จากทุ่งสังหารแห่งระบอบเขมรแดง สู่แหล่งท่องเที่ยวในความทรงจำสีเทา

http://travel.mthai.com/world-travel/75491.html

“ชัยชนะบนซากศพ” ประโยคนี้ดูจะไม่เกินจริงเมื่อกล่าวถึงสถานที่แห่งหนึ่ง อันเป็นต้นกำเนิดของเรื่องจริงยิ่งกว่านิยายที่แทบไม่น่าเชื่อเลยว่ามันจะเคยเกิดขึ้นจริงๆ ในศตวรรษที่ 20 ในยุคที่ประเทศต่างๆ ทั่วโลกใฝ่หาสันติภาพ และปลดแอกตัวเองออกจากภาวะสงครามเย็น เพื่อเดินหน้าเข้าสู่ยุคดิจิตอล หลังจากการล่มสลายของพรรคนาซีเมื่อสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 และที่สำคัญไปกว่านั้น สถานที่อันโหดร้ายนี้กลับอยู่ใกล้แค่ปลายจมูกของเรานี่เอง

จากทุ่งสังหารแห่งระบอบเขมรแดง สู่แหล่งท่องเที่ยวในความทรงจำสีเทา

วันนี้ “มัชรูมทราเวล” จะพาทุกท่านย้อนอดีตสู่ความทรงจำสีเทา กับสถานที่ท่องเที่ยวที่ย้ำเตือนถึงความโหดร้ายของระบอบเขมรแดงและการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ประชาชนชาวกัมพูชามากกว่าล้านคน ซึ่งสร้างความสะเทือนใจให้กับชาวโลกว่า อำนาจล้นฟ้าที่ท่านผู้นำเขมรแดง อย่างนายพล พต ฯลฯ ได้มาจากการเข่นฆ่าพี่น้องร่วมชาติพันธุ์เดียวกันนั้น มันทำให้เขาเป็นสุขและภาคภูมิใจกับชัยชนะที่ได้มาจริงๆ น่ะหรือ

Cheung Ek Killing Field 64

ย้อนกลับไปเมื่อปี ค.ศ. 1975-1979 ชาวกัมพูชาประมาณ 1.4 ล้านคน ถูกทรมานและถูกสังหารอย่างโหดเหี้ยมทารุณอย่างไร้การเหลียวแล โดยเหตุการณ์สะเทือนใจครั้งนี้มีจุดเริ่มต้นจากการปกครองเผด็จการแบบเบ็ดเสร็จในรัฐบาลของนายพล ลอน นอล ซึ่งทำการรัฐประหารยึดอำนาจมาจากสมเด็จเจ้านโรดมสีหนุ ทำให้นักศึกษาและประชาชนทั่วประเทศต้องลุกฮือขึ้นมาประท้วงและก่อการจลาจล จนรัฐบาลต้องออกมากล่าวหาว่าพวกเขาเป็นพวกซ้ายจัด สมควรที่จะต้องส่งทหารออกมาปราบปรามด้วยอาวุธ

และนั่นก็ส่งผลให้ ประชาชนชาวกัมพูชาต้องหลบหนีไปเข้าร่วมกับฝ่ายคอมมิวนิสต์หรือเขมรแดง ที่นำโดยนายพล พต ที่ต่อมาสามารถโค่นล้มอำนาจของนายพล ลอน นอลได้ในที่สุด ท่ามกลางความยินดีของประชาชนชาวกัมพูชาที่ไม่รู้เลยว่า เหตุการณ์ในอนาคตที่จะเกิดกับพวกเขานั้นมันเหมือนกับการหนีเสือประจระเข้มากกว่า ซึ่งกว่าจะรู้ตัว… มันก็สายไปเสียแล้ว

จากทุ่งสังหารแห่งระบอบเขมรแดง สู่แหล่งท่องเที่ยวในความทรงจำสีเทา

ทุ่งสังหารแห่งกองกำลังเขมรแดงและพิพิธภัณฑ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เขมรแดง ตั้งอยู่บนกิโลเมตรที่ 15ทางตะวันตกเฉียงใต้ของกรุงพนมเปญ ซึ่งที่นี่ถือเป็นจุดที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุด จากหลักฐานหัวกะโหลกมนุษย์ที่ถูกขุดค้นพบในบริเวณนี้กว่า 8,000 ชิ้น รวมทั้งชิ้นส่วนกระดูกและฟันอีกมากมายที่ยังไม่ย่อยสลายไปตามธรรมชาติ จึงทำให้เชื่อได้ว่าชาวกัมพูชาที่ถูกฆ่าอย่างโหดร้ายในทุ่งสังหารนี้ย่อมมีไม่ต่ำกว่า 17,000 คน จากยอดผู้เสียชีวิตมากกว่าล้านคนทั่วประเทศ โดยทั้งหมดถูกขนย้ายมาจากคุกหมายเลข 21 หรือโตสะแลง (Security Prison 21) ที่ดัดแปลงมาจากโรงเรียนเพื่อใช้เป็นสถานที่คุมขังและทรมานนักโทษชาวกัมพูชา ซึ่งหากนักโทษคนไหนที่รอดตายจากการทรมานที่โหดร้ายจนกว่าผู้คุมจะพอใจแล้ว พวกเขาก็จะถูกขนลำเลียงมาที่ทุ่งสังหารแห่งนี้เพื่อฆ่าทิ้งและฝังกลบในคราวเดียว

Cheung Ek Killing Field 18

และนั่นก็ผ่านมาเกือบ 40 ปีแล้ว สำหรับเหตุการณ์สะเทือนใจอีกครั้งของโลก กับความโหดเหี้ยมทารุณของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เพื่อนมนุษย์ด้วยกันเอง วันนี้ทุ่งสังหารและพิพิธภัณฑ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์คลาคล่ำไปด้วยนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่สนใจในเรื่องราวของประวัติศาสตร์ แต่กระนั้นสถานที่แห่งนี้ก็เต็มไปด้วยร่องรอยที่ก่อเกิดความหดหู่ใจแก่ผู้มาเยือน ด้วยภาพของหัวกะโหลกและชิ้นส่วนกระดูกมากมายที่ถูกจัดเรียงอย่างเป็นระเบียบภายในเจดีย์ที่สร้างขึ้นมาใหม่ จำนวนหลุมฝังศพขนาดใหญ่กว่าร้อยหลุม ภาพถ่ายของผู้เสียชีวิตทั้งหมดที่ดวงตาของพวกเขาบ่งบอกถึงความสิ้นหวัง รวมถึงภาพวาดที่บอกเล่าเรื่องราวความโหดเหี้ยมของเหล่าทหารเขมรแดง ฯลฯ

ทั้งหมดนี้คือตัวอย่างภาพสะท้อนของผู้ที่ได้มาซึ่งอำนาจโดยไม่เลือกวิธีการ แม้ว่าจะต้องกำจัดเพื่อนร่วมชาตินับล้านก็ตาม วันนี้แม้นายพล พต จะเสียชีวิตไปแล้วโดยที่ไม่ได้รับโทษที่เขาก่อไว้แต่อย่างใด แต่ช่วงสุดท้ายของชีวิตที่ต้องทรมานด้วยโรคที่รุมเร้า และการต้องใช้ชีวิตอยู่อย่างหลบๆ ซ่อนๆ ด้วยความกลัวและหวาดระแวงตลอดเวลา ก็เป็นคำตอบสำหรับชาวโลกแล้วว่า อำนาจที่ได้มาอย่างไม่ชอบธรรมนั้นไม่มีทางที่จะมั่นคงและยั่งยืน เพราะประวัติศาสตร์ที่ผิดพลาดนั้นถูกเขียนขึ้นเพื่อให้เราได้ศึกษาและก้าวข้ามไป มิใช่เพื่อให้ใครเดินตาม….

Views: 92

Comment

You need to be a member of PORTFOLIOS*NET to add comments!

Join PORTFOLIOS*NET

© 2009-2024   PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service