Light Graffiti: มาพ่นสีด้วย 'แสง' กันเถอะ!


ทุกคนรู้ดีว่ากราฟิตี้ คืองานศิลปะที่มีวิธีการเล่าเรื่อง สื่อสารด้วยการพ่นสี
แน่นอนที่สุด อุปกรณ์ที่เป็นพระเอกของมันก็คือ ‘สีพ่น’
แต่ใครจะรู้ว่างานกราฟิตี้นั้น อุปกรณ์ในการพ่น สามารถใช้ได้มากกว่าแค่สี
เรากำลังจะบอกคุณว่า ‘แสง’ ก็สามารถใช้เป็นเป็นตัวพ่นได้
ถ้าไม่เชื่อ...ลองตามไปดู



ทัศน์วรรณ วงศ์เลิศศิริ


ทัศน์วรรณ วงศ์เลิศศิริ บัณฑิตสาวจากคณะเศรษฐศาสตร์ ผู้มีใจรักและหลงใหลในเสน่ห์ของงาน Light Graffiti วันนี้เธอขันอาสาขอเป็นไกด์นำทาง เพื่อพาเราเข้าไปทำความรู้จักกับดินแดน ‘ศิลปะวาดสีด้วยแสง’ แห่งนี้

อะไรคือ Light Graffiti?

ถ้าจะให้พูดง่ายๆ มันคือการวาดรูปด้วยแสง และเก็บแสงที่เราวาดไว้ แต่ในเมื่อมันเป็นแสง เราจะเก็บยังไง? เราก็ต้องเก็บบันทึกมันไว้ในสภาพของรูปถ่าย ซึ่งส่วนใหญ่ภาพถ่ายชนิดนี้ จะเป็นการถ่ายภาพในเวลากลางคืน หรือในห้องที่มีแสงน้อย หลักการของมันก็คือ เก็บแสงที่เราวาดด้วยการเคลื่อนกล้อง หรืออาจจะเคลื่อนมือของเราเองก็ได้

โดยพื้นฐานแล้ว Light Graffiti คือจิตรกรรม (Fine Art) อย่างหนึ่ง เพียงแต่แตกต่างในเรื่องของเครื่องมือที่ใช้ในการสร้างงาน อย่างเช่นถ้าเราจะสร้างงานบนผืนผ้าใบ พู่กันกับสี ก็คือเครื่องมือในการสร้างภาพวาด แต่สำหรับงาน Light Graffiti นั้นสภาพแวดล้อม กล้องถ่ายรูป และแสงจะทำหน้าที่เป็นเครื่องมือในการสร้างงาน Light Graffiti


แต่ถ้าจะมองในแง่เนื้อหาของศิลปะแล้ว Light Graffiti น่าจะเหมาะกับคำว่า ศิลปะการแสดง (Performance Art) มากกว่า เพราะเมื่อเวลาเราดู Light Graffiti มันก็เหมือนกับเรากำลังดูโชว์ของแสง ซึ่งมันเป็นเหมือนสิ่งมีชีวิตที่กำลังเล่าเรื่องราวให้เราฟัง และในขณะเดียวกัน นอกจากศิลปะแขนงนี้จะตอบสนองความต้องการของศิลปินแล้ว มันยังสื่อให้เห็นถึงวัฒนธรรมใหม่ๆ ของคนเมือง รวมทั้งวิธีการนำเสนอวัฒนธรรมแวดล้อมของคนเมืองแบบใหม่ๆ ได้อีกด้วย


Light Graffiti มีต้นกำเนิดมาจากไหน?

รายละเอียดในเรื่องนี้จริงๆ ไม่ปรากฏแน่ชัด แต่ที่แน่ๆ คือมันมีอยู่ก่อนที่คนจะให้คำจำกัดความว่ามันคือศิลปะ Light Graffiti เสียอีก เพราะมีข้อมูลที่น่าสนใจว่าในปีค.ศ. 1924 ปิกัสโซ่ (Pablo Picasso) ได้ทำ Light Graffiti ด้วยการสเกตช์ภาพในอากาศด้วยปากกาแสง (Light Pen) ทำให้คิดได้ว่ามันอาจไม่ใช่ของใหม่ เพียงแต่เรามาตั้งนิยามให้มันใหม่ก็เท่านั้น


Light Graffiti ที่สเก็ตภาพในอากาศด้วยปากกาแสงฝีมือปิกัสโซ่



งาน Light Graffiti มีกี่แนวทาง? 

สำหรับเรา เราคิดว่ามันไม่มีขอบเขต มันขึ้นอยู่กับว่าคนที่ให้คำจำกัดความกับมันนั้น มองมันอย่างไร บางคนอาจจะแบ่งเป็นงานแบบสองมิติ หรือสามมิติ บางคนมองเป็นความสมจริง (Real) หรือเหนือจริง (Surreal) มันก็ได้ทั้งนั้น ขึ้นอยู่กับสไตล์ของศิลปินแต่ละคนมากกว่า ว่าอยากทำภาพให้ได้ออกมาในแนวไหน

มันจัดว่าเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม Hiphop หรือเปล่า?
ถ้าพูดถึงแค่ Graffiti เพียวๆ ที่เราเห็นตามกำแพงทั่วไป นั่นก็อาจจะบอกได้ว่ามันมาพร้อมๆ กับวัฒนธรรม Hiphop

แต่สำหรับ Light Graffiti ถึงแม้มันจะมีรากฐานมาจาก Graffiti แต่ไอเดียในการสร้างสรรค์งานมันคนละรูปแบบกัน รวมทั้งตัวชิ้นงานก็แตกต่างกัน

บางคนอาจจะมองว่า Graffiti เป็นสิ่งสร้างสรรค์ที่ทำลายสภาพแวดล้อม เพราะทำให้กำแพงบ้านเมืองสกปรก แต่งาน Light Graffiti มันมีความแตกต่าง เพราะมันเป็นเพียงงานภาพถ่ายที่ไม่ได้ไปทำให้กำแพงบ้านใครเดือดร้อน อีกอย่างคือ Light Graffiti มันไม่ได้มีสไตล์เฉพาะเจาะจง

ดังนั้นจะให้บอกว่ามันเป็นส่วนหนึ่งมันก็ได้ เพราะคนที่นิยมวัฒนธรรม Hiphop บางคนก็ทำ Light Graffiti แต่มันไม่ใช่ว่าคน Hiphop ทุกคนจะต้องทำ Light Graffiti และอีกแง่หนึ่งก็คือไม่ใช่เพียงแค่คน Hiphop เท่านั้นที่จะทำได้ ฮิปปี้ เรกเก้ พังก์ เด็กเล็ก เด็กโต ผู้ใหญ่ ใครๆ ก็ทำได้เหมือนกันถ้าคนเหล่านั้นเขาสนใจอยากจะสร้างสรรค์ศิลปะในแนวนี้ เมื่อเราสร้างสรรค์งานออกมา ตัวงานจะเป็นสิ่งที่สะท้อนให้คนทั่วไปเห็นเองว่าคนคนนั้นเป็นยังไง

แสดงว่างาน Graffiti มันสามารถไปจับได้กับงานอีกหลายๆ ช่องทาง ถ้าอย่างนั้นคุณคิดว่าเราจะสามารถเอา Graffiti ไปจับกับอะไรได้อีก หรือแนวโน้มในอนาคตจะเป็นยังไง?
ถ้าจะมองตามรูปแบบของ Graffiti โดยตัวของมันเอง ที่มีอยู่แล้วและเห็นได้ชัดก็น่าจะเป็นตัวอักษร (Font) เพราะงานมันมีสไตล์เฉพาะตัว จนคนที่ได้พบเห็นสร้างประสบการณ์ให้แก่ตัวเองไปแล้วว่าตัวอักษรแนวนี้เป็นแนว Graffiti ดังนั้นเวลาที่เราเห็นแต่ตัวอักษร ไม่จำเป็นต้องไปเห็นจากบนกำแพง มันก็ยังสามารถทำให้เราเข้าใจว่ามันคือความเป็น Graffiti อยู่ดี ในแง่นั้นอาจเรียกได้ว่ามันมีสไตล์

แต่ถ้าเรามองด้วยคอนเซ็ปต์ที่ว่า Graffiti มันคือการสร้างสรรค์งานผ่านทางสภาพแวดล้อมที่มีอยู่ มันก็น่าจะสามารถไปจับกับสิ่งอื่นๆ ได้อีกหลายช่องทาง เพราะมันไม่มีขอบเขต อย่าง Light Graffiti มันก็ถูกจับคู่กับเรื่องของแสง ในอนาคตมันอาจจับคู่กับเสียงออกมาเป็น Sound Graffiti ก็เป็นได้ มันอยู่ที่ว่าคนที่สร้างสรรค์งานนั้น อยากจะเลือกใช้สื่อสัมผัสทางไหนในการนำเสนอ


LICHTFAKTOR ศิลปิน Light Graffiti ชาวเยอรมัน


ผลงานของกลุ่ม LICHTFAKTOR




แล้วอะไรที่ทำให้คุณสนใจในศิลปะแขนงนี้?

คือเราเป็นคนชอบถ่ายรูปอยู่แล้ว บางทีถ่ายแต่รูปชัดๆ สวยๆ เอาแต่ภาพคมๆ เห็นแต่คนนั่งยิ้มให้กล้อง หรือถ่ายวิวทิวทัศน์มันก็น่าเบื่อ เลยลองถ่ายด้วยวิธีการมั่วของตัวเองไปเรื่อยๆ วันหนึ่งได้ภาพออกมาเป็นแนวนี้ เห็นแล้วรู้สึกชอบมาก ทั้งๆที่ตอนนั้นยังไม่รู้ว่ามันเป็นศิลปะแขนงหนึ่งที่มีคนสนใจ และให้คำจำกัดความชัดเจนว่าเป็น Light Graffiti

พอไปเจอบทความที่เขียนถึงกลุ่ม Lichtfaktor ศิลปิน Light Graffiti ชาวเยอรมันเท่านั้นก็เกิดอาการถอนตัวไม่ขึ้น เพราะเขาทำภาพออกมาได้อย่างน่าสนใจ ด้วยการโยงแสงที่วาดให้เข้ากับวัตถุแวดล้อมแถวๆ นั้น เช่น วาดแขนวาดขาให้ถังขยะเพื่อทำให้มันออกมาเป็นหุ่นยนต์ แล้วจากผลงานชิ้นนั้นเขายังต่อยอด เอามามำเป็นวิดีโอคลิปเพื่อสร้างเป็นเรื่อง Star war VS Star Trek ได้อีก มันดูแล้วสนุก ตื่นเต้น แล้วก็จุดประกายให้เราอยากทำได้อย่างเขาบ้าง เราจึงหาเพื่อศึกษาเพิ่ม มันทำให้เราได้เจออะไรแปลกๆ เยอะเข้าไปอีก

จะทำ Light Graffiti ต้องใช้เครื่องมืออะไรบ้าง?

อย่างที่บอกไปว่ามันคือการเก็บแสงที่เราวาดด้วยการเคลื่อนกล้อง หรือเคลื่อนมือที่ถือแสง เพราะฉะนั้นเครื่องมือที่เราต้องมีอยู่ในมือก่อนอื่นเลย ก็คือกล้องและแหล่งกำเนิดแสง กล้องที่นิยมใช้ในการถ่ายภาพแนวนี้ก็คือกล้อง DSLR (Digital Single lens Reflex Camera) เพราะเราสามารถปรับให้กล้องเปิดชัตเตอร์ไว้นานๆ ได้ (Long Exposure)

จริงๆ แล้ววิธีนี้มันก็เหมือนกับเวลาที่เราถ่ายไฟ พลุ ในเวลากลางคืน ถ้าเราไม่เปิดชัตเตอร์ให้รับแสงได้นานๆ แสงที่ได้ออกมาในภาพก็จะไม่มีความละเอียดและสมจริง อีกอย่างคือมันสามารถปรับความไวแสง (ISO) ของกล้องให้มีระดับต่ำเพื่อช่วยให้ได้การถ่ายภาพแบบ Long Exposure ได้

แต่ไม่ใช่ว่ากล้องชนิดอื่นๆ จะทำ Light Graffiti ไม่ได้ เพียงแต่การทำ Light Graffiti มันอาศัยการทดลอง ซึ่งการใช้กล้อง DSLR ก็สามารถทำให้เราได้เห็นภาพในทันที อีกทั้งคุณภาพที่ได้ออกมาก็ถือว่าดีกว่าการใช้กล้องดิจิตอลคอมแพกต์ธรรมดาที่ไม่สามารถปรับความไวชัตเตอร์ได้

สิ่งต่อมาก็คือแหล่งกำเนิดแสง ถึงแม้ว่าในเวลากลางคืนจะมีแสงไฟอยู่บ้างก็จริง แต่ถ้าอยากวาดเป็นรูปที่มีสีสันเฉพาะ เราก็ควรหาแหล่งกำเนิดแสงตามที่เราต้องการ ซึ่งมันก็ไม่ได้หายากอย่างที่คิด ของเล็กๆ น้อยๆ อย่างไฟฉาย ของเล่นเด็กที่มีไฟกะพริบได้ หรือแม้กระทั่งแสงไฟจากโทรศัพท์มือถือ ก็สามารถเป็นต้นกำเนิดแสงได้เช่นกัน มันขึ้นอยู่กับว่าเราจะเลือกใช้อะไรเพื่อให้เหมาะกับภาพที่เราต้องการมากกว่า

สิ่งจำเป็นชิ้นต่อไปก็คือ ขาตั้งกล้อง ซึ่งมันจะจำเป็นในกรณีที่เราต้องการให้ภาพพื้นหลังคงที่ แล้วเราวาดแสงลงไปในภาพนั้น ถ้าเราไม่มีขาตั้งกล้องแล้วเปิดชัตเตอร์ให้รับภาพนานๆ แน่นอนที่สุดว่ามือเราจะต้องสั่น ทำให้ภาพที่ได้ออกมาเบลอจนมองไม่ออกว่าอะไรเป็นอะไร

แต่ถ้าเราคิดจะทำ Light Graffiti ด้วยการขยับกล้อง ขาตั้งกล้องก็อาจไม่มีความจำเป็น เพราะบางคนอาจจะชอบให้ภาพเบลอๆ ก็ได้ สไตล์ใครสไตล์มัน

แล้วเรื่องทักษะล่ะ?

จริงๆ แล้วไม่จำเป็นต้องมีทักษะอะไรเลย ใครๆ ก็สามารถทำได้ เพียงแค่รู้พื้นฐานที่จำเป็นของการทำ Light Graffiti แต่ก็ปฎิเสธไม่ได้ว่าการทำงานของกล้องจะทำให้กลไกการสร้างสรรค์ผลงานสามารถไปได้กว้างไกลกว่าเท่านั้น

ลองนึกภาพดูว่าถ้าเด็ก 5 ขวบลองถ่ายกล้องดิจิตอลของแม่เล่นในขณะที่แม่ถือโทรศัพท์มือถือส่ายไปส่ายมา แล้วเกิดบังเอิญได้ภาพแนวนี้ ออกมา มันก็จัดว่าเป็น Light Graffiti ได้เหมือนกัน แต่คนที่อยากทำจริงๆ แน่นอนว่าเขาก็ต้องทำให้มันซับซ้อนขึ้นไปอีก สิ่งที่สำคัญที่สุดในการทำ Light Graffiti น่าจะเป็นจินตนาการมากกว่า มันขึ้นอยู่กับว่าคนคนนั้นมองแสงยังไง อยากเล่าเรื่องด้วยแสงผ่านทางสภาพแวดล้อมที่เขามีบอกมาในลักษณะไหน มันเป็นสิ่งที่อาศัยการลองผิดลองถูก และประสบการณ์เฉพาะตัว ดังนั้นจะมองว่ามันง่ายก็ง่าย จะมองว่ายากมันก็ยาก

ช่วยเล่าวิธีการทำให้ฟังหน่อย?
ไม่มีอะไรยาก เมื่ออุปกรณ์พร้อม ไอเดียพร้อม สถานที่พร้อม ต่อจากนี้เราก็แค่ออกไปลงมือถ่าย พร้อมทั้งปรับ ISO กับความไวชัตเตอร์ให้ต่ำเข้าไว้ ช่วงระยะเวลาที่กล้องเปิดชัตเตอร์อยู่ ก็ลงมือวาดด้วยแหล่งกำเนิดแสงที่เรามี ตามความพอใจ ตามดีไซน์ของเราได้เลย


ผลงานของ Eric Staller



แล้วในต่างประเทศ ศิลปินชาวต่างชาติที่เก่งในด้านนี้มีใครบ้าง?

สำหรับคนที่ค่อนข้างเป็นที่รู้จักในวงกว้างก็คือ Lichtfaktor กลุ่มศิลปินชาวเยอรมัน พวกเขาเริ่มจากการทำโปรเจกต์เล็กๆ แต่เมื่อมีคนมาเห็นเข้า และเกิดสนใจในความแปลกใหม่ของมัน พวกเขาจึงถูกชักชวนให้ไปทำโฆษณา อย่างเช่น Absolute Vodka, Audi, และ Playstation โดยงานของกลุ่มนี้จะเน้นการโยงสภาพแวดล้อมกับแสง และการดีไซน์แสง

ศิลปินอีกคนที่น่าสนใจก็คือ Eric Staller หนุ่มสัญชาติอเมริกันจากนิวยอร์ก งาน Light Graffiti ของเขาถูกสร้างขึ้นตั้งแต่ช่วงปีค.ศ.1976-1980 แต่ก็ยังสามารถสัมผัสได้ถึงความร่วมสมัยอยู่ งานของเขาจะเน้นการทำภาพให้ออกไปแนวสามมิติ มีความลึกของมุมมองในภาพมากกว่ากลุ่มแรก ปัจจุบัน Eric มีอายุ 60 กว่าปีแล้ว เรียกได้ว่าเป็นคุณปู่รุ่นเก๋าของวงการนี้ก็ว่าได้

ส่วนคนสุดท้ายที่อยากแนะนำให้รู้จัก เขาคือ Dean Chamberlain คนนี้ก็มีความเก๋าในงานไม่น้อยหน้าใคร ถึงแม้งานของเขาจะถูกสร้างขึ้นมาตั้งแต่ปีค.ศ.1977 แต่ความร่วมสมัย อีกทั้งยังมีจุดเด่นในงานที่เน้นความเหนือจริงแบบแฟนตาซี ใช้เทคนิคการเก็บภาพแบบ Long Exposure ที่ยาวนาน มีเรื่องเล่าว่า เคยมีภาพชุดหนึ่งที่เจ้าตัวบอกว่ากว่าจะได้สักภาพหนึ่งออกมา ต้องใช้เวลามากกว่า 5 ชั่วโมงเลยทีเดียว โดยเขาให้คอนเซ็ปต์กับมันว่า “Painting with Light through Time and Space”


ผลงานของ Dean Chamberlain


ผลงานของ Michael Bosanko


ผลงานของ Patrick Rochon



ผลงานของ Toby Keller



ผลงานของ Ryan Warnberg and Michelle McSwain



กลับมาที่บ้านเรา มีคนไทยที่ทำ Light Graffiti กับเขาบ้างไหม?

เท่าที่รู้มาก็ยังไม่เคยเห็นใครออกมายกมือขึ้นว่าเป็น Light Graffiti Photographer แบบเป็นตัวเป็นตน แต่คนที่ทำเป็นก็คงมีอยู่ทั่วไป เพียงแต่เขาไม่รู้ว่ามันถูกเรียกว่า Light Graffiti ก็เท่านั้น ที่เคยเห็นบ่อยๆ ก็คือเวลาคนไปเที่ยวชายทะเล แล้วเล่นไฟเย็นตอนกลางคืน เขามักจะถ่ายรูปการวาดด้วยไฟเย็นให้ออกมาเป็นรูป หรือตัวอักษร ซึ่งนั่นก็ถือเป็น Light Graffiti อย่างหนึ่งเหมือนกัน มันเหมือนกับว่ากระแสนี้ยังไม่เป็นที่แพร่หลายมากในเมืองไทย คิดว่าถ้ามีคนรู้จักมากขึ้น งาน Light Graffiti ในเมืองไทยก็คงมีการพัฒนาไปได้ในหลายๆ ทาง

ในฐานะที่ ‘ลองของ’ มาก่อน อยากฝากอะไร?

มีข้อจำกัดอยู่อย่างหนึ่ง สำหรับคนที่อยากทำ Light Graffiti จะต้องผ่านมันไปให้ได้นั่นก็คือ ห้ามกลัวที่จะลอง เพื่อค้นพบความแปลกใหม่ที่จะปรากฏด้วยแสงในภาพ คุณต้องทดลองโดยการหาสิ่งใหม่ๆ มาช่วยให้ภาพสนุก มีสีสันมากขึ้น เราอาจจะไม่ได้ผลในการทดลองครั้งแรก ครั้งที่สอง แต่เราก็ยังมีครั้งต่อๆ ไปไม่มีจำกัด มันไม่มีคำว่าถูกผิด มีแต่ว่าเราชอบหรือไม่ชอบ แล้วเมื่อเราเจอสิ่งที่เราชอบแล้ว มันก็จะกลายมาเป็นสไตล์ของตัวเราเองในที่สุด 



โดย: วัลย์ธิดา วุฒิยาภิราม 
ที่มา:
 ผู้จัดการ / 14 กันยายน 2551 

Views: 1097

Reply to This

Replies to This Discussion

ชอบครับ :)
ขอข้อมูลไปแปะหน่อยนะครับ

ขอบคุณสำหรับความรู้ดีๆ
น่าสนใจมากค่ะ :D

RSS

© 2009-2024   PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service