… . ไม่ใช่เพียงแต่เราเป็นแน่ที่รู้สึกว่าโลกกลมๆใบนี้ ที่เคยกว้างใหญ่ไพศาลกลับแคบและเล็กลงไปถนัดตา เหตุเพราะว่าความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่เราเรียกว่า Socail Network กับการแข่งขันในหลายๆด้านทุกอย่างจึงเร่งรีบขึ้น
เทคโนโลยีหลายๆอย่างที่พัฒนาอย่างไม่มีวันจะหยุดยั้งทำให้เราต้องทำอะไรหลายๆ แข่งกับทั้งตัวเอง และแข่งกับทั้งเวลา
บางครั้ง โลกใบเดิม เวลาเดิมๆ ที่มีอยู่แค่วันละ ๒๔ ชั่วโมงนี่ล่ะกลับทำให้เรารู้สึกว่า ยังไม่ทันได้ทำอะไรอย่างใจตั้งเป้าหมายเอาไว้ เวลาก็ผ่านไปอย่างรวดเร็วเสียแล้ว เผลอแป๊บๆ หนึ่งวันก็ผ่านไป เผลอแป๊บๆหนึ่งเดือนก็ผ่านไปอีกแล้วจนกระทั่งหนึ่งปีเดี๋ยวนี้ก็ผ่านไปไวยิ่งกว่าโกหก นั่นอาจเพราะสิ่งต่างๆมันดูวุ่นวายรีบเร่งขึ้น คนเรามีกิจกรรมมากขึ้น เวลาที่มีก็น้อยลงไปโดยไม่รู้ตัว
เมื่อในแต่ละวันมันรีบเร่ง จิตใจก็พลอยสับสนวุ่นวายไม่อยู่ที่ไปด้วย ในภาวะอย่างนี้ การได้ปล่อยปลดใจให้มีสมาธิกับหนังสือดีๆ สักเล่มคงดีไม่น้อย…
และแล้วก็ได้โคจรมาพบกับหนังสือดีๆเล่มหนึ่ง “มังกรเซน” โดย วินทร์ เลียววาริณ เป็นหนังสือที่รวบรวมข้อคิดคำสอน “เซน” จากท่านผู้รู้, อาจารย์, นักบวช ผู้ลุแล้วซึ่งธรรม และให้คำตอบเชิงนิยาม คำจำกัดความของคำว่า “เซน”
“… เป็นหนังสือที่นำเสนอประวัติศาสตร์เซนผ่านประวัติและแนวคิดของปรมาจารย์เซน คนสำคัญระดับ “มังกร” ตั้งแต่ท่านแรกคือพระโพธิธรรมในยุคแรกเริ่ม… ” นี่คือบริบทคำออกตัวของคุณวินทร์ ก่อนที่จะพลิกหน้าต่อๆไปเพื่อรับความเรียบสงบผ่านตัวหนังสือที่เรียบเย็น และเรียนรู้วิถีแห่งเซน อย่างค่อยเป็นค่อยไป
เชื่อว่าหนังสือเล่มนี้ จะทำให้ผู้ที่ฝักใฝ่สนใจในวิถีแห่ง “เซน” จะได้รู้จักและเข้าถึง “เซน” ได้มากขึ้น
“เจียนจื่อ แปลว่า ปัญญาแห่งกระจกเงา (Mirror Wisdom) ชีวิตก็คือกระจกเงา สะท้อนให้เห็นสัจธรรมของความเปลี่ยนแปลงและชาวเซนย่อมเข้าใจว่า การเปลี่ยนแปลงกับการไม่เปลี่ยนแปลงเป็นการมองต่างมุมของสิ่งเดียวกัน… เมื่อเข้าใจความต่าง ก็เข้าใขเซน” จากหน้า ๘๓
ความสงบเย็น ณ ขณะอ่าน คือความเริงใจที่สัมผัสได้และรู้สึกว่าใจที่สงบนิ่งกับหนังสือที่ให้แง่คิดในเชิงปรั๙ญาดีๆอย่างนี้ เป็นความรื่นรมย์ที่อยากวนอยู่ในห้วงอักษรนั้นนานๆ เพราะในโลกแห่งความจริงมักมีแต่เรื่องสับสนวุ่นวาย รีบเร่งและเต็มไปด้วยการแข่งขัน สิ่งเหล่านั้นผ่านเข้ามาให้ได้คิดเครียดตลอดทั้งกระทบใจให้สั่นไหวต่อความรู้สึกของปุถุชนคนธรรมดาได้อยู่เรื่อยๆ
“รู้จกปล่อยวาง รู้จักหยุด ก็จะพบความหมายและคุณค่าของความว่างเปล่า ดังที่ โดเก็น อาจารย์เซน ชาวญี่ปุ่นในศตวรรษที่สิบสามเขียนบทกีนี้ว่า “การรู้แจ้ง ก็เฉกเช่นจันทร์สะท้อนบนผิวน้ำ พระจันทร์ไม่เปียก น้ำก็ไม่ถูกกินที่” หน้า ๑๑
การได้หยุด นั่งพัก และเติมเต็มมุมมองแห่งธรรม ได้สร้างภูมิกันภัยในความรู้สึกได้อย่างไม่มีเบื่อ เพราะเราไม่อาจรู้ได้ว่าวันข้างหน้า นาทีโมงยามข้างหน้านั้น เราจะเจอปัญหาอะไร จะเจอเหตุการณ์อะไร จะดีหรือจะร้าย การฝึกจิตให้มีสมาธิและเข้าใจโลกและซึ้งใจในสัจจะแห่งธรรมว่า จักรวาลนี้มีความเปลี่ยนแปลงเป็นที่ตั้ง
เพื่อที่ว่า…
หากพบเจอสิ่งดี จะได้ไม่หลงระเริงวนอยู่ในวังแห่งกิเลส
และถ้าหากพานพบกับสิ่งเลวร้าย จิตจะได้ไม่ฟูมฟายเสียผู้เสียคน เพราะสัจจะของวังวนแห่งมายา สิ่งเลวร้ายมันผ่านมาในชีวิตเราได้ มันก็ผ่านไปได้ ขอเพียงอย่ายึดติด อย่าจิตสลดไปกับมัน แล้วจงนำเอาธรรมะอาบใจให้เข้มแข็งไว้เสมอและอย่ากลัวที่จะเริ่มใหม่และก้าวไปด้วยใจที่เข้มแข็งอย่างคนเข้าใจโลก นั่นคือจิตที่เป็นสุขยิ่งแล้ว….
หมายเหตุเล็กๆส่งท้าย
บทความนี้ ไม่ได้เขียนขึ้นในฐานะนักวิจารณ์แต่อย่างใด หากแต่เขียนขึ้นด้วยความรู้สึกของคนอ่านหนังสือและรักหนังสือ เมื่ออ่านหนัสือเล่มใดและรู้สึกว่าได้อะไรจากหนังสือเล่มนั้น ก็อยากแชร์และบอกกล่าวถึงความน่าสนใจของหนังสือที่รัก เพื่อที่ว่า จะเจอคนอ่านที่คอเดียวกัน จะได้มีการพบปะพูดคุยทางความคิดผ่านสื่อ Socail Network แห่งนี้…. ฝากด้วยนะคะ
Comment
© 2009-2025 PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.
Powered by
You need to be a member of PORTFOLIOS*NET to add comments!
Join PORTFOLIOS*NET