ตกตน

 

 

ฉันนั่งตกปลาอยู่ริมตลิ่ง

ยามบ่ายเริ่มย่ำเย็น สายลมพัดมาเอื่อยเฉื่อย เอื่อยเอื่อย เฉื่อยเฉื่อย

บรรยากาศที่แสนสงบ ทำให้ห้วงแห่งความสะลึมสะลือตกฉันจนติดเบ็ดของมัน

 

ผ่านไปชั่วครู่ใหญ่กระมัง

มีลมวูบหนึ่งพัดกระโชกปะทะเข้าเต็มใบหน้าของฉัน

ดั่งมีมือหนาเตอะตบป้าบ ปลุกให้ตื่นขึ้นจากภวังค์

ภวังค์ตกฉันได้ ความตื่นก็เรียกฉันกลับคืนมาได้เช่นเดียวกัน

 

เอ็นใสไหว

น้ำกระเพื่อมขยายอาณาบริเวณออกเป็นวงกว้าง

กว้างขึ้น กว้างขึ้น กว้างขึ้น

ปลาติดเบ็ด!

ฉันดึง ฉันชัก ฉันเย่อกับปลาที่สะบัดตัวอย่างรุนแรงอยู่ใต้น้ำ

 

เฮ้ย! ฉันอุทานเสียงหลง

สิ่งที่ติดเบ็ดขึ้นมา มันหาใช่ตัวปลาดังที่นึกไม่

ร่างที่โผล่พ้นน้ำขึ้นมานั้น มันคือตัวของฉันเอง!

 

ตะขอที่เกี่ยวอยู่ตรงกระพุ้งแก้ม รั้งให้ใบหน้าผิดรูปผิดร่าง แลน่าเกลียด

แต่ใบหน้าของอีกร่างหนึ่งของฉันก็ยังคงพยายามทำหน้ายิ้มหวานส่งมาให้

ฉันตระหนก ฉันผงะ ฉันงุนงง

ฉัน... ฉัน... ฉัน...

 

นี่แน่ะ... อ้ายเกลอเอ๋ย แกคือฉัน และฉันก็คือแก

อีกร่างหนึ่งของฉันเอ่ยขึ้น ทั้งที่เบ็ดยังคงเกี่ยวปาก

 

นี่แน่ะ...อ้ายเกลอเอ๋ย เอ็นใสมันเชื่อมเราทั้งคู่เอาไว้

อีกร่างหนึ่งของฉันเอ่ยต่อไป ทั้งที่ยังคงอยู่ในน้ำ

 

นี่แน่ะ...อ้ายเกลอเอ๋ย

ฉันหากินอยู่ในโคลนตม

ฉันแหวกว่ายอยู่ใต้น้ำ

ฉันดีดตัวขึ้นมาฮุบเสพเศษอาหาร

แล้วฉันก็กลับไปว่ายวนอยู่ใต้น้ำดังเช่นเดิม

แกตกฉันได้ฉันใด แกก็ปลดปล่อยฉันได้ฉันนั้น

ตกใดเล่าจะเท่ากับตกตน

แกคือฉัน และฉันก็คือแก อ้ายเกลอเอ๋ย

อีกร่างหนึ่งของฉันเอ่ยเป็นนัยแฝง เอ่ยมาเป็นชุด

 

ฉันแลซ้าย แลขวา มองหน้า เหลียวหลัง พลางตรึก

จะช่วยปลดตะขอที่เกี่ยวอยู่ออกไปจากปากอีกร่างหนึ่งของฉัน

หรือจะทิ้งคันเบ็ดแล้ววิ่งหนีไปให้พ้นเสียจากที่ตรงนั้น

ฉันตื่นกลัว ฉันตรองตรึก แต่ตรึกไม่ตก

 

อ้ายเกลอเอ๋ย ใจเย็น ใจเย็นเย็น อย่าได้ตื่นตระหนก

แกตกฉันได้นับว่าเริ่มเรียนรู้ในอัตตา

ทว่าอย่าได้หลงในสิ่งที่รู้ เพียรสืบค้นให้รู้ในสิ่งอื่นต่อไป

และอย่าได้หลงว่าตนบรรลุโสดาบัน* ดังผู้หลงว่ารู้ แต่หาได้รู้จริงไม่

เพราะโสดาบันนั้นไซร้ ดีกว่าสุนัขเพียงแค่นิดเดียว

ตรึกให้ตก เกลอเอ๋ย

 

ฉันเริ่มคลายความเป็นกังวลลงแล้ว

ฉันเอื้อมมือไปปลดตะขอออกจากปากของอัตตา

ฉันบางเบา ฉันโปร่งโล่งใจ จิตของฉันบัดนี้มันสดใส

ฉันเก็บคันเบ็ด แลซ้าย แลขวา มองหน้า เหลียวหลัง

ฉันสบายใจขึ้น เพราะคิดว่าคงไม่มีใครสังเกตเห็นฉันมานั่งตกปลาภายในวัด...

 

 

**********

 

 

หมายเหตุ : โสดาบัน แปลว่า ผู้เข้าถึงกระแสธรรม

เป็นชื่อเรียกพระอริยบุคคลประเภทแรกใน ๔ ประเภท คือ โสดาบัน สกทาคามี อนาคามี อรหันต์

ผู้ได้บรรลุโสดาปัตติผลแล้วด้วยการละ กิเลสเบื้องต่ำ ๓ ประการได้คือ

สักกายทิฏฐิ คือ ความเห็นเป็นเหตุถือตัวตน เช่นเห็นว่ากายนี้ใจนี้เป็นตัวตนของเรา

วิจิกิจฉา คือ ความลังเลสงสัย เช่นสังสัยในข้อปฏิบัติของตนว่าถูกต้องหรือไม่

สงสัยในพระรัตนตรัยหรือในอริยสัจ ๔ ว่ามีจริงหรือไม่

สีลัพพตปรามาส คือ ความเชื่อถือยึดมั่นว่าความศักดิ์สิทธิ์มีได้ด้วยศีลและพรตอย่างนั้นอย่างนี้

ข้อนี้ขยายความได้ว่ารักษาศีลแต่เพียงทางกาย ทางวาจา แต่ใจยังไม่เป็นศีล

หรืออย่างน้อยก็ยังไม่เป็นศีลตลอดเวลา

 

ความเป็นพระโสดาบันนี้ก็เช่นเดียวกับความเป็นพระอริยบุคคลประเภทอื่นๆ

ที่มิได้จำกัดอยู่เฉพาะเพศบรรพชิต(นักบวช) เท่านั้น

แม้คฤหัสถ์ คือ ชายหรือหญิงผู้ครองเรือน ก็สามารถเป็นพระโสดาบันได้

 

การเข้าถึงกระแสธรรมของพระโสดาบันนั้น เป็นการยกระดับจิตใจของท่านอย่างถาวร

ทำให้ท่านไม่สามารถกลับมาเป็นปุถุชนได้อีก

เป็นผู้ที่จะไม่ไปเกิดในอบายภูมิ (เช่น นรก หรือ เดียรฉาน)

ทั้งยังเป็นผู้ที่จะบรรลุพระนิพพานในเบื้องหน้าอย่างแน่นอน...

 

อธิบายการอ่านบทกวีเบื้องต้น...
 
การอ่านบทกวีก็แล้วแต่มุมมองของแต่ละคนที่จะตีความครับ
บทกวีมันมีเสน่ห์ก็ที่ตรงนี้ ตีความไปได้ไม่รู้จบ
อ่านรอบแรกตีความได้อย่างหนึ่ง
อ่านอีกรอบอาจตีความไปได้อีกอย่าง
อ่านอีกหลายๆรอบก็ตีความไปได้อีกหลายแง่มุม
บทกวีมักตั้งคำถาม กระตุ้นความคิดได้ครั้งแล้วครั้งเล่า
โดยไม่ปิดโอกาสหรือยัดเยียดความคิด
ซึ่งแต่ละคนก็ตีความไม่เหมือนกันในการอ่านบทกวีบทหนึ่งๆ

เพราะคุณค่าของบทกวีอยู่ที่พลังทางความคิด จังหวะของคำ
การใช้ภาษา วรรณศิลป์ เนื้อหา กลวิธีการนำเสนอ
ซึ่งผู้อ่านจะได้อรรถรสในการอ่านก็ที่ตรงนี้

บทกวีไม่เหมือนกับปรัชญา เพราะปรัชญาต้องว่าด้วยหลักแห่งความรู้
ความจริง คุณธรรม และความงาม ตรงไปตรงมา ว่าด้วยความรู้ล้วนๆ
กล่าวง่ายๆได้ว่าเน้นทางด้านตรรก ว่าด้วยเหตุและผล
แต่บทกวีมีอารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้องมากกว่า

ดังนั้นผู้อ่านจะตีความไปอย่างไรนั้น
ก็ขึ้นอยู่กับอารมณ์และภูมิรู้ของแต่ละคนครับ
ไม่มีผิด ไม่มีถูก
ผู้เขียนไม่ได้ยัดเยียดความคิดให้ผู้อ่านต้องเชื่อตาม ^^



 

 

Views: 28

© 2009-2025   PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service