มหาวิทยาลัยอันตราย!”

 

 

 

 

มหาวิทยาลัยในปัจจุบันเป็นสถาบันที่อันตรายอย่างที่สุดในโลก

ทอมัส เบอร์รี่ (Thomas Berry) คุรุร่วมสมัยในสหรัฐกล่าว

(อ้างอิงจาก ส. ศิวรักษ์ สาบเสือเมื่อพ้นภัยพาล : หน้า ๕๒)

 

 

ยามที่ผมได้ร่ำเรียนในรั้วมหาวิทยาลัย

ผมเองก็เริ่มตระหนักถึงวาทกรรมเช่นนี้อยู่บ่อยครั้ง

แต่ก็ไม่กล้าที่จะกล่าวถ้อยออกมาดังๆถึงนัยของความคิด

เหตุไรจึงเกิดมีคำถามเช่นนั้น

ผมขอตอบคำถามนี้ด้วยการตั้งเป็นโจทย์ขึ้นมาอีกสักหนึ่งชุดแทนก็แล้วกัน ดังนี้...

 

โรงเรียนเราที่ร่ำเรียนกันมาตั้งแต่เมื่อครั้งยังเล็ก จวบจนกระทั่งบรรลุนิติภาวะ

สาระสำคัญของสถาบันการศึกษาสอนอะไรให้แก่เรากันแน่ ช่างน่าใคร่ครวญนัก

สถาบันการศึกษาสอนให้เราเคารพรัฐ เคารพทุน

เคารพความสำเร็จทางด้านวัตถุ (นับแต่ใบปริญญาบัตรไปจนถึงวัตถุมีค่าต่างๆ)

เคารพ โดยนัยนี้หมายถึงการสอนให้เราสยบยอม

ไม่ให้คิดตั้งคำถามกลับต่อความเคารพเหล่านั้น

ว่ามันเป็นการสอนที่เหมาะสม? ถูกต้อง? หรือไม่? อย่างไร?

ใช่ไหม?

 

หากไม่ใช่

ก็เพียรพินิจให้จงดีว่าสถาบันการศึกษาต่างๆ ทั้งของรัฐและเอกชน

มีสักกี่รายวิชากันที่พยายามอย่างจริงใจและจริงจัง

เปิดวิชาสอนให้เรารู้จักการเคารพต่อประชาชนคนทุกทุกชนชั้น

เคารพต่อธรรมชาติ

เคารพต่อตัวเอง

เคารพต่อทุกสรรพชีวิตด้วยความเคารพรัก

มีสักกี่รายวิชาละหรือ?

 

การที่เราถูกพร่ำสอนให้สยบยอมต่อรัฐโดยมิพักตั้งคำถามด้วยการคิดนอกกรอบ

ว่าการที่สอนให้เราเคารพต่อรัฐ ต่อทุน ต่อวัตถุนั้น

สิ่งเหล่านั้นมีความสำคัญมากกว่าการเคารพต่อ “มนุษย์” ด้วยกันละหรือ?

 

เมื่อความคิดความอ่านของประชาชนถูกครอบงำโดยรัฐนิยม (ความคลั่งชาติ)

ครอบงำโดยทุนนิยม ครอบงำโดยวัตถุนิยม

ด้วยวาทกรรมที่โหมกระหน่ำถึงความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ

ว่าสิ่งเหล่านี้มีความหมายสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด

แม้รัฐจะเบียดเบียนชุมชนเพียงเพื่อเป้าหมายทางด้านเศรษฐกิจอันมั่งคั่งอย่างกระจุกตัว

แต่ส่งผลให้ชุมชนต่างๆต้องเดือดร้อนอย่างกระจายตัวไปทั่วประเทศ

การกระทำเหล่านี้ของรัฐ นับเป็นสิ่งที่เราควรสยบยอมละหรือ?

การกระทำเหล่านี้โดยทุนนิยม นับเป็นสิ่งที่เราไม่ควรตั้งคำถามกลับละหรือ?

การกระทำเหล่านี้โดยต้องการเพียงวัตถุ นับเป็นสิ่งที่เราควรสยบยอมละหรือ?

 

การที่ชาวบ้านภายในชุมชนต่างๆด้อยการศึกษา รู้ไม่เท่าทันกลไกของรัฐ

และรู้ไม่เท่าทันกลเกมของผู้ที่มีการศึกษาสูง แต่ทว่าจริยธรรมและคุณธรรมต่ำ

จึงส่งผลให้ผู้ที่ใช้อำนาจรัฐผนวกกับอำนาจทุนอันขาดซึ่งความเป็นธรรม

ค่อยๆคืบคลานเข้ามาหมายเขมือบเอาวัตถุหรือทรัพยากรของส่วนรวมไปเป็นของส่วนตน

การที่รัฐ+ทุน+ความต้องการทางวัตถุ แต่ขาดมโนธรรมสำนึกอันดีงาม รวบอำนาจเข้าด้วยกัน

นั่นย่อมหมายถึงการเบียดเบียนบีฑาประชาชนอย่างไม่เป็นธรรมอย่างที่สุด

การกระทำเหล่านี้ นับเป็นสิ่งที่เราควรสยบยอมละหรือ?

 

สถานการณ์ของความขัดแย้งระหว่างรัฐกับชุมชนเช่นนี้

จะไม่เกิดขึ้นและบานปลายอย่างในปัจจุบัน หากสถาบันการศึกษาต่างๆ

รู้จักสอนให้นักศึกษาเรียนรู้ทางด้านคุณงามความดีอย่างลึกซึ้ง ด้วยความจริงใจและจริงจัง

มิใช่บรรจุวิชาพุทธศาสนาหรือวิชาทางด้านจริยธรรมให้เป็นเพียงแค่ส่วนเสริม

เพียงเพื่อจะได้เติมเต็มหน่วยกิต แล้วรอวันและเวลาให้ได้รับกระดาษสำคัญ

ซึ่งนั่นก็คือใบปริญญาบัตร

แต่ทว่าเมื่อนักศึกษาที่รับกระดาษใบนั้นออกมาจากสถาบันการศึกษาแล้ว

กลับกลายเป็นว่า พวกเขาเป็นกลุ่มชนที่คิดหาหนทางเอารัดเอาเปรียบสังคม

โดยอ้างว่าตนมีความชอบธรรม เพราะตนลงทุนไปกับการศึกษา

ตนจึงมีสิทธิ์ที่จะคิดหาช่องทางในการกอบโกยผลประโยชน์ ไม่ว่าจะด้วยวิธีการใดๆ

ซึ่งวิธีคิดและทัศนคติเช่นนี้ลุกลามอยู่ในหมู่ชนคนรุ่นใหม่อย่างน่าวิตกยิ่ง

 

เมื่อเราพินิจและใคร่ครวญด้วยสติและปัญญาอย่างตรงไปตรงมาที่สุด

วาทกรรมของทอมัส เบอร์รี่ ดังที่ว่า...

มหาวิทยาลัยในปัจจุบันเป็นสถาบันที่อันตรายอย่างที่สุดในโลก นั้น

เราก็จะได้เห็นภาพของเนื้อหาและสาระของสถาบันการศึกษาได้อย่างชัดเจน

ว่ามันอันตรายดังกล่าวจริงไหม?

 

หากแลว่าสถาบันการศึกษาทุกวันนี้

เป็นอันตรายต่อกระบวนการทางความคิดของนักศึกษาจริง

แล้วคุณภาพของนักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาออกมาจากสถาบันจะเป็นเช่นไรเล่า!?

 

คำถามทั้งหมดตั้งแต่ข้างต้น ล้วนมีคำตอบอยู่ภายในตัวของมันเองอยู่แล้ว

เพียงแต่ว่าประชาชนคนไทย มีมโนธรรมสำนึกกันสักกี่มากน้อย

ที่จะช่วยกันตอบคำถามเหล่านี้อย่างจริงใจและจริงจัง

หรือจะยังคงสยบยอมอย่างไร้จุดหมายกันต่อไป...

 

สุดท้ายของฝากเนื้อเพลง “ม.ให้อะไร” ของพี่ปู พงษ์สิทธิ์ คำภีร์

เอาไว้ให้อ่านเล่นๆ แต่ควรสำนึกและสำเหนียกกันอย่างจริงจัง ดังนี้ครับ...

 

 

 

ม. ให้อะไร

พงษ์สิทธิ์ คำภีร์

 

 

เขาหวัง เขารอด้วยความแกร่ง

รอนแรมจากครอบครัวมา

หวังปริญญามหาวิทยาลัย

อุดมการณ์อุดมความแกร่ง

โรคแล้งน้ำใจจะแก้ไข

ให้ความเป็นธรรม ทุกชนทุกชั้นทั่วไป

 

ไต่เต้ารับราชการยศต่ำ คุณธรรมยังนำความอยากในใจ

เพื่อนฝูงอย่างไร กินได้รวยไปฉันไม่สนใจ

จิตใจของคนต่ำสูงไม่เทียมเท่ากัน

เขายังหวังซักวัน ว่าเพื่อนเขาจะกลับใจ

 

อยู่ไปอยู่มาถึงจึงรู้ว่า โลกนี้คนดีมันน้อยเกินไป

แค่คนไม่ชั่วไม่ต้องดี ไม่รู้อยู่ไหน

เขาจึงมองย้อนไปถึงชีวิตในมหา'ลัย

แล้วตั้งคำถามมหา'ลัยให้อะไรเรา

 

ไม่ได้สอนให้เรียนแข่งขันอย่างคลั่งบ้า

ไม่ได้สอนคิดบ้าว่าเป็นคนเหนือคน

จบเห็นแก่ตน แต่งงาน สืบพันธุ์ แล้วตาย

มหา'ลัยสอนไว้ให้เราเป็นข้าประชาชน

 

ไม่ได้สอนให้โกงให้กลอกกลิ้ง

ไม่ได้สอนว่าเป็นเทวดา

ไม่ได้สอนให้จบออกมาเหยียดหยามประชาชน

ไม่ได้ให้ปัญญาเอาไว้คดโกงสังคม

มหา'ลัยสอนไว้ให้เราเป็นข้า(รับใช้)ประชาชน...

 

 

 

 

*********

 

 

 

Views: 130

© 2009-2025   PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service