โดย : ชัยณรงค์ กิตินารถอินทราณี 

เสื้อผ้าหน้าผมสไตล์ "แนว" พกแถมแอคเซสเซอรี่ต้องให้ "พราว" เข้าไว้ ยังไม่นับของเล่นอินเทรนด์ อีกนานับชนิดเพื่อให้สมวัย

ขอต้อนรับเข้าสู่โลกใหม่หลากนิยามของเหล่า GEN-M

เลิกเรียนเดินสยาม นั่งสตาร์บัคส์ติวหนังสือสอบ เป็นกิจกรรมที่เธอ และ "เดอะแก๊งค์" ร่วมทำกันเป็นประจำ ยังไม่นับ "บีบี" ที่เหมือนเป็นอุปกรณ์เสริมอีกชิ้นที่ช่วยเชื่อมโยงให้เหล่าเพื่อนสาว "สนิท" กันมากขึ้น

"ซื้อพร้อมเพื่อน 4-5 คน เหมือนเล่นตามๆ กันมาค่ะ" ตาล - ศรินธร พวงย้อยแก้ว นิสิตสาวปี 3 คณะนิเทศศาสตร์ ภาคภาษาอังกฤษ สาขาการจัดการการบริหารสื่อ จากรั้วจามจุรีให้เหตุผลสั้นๆ

หากเป็นวันหยุดสุดสัปดาห์ ย่านความบันเทิงทั้งหลายจะถูกแผ่ป้ายออกมาเป็นตัวเลือก ไม่ว่าจะดูหนัง ฟังเพลง ท่องราตรี ทั้งหมดล้วนถือเป็นกิจกรรมกลุ่มด้วยกันทั้งนั้น เพราะจะได้โชว์เสื้อผ้าหน้าผม เดรสกระโปรง เสื้อยืดกางเกงยีนส์ สร้อย แหวน ตุ้มหู กำไลสุดชิคได้เต็มที่ตามสไตล์แต่ละคน

ขณะที่ในความชอบของกลุ่มเด็กผู้ชายอย่าง จู้ - คณิต ผลเพิ่มศีลกุล และเพื่อนร่วมโปรแกรมวิชานิเทศศาสตร์ วารสาร ชั้นปีที่ 3 มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทาอีก 3-4 ชีวิต มักใช้มหาวิทยาลัยเป็นแหล่ง "สิง" หลังเลิกเรียนมากกว่า ถ้าไม่นับร้านนั่งกินดื่มแล้วละก็ ศูนย์การค้าฝั่งปิ่นเกล้ามักเป็นตัวเลือกลำดับท้ายๆ ของพวกเขาเสมอ

"บางคนใส่ยีนส์ บางคนก็ขาเดฟ บางคนก็ขาม้า ที่แต่งหลุดๆ มาเลยก็มีนะครับ" เขาเล่าถึง "แนว" ของสมาชิกแต่ละคนด้วยรอยยิ้ม

ระหว่างเขาและเธอถึงไลฟ์สไตล์ออกจะแตกต่างกัน แต่ทั้งคู่ก็ไม่ได้อยู่นอกเหนือนิยามบางแง่มุมของความเป็น "เด็กรุ่นใหม่" ในวันนี้

ปอกเปลือกวัยรุ่น 2010 

ทุกสมัย เหล่าผู้ใหญ่มักมีการตั้งคำถามถึงวัยรุ่น พยายามทำความเข้าใจ กระทั่งค้นหาคำนิยามที่เหมาะสมให้บรรดาละอ่อนหน้าใส แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าการ "จัดหมวด" ให้กับเด็กกลุ่มนี้จะสามารถตอบโจทย์ได้ครอบคลุมเสมอไป เพราะบางครั้งเมื่อปฏิทินเปลี่ยนหน้าข้ามปีนิยาม 2-3 บรรทัดเหล่านั้นอาจจะ "เอาท์" ไปแล้วก็ได้ โดยเฉพาะในยุคสมัยที่ทุกสิ่งทุกอย่างสามารถเชื่อมโยงถึงกันได้ภายใน "คลิกเดียว" อย่างนี้ 


"วัยรุ่นชอบใช้ชีวิตชิลๆ สบายๆ ไม่ต้องมีพ่อแม่มากดดันมาก ไม่ชอบอยู่ในกรอบเท่าไหร่" เป็นนิยามสำหรับชีวิตวัยรุ่นของสาวตาล ขณะที่หนุ่มจู้มองว่า การได้ทดลองอะไรใหม่ๆ อย่างเต็มที่ และไม่มีที่สิ้นสุดจนกว่าจะเจอสิ่งที่ใช่สำหรับตัวเรา นั่นแหละ ...วัยรุ่น 


พนิดา เอี่ยมศิรินพกุล บรรณาธิการนิตยสาร Knock Knock เปรียบเทียบภาพรวมของวัยรุ่นแต่ละยุคนั้นล้วนแต่มีความคล้ายคลึงกันตรงเป็นช่วงวัยที่อารมณ์พลุ่นพล่าน ใจร้อน ชอบอะไรที่เร็ว และง่าย แต่สิ่งที่ทำให้เด็กรุ่นนี้ต่างจากเด็กรุ่นก่อนก็คือ "เทรนด์" และ "เทคโนโลยี" 


"ตอนนี้วัยรุ่นค่อนข้างจะมีความหลากหลาย และชัดเจน ส่วนหนึ่ง โลกมันเปิดกว้างขึ้น โลกทำให้เห็นว่า วัยรุ่นในอเมริกา หรือวัยรุ่นในเกาหลี ญี่ปุ่น อังกฤษ เป็นยังไง เมื่อเห็นได้มากขึ้น เขาก็สามารถที่จะรับ และพิจารณาได้มากขึ้น ถึงจะไม่รู้ว่าชอบหรือไม่ชอบ แต่ก็สามารถเลือกเก็บเอามาไว้ก่อน แล้ววันหนึ่งที่โตกว่านี้ มันจะสามารถคัดแยกออกไปได้ ทำให้วัยรุ่นวันนี้มีความหลากหลายมากขึ้น" 


สิ่งที่เธอจับสังเกตได้จากวัยรุ่นสมัยนี้ก็คือ "ความเยอะ" ทั้งเสื้อผ้าหน้าผม 


"ไม่ได้นิยามได้ว่าแฟชั่นต้องเป็นอย่างนี้นะ แต่รวมๆ แล้วมันคือความเยอะ พร็อบ (prop) ทุกอย่างเลย ในกระเป๋าหนึ่งใบของผู้หญิงในนั้นอาจจะมีกระเป๋าอีกหลายใบที่ไม่รู้ว่าจะใส่อะไรก็ตาม ส่วนผู้ชายก็จะมีสร้อยโซ่ คือผู้ชายใส่เครื่องประดับมากขึ้น ใส่หมวกออกจากบ้าน มีอะไรห้อยที่รองเท้า" 


ในระยะ 2-3 ปีนี้ กระแส "เด็กแนว" และ "เด็กฮิพ" มักเป็นคำที่ถูกใช้เป็นประจำ โดยคัมภีร์การตลาดหลายเล่มได้มีการพยายามทำความเข้าใจ เทรนด์ และไลฟ์สไตล์ ของผู้บริโภคกลุ่มนี้ว่า อยู่ในกลุ่ม Gen-M (เจน-เอ็ม) หรือ Millennial Generations ซึ่งหมายถึง ผู้บริโภคที่มีอายุระหว่าง 18-24 ปี 


งานวิจัยเรื่อง Gen-M Lifestyle โดยศูนย์ศึกษาและวิจัยตราสินค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุว่า Gen-M แบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับอุดมศึกษา (ปริญญาตรี) และบัณฑิตศึกษา (ปริญญาโท) และกลุ่มที่เริ่มเข้าสู่ตลาดแรงงานและทำงานอยู่เป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว (อายุงานไม่เกิน 4 ปี) ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความโดดเด่นเฉพาะตัวและค่อนข้างจะมีพฤติกรรมการบริโภคที่ซับซ้อน อาทิ ละเอียดอ่อนเรื่องเอกลักษณ์ส่วนตัว 


มีความเชื่อมันในการใช้พลังของตนเองสูง รักครอบครัว เคารพผู้อาวุโสกว่าแต่ไม่ได้แสดงออกแบบธรรมเนียมไทยแท้ ชีวิตนี้เป็นของเรา (อัตตา) เลือกและตัดสินใจเรื่องต่างๆ ด้วยความคิดของตนเอง เป็นต้น 


กิตติพงษ์ วีระเตชะ ผู้อำนวยการที่ปรึกษาด้านการสื่อสารการตลาดและสร้างแบรนด์ หน่วยงาน Energy บริษัท วาย แอนด์ อาร์ ประเทศไทย อธิบายถึง "ตัวตน" ของคนกลุ่มนี้ว่า มีการแสดงตัวตัวตนที่สอดคล้องกับทัศนคติ ความเชื่อ ของตนเอง โดยยังให้ความสำคัญกับค่านิยมความเป็นกลุ่มก้อน และหาการยอมรับจากสังคมอยู่ 


"พวกเขาจะมีลักษณะเฉพาะมากขึ้นจากอดีต วัยรุ่นรุ่นใหม่ต้องการจะหาจุดยืนที่เป็นตัวของตัวเอง ครั้งหนึ่งเขาเคยมองว่า ความต่างคือความเก๋ ความเลิศที่ไม่เหมือนใคร แต่สมัยนี้ สิ่งที่จะเห็นก็คือแฟร็กเมนท์ (Fratment) ขึ้น เป็นกลุ่มย่อยในกลุ่มใหญ่ พวกเขาต้องการความต่างในความเหมือน ต้องการมีเพื่อนสไตล์แบบไม่เหมือนกัน ดังนั้นกลุ่มก็จะมีความหลากหลาย ภายในกลุ่มจะมีเพื่อนคนหนึ่งทำผมโมฮอร์ก ขณะที่เพื่อนอีกคนหนึ่งจะเป็นเดธร็อค เขาจะอยู่ด้วยกันได้ เราจะพบวัยรุ่นกลุ่มหนึ่งใส่บ็อกเซอร์ไปนั่งร้านนมหน้าปากซอยกับเพื่อนๆ ได้ จะมีกลุ่มที่เป็นบูติค กลุ่มสตรีทแวร์ ฮิพฮอพ กลุ่มหรู ชิค (chic) เราจะเจอร็อกชัดเจนขึ้น เราจะเจอโคเรียนเทรนด์เยอะมากขึ้น ความแตกเล็กแตกน้อยของกลุ่มภายในกลุ่ม เจอแน่นอน เพราะวัยรุ่นไม่ชอบความจำเจ" 


ค่อนชีวิต@ออนไลน์
นอกจากตัวตน วิธีคิด ตลอดจนการดำเนินชีวิตของเหล่า เจนเอ็มจะผิดแผกไปจาก เจนเอ็กซ์ เจนวาย แล้ว ปัจจัยสำคัญอีกอย่างที่มีส่วนในการหล่อหลอมตัวตนเฉพาะของพวกเขาให้ยิ่งชัดเจนขึ้นก็คือ "โลกออนไลน์"

"เพราะเขาโตมากับ กูเกิ้ล ไฮไฟว์ เฟซบุ๊คส์ " วิภว์ บูรพาเดชะ บรรณาธิการนิตยสาร Happening ตั้งข้อสังเกต เขาคิดว่า เด็กที่โตขึ้นมาวันนี้ก็เริ่มใช้อินเตอร์เน็ตเป็นทุกคนแล้ว เพราะฉะนั้นจึงเร็วกับการเรียนรู้ การใช้เทคโนโลยี รวมถึงการเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ได้ง่ายขึ้น เป็นพื้นฐานที่ทำให้เด็กรุ่นหลังมี "คาแร็กเตอร์" ที่เปลี่ยนไปจากคนรุ่นก่อน

"ในยุคที่ข้อมูลรวดเร็วมากๆ ก็อาจจะทำให้เขามีความอดทนน้อยลง ไม่ชอบที่จะค้นคว้าในสิ่งที่คนรุ่นก่อนต้องให้เวลากับมันมากๆ อาจจะส่งผลถึงให้กับการเป็นคนสมาธิสั้น มากขึ้น แต่มันก็ไม่ถึงกับเป็นผลเสียนะ แต่มันคือสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับคนรุ่นนี้ รวมทั้งระบบทั้งหมดก็กำลังจะเป็นอย่างนั้น ทุกอย่างจะเร็วมากขึ้น ในแง่ข่าวสาร แฟชั่น ดนตรี หนัง จะมาเร็วไปเร็วหมดเลย ทำให้คนรุ่นใหม่จะมีความเบื่อได้ง่ายอยู่ แต่มันก็ทำให้เด็กรุ่นใหม่มีความรวดเร็ว และเก่ง สังเกตว่า เด็กรุ่นหลังที่เล่นดนตรีเก่งๆ จะอายุน้อยลงมาก เพราะเขาจะสามารถไปหาข้อมูลทางอินเตอร์เน็ต หาดีวีดีการสอนการเล่นมาดู หรือสามารถค้นหาในอินเตอร์เน็ตได้ว่ามีครูคนไหนสอนเก่งๆ ซึ่งทำให้คนรุ่นหลังๆ มี และพัฒนาทักษะได้เร็วมากขึ้น"

ด้าน อาทิตย์ เลิศรักษ์มงคล ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจออนไลน์ บริษัทอาร์เอส เสริมว่า บทบาทของอินเตอร์เน็ตนอกจากจะเป็นเครื่องมือในการติดต่อสื่อสารแล้ว สิ่งที่ทำให้สังคมกว้างขึ้นไปอีกก็คือ โซเชียลเน็ตเวิร์ก (Social Network)
"วัยรุ่นสมัยนี้ใช้อินเตอร์เน็ตเหมือนยุคก่อนๆ ที่ใช้ทีวี เกิดมาก็รู้วิธีการที่จะใช้มันแล้วการสื่อสารก็เริ่มเปลี่ยนไป จากเดิมที่เป็น 1 ต่อ 1 ก็กลายเป็น 1 ต่อ เป็นแสน เป็นล้าน คือทุกอย่างมันถึงกันหมด โลกในออนไลน์ของเขา มันออกจะหลากหลาย หรือซับซ้อนมากขึ้นกว่าโลกของจริง ขณะที่ยุคก่อนๆ บนชีวิตจริงคือคนที่เขารู้จักทั้งหมด วันนี้คนที่เขารู้จักส่วนใหญ่อาจจะเป็นโลกออนไลน์ทั้งหมดด้วยซ้ำ นี่เป็นรูปแบบสังคมที่เกิดขึ้นวันนี้"

ด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงไม่น่าแปลกใจที่วันนี้เราจะเห็นภาพของการนั่งขลุกอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์เพื่อ "ออนไลน์" ในไซเบอร์สเปซ

"เขาใช้ชีวิตอยู่บนออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็น ข่าวสาร เพื่อน ข้อมูลที่เขารับรู้ หรือสิ่งที่เขาสนใจ ไม่ว่าจะเป็นดารา นักร้อง เพลง หนัง ทุกอย่าง มันเกิดขึ้นบนโลกอินเตอร์เน็ตทั้งหมด กว่า 80 เปอร์เซ็นต์ นักการตลาดส่วนใหญ่ที่ผลิตสินคา หรือโปรดักร์ออกมาจะไม่มองมุมเดียวแล้ว ถ้าคุณจะทำเรื่องวัยรุ่น แน่นอนเขาไม่ได้มองเรื่องสินค้า แต่เขาจะมองเรื่องออนไลน์เป็นหลัก เพราะเขาเกิดมาในยุคที่ออนไลน์กำลังเฟื่อง ไลฟ์สไตล์เขาก็เลยเป็นแบบนั้น"

การให้ความสำคัญทั้งโลกจริง และโลกเสมือน เป็นสิ่งที่วิภร์ใช้อธิบายว่า ทำไมต้องพวกเขาถึง ต้องพิถีพิถันกับการดูแลภาพพจน์บนโลกออนไลน์ของตัวเอง กระทั่งการรีทัชรูป การเลือกรูปที่เหมาะสมกับตัวเองที่จะโชว์ขึ้นไปบนนั้น ที่จะเป็นเรื่องสำคัญกับเด็กรุ่นใหม่มากขึ้น

คัมมิ่งซูน "ยูเบอร์"
อีกสิ่งที่เกิดขึ้น และ "กำลังมา" กับวัยรุ่นวันนี้ในมุมของนักการตลาดก็คือ ยูเบอร์ (Uber)

"ยูเบอร์ เป็นทีนเนเจอร์กลุ่มใหม่ที่โตขึ้นมากับเทคโนโลยี และอินเตอร์เน็ต เขาจะถูกโถมกระหน่ำด้วยข้อมูลข่าวสารที่จะช่วยในการตัดสินใจ และมีส่วนเป็นอิทธิพลต่อการเป็นตัวตนของเขา" กิตติพงษ์อธิบาย

ถึงข้อมูลข่าวสารรอบตัวจะเยอะมากขึ้น แต่สิ่งเหล่านั้นก็ไม่ได้เป็นตัวช่วยที่จะทำให้เกิด "คำตอบสุดท้าย" สำหรับตัวเอง

"สังเกตว่า วัยรุ่นใหม่จะชอบบอกว่าไม่มีเวลา แต่อยากรู้ข้อมูลที่จะให้คืออะไร ถ้าพูดในแง่การทำแบรนด์ การตีความหมายของแบรนด์จึงสำคัญมากในยุคนี้ แบรนด์ที่คุยกับวัยรุ่นยุคใหม่จะต้องรู้ว่าสมการของแบรนด์ตัวเองคืออะไร อย่างเช่น ไนกี้ เท่ากับ just do it แบรนด์หนึ่งเท่ากับอะไรต้องสามาถแปลความได้เลย เพราะวัยรุ่นรุ่นใหม่เขาไม่เอิงเอย อะไรก็ตามที่ซิมเปิ้ลที่สุด จะสื่อสารกับเขาได้เร็ว เพราะรอบๆ ตัวเขาโดนข้อมูลข่าวสารโหมกระหน่ำเยอะแยะเต็มไปหมด"


สิ่งที่จะเกิดมากขึ้นอีกอย่างหนึ่งก็คือ คอมมูนิติ้ (Community) ใหม่ๆ ในหมู่วัยรุ่น

"เราจะเจอวิธีการแฮงก์เอาท์ใหม่ๆ จะเกิดขึ้น ด้วยวิธีการของฟาสต์ฟู้ดวันนี้ไม่ใช่วิธีการกินแล้วไปแล้ว ต้องเป็นฟาสต์ฟู้ดที่คอนวีเนียน (Convenience) ฉันอยากกินแม็คฯ ตอนตี 2 พร้อมกับอ่านหนังสือไปกับเพื่อนๆ ก็สามารถ ทุกวันนี้จะเจอเยอะมาก วัยรุ่นยุคใหม่บางทีก็เรียกว่า ยูซูมเมอร์ (Usumer) อะไรๆ ก็เกี่ยวกับตัวผู้บริโภคกลุ่มวัยรุ่นจึงเป็นอะไรที่ละเอียดอ่อนมาก ไม่ควรสั่งสอนเขาด้วยวิธีกำปั้นทุบดิน ต้องมีสเปซ ต้องมีระยะห่างให้เขาคิด หรือ ร่วมทำกับเรา เชื่อไปกับเรา เพราะความเชื่อของวัยรุ่นไม่ต้องการถูกพร่ำสอน หรือเลคเชอร์ เหมือนการเรียนการสอนวัยรุ่นที่ไม่ใช่แค่เปิดหนังสือสอนเราต้องสร้างบรรยากาศในการเรียนรู้ให้เขา ทำให้เขารู้สึกว่าอยากมีส่วนร่วม นี่ถือเป็นสิ่งสำคัญ" เขายืนยัน

เป็นที่คาดการณ์กันอย่างกว้างขวางในหมู่นักการตลาดว่า โลกออนไลน์ ในปี 2010 นี้จะยิ่งมีการเติบโตชนิดกู่ไม่กลับ โดยเฉพาะเมื่ออินเตอร์เน็ตถูกแพ็คเข้ากับโทรศัพท์มือถือ

"จุดไดร์ฟของวัยรุ่นในปีนี้ก็คือสมาร์ทโฟน ซึ่งถือว่าเป็นจุดก้าวกระโดดของโลกออนไลน์ก็ว่าได้" อาทิตย์แสดงความมั่นใจ นั่นก็เพราะในสายตาของคนไอทีอย่างเขารู้สึกว่า ถึงโซเชียลเน็ตเวิร์กจะมาแรงขนาดไหนก็ตาม แต่ก็ยังขาดจุดเชื่อมที่ "เรียลไทม์" ซึ่งสมาร์ทโฟนสามารถตอบโจทย์ตรงนี้ได้

"วันที่มือถือก้าวเข้าสู่ช่วงสมาร์ทโฟนอย่างเต็มรูปแบบ ด้วยราคาที่ถูกลง และเครื่องมือต่างๆ มันชัดเจนซึ่งตอบโจทย์เด็กวัยรุ่นมากๆ นั่นหมายความว่าเด็กวับรุ่นจะออนไลน์ได้ทุกที่ ไม่ต่างจาก 3 จีเลย"

จะด้วยเทรนด์แฟชั่นที่เปลี่ยนไป โลกเทคโนโลยีไร้พรมแดน หรือสภาพสังคมที่หล่อหลอมต่างก็เป็นชิ้นส่วนตัวต่อที่นำมาตอบโจทย์ถึงวัยรุ่นยุคใหม่ในวันนี้ด้วยกันแทบทั้งสิ้น เมื่อยุคสมัยของความเป็นวัยรุ่นเปลี่ยนไป คำถามที่ตามมาติดๆ กันก็คือ แล้วบรรดาผู้ใหญ่จะต้องปรับตัวขนาดไหนเพื่อที่จะได้เข้าใจกลุ่มคนรุ่นใหม่อย่างแท้จริง

"ปัญหาของทุกสมัย คือ ผู้ใหญ่มักจะโทษ นวัตกรรม ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วนวัตกรรมเหล่านี้คือโลก ยังไงโลกก็ต้องหมุน ที่สำคัญต้องหมุนตามโลกให้ทัน" อาทิตย์ออกความเห็น ทั้งเขา และวิภร์คิดแบบเดียวกันว่า ผู้ใหญ่ในยุคกูเกิ้ลนี้ต้องเอาใจใส่พวกเขาอย่างถูกวิธี ที่สำคัญหากผู้ใหญ่รู้จักปรับตัวให้เข้ากับเทคโนโลยีได้ อินเตอร์เน็ตก็จะถือเป็นเครื่องมือที่สำคัญอย่างยิ่งในการเข้าไปอยู่ในโลกของเขาโดยไม่รบกวนเขา

"สมมติว่าเป็นพ่อของเด็กสักคน เขามีโซเชียลเน็ตเวิร์กของเขา เขามีเฟซบุคส์ของเขา อาจจะเป็นเพื่อนใน 1,000 คนของเขา เขาทำอะไรเขาอาจจะเปิดในเราเห็นกับเพื่อนก็ได้โดยที่เขาไม่รู้สึกว่าพ่อแม่จับตาดูอยู่" อาทิตย์บอก

แต่ไม่ว่าสุดท้ายแล้ว ผู้ใหญ่จะตีโจทย์วัยรุ่นแตกหรือไม่ แต่สิ่งหนึ่งที่พอจะทำความเข้าใจได้ก็คือ วัยรุ่น ถือเป็นอีกคำถามโลกแตก ที่สามารถค้นหาคำตอบได้อย่างไม่สิ้นสุด ไม่ว่ายุคสมัยไหนก็ตาม.

โดย : ชัยณรงค์ กิตินารถอินทราณี
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ Life Style
วันที่ 6 มกราคม 2553

Views: 200

Reply to This

Replies to This Discussion

เริ่มรู้สึกเบื่อกับ ความเร็วความไว ของยุคสมัย
เพราะอีกไม่นาน

สิ่งเหล่านี้ ก็จะจากไปอย่างรวดเร็ว

ป.ล. "...กูเกิ้ล ไฮไฟว์ เฟซบุ๊คส์" ยังขาด Portfolios.net ฮะ

RSS

© 2009-2024   PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service