The Perks of being a wallflower จุดร่วมบนความแตกต่าง

 

         หนังตามท้องตลาดที่ถูกดัดแปลงจากวรรณกรรม นวนิยาย หรือแม้กระทั่งเรื่องสั้น ถูกพบเห็นได้บ่อยครั้ง หลายครั้งที่คนอ่านอย่างเราๆคาดหวังให้หนังที่ถูกสร้างออกมาคงความเหมือน หรือใกล้เคียงกับเนื้อหาที่เราได้อ่าน และภาพในหัวที่เราได้จินตนาการไว้ ดังนั้นหากคนเขียนหนังสือ ผันตัวมาเป็นผู้กำกับหนังในเรื่องที่ตนเขียนเอง ก็ดูน่าสนใจและน่าติดตามอยู่ไม่น้อย

                The Perks of being a wallflower เป็นหนังในหัวข้อที่เราจะพูดถึงกันวันนี้ The Perks of being a wallflower มาจากนิยายวัยรุ่นขายดีของ Stephen Chbosky นักเขียนนิยายชาวอเมริกัน ได้รับรางวัล best-selling จาก New York time ด้วยยอดขายกว่าเจ็ดแสนก๊อปปี้ เป็นเครื่องการันตีความฮอตฮิตของตัวนิยาย นิยายได้รับการแปลเป็นภาษาไทยในชื่อ ‘จดหมายรักจากนายไม้ประดับ’ แปลโดย คันฉัตร รังสีกาญจน์ส่อง ตีพิมพ์ครั้งแรกมีนาคม 2013 โดยเปิดตัวฉบับภาษาไทยครั้งแรกในงานสัปดาห์หนังสือ

                Stephen Chbosky จบด้าน Screenwriting (เขียนบท) มาจาก University of Southern California's หนังเรื่องแรกที่เขาทั้งเขียนและกำกับคือ The Four Corners of Nowhere ซึ่งได้ฉายในเทศกาลหนัง Sundance Film Festival  หลังจากนั้นเขาก็ได้ฤกษ์เริ่มต้นเขียนนิยายเรื่อง The Perks of being a wallflower และได้ตีพิมพ์ในเครือ MTV BOOKS จนกลายเป็นนิยายวัยรุ่นขายดีอีกหนึ่งเรื่อง ด้วยความนิยมของตัวนิยายเอง ทำให้เขาตัดสินใจที่จะนำนิยายของตนมาดัดแปลงสร้างเป็นภาพยนตร์อินดี้เรื่องเยี่ยม ในปี 2013 ที่มีชื่อเรื่องเดียวกัน นำแสดงโดยนักแสดงขวัญใจวัยรุ่นอย่าง Emma Watson , Logan Lerman และ Ezra Miller หนังเรื่องนี้ยังคงความเป็นหนังแนว coming - of- age ได้อย่างสมบูรณ์แบบ โดยเนื้อเรื่องที่ดัดแปลงมาจากนิยาย Stephen ยังรับหน้าที่ในการเขียนบทเองอีกด้วย แน่นอนว่าผู้ชมที่ได้เสพนิยายของเขาย่อมคาดหวังว่าเขาจะสามารถทำออกมาได้ตอบโจทย์จินตนาการของผู้อ่านได้เป็นอย่างดี และก็เป็นไปตามคาด เขาสามารถเก็บรายละเอียดสำคัญจากนิยายมาสู่หนังได้อย่างสมบูรณ์แบบ ได้รับกระแสวิจารณ์ในทางที่ดี ได้รับความนิยมจากคนดู ที่ไม่เคยอ่านนิยายจนอยากจะไปหานิยายมาอ่าน และจากคนดูที่อ่านนิยายมาก่อน ต่างก็ไม่ผิดหวังกับหนังเรื่องนี้

                เราจะมาพูดถึงตัวหนังกันบ้าง The Perks of being a wallflower เรื่องราว coming – of – age ของเพื่อน 3 คน ชาร์ลี แพทริก และแซม ที่ถูกเล่าผ่านการบันทึกไดอารี่ของชาร์ลี เรื่องราวของปัญหาวัยรุ่น ปัญหาครอบครัว มิตรภาพ ความรัก หรือแม้แต่ความสับสน เทป แผ่นเสียง หนังสือ หรือแม้กระทั่งยา ล้วนถูกเล่าออกมาในรูปแบบที่มีเอกลักษณ์และน่าติดตาม รูปแบบของหนังที่เล่าถึงวัยรุ่นยุค 90 คือความท้าทายของหนังเรื่องนี้ การเซตพรอพ คอสตูม และฉากต่างๆในหนังนั้นมีความสำคัญอย่างมาก ที่จะทำให้คนดูรู้สึกอินกับช่วงเวลาที่เกิดขึ้นในหนังได้ Stephen สามารถทำออกมาได้อย่างลงตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเก็บรายละเอียดเรื่องเพลง ศิลปินโปรดของตัวละครเอกในเรื่องก็ถอดแบบออกมาจากในนิยายได้อย่างสมบูรณ์ การนำเพลงของศิลปินในยุคสมัยนั้นมาประกอบเป็นซาวแทรคในหนัง อย่างวง The smiths ,David Bowie  ก็ล้วนเป็นศิลปินที่ได้รับความนิยมในยุค 80s - 90s ยิ่งเพิ่มอารมณ์ให้กับตัวหนังได้ดียิ่งขึ้น การแสดงบทบาทเป็นชาร์ลีของโลแกนเอง ก็ถูกจดจำได้อย่างดี คาแรคเตอร์ของนักแสดงต้องบอกก่อนว่า ตรงกับคาแรคเตอร์ที่เราได้จินตนาการไว้จากการอ่านนิยายอย่างมาก เรียกว่า Stephen ไม่ปล่อยผ่านจุดนี้ไปอย่างง่ายดายเลย เขาพยายามตอบโจทย์ของตนเองให้มากที่สุด

                ในจุดร่วมที่เหมือนกันของนิยายและหนังนั้น ก็ยังมีความแตกต่างอยู่ประมาณหนึ่ง ทั้งๆที่ผู้กำกับและคนเขียนเป็นคนเดียวกัน ด้วยข้อจำกัดของหนังสือ การอ่านมีความเป็นปัจเจกบุคคล มากกว่าการดูหนัง หนังถูกทำออกมาในระยะเวลา 103 นาที ผู้ชมได้รับการกำหนดไว้แล้วว่าจะได้รับเนื้อหาข้อมูลในเวลาที่เท่ากัน แต่หนังสือเราจะใช้เวลากำหนดว่าจะต้องอ่านให้จบภายในเวลาเท่านั้นเท่านี้ ย่อมเป็นไปได้ยาก แต่เขาสามารถนำเรื่องราวในหนังสือของตนมาย่อรวมกันและอัดลงในหนังที่มีระยะเวลา 103 นาทีได้อย่างน่าชื่นชม มีการตัดทอนเนื้อหาพรรณนา ไปบ้างบางส่วน แต่เขายังคงเนื้อหาสำคัญของเนื้อเรื่องไว้ในหนังได้อย่างครบถ้วน หากจะให้เปรียบเทียบตัวหนังกับหนังสือแล้ว คงต้องขอบอกว่า หนังสือเปรียบได้กับอาหารจานหลัก แต่หนังคือของหวานล้างปากปิดท้ายอาหารจานหลักได้อย่างเอร็ดอร่อย และน่าชื่นชมในฝีมือของคนทำเสียเหลือเกิน 



Read More: http://www.portfolios.net/profile/PilintornPannoi#ixzz2wta9MjVT

Views: 418

© 2009-2024   PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service