ประชาชนในสาธารณรัฐกวีนิพนธ์

 

 

 

 

 

ประชาชนในสาธารณรัฐกวีนิพนธ์ 

 

 

 

 

ปัจฉิมกถา อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์   

ในงานอ่านฟังบทกวี Live Poetry 4  “ดอกไม้บานในเดือนตุลา

 

 

 

ผู้ที่อยู่ในทำเนียบรัฐบาลเรียกพี่น้อง พี่น้องครับ (หัวเราะ) ที่นี้เรียกเพื่อนมนุษย์ครับ

ที่ผมเริ่มอย่างนี้ ผมอยากจะเตือนความจำนะครับ

ช่วงนี้เมืองไทยส่วนมากมีความรุนแรง มีการกล่าวคำเท็จ

เพราะฉะนั้นการที่เรามารวมตัวกันจัดงานกวีนิพนธ์ ผมว่าเป็นสิ่งประเสริฐสุด

เพราะกวีนิพนธ์เป็นสิ่งที่แสดงออกทางภาษา

และมนุษย์เรามีภาษาที่วิเศษกว่าสัตว์เดรัจฉานต่างๆ

และถ้าเราไม่ระวัง เราจะใช้ภาษาไปในทางชั่วร้าย ฆ่าฟันกัน โจมตีกัน

ซึ่งกำลังเป็นอยู่ในเมืองไทยเวลานี้ และในหลายต่อหลายที่

 

เราแม้เป็นกลุ่มเล็กๆ แต่ก็เป็นกลุ่มเล็กซึ่งน่ารัก ไม่เพียงแต่แสดงออกถึงภาษาไทย

เพื่อนของเรามาอ่านกวีภาษาเยอรมัน ฝรั่งเศส และที่สำคัญคือภาษาอาหรับด้วย

หรือเพื่อนของเราที่โทรศัพท์มาจากขอนแก่น เขาก็โยงใยเป็นสองฝั่งแม่น้ำโขง ลาวกับไทย

อีกนัยยะหนึ่งวรรณคดี กวีนิพนธ์ ไม่มีพรมแดนนะครับ

ที่เพื่อนของเราบอกว่าจะสร้างสาธารณรัฐกวีนิพนธ์ เป็น Republic of Poetry

นั่นเป็นสิ่งที่ถูกต้องนะครับ เพราะกวีนิพนธ์ไม่มีพรมแดน

 

ภาษาอังกฤษมีคำหนึ่งว่า Republic of Letters คืออักษรศาสตร์นั้นเป็นสาธารณรัฐ

ซึ่งไม่มีประธานาธิบดี และไม่มีพระเจ้าแผ่นดินด้วย (หัวเราะ)

อีกนัยยะหนึ่งคือเราทุกคนเป็นพระเจ้าแผ่นดิน พวกเราทุกคนเป็นประธานาธิบดี

และที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะเรามารวมตัวอย่างเท่าเทียมกัน

เราไม่ได้มาเพื่อซีไรต์ ซีรอง ไม่ได้มาเพื่อเป็นศิลปินแห่งชาติ กวีแห่งชาติ

เรามาเพียงเพื่อแสดงออกในทางความดี ความงาม และความจริง อันนี้เป็นสิ่งที่ประเสริฐสุด

 

ผมดีใจที่มีกวีรุ่นใหม่ มีคนรุ่นหนุ่มสาว

เผอิญผมดีใจเป็นพิเศษที่ผมก็ได้เป็นคนหนุ่มกับเขาด้วยวันนี้

และลึกๆ ก็อยากเป็นคนสาวด้วยนะครับ (หัวเราะ)

จัดมา 4 ครั้ง ผมหวังว่าคงจะจัดไปเรื่อยๆ นะครับ

และผมหวังว่าการจัดเล่นๆ แบบนี้มันเป็นการเล่นแบบมีความสุข

แบบเป็นมิตรภาพ เป็นกัลยาณมิตร และผมดีใจที่อ่านบทกวีกันแล้ว ก็จะนำไปพิมพ์เป็นเล่ม

 

พูดอย่างจริงจังนะครับ ผมว่าครั้งต่อไป น่าจะคิดแปลกวีบางชิ้นเป็นภาษาต่างประเทศ

ไม่จำเป็นต้องแปลเป็นภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมันอย่างเดียว

อาจจะเป็นภาษาอาหรับ ภาษาเขมร ภาษาพม่าด้วย 

ผมดีใจที่เราได้ฟังภาษาอาหรับ และที่ได้รู้จักเพื่อนชาวปาเลสไตน์ เพื่อนทางนั้นเขาถูกรังแกมาก

ถ้าเราได้รู้จักเพื่อนที่ถูกรังแกมากๆ มันจะทำให้กวีของเราตีไปถึงความจริงชัดเจน

เช่นเดียวกัน เพื่อนของเราก็ถูกรังแกมากเมื่อวันที่ 7 (เหตุการณ์ 7 ตุลาคม 2551)

และผมดีใจที่มีกวีอ่านถึงเหตุการณ์วันนั้นด้วย

 

เมื่อตุลา 19 เพื่อนของเราถูกรังแกมากมายเหลือเกิน

ถูกรังแกโดยชนชั้นบนครับ ชนชั้นบนรังแกชนชั้นล่าง เวลานี้ชนชั้นบนก็ยังรังแกชนชั้นล่าง

และที่ต่อสู้กันระหว่างทุนเก่ากับทุนใหม่เวลานี้ ก็ไม่มีใครเหลียวแลชนชั้นล่างเลย

ผมว่าพวกเราที่เป็นกวี ถ้าเรามีจิตสำนึกถึงชนชั้นล่าง มีจิตสำนึกถึงความถูกต้องดีงาม

เอาความงาม ความไพเราะมาสื่อ ผมว่าจะเป็นพลัง

 

ผมขอบคุณที่ให้โอกาสคนชราได้มาเป็นคนหนุ่มคนสาวในวันนี้ครับ

และอยากบอกให้เพื่อนๆ ทั้งหลายมาเป็นเพื่อนมนุษย์กันครับ

เพื่อนมนุษย์ที่แท้ไม่จำเป็นต้องมีชู้หรอกครับ แต่ถ้ามีชู้ก็ต้องเอาอย่างวันทองนะครับ

รักผัวก็รัก รักชู้ก็รัก ซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกต้องดีงามครับ (หัวเราะ) ขอบคุณครับ...

 

 

********* 

 

 

*หมายเหตุ : ปัจฉิมกถาอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ กล่าวในค่ำวันเสาร์ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๕๑

เป็นการปิดท้ายรายการอ่านฟังบทกวี Live Poetry 4

 

ที่ผมนำเอาปัจฉิมกถาของอาจารย์สุลักษณ์มาให้ได้ย้อนอ่านกัน

เป็นเพราะว่าผมชื่นชมสาธารณรัฐแห่งนี้เป็นพิเศษ

เพราะเป็นพื้นที่บ่งบอกถึงอิสรภาพที่ถูกริดรอนอยู่เสมอจากผู้ที่มีอำนาจ

ทั้งจากทางอำนาจรัฐและอำนาจนิยมของผู้ที่มักกล่าวว่า

ตนสามารถรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่มีความคิดเห็นที่แตกต่างได้

ซึ่งโดยมากแล้ว มักเป็นการโกหกเพื่อให้ตัวเองแลดูดีเท่านั้น หาได้มีสัจจะดังที่กล่าวไม่

สาธารณรัฐแห่งนี้จึงนับเป็นพื้นที่สำหรับการแสดงออก

ทั้งในทางความดี ความงาม และความจริง อันเป็นสิ่งที่ประเสริฐสุดซึ่งแสดงออกได้ยาก

และยากต่อการได้รับการยอมรับด้วยหัวใจอันเปิดกว้างจากรัฐอื่นๆ(สำนวนส่วนตัว)

เป็นเพราะว่ามุมมองของปราชญ์แห่งสยามประเทศผู้นี้

และบรรดากลุ่มกวีแห่งสาธารณรัฐกวีนิพนธ์นั้น

นับเป็นสถานที่และเป็นมุมมองอันไพศาลไปด้วยความหลากหลายทางความคิด 

แม้นแต่ละคนจะมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันอย่างไร

ทว่าสาธารณรัฐแห่งนี้ก็เป็นพื้นที่ที่เปิดกว้างและรับฟังทุกๆความคิดเห็นด้วยความจริงใจ

แม้เป็นกลุ่มเล็กๆ แต่ก็เป็นกลุ่มเล็กๆที่น่ารักครับ

แม้บางเวลาจะน่าเตะก็ตามทีเถอะ แต่เราก็ให้อภัยกันได้เสมอ

Views: 137

Replies to This Discussion

 

ภาพนกพิราบขาวใส่เสื้อเกราะ ถูกเล็งด้วยปืนบนผนังในเมืองเบธเลเฮม (Bethlehem)

เป็นเมืองเล็ก ๆ ในแคว้นยูเดียทางตอนใต้ของอิสราเอลในปัจจุบัน

ผมชอบภาพนี้เป็นพิเศษ เพราะนัยยะของภาพมันบ่งบอกถึงอิสรภาพที่ถูกริดรอนอยู่เสมอจากผู้ที่มีอำนาจ

ทั้งทางอำนาจรัฐและอำนาจนิยมของผู้ที่มักกล่าวว่าตนสามารถรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่มีความคิดเห็นที่แตกต่างได้

ซึ่งโดยมากแล้ว มักเป็นการโกหกเพื่อให้ตัวเองแลดูดีเท่านั้น หาได้มีสัจจะดังที่กล่าวไม่  

แต่ต้องขออภัยจริงๆที่จดจำชื่อของศิลปินผู้สร้างงานไม่ได้เพื่อนๆท่านใดทราบก็แจ้งไว้ได้นะครับ ^^ 

RSS

© 2009-2024   PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service