“ชีวิตในหนึ่งวันกับพระโพธิสัตว์และพื้นที่ชีวิต”
ภายในเวลาหนึ่งวันของชีวิตคนหนึ่งคน ถ้าเป็นไปได้ ผมก็อยากจะรู้เหมือนกันนะ ว่าคนหนึ่งคนนั้น เขาจะใช้ชีวิตในหนึ่งวันนั้นของเขาอย่างไร? แต่ในเมื่อมันเป็นไปไม่ได้ ผมจึงหันมาสำรวจชีวิตของตัวเองแทน ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการเจริญสติและมองดูตัวตนอย่างลึกซึ้ง ว่าภายในหนึ่งวันที่ตัวเองได้ใช้ชีวิตอยู่บนโลกใบนี้ เวลาที่เหลืออยู่บนโลกใบนี้ ตัวเองใช้มันไปอย่างฟุ่มเฟือย หรือคุ้มค่า หรือไร้แก่นสาร อย่างไร?
หลังจากตื่นนอน ชำระคราบไคลเสร็จสิ้น จากนั้นกิจวัตรที่ไม่มีอะไรหวือหวาซึ่งกระทำเป็นปกติอยู่ทุกๆวันก็เริ่มต้น การนั่งตัวตรงลงวาดรูป การตรวจแก้ไขบทกวีและเรื่องสั้นที่ตนเขียนก็ดำเนินไปเช่นเคย แต่ในขณะที่กำลังทำงานส่วนตนอยู่นั้น หูก็พลันไปสะดุดกับถ้อยคำที่ว่า...
“เพราะไม่รู้จักพระโพธิสัตว์ จึงกลายเป็นสัตว์ที่ไม่ประเสริฐ” ซึ่งเป็นถ้อยคำจากธรรมเทศนาของพระอาจารย์ ว. วชิรเมธี ที่แว่วดังมาจากเครื่องเล่น cd ที่ผมเปิดฟังไปพลาง ทำงานไปพลาง โดยมีเนื้อหาสาระที่สำคัญอยู่ว่า...
“พระโพธิสัตว์ ก็คือ แบบอย่างของคนที่บำเพ็ญคุณงามความดี เพื่อจะบรรลุธรรมขั้นสูงสุดเป็นสัมมาสัมพุทธะ ในเมืองไทยก็มีผู้ที่นับถือพระโพธิสัตว์ เช่น เจ้าแม่กวนอิม โดยเฉพาะเจ้าแม่กวนอิมปางพันกรนั้น มีผู้นับถือเป็นจำนวนมาก ทว่าคนไทยนับถือเจ้าแม่กวนอิมก็เพื่อจะขอให้เจ้าแม่กวนอิมช่วยเหลือตัวเอง แต่โดยนัยที่แท้สำหรับผู้ที่นับถือพระโพธิสัตว์กวนอิม เขาจะบูชาท่านก็เพื่อขอให้ตนเองมีแรงกำลัง มีพันมือเหมือนเช่นท่าน จะได้เอาไว้ใช้ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ได้อย่างเจ้าแม่กวนอิม...” จึงเป็นที่น่าประหลาดใจว่า คนไทยส่วนใหญ่นับถือพระโพธิสัตว์เพื่อที่จะขอ แต่ผู้ที่นับถืออย่างลึกซึ้ง เพื่อจะได้ทำความดีอย่างเช่นที่พระโพธิสัตว์ได้กระทำไว้เป็นตัวอย่าง!?
จากนั้นก็ต่อด้วยธรรมเทศนาที่ว่า...
“ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นจึงเห็นเรา”
“ผู้ใดเดินอยู่ใกล้ๆเรา ถึงขนาดเกาะชายสังฆาฏิ ผู้นั้นก็นับว่าไกลเรา” โดยที่พระอาจารย์ ว. ได้เล่าเสริมว่า สมัยพุทธกาลมีพระอยู่รูปหนึ่งบวชมาแล้วแต่ไม่อยากปฏิบัติธรรม คอยแต่เฝ้าติดตามเพื่ออยากจะดูรูปโฉมของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าจึงเรียกมาถามว่า... “เธอมามองดูฉันทำไม” พระรูปนั้นก็บอกว่าเพราะว่าเขารู้สึก “ศรัทธา”
พระพุทธเจ้าจึงบอกว่า “รูปของฉันไม่ใช่รูปที่แท้หรอก ‘ธรรม’ ต่างหาก ที่เป็นเนื้อหาสาระของฉัน” และนั่นก็คือที่มาของคำว่า “ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นจึงเห็นเรา”
จากการที่ได้ฟังธรรมเทศนาในหนนี้ นับว่าเป็นการเปิดกว้างให้เข้าใจกับคำว่า “ศรัทธา” ได้อย่างกระจ่างยิ่งๆขึ้น เพราะการเคารพนับถือไม่ว่าจะเป็นพระพุทธรูป รูปปั้นพระโพธิสัตว์ ไล่เรื่อยไปจนถึงเครื่องรางของขลัง หาใช่สาระสำคัญไม่ “ธรรม” ต่างหากที่เป็นสิ่งที่ควรนับถือและควรนำไปปฏิบัติใช้ให้เกิดเป็นประโยชน์ในชีวิตประจำวัน...
พอย่างเข้าสู่ช่วงเวลาค่ำ มีโอกาสได้ชมรายการทางสถานีโทรทัศน์ทีวีไทย (THAI PBS) รายการชื่อ “พื้นที่ชีวิต ชุด สำรวจศรัทธา” ดำเนินรายการ โดย คุณวรรณสิงห์ ประเสริฐกุล ซึ่งได้เดินทางนำพาไปชมวิถีชีวิตของชาวอินเดียในกรุงพาราณสี ได้พบเห็นทั้งศิลปวัฒนธรรม ความเป็นอยู่ และจบด้วยความตายของชีวิตมนุษย์ที่มาใช้ชีวิตอยู่ริมแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์เช่นแม่น้ำคงคา ก็ยิ่งทำให้ผมรู้สึกลึกซึ้งถึงชีวิตในแต่ละวันของตนเองมากยิ่งขึ้น เพราะเมื่อเราพบเห็นความตายอยู่เบื้องหน้า เราถึงจะรู้จักใช้ชีวิตอย่างมีแก่นสารมากขึ้น นั่นก็เป็นธรรมะที่อีกข้อหนึ่งที่ผมได้รับในวันนี้...
เมื่อจบรายการลง ผมก็หันมาสำรวจค้นชีวิตในหนึ่งวันของตัวเองอีกสักหน ยิ่งค้นก็ยิ่งพบว่า ถึงแม้โลกจะแปรเปลี่ยนไปอย่างไร เราก็เพียงอนุวัตไปตามกระแสของโลก โลกดำเนินไปอย่างไร เราก็เพียงรู้จักปรับใช้ชีวิตไปตามกระแสของโลกอย่างรู้เท่าทัน มิใช่ไหลไปตามกระแสจนกลายเป็นสวะที่ไหลไปเรื่อยๆโดยไร้จุดหมายปลายทาง มุ่งศรัทธาในสิ่งที่มิใช่สาระของชีวิต แล้วก็พากันยึดมั่นว่านั่นเป็นสิ่งที่ควรสะสมและยึดมั่นถือมั่น...
และในหนึ่งวันของผม ผมก็ได้พบกับ “ธรรม” ที่มีคุณค่ายิ่งในชีวิต หลังจากนั้นผมก็นั่งลงเคาะแป้นคีย์บอร์ด บันทึกถึงสิ่งที่ผมได้รับรู้ รับฟังมา และแปลจนเป็นบทความนี้ เพื่อนำมาเผยแพร่ให้ได้อ่านกัน และนี่ก็เป็นอีกหนึ่งวันที่ผมเชื่อว่า ผมได้ใช้มันไปอย่างคุ้มค่าและมีคุณค่าที่สุดเท่าที่ผมจะสามารถทำให้แก่เพื่อนมนุษย์ได้ หวังใจว่าบทความที่ผมเขียนขึ้นนี้ มันคงจะมีประโยชน์และให้แง่คิดเพื่อนำไปใช้เตือนสติให้แก่ท่านผู้อ่านได้บ้างไม่มากก็น้อย ขอบคุณครับ...
***************
หมายเหตุ : บทความที่ผมเขียนขึ้นมานี้ ผมพยายามเขียนให้เป็นไปในลักษณะของเรื่องเล่า โดยที่ทุกๆคนสามารถอ่านแล้วเข้าใจได้ง่าย ไม่อยากเขียนให้ดูหนักสมองจนเกินไป เพราะผมเชื่อว่าเรื่องของธรรมะ หากเขียนให้อ่านยาก ผู้อ่านก็จะรู้สึกเบื่อหน่ายและคร้านที่จะอ่าน หากผู้อ่านท่านใดมีเชื้อในเรื่องของธรรมะเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ก็จะสามารถจุดติด และเข้าถึงบทความนี้ได้อย่างง่ายดาย
เนื้อหาหลักที่ผมเขียนถึงเรื่องของความศรัทธานี้ ผมพยายามจะชี้ให้เห็นว่า หากความศรัทธาที่คนเรามีต่อสิ่งหนึ่งสิ่งใด ถ้าเราเดินเลี้ยวผิดองศาไปเพียงนิดเดียว คนคนนั้นก็จะเดินไปสู่เส้นทางแห่งความงมงายในทันที ซึ่งถือเป็นเรื่องที่อันตรายยิ่ง อันตรายทั้งต่อกระบวนการทางความคิด ทัศนคติ และวิถีการดำเนินชีวิตของคนคนนั้นนั่นเลยเชียว
ผมเชื่อว่าการเขียนเรื่องธรรมะในบทความนี้ หากผู้อ่านเปิดใจให้กว้าง ก็จะสามารถนำไปปรับใช้ให้เข้ากับความเชื่อ ความศรัทธาในศาสนาที่ตนนับถืออยู่ได้อย่างไม่ยากเย็นนัก เพราะไม่ว่าจะเป็นศาสนาพุทธ คริสต์ อิสลาม พราหมณ์ หรือศาสนาอื่นๆ หากไม่มีเรื่องของความศรัทธาเข้ามาเป็นตัวเชื่อม ความเลื่อมใสในศาสนานั้นๆก็คงจะไม่เกิด ดังนั้นความศรัทธาจึงถือเป็นสิ่งที่สำคัญเป็นอย่างมาก ด้วยเหตุนี้แล้ว หากคนเราจะศรัทธาในสิ่งใด ก็ควรที่จะต้องใช้ความรู้ ความเข้าใจ และที่สำคัญที่สุดที่จะขาดไปเสียมิได้ นั่นก็คือ เราควรที่จะใช้ปัญญาเป็นตัวกำกับศรัทธาด้วยเสมอ
ดังตัวอย่างที่เราพบเห็นได้ในทุกวันนี้ ว่าคนเราในยุคสมัยปัจจุบัน ซึ่งเป็นคนจำนวนมากมายเหลือเกินที่ศรัทธาต่อสิ่งใดๆโดยที่ไม่ใช้ปัญญา ผลที่ตามมาก็คือความลุ่มหลงและงมงายต่อสิ่งนั้นๆจนไม่ลืมหูลืมตา ทั้งศรัทธาในตัวบุคคล ศรัทธาในวัตถุ ศรัทธาในความรัก เป็นต้น เมื่อศรัทธาโดยไม่ใช้ความรู้และความเข้าใจ ผลที่ตามมาก็ย่อมนำพามาซึ่งความทุกข์ในท้ายที่สุด
และปัญหาใหญ่ๆอย่างเรื่องเหตุบ้านการเมืองภายในประเทศไทยของเราอย่างในทุกวันนี้ ปมปัญหามันเกิดขึ้นมาด้วยเหตุปัจจัยหลักๆเพียงไม่กี่อย่างเท่านั้น นั่นก็คือ คนในสังคมไทยของเรามีความศรัทธาในตัวของ “ผู้นำ” และ “แกนนำ” มากจนเกินไป “ใช้ความรู้สึกอยู่เหนือเหตุผล” “ใช้อารมณ์มากกว่าที่จะใช้ปัญญา” ด้วยเหตุปัจจัยเพียงแค่นี้ เห็นไหมว่ามันนำพามาซึ่งความสูญเสียได้อย่างมากมายเหลือเกิน
ฉะนั้นหากคนในสังคมไทยของเรา ยังมีศรัทธาต่อสิ่งใดๆโดยที่ไม่ใช้ปัญญากำกับอยู่เช่นนี้ การที่สังคมไทยจะพัฒนาและเติบโตไปเป็นสังคมที่อุดมปัญญา (ดังที่รัฐบาลประกาศอยู่ปาวๆ) ก็คงจะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงได้ยากยิ่งนัก
แต่ถึงกระนั้น ผมก็ยังคงศรัทธาและเชื่อมั่นว่า ผู้คนในสังคมไทยของเราในท้ายที่สุดแล้ว ล้วนเป็นผู้ที่มีศักยภาพมากพอที่จะเดินทางไปสู่สังคมที่อุดมไปด้วยผู้ที่มีปัญญาในบั้นปลาย ผมเชื่อมั่นจนลึกสุดใจครับ...
Tags:
© 2009-2025 PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.
Powered by