยมในการจัดสร้างและนำพระพิฆเนศมาคล้องคอบูชา เริ่มต้นฮิตในระดับเป็นกระแส เมื่อไม่นานมานี้ 

พระพิฆเนศอยู่คู่กับคนไทยมาช้านาน เห็นได้จากการพบรูปสลักพระพิฆเนศในเทวสถานตามเมืองต่างๆ ทั่วประเทศไทย 

ตามตำนาน พระพิฆเนศวรเป็นโอรสของพระอิศวรและพระอุมาเทวี มีรูปกายเป็นมนุษย์ มีเศียรเป็นช้าง 

ตำนานหนึ่งของพระพิฆเนศ คือ ปราชญ์ที่ใช้งาส่วนที่หัก จาร หรือเขียนเรื่อง "มหาภารตยุทธ" วรรณคดีสำคัญของอินเดียโบราณ ลงในใบลาน ตามคำบอกเล่าของฤาษีวยาสะ ทำให้ได้รับความเคารพนับถือ ในฐานะผู้ประสาทความรู้ทางอักษรศาสตร์ 

ทำให้เชื่อกันว่า เด็กหรือผู้ที่จะเริ่มเรียนหนังสือหรือจะเข้าสอบ ต้องไหว้พระพิฆเนศเสียก่อน 

ความเป็นมาของพระพิฆเนศเป็นอย่างไร และทำไมพระพิฆเนศจึงเป็นที่เคารพบูชาของคนอินเดีย และชาวเอเชียในที่อื่นๆ รวมถึงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออุษาคเนย์ 

ไมเคิล ไรท - Michael Wright นักเขียนนักวิชาการ ได้เขียนไว้อย่างลึกซึ้งมีชีวิตชีวา ในหนังสือจากเครือมติชน ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ "พระพิฆเนศ มหาเทพฮินดู ชมพูทวีป และอุษาคเนย์" จัดพิมพ์ครั้งที่ 2 และเป็นฉบับปรับปรุงใหม่ 

มีรายละเอียดที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง 

พร้อมกันนั้น ไมเคิล ไรท ยังได้เล่าถึงวิวัฒนาการล่าสุดของแวดวงผู้นับถือพระพิฆเนศในอินเดีย ศรีลังกา และอุษาคเนย์ ที่รวมถึงประเทศไทยอีกด้วย 

 
1. พระพิฆเนศกับคอมพิวเตอร์สัมฤทธิ์ โดยประติมากรชาวลังกา 
2.อีกแบบของพระพิฆเนศยุคคอมพิวเตอร์ 
3.ปางเล่นดนตรี-สังคีตคณบดี 
4.สายาสนคณบดี-นอนเล่น 
5.ปางทารก 
6.แบบรัฐโอริสสา 
7.ออกแสวงบุญ


มีสาระสำคัญบางตอนดังนี้ 

พระพิฆเนศสมัยใหม่ 

ใน 300-400 ปีที่ผ่านมา ทางอินเดียคิดพระพิฆเนศปางใหม่ๆ ขึ้นมา เช่น "ทารกะคณบดี" ( ทารกนอนแป, ออกคลาน) , "สายาสนคณบดี"(นอนเล่น), "สังคีตคณบดี" (เล่นดนตรี) และ "ยาตราคณบดี" (เดินทางแสวงบุญ) 

ปางเหล่านี้ไม่ค่อยมีตำนานรองรับ แต่ก็น่ารัก จึงเป็นที่นิยมแพร่หลายมากในอินเดีย แต่ไม่เคยปรากฏในศิลปะอุษาคเนย์แต่โบราณ 

นอกจากนี้ ชาวอินเดียสมัยใหม่ยังหลงใหลกับศิลปะ "เหมือนจริง" (Realistic) ของตะวันตก จึงเริ่มผลิตเทวรูปพระพิฆเนศที่ "เหมือนจริง" จนคนที่มีรสนิยมสูงมักติว่า "ฉูดฉาดหรูหราบาดตา" 

แต่ประชาชนโดยทั่วไปนิยมชมชอบและศรัทธาเทวรูปแบบใหม่นี้ เพราะเป็นสัญลักษณ์ของความมั่งคั่งหรูหราที่เขาปรารถนาในชีวิตแร้นแค้นยากไร้, ซึ่งก็น่าจะเป็นธุระของพระพิฆเนศที่จะบำบัดแก้ไขให้ดีขึ้น 

จนทุกวันนี้พระพิฆเนศยังเป็นที่พึ่งของชนทุกชั้น บริษัทมหาเศรษฐีถ่ายภาพยนตร์ในกรุงมุมไบกราบไหว้บูชาเทวรูปหรูดังกล่าวมาแล้ว โรงแรมใหญ่ยังจ้างช่างสลักทำเทวรูปไว้ต้อนรับแขกในห้องโถง 

ชาวบ้านเมื่อแล้งก็ช่วยกันจัดแห่พระพิฆเนศขอฝน 

วิทยาลัยนาฏศิลป์ตั้งเทวรูปที่โคนต้นไทรข้างทางเข้า, ครูและศิษย์จะได้ไหว้เมื่อเดินทางเข้า-ออก 

และหนุ่มสาวที่มีอะไรในใจต่อกันก็มักแอบมาขอพรท่าน ก่อนกล้าเผยให้ผู้ใหญ่รู้ 

ประเทศสยามได้สืบทอดศาสนาพราหมณ์ (ฮินดู) ตลอดจนถึงปัจจุบัน, ทั้งในพิธีกรรมและความเชื่อบางอย่างของชาวบ้านและในสถาบันพราหมณ์พระราชพิธี 

ที่เทวสถานโบสถ์พราหมณ์ (เสาชิงช้า) ซึ่งรัชกาลที่ 1 โปรดให้สร้างขึ้นมาสำหรับพระนคร, ก็ยังรักษาเทวรูปเก่าแก่สำคัญๆ และประกอบพิธีกรรมตามประเพณีโบราณ พร้อมทั้งขับเพลงสวดสรรเสริญพระเป็นเจ้าต่างๆ ทั้งภาษาทมิฬและภาษาสันสกฤต 

ในสถานพระพิฆเนศ (โบสถ์กลาง) ประดิษฐานเทวรูปพระพิฆเนศที่สง่างามหลายยุคหลายสมัย 

ในรัชกาลที่ 1 ถึง 4 โบสถ์พราหมณ์สำหรับพระนครนี้ได้ผลิต "ตำราภาพเทวรูปฯ" จำนวนหนึ่ง ประกอบด้วย ภาพพระพิฆเนศหลายปาง ซึ่งน่าจะคัดลอกจากตำราเก่าสมัยอยุธยาเป็นส่วนใหญ่ 

 
แห่พระพิฆเนศลงทะเลที่อินเดีย 


ตำราภาพสมัยรัตนโกสินทร์เหล่านี้ปัจจุบันรักษาไว้ที่หอสมุดแห่งชาติ 

"วัดแขก" ถนนสีลม สร้างขึ้นมาในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยพ่อค้าชาวอินเดียใต้ มีชื่อเป็นภาษาทมิฬว่า "ติรุมาริยัมมันโกยิล" และภาษาไทยว่า "วัดพระศรีอุมาเทวี" 

ปราสาทประธานเป็นที่สถิตของพระนางอุมา ปราสาทซ้าย-ขวาประดิษฐานพระบุตรของพระนาง, คือขันธกุมารและพระพิฆเนศ 

"วัดแขก" ถนนสีลมเป็นตัวอย่างเทวสถานฮินดูแบบอินเดียใต้ ที่น่าสนใจคือ ผู้อุปถัมภ์วัดนี้ส่วนใหญ่เป็นคนไทยชนชั้นกลางในเมือง, ไม่ใช่ชาวทมิฬเสียแล้ว 

ชาวทมิฬที่เข้ามาสมัยรัชกาลที่ 5 ส่วนใหญ่กลายเป็นคนไทย-พุทธจนจับไม่ถูก, เว้นแต่ผิวคล้ำเนียนงาม, นามสกุล และการรังเกียจไม่ยอมกินเนื้อโค 

ความเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมนี้เกิดภายในระยะเวลาไม่ถึง 100 ปี 

ในรัชกาลที่ 6 มีการประดิษฐ์หัวโขนใหม่, ขึ้นหัวพระพิฆเนศที่งามสง่าเหมือนของเดิม, ทั้งๆ ที่ไม่มี "ของเดิม" เหลือให้เห็น 

ด้านสถาบันทางศิลปวัฒนธรรมของไทยมีหลายแห่งเลือกพระพิฆเนศเป็นสัญลักษณ์ เช่น ตรากรมศิลปากร และเทวรูปหน้าโรงละครแห่งชาติ 

ฝ่ายเอกชนนั้น, ในยุคสมัยใหม่ที่กำลังเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วน่าสะพรึงกลัว, มีหลายคนอยากย้อนกลับไปยึดเหนี่ยวกับวัฒนธรรมอดีต 

บางท่านคิดอาศัยพระพิฆเนศเป็นสื่อ เช่น นายทุนบางคนสร้างเทวรูปพระพิฆเนศให้เฝ้าประตูทางเข้าบริษัท, โรงงาน หรือ หมู่บ้าน 

เทวรูปเหล่านี้มีลักษณะย้อนหลังสู่อดีต, ไม่มีการประดิษฐ์คิดใหม่ ดังนี้เป็นที่น่าเชื่อว่าพระพิฆเนศยังมีพลังในการเชื่อมโยงระหว่างอดีตและปัจจุบัน 

แล้วพระพิฆเนศยังมีทางเป็นสื่อต่อถึงอนาคตได้หรือไม่? 


พระพิฆเนศกับอนาคต 

ตำนานว่า ครั้นเมื่อฤาษีวยาสะจะร่ายมหากาพย์มหาภารตะ, ท่านได้พระพิฆเนศมาเป็นอาลักษณ์ 

พระพิฆเนศหักงาข้างหนึ่งใช้เป็นเหล็กจารแล้วจารมหาภารตะลงใบลานคำต่อคำ จึงนับถือกันว่าเป็นเทพประจำอักษรศาสตร์และนักเรียนมักกราบไหว้ก่อนเข้าสอบ 

ในปีพ.ศ.2546 ประติมากรชาวลังกาชื่อ ติสสะ รณสิงหะ ได้สร้างรูปสัมฤทธิ์พระพิฆเนศทันสมัย 

ท่านนั่งกับคอมพิวเตอร์, ปลายงวงขยับหนูกล (หมายถึง "เม้าส์" คอมพิวเตอร์ ) ตรงกับมุสิกวาหณะเดิม, ซึ่งไม่น่าจะ "ผิด" หรือ "แปลก" สำหรับเทพที่ใหม่เสมออย่างพระพิฆเนศ 

ในเมืองบังกาลอร์ (Silicon Valley ของอินเดีย) พนักงาน "ไอที" มักตั้งเครื่องบูชาถวายพระพิฆเนศก่อนเปิดเครื่องทำงาน 

ในสายตาของหลายๆ คน, โลกปัจจุบันดู "แปลกแยก" และน่าสะพรึงกลัว 

อดีตที่เรารู้จักและไว้ใจได้ดูว่าตายจากหรือแปลกแยกจากชีวิตสมัยใหม่, และอนาคตเป็นแดนมืดมนที่คาดคะเนไม่ได้ 

พระพิฆเนศไม่ได้ชี้ถึง "ยูโทเปีย", ยุคพระศรีอาริย์ หรือสังคมอันอุดม (ไม่ว่าสังคมนิยมหรือทุนนิยม) 

อย่างไรก็ตาม ท่านยังชี้ให้เห็นว่า อดีต ปัจจุบัน และอนาคตล้วนเป็นกระแสเดียวกันที่ไม่ขาดสาย 

ทั้งนี้ อาจจะช่วยหลายคนที่เสียดายอดีต "อันดีงาม" และสิ้นหวังกับอนาคต "อันไว้ใจไม่ได้" 

ถ้าพระพิฆเนศงาหัก มีข่าวจะบอกมนุษย์สมัยใหม่, ก็คงมีอีกความว่า เราอยู่ในโลกที่บกพร่อง, แต่เป็นโลกเดียวที่มีอยู่, ด้วยความเคารพรัก, ความกรุณา, ความหวังและอารมณ์ขบขันมากเท่าที่เราหามาได้ 

ทางเลือกก็คือความสิ้นหวังหรือความเพ้อฝันถึงโลกอื่นที่ดีกว่า, ทั้งๆ ที่เราไม่มีหลักฐานว่าโลกนั้นมีจริง 

เราจึงน่าจะยอมรับโลกที่มีอยู่จริง และช่วยพยุงมันให้ดีขึ้นด้วยความซื่อสัตย์, ด้วยความหวังดีและด้วยปัญญามากเท่าที่เราหามาได้ 


นั่นคือ บางตอนจากหนังสือ "พระพิฆเนศ มหาเทพฮินดู ชมพูทวีป และอุษาคเนย์" 

เป็นหนังสือที่ช่วยทำให้เกิดการเชื่อมต่อระหว่าง "ศรัทธา" กับ "ปัญญา" เพื่อความเข้าใจที่ดีที่มีต่อองค์พระพิฆเนศ 

+++++++++++++ 

วิธีบูชาพระพิฆเนศ 

 

หนังสือของไมเคิล ไรท ระบุว่า พระพิฆเนศเป็นเจ้าเรียบง่ายที่ทุกคนเข้าถึงหากมีใจดี, แม้จะเป็นผู้มีมลทินก็ตาม หากใครอยากบูชาพระพิฆเนศจึงควรทำดังนี้ 

1.ชำระจิตใจโดยอภัยทุกคนที่เราโกรธ 

2.อาบน้ำอาบท่าให้สะอาดแล้วแต่งตัวด้วยผ้าสะอาดสีสดใส 

3.แต่งเทวรูปพระพิฆเนศด้วยดอกไม้นานาชนิดให้งดงามเท่าที่จะได้ 



4.ตั้งเครื่องสังเวย กล้วย อ้อย มะพร้าว ของเค็ม ของหวาน (ล้วนมังสวิรัติ), จุดธูปและประทีป 

5.ในถาดทองเหลือจัดแป้งจันทน์ (ผมใช้ยาสีฟันตรา "วิเศษนิยม") และแป้งสีแดง (ซื้อได้ที่หน้าวัดแขกถนนสีลม), พร้อมกับการบูรหนึ่งก้อน (เจิมหน้าผากเทวรูปด้วยแป้งขาว แดง) 

6.จุดไฟการบูรแล้วยกถาดแกว่งหน้าเทวรูปพลางร่ายมนตร์ว่า "โอมศรีคเนศายะนะมะ" 

7.เจิมหน้าผากตนเองและเพื่อนร่วมงานด้วยแป้งจันทน์และแป้งสีแดง 

8.จบพิธียกเครื่องออกมารับประทานกันเอง และหรือมอบเป็นทานให้กับคนอนาถาด้วยความเคารพ เศษเหลือควรโปรยให้นกกาและสัตว์จรจัดกินเป็นการทำบุญอย่างพอเพียงและทั่วถึง 

บูชาดังนี้ไม่มีคัมภีร์ใดรับรองว่าท่านจะ "รวยอื้อซ่า", "รวยพรุ่งนี้" หรือ "รวยไม่สิ้น", แต่จะช่วยชำระจิตให้ผ่องใสสะอาดสะอ้านและเพิ่มกำลังใจสู้ชีวิตต่อไป 

นอกจากนี้ การบูชาพระพิฆเนศยังจะช่วยให้คนเรามองโลกด้วยสายตาใหม่ว่า มนุษย์ไม่ใช่ "เจ้าของ", แต่เป็นเพียง "ผู้อยู่อาศัย" แผ่นดินและฟ้ารวมกับพืชและสัตว์ทั้งหลายทั้งปวง 

*****************
ที่มา ข่าวสด
วันที่ 05 มีนาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 17 ฉบับที่ 6306 

Views: 827

Reply to This

Replies to This Discussion

ชอบคำว่า "การเชื่อมต่อระหว่าง "ศรัทธา" กับ "ปัญญา" เพื่อความเข้าใจที่ดีที่มีต่อองค์พระพิฆเนศ" ^^
ผมเป็นเด็กศิลปากร มีชีวิตอยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลจากพระพิฆเนศมากนัก โชคดีที่ในคณะของผมมีอาจารย์ที่รอบรู้ด้านนี้เป็นพิเศษ
และเล่าเรื่องเกี่ยวกับพระพิฆเนศได้โดยไม่ต้องอาศัยการชี้นำด้วยอภินิหารอะไรมากมาย
- และนั่นก็ทำให้ผมยิ่งนับถือพระพิฆเนศได้ลึกซึ้งมากกว่าจะแค่งมงายตามๆกันไป
อีกอย่าง...ผมเชื่อว่าพระพิฆเนศใจดีน่ะครับ (หัวเราะ)
โอ้โห ยาวนานสุดๆๆๆๆๆ
ที่ช่างศิลปก็มีเน้อ
ผมก็ เป็นอีกคนที่นับถือ บูชา องค์พระพิฆเนศครับ...

RSS

© 2009-2024   PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service