SCG 100 ปี อาคารเขียวเพื่อโลก...เพื่อเรา...


หากมองจากระยะไกล ความอิสระและพลิ้วไหวของรูปทรงอาคารเอสซีจี 100 ปี หลังนี้ ดูจะโดดเด่นสะดุดตาท่ามกลางสิ่งแวดล้อมรายรอบ ทว่าก็ดูไม่แปลกแยกจากภูมิทัศน์ที่ตัวอาคารตั้งอยู่แม้แต่น้อย  

ความน่าสนใจแรกของอาคารหลังนี้เริ่มตั้งแต่การออกแบบตัว façade ในรูปทรง free flow ซึ่งนอกจากจะสร้างอัตลักษณ์ให้ตัวอาคารเป็นที่น่าจดจำและเป็นแลนด์มาร์คแห่งสำคัญของกรุงเทพฯ แล้ว ระเบียงแบบ Broaden Building Balconies ที่ใช้วัสดุทดแทนไม้ Windsor ยังช่วยกันแสงแดดที่ร้อนระอุของเมืองไทยให้เข้าสู่ตัวอาคารน้อยลงด้วย ขณะที่สเปซภายในก็ถูกออกแบบให้เป็นสัดเป็นส่วนทั้ง working area และ public space เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถมีชีวิตการทำงานและใช้ชีวิตส่วนตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ เปิดโอกาสให้ทุกการสร้างสรรค์ถูกถ่ายทอดออกมาได้อย่างเต็มที่ โดยที่ความเป็นส่วนตัวยังคงถูกรักษาไว้อย่างพอเหมาะพอเจาะ

ด้วยฟอร์มที่เป็นเอกลักษณ์ซึ่งทีมออกแบบตั้งใจให้เป็นตัวแทนสำนักงานสำหรับคนรุ่นใหม่ของอาคารเอสซีจี 100 ปี เราขอบอกเลยว่าไม่ได้สวยแค่รูปอย่างเดียวเท่านั้น เพราะมันยังได้รับการสร้างสรรค์ภายใต้แนวคิด Sustainable Design ตั้งแต่กระบวนการออกแบบ การก่อสร้าง การคัดเลือกวัสดุ และระบบการใช้งานต่างๆ ที่คำนึงถึงผู้ใช้งาน สิ่งแวดล้อม และชุมชนอย่างแท้จริง

ท่ามกลางบรรยากาศโล่ง โปร่ง สบาย ทั้งมุมทำงานและพื้นที่สาธารณะนั้นประกอบขึ้นจากองค์ประกอบที่เป็นมิตรกับผู้ใช้อาคาร ตั้งแต่การเลือกสีที่มีค่า VOCs (Volatile Organic Compounds) หรือสารอินทรีย์ระเหยง่ายในระดับต่ำซึ่งช่วยลดความเสี่ยงต่อสุขภาพผู้ใช้งาน การใช้พรมดักฝุ่นเพื่อลดปริมาณมลภาวะ ไปจนถึงการนำกระจก 2 ชั้น และอิฐมวลเบามาใช้เพื่อช่วยลดความร้อนเข้าสู่ตัวอาคาร

และไม่เพียงแต่การออกแบบที่คำนึงถึงผู้ใช้งานไปพร้อมๆ กับสิ่งแวดล้อมอย่างการใช้สุขภัณฑ์และอุปกรณ์ประหยัดน้ำ การใช้หลอดไฟประหยัดพลังงาน รวมทั้งแผงโซล่าร์เซลล์ที่ลดปริมาณการใช้พลังงานไฟฟ้าในอาคาร และกระเบื้องที่มีส่วนผสมของวัสดุรีไซเคิลเท่านั้น แต่การที่ทีมผู้สร้างสรรค์คงพื้นที่สีเขียวกว่า 50% นั้นยังสร้างความร่มรื่นให้กับภูมิทัศน์โดยรวม ซึ่งสามารถช่วยดูดซับน้ำฝน ตลอดจนลดปริมาณน้ำท่วมขังออกสู่ภายนอกชุมชนด้วยเช่นกัน

เมื่อเราพินิจพิเคราะห์อาคารเอสซีจี 100 ปี หลังนี้ดูแล้ว ก็ทำให้นึกไปถึงสิ่งที่ Nils Kok นักวิชาการด้านอาคารเขียวจาก Maastricht University กล่าวไว้ในงานสัมมนาพิเศษ ‘Distinguished Sustainability Lecture Series’ เมื่อปีที่แล้วที่ว่า “มูลค่าเพิ่มจะสะท้อนออกมาเมื่อเราสามารถลดการใช้พลังงานในอาคารอย่างจริงจัง” และสิ่งที่แน่นอนกว่าก็คือประโยชน์สูงสุดย่อมตกอยู่กับสิ่งแวดล้อมและผู้ใช้งานอย่างพวกเราด้วย

การนำกระจก 2 ชั้นและผนังอิฐมวลเบา Q-CON มาใช้เพื่อลดความร้อนเข้าสู่ตัวอาคาร

การดีไซน์ห้องน้ำในรูปแบบเรียบง่ายและเป็นสัดส่วน

Bike Parking บริเวณใกล้ทางเข้าลานจอดรถที่ถูกออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับพนักงานและผู้เข้ามาเยี่ยมชม

การออกแบบพื้นที่โทรศัพท์ไม่เพียงแต่จะช่วยสร้างความเป็นส่วนตัวให้กับพนักงานเท่านั้น แต่ยังเป็นการไม่ไปรบกวนบรรยากาศการทำงานโดยรวมด้วยเช่นกัน

พื้นที่เชื่อมต่อระหว่างอาคารที่มีการนำกระเบื้อง COTTO รุ่น ECO Rockrete ซึ่งมีส่วนผสมของวัสดุรีไซเคิล 60% มาใช้เป็นวัสดุหลัก

การออกแบบพื้นที่เปิดโล่งบริเวณดาดฟ้าอาคารอเนกประสงค์สำหรับกิจกรรมกลางแจ้ง

แนวคิดเรื่องความยั่งยืนถูกนำมาใช้ในการออกแบบแลนด์สเคปรอบๆ อาคาร โดยมีการคงต้นไม้เดิมเอาไว้กว่า 50% เพื่อช่วยสร้างความร่มรื่น ลดปรากฏการณ์เกาะร้อน และเป็นพื้นที่ดูดซับรับน้ำฝนไปในตัว

Broaden Building Balconies หรือระเบียงรอบอาคารถูกออกแบบมาสำหรับการป้องกันแดดและความร้อนเข้าสู่ตัวอาคาร

อ้างอิง www.scg.co.th

ภาพ Ketsiree Wongwan, www.scg.co.th

Views: 4944

Comment

You need to be a member of PORTFOLIOS*NET to add comments!

Join PORTFOLIOS*NET

© 2009-2024   PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service