"แบบแปลน บ้านลอยน้ำ" โดยพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ

สาร อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย

 

จากภาวะน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ของประเทศไทย ได้ก่อให้เกิดความเสียหายเป็นอย่างมากทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้ประสบภัย กรมโยธาธิการและผังเมืองซึ่งมีภารกิจหลักประการหนึ่งคือการให้บริการแบบบ้านเพื่อประชาชนที่มีอยู่อย่างหลากหลายรูปแบบในระดับราคาต่างๆ กัน ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของบ้านที่จะสามารถป้องกันภัยดังกล่าวได้ จึงได้เริ่มทำการศึกษาเพื่อการออกแบบ จากแหล่งต่างๆ ทั้งจากในและต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่บ้านท่าขนอน อำเภอกาญจนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานีซึ่งยังมีบ้านลอยน้ำ ภูมิปัญญาชาวบ้าน ได้รับการอนุรักษ์ไว้ในพื้นที่ 


27 กันยายน พ.ศ. 2550 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จมายังกรมโยธาธิการและผังเมือง เพื่อทรงเปิดพระอนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เมื่อได้ทอดพระเนตรนิทรรศการแบบบ้านเพื่อประชาชนของกรมฯ แล้วได้พระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับ “บ้านลอยน้ำ”

กรมโยธาธิการและผังเมืองจึงได้ออกแบบบ้านหลังนี้ขึ้นโดยปรับใช้แนวคิดจาก “บ้านลอยน้ำท่าขนอน” และเรือนแพของชาวบ้านในอดีต นำมาประยุกต์ใช้กับสภาพแวดล้อมในปัจจุบัน ซึ่งในฤดูแล้งตัวบ้านจะตั้งอยู่บนพื้นดินตามปกติ แต่เมื่อมีน้ำท่วมก็จะลอยขึ้นตามระดับน้ำได้ โดยจะมีการยึดตัวบ้านไว้กับเสาหลักทั้งที่มุมเพื่อป้องกันการโคลงตัวหรือลอยไปตามกระแสน้ำ และเมื่อระดับน้ำลดลง ตัวบ้านก็จะกลับมาตั้งอยู่บนพื้นดินตามเดิม 

ขนาดของบ้านลอยน้ำที่ได้ออกแบบขึ้นนี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของขนาดวัสดุสำเร็จรูปที่มีขายอยู่ทั่วไปในท้องตลาด เพื่อให้เป็นการใช้วัสดุที่คุ้มค่าที่สุดเท่าที่จะทำได้ซึ่งสามารถประยุกต์ใช้และทำการก่อสร้างได้ง่าย เนื่องจากมีระบบวิศวกรรมโครงสร้างเป็นรูปแบบอย่างง่าย ชาวบ้านที่มีความรู้ด้านช่างในระดับทั่วไปก็จะสามารถดำเนินการก่อสร้างได้เอง 

บ้านหลังนี้มีขนาดพื้นที่รวมประมาณ 60 ตารางเมตร ซึ่งเป็นขนาดที่ไม่ใหญ่มาก เพื่อความสะดวกในการก่อสร้างและการลอยน้ำ แต่หากมีความต้องการพื้นที่เพิ่มขึ้นก็อาจเชื่อมต่อหลายหลังเข้าด้วยกัน โดยใช้สะพานทางเช ื่อมพาดระหว่างชานรอบตัวบ้าน 

สำหรับราคาค่าก่อสร้างประมาณการได้ว่ากรณีดำเนินการก่อสร้างเองจะมีราคาประมาณหลังละ 719,000 บาท หากจ้างเหมาราคาประมาณหลังละ 915,000 บาทเนื่องจากต้องมีการคิดค่าดำเนินการ กำไรและภาษีด้วย 

แบบบ้านลอยน้ำของกรมโยธาธิการและผังเมืองนี้ น่าจะเป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนที่ต้องอยู่อาศัยในพื้นที่ที่อาจต้องประสบภัยน้ำท่วมตามฤดูกาลได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้อยู่อาศัยในบริเวณเที่เป็นที่ลุ่ม โดยอาจปรับปรุงเปลี่ยนแปลงรูปแบบและพื้นที่ใช้สอยให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องตามความต้องการที่แท้จริงของตนเองต่อไป

            



 

 

 

 

แนวคิด   ออกแบบขึ้นโดยแนวคิดเพื่อป้องกันความเสียหายจากอุทกภัย
ตามฤดูกาล และตั้งอยู่บนพื้นดินในภาวะปกติ โดยให้บ้านทั้งหลัง
สามารถลอยสูงขึ้นได้ตามระดับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างไรก็ตามบ้านลอยน้ำ
นี้ไม่เหมาะกับพื้นที่ที่มีน้ำไหลเชี่ยวกรากรุนแรง 

ขนาดพื้นที่   ประมาณ 60 ตารางเมตรประกอบด้วยพื้นที่อยู่อาศัย 23 
ตารางเมตร ส่วนทำอาหารห้องน้ำและซักล้าง รวม 37 ตารางเมตร 

ราคาค่าก่อสร้าง   โดยประมาณ 719,000 บาท (กรณีปลูกสร้างเอง) 
ไม่ต้องใช้ผู้รับจ้างเหมาและประมาณ 915,000 บาท (กรณีมีผู้รับจ้างเหมา) 

วัสดุก่อสร้าง  ใช้วัสดุก่อสร้างพื้นฐานทั่วไปที่สามารถหาได้ง่ายในท้องตลาด 
ซึ่งสามารถดัดแปลงได้ตามความเหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ ทุ่นลอยเป็นถังน้ำมัน
ขนาด 200 ลิตร หรือถังไฟเบอร์กลาสกรณีต้องการความทนทานเพิ่มขึ้น 

ระบบสุขาภิบาล  ใช้ระบบการย่อยสลายโดยมีถังบรรจุจุลินทรีย์ EM 
ติดตั้งอยู่ใต้ห้องน้ำเพื่อย่อยสลายและเร่งการตกตะกอนของสิ่งปฎิกูล

 

 

(คลิ๊ปที่รูปเพื่อดูรูปใหญ่)


[ PDF ] แบบด้านสถาปัตยกรรม

[ PDF ] แบบวิศวกรรมโครงสร้าง

[ PDF ] แบบงานระบบไฟฟ้า

[ PDF ] แบบงานระบบสุขาภิบาล

[ PDF ] ประมาณราคาค่าก่อสร้าง


[ via: www.dpt.go.th ]

Views: 31162

Comment

You need to be a member of PORTFOLIOS*NET to add comments!

Join PORTFOLIOS*NET

Comment by PH7 on September 3, 2012 at 10:07pm

เรียบง่ายแต่มีประโยชน์และทำได้จริง  มีประโยชน์ต่อนักออกแบบรุ่นใหม่ๆ มาเลยค่ะ
สมเด็จพระเทพฯ ทรงพระปรีชาสามารถ ชื่นชมในพระราชดำริของท่านจริงๆค่ะ
ขอบคุณกรมโยธาผังเมืองที่ช่วยทำให้พระราชดำริดีๆ ได้เกิดขึ้นจริงเห็นภาพจริงและนำไปใช้ได้จริงนะคะ

ขออนุญาตินำไปแชร์ให้เพื่อนๆและรุ่นพี่รุ่นน้องนักออกแบบดูเป็นประโยชน์เพื่อการศึกษานะคะ

Comment by Siriwan Sukmasuang on October 16, 2011 at 7:34pm

ขอนำไปแชร์ให้เพื่อนที่อยุธยานะคะ

 

© 2009-2024   PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service