“คำให้การของกวี”
ไก่ ดีแล่น ผู้เป็นเจ้าของรางวัลโนจิงกะเบล สาขาวรรณกรรมปี พ.ศ. 2553
เขาเป็นลูกครึ่ง (ครึ่งยโสธรและอีกครึ่งหนึ่งบุรีรัมย์)
ไก่ ดีแล่น ถือว่าเป็นกวีชั้นแนวหน้าคนหนึ่งของยุคร่วมสมัย
เมื่อปี พ.ศ. 2551 เขาถูกทางการประเทศไผทจับกุม และในปีถัดมาเขาถูกตั้งข้อหาว่าเป็น “ผู้ก่อการสติเดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย” ซึ่งการพิจารณาคดีในครั้งนั้นกลายเป็นที่ฮือฮาไปทั่วโลก ไม่ใช่แค่เพราะเป็นการจัมกุมกวีเสรีนิยมชั้นแนวหน้า แต่เป็นเพราะว่าคำให้การต่อศาลของเขาต่างหาก เพราะคำให้การในครั้งนั้นถูกลักลอบนำมาเผยแพร่ในซีกโลกตะวันตก และเกิดกระแสสนับสนุนในแนวความคิดของเขาขึ้นมาอย่างล้นหลาม ถึงกระนั้น ในท้ายที่สุด ไก่ ดีแล่น ก็ต้องถูกเนรเทศจากประเทศไผท
แต่ในเวลาต่อมาเขากลับได้รับรางวัลโนจิงกะเบลและได้รับการยกย่องจากคนทั่วโลก ซึ่งนั่นนับว่าเป็นการตบหน้าทางการประเทศไผทเข้าอย่างจัง ที่ไม่ให้ความสนใจไยดี มิหนำซ้ำยังขับไล่พลเมืองที่มีความสามารถเช่นนั้นออกจากประเทศแม่อย่างไร้เหตุผล
และนี่ก็คือใจความตอนหนึ่งของคำให้การในชั้นศาลของเขา
ที่ถูกเผยแพร่จนเป็นที่โด่งดังไปทั่วโลก...
ศาล : คุณ ไก่ ดีแล่น คุณประกอบอาชีพอะไร?
ไก่ ดีแล่น : ผมเป็นกวี ผมเป็นศิลปิน ผมเป็นนักสังเกตการณ์สังคม
ผมเป็นผู้สะท้อนความหวังดีต่อสังคมผ่านออกมาทางผลงานศิลปะและบทกวีของผม
ศาล : แล้วใครบอกว่าคุณเป็นกวี? เป็นศิลปิน? เป็นนักสังเกตการณ์สังคม?
ใครแต่งตั้งให้คุณอยู่ในกลุ่มเดียวกับบรรดากวีและศิลปินทั้งหลาย?
ไก่ ดีแล่น : ไม่มีใครแต่งตั้งผม ผมแต่งตั้งตัวเอง
ถามหน่อย...แล้วใครแต่งตั้งให้ผมอยู่ในฐานะมนุษยชาติไม่ทราบ?
ศาล : คุณเรียนมาหรือเปล่า?
ไก่ ดีแล่น : เรียนอะไรหรือครับ?
ศาล : เรียนการเป็นกวีไงล่ะ คุณเรียนไม่จบชั้นมัธยมด้วยซ้ำ แล้วคุณเรียนการเป็นกวีมาจากไหน?
ไก่ ดีแล่น : ผมคิดว่าพวกเราทุกคนคงไม่สามารถจะร่ำเรียนการเป็นกวีได้จากที่โรงเรียน
หรือจากมหาวิทยาลัย หรือจากที่ไหนๆได้หรอก
ศาล : ถ้าอย่างนั้นคุณจะเป็นกวีได้อย่างไร? ในเมื่อคุณไม่มีความรู้ทางด้านการเขียนบทกวี
ไก่ ดีแล่น : ผมเห็นอะไร ผมรู้สึกอย่างไร ผมก็เขียนออกมาเช่นนั้น
นั่นแหละบทกวี นั่นแหละผลงานศิลปะสำหรับผม...
********
ป.ล. ดัดแปลงเนื้อหามาจาก “Poet's vision”
หรือคำให้การในชั้นศาล ของ โจเซฟ บรอดสกี้ (Joseph Brodsky)
กวีชาวสหรัฐ เชื้อสายรัสเซีย เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมปี 1987
Tags:
© 2009-2025 PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.
Powered by