ชีวิตและการทำงานของ “อุดมศักดิ์ กฤษณมิษ” ศิลปินไทย (ดังไกล) ในต่างแดน

เรื่อง : พลอย มัลลิกะมาส l TCDCCONNECT


udomsak01

การเดินทางไปเชียงใหม่ครั้งล่าสุดเกิดจากความสงสัยใคร่รู้ที่ได้ยินมาว่า นอกจากที่นี่จะเป็นศูนย์กลางของวัฒนธรรมเก่าแก่ที่ผสมผสานกับวัฒนธรรมร่วมสมัยแล้ว เชียงใหม่ในวันนี้ยังเป็นสถานที่ที่คุณสามารถเดินกระทบไหล่กับศิลปินไทย “ที่โด่งดังไกลในระดับโลก” แบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว ว่ากันว่าหนึ่งในศิลปินวาดภาพ (Painter) แนวแอบสแทรกต์เอกซเพรสชั่นนิสม์ (Abstract Expressionism) ผู้มีชื่อเสียงโด่งดังในแวดวงศิลปะนานาชาติอย่าง อุดมศักดิ์ กฤษณมิษ ก็ได้ย้ายนิวาสถานจากกรุงนิวยอร์คมาปักหลักอยู่ที่เชียงใหม่เป็นเวลาร่วมปีกว่าแล้ว


ความน่าสนใจของศิลปิน “Low Profile High Profit” ท่านนี้อยู่ที่แนวความคิดอันโดดเด่น มีความร่วมสมัยและมีเอกลักษณ์เฉพาะ แฝงไว้ซึ่งขนบประเพณีและความเป็นไปได้ใหม่ๆ มากมาย ล่าสุดหนังสือพิมพ์ New York Times ยกย่องว่าเขาคือ แฟรงค์ สเตลล่า* แห่งยุคปัจจุบัน


(*Frank Stella คือ ศิลปิน Abstract Expressionism แนวจิตรกรรมขอบคม (Hard Edge Painting) ที่โด่งดังและมีชื่อเสียงมากในยุค 60’s)


ปัจจุบัน อุดมศักดิ์ กฤษณมิษ ทำงานภายใต้สังกัดของ Gavin Brown Enterprise (แกลเลอรี่ดังในกรุงนิวยอร์ค) หลังจบการศึกษาจากคณะครุศิลป์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อุดมศักดิ์ได้ย้ายไปศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกา และเริ่มทำงานศิลปะอย่างจริงจังในช่วงปี 1990 การทำงานของเขาคือการผสมผสานระหว่างโลกตะวันออกและตะวันตก, ศิลปะและงานฝีมือ, ความเป็นจริงและนามธรรม, โอกาสและการวางแผน โดยผลงานที่ทำให้อุดมศักดิ์ที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง ก็คือภาพจิตรกรรม Abstract สีขาว - ดำ ชุด “The O's and Zeroes” วันนี้เราจะพาคุณไปรู้จักกับศิลปินมากความสามารถคนนี้


ทำไมถึงย้ายมาอยู่ที่เชียงใหม่ อยู่ที่นิวยอร์คไม่ดีแล้วหรือ?
“ที่ผมเลือกมาอยู่ที่เชียงใหม่ก็เพราะเมืองนี้มันมีความร่มรื่น มีบรรยากาศ มีพื้นที่สีเขียวและต้นไม้ จะไปไหนมาไหนก็สะดวก ที่สำคัญมันมีกลุ่มเพื่อน มีคอมมูนิตี้ มีคนที่สื่อสารและพูดจาภาษาเดียวกัน”


udomsak02

ช่วยเล่าถึงผลงานสร้างชื่อของคุณ “The O's and Zeroes”

"แนวคิดของงานในชุดนี้เริ่มตั้งแต่ช่วงที่ผมยังเรียนอยู่ที่นิวยอร์ค ในคลาส Conceptual Art ที่ชื่อว่า New Form เขาให้นักเรียนทำงานออกมาคนละ 1 ชิ้นภายใต้โจทย์ว่า ‘ต้องไม่อยู่ในกรอบประเพณีดั้งเดิม’ (Non-traditional) ซึ่งนักเรียนในคลาสก็ต้องมานั่งระดมความคิดและถกเถียงกันว่างานของแต่ละคนที่นำมาแสดงนั้นเป็นงาน Traditional หรือไม่ ถ้าคุณว่าไม่ใช่ แล้วมันเป็นอะไรกันแน่… ตอนที่ผมทำงานชิ้นนั้นออกมาแรกๆ มันก็ไม่ได้เห็นเป็นตัวโอนะครับ แต่มันเกิดจากการที่ผมนั่งอ่านหนังสือพิมพ์ แล้วลองทำ drawing ลงไปบนนั้น โดยผมเว้นคำศัพท์ที่ผมไม่รู้คำแปลเอาไว้ เสร็จแล้วก็เอาไปโชว์ในชั้นเรียน


ผลงาน The O's and Zeroes เป็นงานที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นคือ แทนที่ผมจะเว้นคำศัพท์ที่ไม่รู้คำแปล ผมก็ลองเว้นพื้นที่ (Space) ที่ไม่มีความหมายแทน ลองดูว่ามันจะออกมาเป็นยังไง และหลังจากนั้นผมก็มีนิทรรศการที่เป็นซีรี่ส์ตามออกมาด้วย ใช้ชื่อว่า Leave Space ซึ่งในโชว์ครั้งที่สองนี้ ผมได้ลองเพิ่มเติมพวกคอลลาจเพนต์ติ้ง (Collage Painting) ลงไป ลองใช้เส้นก๋วยเตี๋ยวมาเป็นฝีแปรงอยู่ในภาพวาด”


ดูเหมือนว่า เมืองใหญ่ที่เต็มไปด้วยลูกกรงเหล็กอย่างกรุงนิวยอร์คจะส่งอิทธิพลต่องานของอุดมศักดิ์ไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสีสัน เนื้อผ้า รูปแบบ และความลุ่มลึก สิ่งที่ขาดหายไปคือ ช่องว่างที่น่าตกใจระหว่างสิ่งที่เห็นและสิ่งที่คุณจะได้รับ ระหว่างความเป็นธรรมดาสามัญของพื้นผิวที่แท้จริง และเอ็ฟเฟกท์ที่อาจทำให้ตาลาย ภาพวาดแต่ละภาพของอุดมศักดิ์เต็มไปด้วยรายละเอียดที่ดูซับซ้อน แต่ในขณะเดียวกัน มันก็มีแบบแผนที่แน่นอนมาก


อย่างไรก็ดี แม้จะย้าย “บ้าน” เป็นการถาวรจากมหานครที่สับสนวุ่นวาย (อย่างนิวยอร์ค) มาสู่ความสงบร่มรื่นที่เชียงใหม่ แต่อุดมศักดิ์ก็ยังคงต้องเดินทางไปๆ มาๆ ระหว่างเชียงใหม่และนิวยอร์คเพื่อแสดงงานเป็นประจำทุกปี


เวทีศิลปะ “เมืองนอก” ต่างกับ “เมืองไทย” อย่างไร
“ผมทำงานโชว์อยู่เรื่อยๆ ครับ แล้วแต่ช่วงแล้วแต่จังหวะ บางทีปีหนึ่งก็มี 1 – 2 งาน บางช่วงก็ 2 ปีครั้ง ซึ่งมีทั้งที่ยุโรปและที่นิวยอร์คครับ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความ Productive ของตัวผม ข้อดีของการเป็นศิลปินที่มีผลงานแสดงที่เมืองนอก คือ เมืองนอกเขามีระบบธุรกิจที่รองรับอาชีพศิลปินอย่างชัดเจน มันมีคนที่พร้อมจะควักกระเป๋าเพื่อซื้องานเราและเก็บสะสม เพราะเขาสะสมงานศิลปะกันอย่างจริงๆ จังๆ บางคนก็สะสมเพราะคิดว่าอีกหน่อยมูลค่ามันจะเพิ่ม บางคนก็สะสมเพราะความชอบส่วนตัว มีหลายแบบหลายสไตล์มาก แม้กระทั่งรัฐบาลเขาก็มีการซื้องานศิลปินเพื่อเก็บสะสม ในขณะที่เมืองไทยมีนักสะสมหรือคอลเล็คเตอร์ (Collector) แทบจะนับคนได้”


ก่อนจะลาจากกันในวันนั้น อุดมศักดิ์ส่งยิ้มและแนะนำการชมศิลปะแนว Abstract ให้เราฟังว่า
“เคยมีคนถามผมว่า ทำอย่างไรถึงจะดูงาน Abstract ให้สนุกและเข้าใจได้ วิธีง่ายๆ ที่ผมอยากฝากไว้ก็คือ คุณไม่ต้องไปยึดติดหรอกว่ามันจะเป็น Abstract หรือไม่ เพราะหากคุณชอบงานศิลปะแล้ว สิ่งที่คุณควรทำมากที่สุดคือการศึกษาและดูภาพเพนต์ติ้งทุกอย่างทุกชนิด อะไรก็ได้ที่คุณรู้สึกว่ามันดีและน่าสนใจ ไม่จำเป็นต้องเน้นสไตล์ใดสไตล์หนึ่งหรอกครับ”


บางทีหากเราได้ทำตามคำแนะนำดีๆ ของศิลปินท่านนี้ มันอาจช่วยให้เราเข้าใจความหมายของคำพูดที่ว่า
ชีวิตสั้น …ศิลปะยืนยาว” ได้มากขึ้นก็ได้ 
…อันนี้คงต้องลองพิสูจน์ด้วยตนเองเท่านั้น

Views: 1263

Comment

You need to be a member of PORTFOLIOS*NET to add comments!

Join PORTFOLIOS*NET

© 2009-2024   PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service