อาจารย์สวัสดิ์ ตันติสุข ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ ( จิตรกรรม ) ได้ถึงแก่อนิจกรรมแล้ว ด้วยวัย 84 ปี. ท่านได้ฝากผลงานที่ทรงคุณค่า และลูกศิษย์ลูกหามากมายแก่ประเทศไทย และอีกทั้งยังเป็นตัวอย่างที่ดีแก่อนุชนรุ่นหลังได้เห็นในการที่ท่านทุ่มเทแรงกาย พลังใจ ในการสร้างสรรศิลปะ ถ่ายทอดวิชาความรู้ จวบจนสิ้นอายุขัย ให้แ่ก่ประเทศชาติ. ขอท่านจงสู่สุขคติเถิด หากผลงานของอาจารย์ต่างหากที่จะได้เป็นที่จดจำ และอยู่คู่โลกนี้ตลอดนานแสนนาน.สมดังคำกล่าวของ ท่านอาจารย์ ศิลป พีระศรี ว่า " ศิลปะยืนยาว ชีวิตสั้น" " Ars longa brevis "


"ควรแบ่งเวลาให้เหมาะสม ฝึกฝนหลากเทคนิค
อย่าตั้งใจเกินไป ให้ปล่อยใจเล่นสนุกอย่างเสรี และไม่ควรท้อถอย
หากทำได้ เมื่อใจมี ไม่ช้าฝีมือจะมาเอง"

สวัสดิ์ ตันติสุข

สวัสดิ์ ตันติสุข : กว่าหกสิบห้าปีบนเส้นทางแห่งการสร้างสรรค์
โดย ปาน...น้ำ

“ ควรแบ่งเวลาให้เหมาะสม ฝึกฝนหลากเทคนิค อย่าตั้งใจเกินไป ให้ปล่อยใจเล่นสนุกอย่างเสรี และไม่ควรท้อถอย หากทำได้ เมื่อ“ใจ”มี ไม่ช้า“ฝีมือ”จะมาเอง ”

คำกล่าวนี้อาจารย์สวัสดิ์ ตันติสุข ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์(จิตรกรรม)พ.ศ.2534 มักจะใช้สรุปในการถ่ายทอดให้ผู้ที่รักชอบและมีใจรักที่อยากจะปฎิบัติงานศิลปะ เขาเข้าศึกษาคณะจิตรกรรม และประติมากรรม มหาวิทยาลัยศิลปากรเมื่อพ.ศ.2486 หลังจากจบการศึกษาวุฒิ ป.ป.ช.จากโรงเรียนเพาะช่างด้วยคะแนนสูงระดับต้นๆ ตามเกณฑ์ เข้ามาเป็นนักศึกษารุ่นแรกของมหาวิทยาลัยศิลปากร โดยไม่ต้องผ่านการสอบคัดเลือกในสมัยที่มีศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรีเป็นผู้บุกเบิกในยุคแรก

ศิลปินแห่งชาติท่านนี้ถือกำเนิดและเติบโตในบ้านเรือนไทยหลังคาแฝดริมคลองภาษีเจริญ เขาเป็นลูกคนกลางในบรรดาพี่น้องชายล้วน 3 คน บิดามารดามีอาชีพทำสวน ปลูกทั้งพืชล้มลุกและไม้ยืนต้น บนเนื้อที่ 7 ไร่เศษ มีรายได้จากการนำพืชผลในสวนใส่เรือล่องขายตามละแวกคลองภาษีเจริญเรื่อยไปจนถึงถึงหนองแขม นอกจากนี้ยังมีรายได้จากชาวนาส่วนใหญ่ที่เชื่อของไว้โดยชำระด้วยวิธีตกข้าวเปลือกเมื่อสิ้นฤดูเก็บเกี่ยวในแต่ละปี และยังซื้อเพิ่มเพื่อนำมาขายได้กำไรเป็นค่าใช้จ่าย ตลอดจนเป็นทุน ส่งเสียเลี้ยงดูให้การศึกษาแก่ลูกๆ ในวัยเด็ก สวัสดิ์เข้ารับการศึกษาชั้นต้นจากโรงเรียนวัดรางบัว โรงเรียนวัดนวลนรดิศ และขอตามพี่ชายไปเรียนในโรงเรียนเพาะช่าง กระทั่งมีโอกาสเรียนจนจบอนุปริญญาจากมหาวิทยาลัยศิลปากร ตามลำดับ


“ความคิดเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างสรรค์งานศิลปะ ให้ใช้สมอง(ความคิด)และมือ(ฝีมือ)ไปด้วยกัน”


“ทำงานจิตรกรรมอย่าทาสี จงระบายสี”


“ ควรทำใจให้ว่างไม่มีอคติใดๆ แล้วให้รูป(งานศิลปะ)พูดกับเรา” ฯลฯ


ประโยคต่างๆ เหล่านี้ ของท่านศาสตราจารย์ศิลป พีระศรีถูกถ่ายทอดออกมาจากความทรงจำอันแจ่มชัดของสวัสดิ์ผู้เป็นศิษย์ที่ถืออาจารย์ท่านนี้เป็นเสมือนบิดาผู้ให้กำเนิดทางศิลปะ เมื่อประมวลความรู้ทั้งหมดที่ได้รับ ประกอบกับความขยัน อดทน ไม่ยอมแพ้ ทำให้ สวัสดิ์ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในวงการศิลปะได้ไม่ยาก และไม่นาน แนวทางสร้างสรรค์งานของเขามีรากฐาน และ ก่อร่างสร้างเป็นแก่นอันเป็นลักษณะเฉพาะตัวขึ้นจากความคิดที่ “ต้องให้แตกต่างจากคนอื่น”บางครั้ง สวัสดิ์ ถึงกับกล้าใช้คำว่า “คิดพิเรนทร์ ไม่เหมือนใคร” มาจนถึง “เล่น- เรียน เรียน-เล่น” ต่อยอดทางความคิด แล้วถ่ายทอดต่อให้ศิษย์ในวันนี้


พ.ศ.2499-2503 สวัสดิ์มีโอกาสเดินทางไปศึกษาต่อยังสถาบันวิจิตรศิลป กรุงโรม ประเทศอิตาลี ประสบการณ์ครั้งนั้นช่วยเพิ่มพูนทักษะ รวมถึงโอกาสแสดงความสามารถอันโดดเด่น ให้เป็นที่ประจักษ์ ที่นี่เขาเริ่มเข้าใจในคุณค่างานนามธรรม และเริ่มปฎิบัติงานในแนวทางนามธรรม ด้วยเทคนิคสีน้ำมันเวลาต่อมา ระหว่างศึกษา และก่อนกลับประเทศไทยในปีพ.ศ.2503 เขาได้รางวัลชนะเลิศจากการประกวดงานศิลปะระดับเยาวชนหลายรางวัล ครั้งสำคัญได้แก่การประกวดที่เมืองราเวนนา และการประกวดระดับชาติทั่วทั้งประเทศอิตาลี ก่อนเดินทางกลับกรุงเทพฯ สภาวัฒนธรรมอิตาลี แห่งภาคตะวันออกกลาง และตะวันออกไกล ( Is.MEO )ซึ่งเป็นหน่วยงานที่อุปถัมภ์ทุนให้ ได้จัดนิทรรศการพิเศษสำหรับเขาขึ้น ทั้งที่ในกรุงโรมและสาขาเมืองมิลาน


นอกจากนี้เขาเป็นศิลปินที่มีทักษะ ชำนาญในการใช้สีน้ำหาตัวจับยากคนหนึ่ง ความช่างสังเกต ความบังเอิญ และโชค มักจะปรากฏขึ้นพร้อมๆ กันในบางจังหวะชีวิต บ่อยครั้งที่ปรากฏการณ์เหล่านี้ส่งผลให้เกิดผลงานที่ทำให้เขาหลงรักและหวงแหนหลายภาพ หลายรางวัลใหญ่จากทั้งในและต่างประเทศ ส่งผลให้เกียรติประวัติของศิลปินท่านนี้อยู่ในแถวหน้าของผู้มากด้วยคุณานุประการต่อวงการศิลปะบ้านเรา เขาเป็นทั้งศิลปินชั้นเยี่ยม ราชบัณฑิต ได้รับเกียรติเป็นดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์สาขาจิตรกรรม จากคณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นอาจารย์ วิทยากร กรรมการ ร่วมกิจกรรมเพื่อสังคม และภาคภูมิใจเป็นที่สุดเมื่อได้เข้ารับพระราชทาน เหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา สาขาวิจิตรศิลป์ จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเมื่อปีพ.ศ.2546


กว่าหกสิบห้าปีที่อุทิศชีวิตให้คำว่า “ศิลปะ” ผลงานและเกียรติประวัติของเขาจะได้รับการ ถ่ายทอดสู่สาธารณชน เนื่องในโอกาสที่ปีพ.ศ.2552 อาจารย์สวัสดิ์ ตันติสุขจะครบวาระ 7 รอบ กรมศิลปากร โดยพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหอศิลปเจ้าฟ้า จึงมีมติเห็นชอบจัด “นิทรรศการพิเศษเพื่อ เชิดชูเกียรติศิลปินอาวุโส ประจำปีพุทธศักราช 2551 : ศิลปกรรมย้อนหลัง สวัสดิ์ ตันติสุข ศิลปินแห่งชาติ” ประกอบด้วยภาพวาดจำนวนไม่ต่ำกว่า 150 ภาพนับแต่พ.ศ.2485 จวบปัจจุบัน พิธีเปิดอย่างเป็นทางการจะจัดขึ้นในวันพุธที่ 9 เมษายน 2551 เวลา 18.00 น. บุคคลทั่วไปสามารถเข้าชมได้ตั้งแต่ 10 เมษายน - 29 พฤษภาคมนี้ เวลา 8.30 – 16.30 น. เว้นวันจันทร์ อังคาร และวัน หยุดนักขัตฤกษ์




--------------------------------------------------------------------------------


นิทรรศการพิเศษเพื่อเชิดชูเกียรติศิลปินอาวุโส ประจำปีพุทธศักราช 2551 : ศิลปกรรมย้อนหลัง "สวัสดิ์ ตันติสุข" ศิลปินแห่งชาติ

โดย ปาน

เมื่อพูดถึงศิลปินในยุคบุกเบิกแรกเริ่มของวงการศิลปะร่วมสมัยในบ้านเรา ผู้อยู่ในวงการศิลปะน้อยใหญ่วัย 80 จนถึงรุ่นหลาน หากเอ่ยนาม สวัสดิ์ ตันติสุข คงมีน้อยคนนักที่จะไม่เคยผ่านตาผลงานของเขา


ด้วยบุคลิก ที่นุ่มนวล โอบอ้อม และอ่อนโยน ทำให้ศิลปินใหญ่ท่านนี้เป็นที่รักและได้รับการยกย่อง ยอมรับนับถือได้ไม่ยากจากทุกสถานะ


เขาใช้ชีวิตอยู่กับศิลปะมาแล้วกว่า 65 ปี เริ่มจากโรงเรียนเพาะช่างเมื่อปีพ.ศ.2483 มหาวิทยาลัยศิลปากร จนกระทั่งได้รับทุนจากสภาวัฒนธรรมอิตาลีแห่งภาคตะวันออกกลางและตะวันออกไกล ( IsMeo )โดย Prof. Tucci และการสนับสนุนจากศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรีที่เปรียบเสมือนบิดาทางศิลปะ และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุมภฏพงษ์บริพัตรซึ่งเป็นองค์อุปถัมถ์ ทั้งสองท่านนับเป็นผู้มีอุปการคุณ ให้ความเมตตาและอุปถัมภ์จนประสบความสำเร็จในเบื้องต้น อันเป็นความสำเร็จที่หยั่งราก ฝังลึกจากต้นกล้าจนเติบใหญ่เป็นไม้ที่แผ่กว้างให้ร่มเงาแก่ศิษย์น้อยใหญ่


เมื่อได้มีโอกาสเดินทางไปศึกษาต่อยังสถาบันวิจิตรศิลป์ กรุงโรมโดยเข้าเป็นศิษย์ของPro.Franco Gentilini ศิลปินผู้มีผลงานเป็นที่ยอมรับคนหนึ่งในศตวรรษที่20 ชาวอิตาเลียน (1909-1981) เวลา 4 ปีที่อิตาลี เขาได้เริ่มสะสมประสบการณ์สู้ชีวิต และพัฒนาการทำงานจนสามารถพิสูจน์ให้ได้ประจักษ์จากรางวัลชนะเลิศระดับเยาวชนหลายรางวัล อันเป็นผลทำให้มีการจัดแสดงผลงานเดี่ยวเป็นเกียรติให้ก่อนเดินทางกลับ ระหว่างนั้นเป็นช่วงที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จประพาสยุโรป รวมทั้งประเทศอิตาลี


แต่เนื่องจากเขาต้องเป็นตัวแทนศิลปินไทยเข้าประชุมที่กรุงเวียนนา ร่วมกับศ.ศิลป พีระศรี และ อ.เฟื้อ หริพิทักษ์ จึงไม่มีโอกาสเข้าเฝ้ารับเสด็จฯด้วยตนเอง แต่ฯพณฯไพโรจน์ ชัยนาม ซึ่งเป็นเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงโรมในเวลานั้นได้นำภาพเขียนชื่อ “Duomo Milano”ซึ่งเขียนขึ้นก่อนจะออกเดินทางไปทำหน้าที่ดังกล่าว ถวายแทนตัว


เมื่อกลับมาก็ได้มีโอกาสรับใช้อยู่ในราชการ กรมศิลปากร ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะต่างๆ ทั้งเป็นข้าราชการ ผู้บริหาร ครูอาจารย์ ศิลปิน กรรมการคัดเลือกตัดสินผลงานทางศิลปะหลายระดับ ทั้งในและนอกประเทศ วิทยากร แม้กระทั่งการให้ความร่วมมือแก่ส่วนราชการและเอกชนทั้งหลายในโครงการต่างๆ ที่จัดขึ้นเพื่อเป็นสาธารณประโยชน์ จนเกษียณอายุราชการ ในตำแหน่งผู้อำนวยการวิทยาลัยช่างศิลป กรมศิลปากรเป็นตำแหน่งสุดท้าย เมื่อปีพ.ศ.2528


จากเด็กชายชาวสวนนิสัยใจร้อน ละแวกบางแค นั่งพายเรือในคลองภาษีเจริญไปเรียนที่โรงเรียนวัดรางบัว และวัดนวลนรดิศกับพี่ชาย จนมีโอกาสได้ตามพี่ชายเข้าไปศึกษาในโรงเรียนเพาะช่างด้วยวิธีรบเร้าให้พี่ชายพาไปสมัครเข้าชั้นเรียนทั้งที่โรงเรียนเปิดเรียนไปแล้วถึง 1 เดือน เพราะไม่ชอบที่จะต้องทนทำสวนอยู่กับบ้าน


เขาได้พัฒนาฝีมือจาก คะแนน 4 เต็ม 10จนได้รางวัล ที่ 3 และที่ 2 ตามลำดับ จากการประกวดเขียนภาพที่จัดขึ้นเป็นพิเศษที่โรงเรียนเพาะช่าง อีกทั้งประสบการณ์การถ่ายทอดที่ส่งผลทางจิตวิทยาเชิงบวกแก่ศิษย์จากคุณครูแนบ บังคม ด้วย ความมุ่งมั่น อุตสาหะ ช่างสังเกต และไม่ยอมแพ้ ประกอบกับจังหวะชีวิตช่วยส่งให้สวัสดิ์ ตันติสุขได้มายืนอยู่ในจุดสูงสุด ณ วันนี้


ด้วยวัย 83 เขายังรักที่จะสร้างงานศิลปะด้วยพลังใจที่ไม่เคยดับมอด แม้ร่างกายและสุขภาพจะไม่ค่อยเอื้อและเกื้อต่อการสร้างสรรค์ผลงานตามที่ใจประสงค์ก็ตาม


จากผลงาน และเกียรติประวัติที่ได้รับมา ในโอกาสที่ศิลปินอาวุโสท่านนี้ สวัสดิ์ ตันติสุข กำลังจะครบวาระ 7 รอบ ในปี 2552 กรมศิลปากร โดยพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าฟ้า ได้มีมติเห็นชอบที่จะจัด นิทรรศการพิเศษเพื่อเชิดชูเกียรติศิลปินอาวุโส ประจำปีพุทธศักราช 2551 : ศิลปกรรมย้อนหลัง "สวัสดิ์ ตันติสุข" ศิลปินแห่งชาติ ขึ้น


ในนิทรรศการจะประกอบไปด้วยผลงานไม่ต่ำกว่า 150 ภาพ ที่ได้สร้างสรรค์ขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2485 จนถึงปัจจุบัน


Views: 12599

Attachments:

Replies to This Discussion

เศร้าใจกับข่าวการจากไปของอาจารย์ค่ะ....
ภาพสีน้ำของอาจารย์ทำให้เราตื่นตาตื่นใจได้ทุกภาพค่ะ
แม้อาจารย์จะจากไป แต่คุณงามความดีของท่านยังอยู่ในความทรงจำ
ไว้อาลัยอาจารย์ครับผม
ชื่อเสียงเรียงนามของท่าน จะตราตรึงฝังอยู่ในทุกดวงจิต ของผู้ที่รักและศรัทธาในศิลปะ ตราบนานเท่านาน ~
"คุณครูผู้เป็นแบบอย่างอันประเสริฐของศิลปินทุกคน"

สามารถอ่านบทสัมภาษณ์ของอาจารย์ได้ที่นิตยสาร ฅ ฅน ครับ
แล้วจะทราบถึงการใช้ชีวิตที่เรียบง่ายที่น่ายกย่องของท่าน

งืมๆ เศร้า ค่ะ
แต่ ไม่ว่าจะยังไง อาจารย์สวัสดิ์ ตันติสุข ท่านก็ยังได้ให้โอกาสกับรุ่นหลัง เพื่อเรียนรู้ เข้าใจว่าศิลปะไม่มีวันหายไป ^^
" เขาได้พัฒนาฝีมือจาก คะแนน 4 เต็ม 10จนได้รางวัล ที่ 3 และที่ 2 ตามลำดับ จากการประกวดเขียนภาพที่จัดขึ้นเป็นพิเศษที่โรงเรียนเพาะช่าง อีกทั้งประสบการณ์การถ่ายทอดที่ส่งผลทางจิตวิทยาเชิงบวกแก่ศิษย์จากคุณครูแนบ บังคม ด้วย ความมุ่งมั่น อุตสาหะ ช่างสังเกต และไม่ยอมแพ้ ประกอบกับจังหวะชีวิตช่วยส่งให้สวัสดิ์ ตันติสุขได้มายืนอยู่ในจุดสูงสุด ณ วันนี้

ด้วยวัย 83 เขายังรักที่จะสร้างงานศิลปะด้วยพลังใจที่ไม่เคยดับมอด แม้ร่างกายและสุขภาพจะไม่ค่อยเอื้อและเกื้อต่อการสร้างสรรค์ผลงานตามที่ใจประสงค์ก็ตาม "

ขอบคุณนะคะ

RSS

© 2009-2024   PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service