หนังสือชีวิต
ฉันเดินดุ่มดุ่มไม่ใส่ใจในทิศทาง
เผอิญเจอะร้านหนังสือขวางอยู่ข้างหน้า
ภายในใจคาดอยากได้หนังสือเล่มหนึ่งมานานเป็นนักหนา
ซึ่งมันเต็มไปด้วยปริศนา
ทั้งไม่ปรากฏนามผู้ประพันธ์
ทั้งไม่ทราบวัน / เดือน / ปีที่ผลิต
ฉันจึงเดินเข้าไปภายในร้านค้า
หมายจะซื้อหนังสือเพื่อวิถีชีวิต
ในท้ายที่สุดจึงได้ทราบความนัย
โดยทางผู้จำหน่ายชี้แจงแจ้งให้รู้
เธอเพียรศึกษาจากสรรพสิ่งรอบกาย
และศึกษาจากภายในตัวตนของเธอทดลองดู
เพราะหนังสือที่ชื่อว่าคู่มือการใช้ชีวิต
ซึ่งเธอหมายซื้อเพื่อจะหยั่งรู้
มันไม่มีขายในโลกหล้า...
********
เนื้อหาของบทกวีที่ผมเขียนนี้
ไม่ต่างอะไรไปจากคำถามของผู้ที่มักตั้งคำถามอันชวนให้อ่อนจิตอ่อนใจ
ดังเช่นคำถามที่ว่า...
“ทำอย่างไรจึงจะเป็นคนดี?”
“ทำอย่างไรจึงจะเป็นคนขยัน?”
“ทำอย่างไรจึงจะเป็นคนที่มีความสุข?”
ซึ่งคำตอบของคำถามเหล่านี้ มันไม่ได้มีความลึกลับซับซ้อนแต่อย่างใด
ใช่ว่าจะเป็นคำถามที่เหลือวิสัยของมนุษย์ปุถุชนจะตอบได้แม้แต่นิด
ถาม : ทำอย่างไรจึงจะเป็นคนดี?
ตอบ : ก็ทำความดีเสียสิจ๊ะ
ถาม : ทำอย่างไรจึงจะเป็นคนขยัน?
ตอบ : ก็หยุดขี้เกียจเสียซะสิตัวเธอ
ถาม : ทำอย่างไรจึงจะมีความสุข?
ตอบ : ก็อย่าไปกอดหรือจมอยู่กับกองความทุกข์สิคะ
ผมเชื่อมั่นว่าบุคคลที่มีสติและปัญญาสมบูรณ์พร้อม
จะสามารถตอบคำถามเหล่านี้ได้อย่างง่ายดายโดยที่ไม่ต้องคิดมาก
เพราะคำตอบของคำถามมันก็บ่งชัดอยู่ภายในตัวของมันเองอยู่แล้ว
ก็ดังเช่นอีกหนึ่งตัวอย่างคำถามที่ว่า...
ถาม : ทำอย่างไรจึงจะหายโมโห?
ตอบ : ก็เพียงรู้จักมอบความรัก ความเมตตา ให้แก่คนที่เรากำลังโกรธ ด้วยการลดทิฐิมานะภายในจิตใจลง (ทิฐิ แปลว่า ความเห็น ในที่นี้หมายถึงความเห็นดื้อดึง ถึงผิดก็ไม่ยอมแก้ไข มานะ แปลว่า ความถือตัว รวม ๒ คำ เป็นทิฐิมานะ หมายถึงถือรั้น อวดดี หรือดึงดื้อถือตัว) หากรู้จักลดความถือตัวหรืออัตตาตัวตนลงได้เมื่อไร ความโกรธหรืออารมณ์โมโหก็ไม่อาจดำรงอยู่ภายในจิตใจของเราได้ แต่คำถามที่สำคัญกว่านั้นก็คือว่า...
“เราปฏิบัติกันแล้วหรือยัง?”
“ปฏิบัติบ่อยครั้งหรือไม่?”
“ปฏิบัติแล้วไม่ประสบผลสำเร็จเป็นเพราะเหตุไร?”
ซึ่งจำเป็นเหลือเกินที่จะต้องทบทวน และทำการวิเคราะห์ผลของการฝึกปฏิบัติของตนเองเรื่อยไปจนกว่าจะเกิดความชำนาญ และปฏิบัติได้อย่างคล่องตัวมากขึ้น การลด ละ วาง อารมณ์ต่างๆก็จะกระทำได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น แน่นอนว่ามันไม่ใช่เรื่องง่ายๆเลยสำหรับผู้ที่ไม่เคยฝึกปฏิบัติ เพราะแม้แต่ผู้ที่ฝึกฝนและปฏิบัติอยู่เป็นประจำ ก็ยังถูกอำนาจของสิ่งที่เรียกว่ากิเลสมารครอบงำ ส่งผลให้อัตตาตัวตนกำเริบเสิบสานกลายเป็นใหญ่เป็นโตขึ้นภายในจิตในใจ เมื่อเป็นเช่นนั้นจิตใจของเราก็ย่อมถูกบีบอัด จนพื้นที่ของจิตใจหดลดและคับแคบลงอย่างน่าเกลียดและน่าอึดอัด ด้วยผลจากการที่อัตตาเกิดเจริญเติบโตขึ้นมาภายในจิตใจของเรานั่นเอง
ถ้าหากเรารู้เท่าทันอารมณ์ความรู้สึกเช่นนี้ได้ ว่ามันเป็นเพียงเรื่องปกติวิสัยของมนุษย์ปุถุชน เมื่อเรารู้เท่าทัน เราก็จะสามารถทำความเข้าใจกับมันได้ และสุดท้ายก็จะสามารถปล่อยวางมันลงได้อย่างทันท่วงที
แต่ถ้าหากเรารู้ไม่เท่าทัน ความคับแคบที่มีอยู่ภายในจิตใจของเราก็พลันแสดงตัวออกมาให้เห็นอย่างเด่นชัด โดยการปรากฏกายผ่านทางพฤติกรรมต่างๆนานาของเรา เช่น การโต้เถียง หยามหมิ่น ดูแคลน อาละวาด เอ็ดตะโร ทะเลาะวิวาท เข่นฆ่า และนำไปสู่สงครามอย่างที่เราประสบพบเห็นและเรียนรู้ผ่านทางประวัติศาสตร์ของมวลมนุษยชาติ
โดยผลลัพธ์ทั้งหมดทั้งมวลดังที่กล่าวมานี้ ล้วนเกิดมาจากการที่มนุษย์ปล่อยปละให้อำนาจของกิเลสเข้ามาปกครองใจตน แทนที่จะรู้จักระงับยับยั้งควบคุม ด้วยเพราะมีเหตุดังนี้ ผลจึงปรากฏให้ได้สัมผัส ทั้งในระดับบุคคล สังคม ประเทศชาติ กระทั่งส่งผลอย่างใหญ่หลวงขยายไปในระดับโลก
และขอย้ำอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยหรือเกียจคร้านอีกครั้งว่า เราจะต้อง “ฝึกปฏิบัติ” ฝึกให้บ่อยครั้ง ฝึกจนเป็นกิจวัตรประจำวัน แต่ควรฝึกโดยที่ไม่จำเป็นต้องฝืนใจกระทำ กระทำให้เหมือนกับการกินข้าวและหายใจ เมื่อสามารถกระทำได้อย่างเรียบลื่นเช่นนั้น ก็จะค่อยๆเกิดเป็นเข้าใจได้ในท้ายที่สุด
ซึ่งเรื่องราวเช่นนี้ ก็มิได้เป็นเรื่องที่ควรสนใจศึกษาแต่เฉพาะกับคนแก่หรือผู้สูงอายุเท่านั้น จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งยวดต่อคนหนุ่มสาว ถ้าหากเรียนรู้และนำเอาไปปรับใช้ให้เข้ากับวิถีชีวิตของตน เพราะหากเมื่อใดที่ต้องประสบกับสถานการณ์หนึ่งใดในชีวิต ก็จะสามารถหยิบฉวยนำมาใช้ได้ ประหนึ่งเป็นอุปกรณ์ที่เอาไว้คอยช่วยพยุงสติ สัมปชัญญะ เพื่อเรียกหาปัญญาให้มาช่วยแก้ไขสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงทีนั่นเอง
ป.ล. ความคิดเห็นโดยส่วนตัวของผมในเรื่องนี้ ผมคิดว่าสำหรับผู้ที่ไม่ปฏิบัติ ก็มิได้หมายความว่าเขาเป็นบุคคลที่มีความชั่วหรือดีในทางด้านศีลธรรมและจริยธรรมไม่ สำหรับผม ผมมองบุคคลทั้งที่ปฏิบัติไม่ว่าจะเคร่งครัด หย่อนยาน และไม่ปฏิบัติเลยนั้น ทุกคนล้วนเป็นมนุษย์ดุจเดียวกัน เพียงแต่บุคคลเหล่านั้นเป็นบุคคลที่ “กระทำ” หรือ “ไม่กระทำ” ก็เท่านั้นเอง เพราะผลปรากฏสุดท้ายก็จะเกิดแก่ทั้งผู้ที่ “ปฏิบัติ” และ “ไม่ปฏิบัติ” เช่นกัน จะมีก็เพียงแต่ว่าผลลัพธ์เท่านั้นที่จะแตกต่างกันออกไป ทั้งนี้ก็ประกอบไปด้วยเหตุหรือปัจจัยอีกนานัปการ โดยที่ไม่มีใครสามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้ แน่แท้ว่าย่อมจะส่งผลในบั้นปลายท้ายที่สุด ไม่ว่าจะเกิดมาจากการกระทำของตัวบุคคลหรือเกิดมาจากเหตุปัจจัย
Tags:
© 2009-2025 PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.
Powered by