“แด่สหายศิลปิน”
การดุ่มดุ่มจุ่มสีแล้วลงมือปาดป้าย
โดยมิพักพินิจถึงกิจแห่งผืนผ้าใบ
กระบวนการไม่ว่าจะหมายมุ่งสร้างเพื่อการใด
ความละเอียดอ่อนมิใช่เรื่องล้อเล่นแห่งวิถีศิลปิน...
ฉึบฉับ กระฉับกระเฉง
บรรเลงเพลงฝีแปรงประหนึ่งจอมยุทธ์ร่ายวิชากระบี่
ท่วงทำนองการปาดป้ายว่องไวกระไรเช่นนี้
กระบวนการทางทักษะและจิตใจที่มี หาใช่กระทำไปเพียงลวงตน...
โอ้เอ๋ย...จิตวิญญาณแห่งโลกุตระ
ผสานอยู่ภายในจิตและฝีแปรงของข้าเสมอมา
ขากถุย!...ผสานอยู่ในอัตตาของสูน่ะสิอ้ายบ้า
กูเขียนบทนี้เพื่อนำมาฟาดอัตตามึงให้รู้วาง...
ศิลปิน เทคนิคสูมากมี ทักษะสูมากมาย
ทว่าสูควรเรียนรู้ตรวจสอบเบื้องลึกภายในจิตใจเอาไว้บ้าง
สูกำลังบิดเบือนความชอบธรรมเพื่อตัวตน ด้วยผลงานอันถากถาง
สูเหยียดหยามจิตวิญญาณด้วยความเสื่อมทรามและหย่อนยานทางจิตใจ...
สหายศิลปินเอ๋ย
สูจะเกรงกลัวไปไยกับความว่างเปล่าที่สูยังมิเคยทำความรู้จัก...
*********
หมายเหตุ : บันดาลใจมาจากหนังสือ “ทะลวงวัตถุนิยมทางจิตวิญญาณ”
ในการบรรยายของเชอเกียม ตรุงปะ ซึ่งแปลโดย วิจักขณ์ พานิช
จากคำถามที่ว่า...
ถาม : ทำไมคนเราต้องพยายามปกป้องอัตตาของตนด้วย?
ทำไมการปล่อยวางอัตตาจึงยากนัก ?
ตอบ : ผู้คนหวาดกลัวพื้นที่ของความว่าง
การไม่มีอยู่ของเพื่อนร่วมทาง หรือการไม่มีอยู่ของเงา
การที่เราไม่มีใคร หรือไม่มีอะไรจะสัมพันธ์ด้วย
สามารถเป็นประสบการณ์อันน่าสะพรึงกลัว
เพียงความคิดที่มีต่อภาวะนั้นก็อาจเป็นอะไรที่ชวนให้ใจหวั่นไหว
แม้จะยังไม่ใช่ประสบการณ์จริงก็ตาม
ทั้งหมดคือความกลัวต่อพื้นที่ว่าง
ความกลัวต่อการที่ไม่อาจผูกตัวเองกับจุดยืนอันมั่นคงใดๆ
ที่ซึ่งเราจะสูญเสียอัตลักษณ์ที่มั่นคง ถาวร และแน่นอน
การสูญเสียตัวตนสามารถเป็นประสบการณ์ที่น่าหวาดหวั่นเป็นอย่างยิ่ง...
Tags:
© 2009-2025 PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.
Powered by