'ขบถ' ในประวัติศาสตร์ดนตรีและศิลปะ

Marcel Duchamp 
-------------------- 

การสนทนาที่ว่าด้วยสถานะการเป็น 'ขบถ' ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เพราะเอาเข้าจริงมันเป็นเรื่องของการเปลี่ยนแปลงซึ่งเกิดขึ้นตลอดเวลา 

เย็นย่ำ เมื่อวันศุกร์ที่ 5 มีนาคม ที่ผ่านมา คนกลุ่มหนึ่งได้จัดให้มีการเสวนา ฟังสบาย และเป็นกันเอง ภายใต้ชื่อโครงการ 'สนทนา เมื่อพลบค่ำ' ขึ้นที่ร้านศรีภูมิ เอสเพรสโซ บาร์ ในหัวข้อเรื่อง 'ขบถ ในประวัติศาสตร์งานดนตรี และศิลปะ' เสวนาวิชาการแบบชิลเอาท์ใกล้ถนนข้าวสาร วิทยากรผู้ร่วมสนทนาประกอบด้วย อาจารย์อติภพ ภัทรเดชไพศาล จากวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล อาจารย์ธนาวิ โชติประดิษฐ ภัณฑารักษ์อิสระ และอาจารย์พิเศษในภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร และคุณอนรรฆ พิทักษ์ธานิน นักวิจัยอิสระ โดยมีอาจารย์ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ อาจารย์ประจำ ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นผู้ดำเนินรายการ 

หัวข้อการสนทนาที่ว่าด้วยสถานะการเป็น 'ขบถ' ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เพราะเอาเข้าจริงมันเป็นเรื่องของการเปลี่ยนแปลงซึ่งเกิดขึ้นตลอดเวลาในสังคมมนุษย์ อยู่ที่ว่าเราจะเรียกมันว่าอะไรเท่านั้นเอง ไม่ว่าจะ 'ปฏิวัติ' หรือ 'ขบถ' หรือ 'paradigm shift' หรืออะไรก็ตาม 

โดยเฉพาะในประวัติศาสตร์ของโลกศิลปะและดนตรีที่เป็นเรื่องของงานสร้างสรรค์ เพราะการสร้างสรรค์นั้นในแง่หนึ่งผูกพันอยู่กับการทำลาย หรือการกบฎต่อสิ่งเก่าอย่างไม่อาจจะปฏเสธได้ และไม่มีการสร้างสรรค์ชนิดไหนที่สามารถหลีกเลี่ยงการทำลายไปได้พ้น ตัวอย่างเช่น การสร้างเก้าอี้สักตัว เราก็เลี่ยงไม่พ้นที่จะต้องตัดต้นไม้ลงก่อน หรืออย่างเช่นการจะปั้นหม้อขึ้นมาสักใบ เราก็ต้องนำดินมาผสมโน่นผสมนี่ เพื่อ 'ทำลาย' คุณลักษณะดั้งเดิมของมันเสียก่อน เพื่อที่จะสามารถสร้างสรรค์สิ่งใหม่ขึ้นมาได้ 


John Cage 
-----------------------

ในประวัติศาสตร์การดนตรี การเปลี่ยนผ่านจากยุคหนึ่งไปอีกยุคหนึ่ง จึงย่อมต้องผ่านการกบฎ ผ่านการสร้างฐานคิดใหม่ๆ ซึ่งไม่สามารถกระทำได้โดยคนๆ เดียว แต่จะต้องเป็นไปตามความเคลื่อนไหวของสังคมในขณะนั้นๆ ด้วย และความเคลื่อนไหวของสังคมที่ว่าจะอนุญาตให้ไปทางไหนนั้น ก็มีปัจจัยที่สลับซับซ้อนทั้งเรื่องการเมืองและเศรษฐกิจด้วย 

ตัวอย่างที่สำคัญอย่างหนึ่งในประวัติศาสตร์อย่างที่ว่าก็คือ ลักษณะชาตินิยม ที่เริ่มเป็นอุดมการณ์ในประเทศแถบยุโรปตั้งแต่ราวปี ค.ศ. 1770 ย่อมส่งผลให้นักประพันธ์เพลงและกวีหันมาจับบุคลิกของดนตรีท้องถิ่นต่างๆ มากขึ้น และให้ความสำคัญกับนิทานพื้นบ้าน อย่างกรณีของพี่น้องตระกูลกริมม์ที่เริ่มตระเวณเก็บรวบรวมนิทานพื้นบ้าน เป็นต้น 

ด้วยเหตุดังกล่าวจึงเกิดศิลปินอย่าง Chopin และ Grieg ที่หันมาให้ความสนใจกับดนตรีท้องถิ่นของตัว แนวคิดแบบชาตินิยมเมื่อเคลื่อนผ่านไปสูระบอบอาณานิคม ยังก่อให้เกิดผลกระทบทางดนตรีอีกมากมาย 

แนวคิดแบบอาณานิคมทำให้เกิดการมองประเทศแถบตะวันออกในลักษณะ exotic และเจือไปด้วยเสน่ห์ที่ลี้ลับ ทำให้เกิดศิลปินอย่าง Debussy ที่นำเสียงของเครื่องดนตรีพื้นเมืองอินโดนีเซียอย่าง Gamelan ไปเลียนแบบบน piano และทำให้เกิด opera หลายๆ เรื่องที่มีเค้าโครงมาจากตะวันออก เป็นต้น 

ระบบเสียงแบบ Tonal music ที่เป็นรากฐานของดนตรีตะวันตกมานับร้อยๆ ปี มาถึงทางตันในช่วงปลายคริสตศตวรรษที่ 19 ส่งผลให้เกิดดนตรีที่ตรงกันข้าม ที่เรียกว่า Atonal music ระบบดนตรีแบบนี้ค่อยๆ เริ่มก่อตัวขึ้นในราวปี 1880 แล้วมาพัฒนาต่อยอดเป็นระบบที่ชัดเจนโดย Arnold Schoenberg ในปี ค.ศ. 1921 เพลงดนตรีในระบบใหม่นี้นำไปสู่แนวคิดที่ใช้เหตุผลเป็นหลักในการแต่งเพลง 

นั่นหมายถึงฐานคิดที่เปลี่ยนผ่าน จากการที่เมื่อก่อนการฟังดนตรีเป็นไปเพื่อความบันเทิง และความไพเราะของบทเพลงนั้นเป็นเรื่องของอารมณ์ความรู้สึก แนวคิดแบบดนตรีชนิดใหม่ทำให้การฟังดนตรีเป็นเรื่องของความเข้าใจ เป็นเรื่องของบุคคลอีกชนชั้นหนึ่งที่มีการศึกษาเท่านั้นจึงจะสามารถ 'เข้าใจ' ดนตรียากๆ แบบนี้ได้ 

การประพันธ์ดนตรีชนิดใหม่ที่ว่านี้กลายเป็นการประพันธ์กระแสหลักในการศึกษาดนตรีตะวันตกมาตลอดช่วงกว่า 50 ปีที่ผ่านมา (แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ามันจะเข้าถึงผู้คนในวงกว้าง เพราะสุดท้ายผู้ฟังกลุ่มที่เป็น mass ก็ยังเลือกที่จะเสพงานแบบเก่าของ Mozart หรือ Beethoven อยู่ดี) การกบฎที่กลายสภาพเป็นการศึกษาเป็นกระแสหลักนี้ สุดท้ายแล้วย่อมถูกสั่นคลอนอีกครั้งด้วยความเปลี่ยนแปลงทางสังคม 


LHOOQ งานล้อเลียนชิ้นดังอีกชิ้นหนึ่งของ Marcel Duchamp 
--------------------------------

สงครามและวิกฤตเศรษฐกิจ ส่งผลให้แนวคิดใหม่ๆ เกิดขึ้น การต่อต้านสงครามของศิลปินกลุ่ม Dada ส่งผลให้เกิดศิลปินอย่าง Schoenberg ก็จริง แต่ก็ขยายผลสืบเนื่องไปถึงนักแต่งเพลงกลุ่มใหม่ๆ อย่าง John Cage ในอเมริกา หรือ Stockhausen ในเยอรมันด้วย 

นักแต่งเพลงอย่าง Cage นั้นถึงกับตั้งคำถามว่า ”ดนตรีคืออะไร?” Cage ถามว่าความเงียบมีจริงหรือไม่? หรือความเงียบเป็นเพียงสภาวะที่เราไม่ได้ใส่ใจต่อเสียงรอบข้างเท่านั้น ถ้าดนตรีหมายถึงการใส่ใจนั่งฟัง ทำนองเพลงต่างๆ ที่มีคนเล่นให้ฟังแล้วละก็ การตั้งใจนั่งฟังท่วงทำนองเสียงธรรมชาติต่างๆ ที่ปรากฏอยู่แล้วในทุกหนทุกแห่งและทุกเวลานั้น จะถือว่าเป็นการฟังดนตรีด้วยหรือไม่?การเปลี่ยนแปลงฐานคิดแบบนี้เป็นเรื่องใหญ่และส่งผลกระทบทางดนตรีต่อมาอย่างกว้างขวาง 

เช่นเดียวกับในแง่ของดนตรี 'ขบถ' ในงานศิลปะ หรือถ้าจะกล่าวชี้เฉพาะให้ชัดลงไปคือ งานทัศนศิลป์ ก็ไม่ได้ต่างไปจากมากนัก ในทางศิลปะ ความเปลี่ยนแปลงทางศิลปะทั้งมวล (ไม่ว่าจะในแง่ของรูปแบบหรือเนื้อหา) คือการเกิดของสิ่งใหม่ที่ประกอบไปด้วยความเป็น 'ขบถ' ชนิดที่แยกออกไปไม่ได้ หากปราศจากการล้มล้าง ก็ไม่อาจเกิดสิ่งใหม่ 

เมื่อเป็นเช่นนี้ การ 'ขบถ' การต่อต้าน การล้มล้าง และการทำลายก็เป็นส่วนหนึ่งของ 'การสร้างสรรค์' เป็น 'เงื่อนไข' ในการสลายไปของสิ่งเก่าและการถือกำเนิดของสิ่งใหม่ ความเปลี่ยนแปลงของศิลปะตลอดช่วงเวลาในประวัติศาสตร์จึงไม่ได้อยู่ในรูปของ 'วิวัฒนาการ' หรือ 'พัฒนาการ' ในหมายความที่ว่ามันเป็นไปโดยความราบรื่น ปราศจากความขัดแย้ง ตรงกันข้าม ความขัดแย้งต่างหากที่ก่อให้เกิดการ 'สร้างสรรค์' ความขัดแย้งต่างหากที่บ่งบอกถึง 'พลวัตร' ที่ทุกสิ่งทุกอย่างจะไม่หยุดนิ่งจนสูญสลายตายไป 'ขบถ' จึงหมายถึงสัญญาณของ 'ชีวิต' 

ประเด็นปัญหาหลักประการหนึ่งในศิลปะตะวันตกคือการค้นหาหนทางที่จะนำเสนอ 'ความเป็นจริง' (ที่ไม่ว่าจะในแง่ของ reality หรือ truth ก็ดูจะไม่ต่างกันมากนักในกรณีนี้ อย่างไรก็ดี นี่เป็นการพูดแบบกว้างๆ เท่านั้น) ในเวลานับร้อย-พันปี การนำเสนอด้วยรูปแบบเหมือนจริง (realistic) ในแบบต่างๆ ไปจนถึงแบบนามธรรม (abstract) ที่ก็แยกย่อยออกไปสู่รูปแบบต่างๆ เช่นกันได้พิสูจน์ให้เห็นว่า นวัตกรรมใหม่ทางศิลปะเหล่านี้เกิดขึ้นจากการต่อต้านและล้มล้างแนวทางเก่า เกิดจากความเป็น 'ขบถ' 

ดังนั้น เงื่อนไขของการ 'ขบถ' อาจไม่ได้อยู่ที่อะไรอื่น แต่อยู่ที่วิธีคิดเชิงวิพากษ์วิจารณ์ในการต่อรองและต่อสู้กับ 'อำนาจ' นั่นเอง 

ตัวอย่างเช่น ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมกลุ่ม 'ดาดา' (Dada) ที่พยายามกระทำการล้มล้างแนวคิดเรื่องศิลปะและสังคมแบบดั้งเดิม หลังสภาพอันน่าทุกข์ทนของมนุษยชาติในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 กลุ่มดาดาพยายามปฏิเสธความเป็นศิลปะ บางครั้งถึงกับบ่งชี้ด้วยว่า ที่เรียกว่าเป็นงานศิลปะไม่ได้เกิดขึ้นจากตัวชิ้นงาน แต่เกิดจากสถาบัน และผู้สร้างงานถูกสถาปนา หรือสถาปนาตัวเองว่าเป็นศิลปิน งานบางชิ้นก็กลายเป็นงานศิลปะ เพราะมันถูกตั้งอยู่ในแกลลอรีเท่านั้น 



ผลงานที่โด่งดังของความคิดดังกล่าวอาจดูได้จากงานของ Marcel Duchamp ที่นำโถปัสสาวะไปตั้งไว้ในแกลลอรีประหนึ่งว่าเป็นงานศิลปะชั้นสูง พร้อมไปกับที่เป็นการเย้ยหยันว่างานศิลปะเกิดขึ้นได้ก็เพราะแกลลอรีมากกว่าเพราะตัวชิ้นงานเอง 

แต่ผลที่ตามมากลับตรงกันข้าม ภายหลังความคิด 'ขบถ' แบบสุดขั้วในช่วงเวลาดังกล่าวของ Duchamp งานชิ้นนี้กลับได้รับการยกย่องว่าช่างก้าวหน้า (avant-garde) ไปเสียนี่! 

ที่สำคัญคือ ท้ายที่สุดแล้วไม่ว่าจะเป็นงานของ Duchamp เอง หรืองานของกลุ่มดาดาท่านอื่นๆ กลับได้รับการยกย่องว่าเป็นงานศิลปะ และกล่มดาดาก็ถูกจำแนกว่าเป็นเป็นกลุ่มศิลปินไปพร้อมๆ กันด้วย 

ความเป็น 'ขบถ' จึงไม่ได้เป็นสภาวการณ์ที่คงที่ แต่เลื่อนไหลไปตามเงื่อนไขที่เปลี่ยนแปลงไปตามแต่ละกรณีเป็นการเฉพาะ และด้วยความคิดอย่างที่ว่านี้ ความเป็น 'ขบถ' ต่างหากที่ทำให้เกิดความก้างหน้า หรือความสร้างสรรค์นั่นเอง 


............ 


หมายเหตุ : เชิญผู้สนใจเข้าร่วมงานสนทนาฟังสบาย ใบบรรยากาศร้านกาแฟกึ่งบาร์ ทุกเย็นวันศุกร์ ที่ร้านศรีภูมิ เอสเพรสโซ่ บาร์ อยู่ไม่ใกล้ไม่ไกล บริเวณย่านบางลำพู ตรงกันข้ามกับร้านน้ำพริกนิตยา เข้าฟังและร่วมแสดงความคิดเห็นฟรี (แต่ค่าเครื่องดื่มไม่ฟรีนะ!) 


Source: กรุงเทพธุรกิจ : Life Style : ศิลปวัฒนธรรม 
วันที่ 11 มีนาคม 2553 

Views: 1157

Reply to This

Replies to This Discussion

สุดยอด

RSS

© 2009-2024   PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service